น้ำป่าซัดกลางดึก! แม่ทา ลำพูน – หาดทรายเหมืองแก้ว เชียงใหม่เสียหายยับเยิน เตือนประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน

ภาพ : พอที กับความรัก

เมื่อกลางดึกของวันที่ 13 เมษายน 2568 สมาคมกู้ภัยร่วมใจลำพูน-จุดทาแม่ลอบ รายงานเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรงในพื้นที่หมู่ 4 บ้านห้วยฮ่อมนอก และหมู่ 5 บ้านห้วยฮ่อมใน ตำบลทาแม่ลอบ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ส่งผลให้บ้านเรือนพังเสียหายหลายหลัง และมีผู้สูญหายจำนวน 2 ราย

ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เหตุน้ำป่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 22.00 – 23.00 น. น้ำหลากมาอย่างฉับพลันและรุนแรงจนไม่ทันตั้งตัว ขณะที่หน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่จาก อบต.ทาแม่ลอบ ได้เร่งเข้าช่วยเหลือ พร้อมนำไฟส่องสว่างสนับสนุนภารกิจค้นหาผู้สูญหายในเวลากลางคืน โดยปฏิบัติการเริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. ก่อนจะต้องยุติชั่วคราว เนื่องจากกระแสน้ำยังเชี่ยวแรงและมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง

ภาพ : พอที กับความรัก

เบื้องต้น บ้านเรือนในหมู่ 4 ถูกน้ำพัดเสียหายสิ้นเชิง 6 หลัง ส่วนหมู่ 5 มีรายงานความเสียหายเพิ่มเติมอีก 3 หลัง รวมความเสียหายทั้งหมดอย่างน้อย 9 หลังคาเรือน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนของพี่น้องชาวปกาเกอะญอ

ต่อมาในช่วงเช้าวันนี้ มีการระดมกำลังค้นหาอีกครั้ง และสามารถยืนยันพบผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย เป็นหญิง 1 ราย ชาย 1 ราย ซึ่งเป็นผู้สูญหายจากเหตุการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมา

ภาพ : พอที กับความรัก

ด้านนายวิวัตน์ อินทร์ไทยวงศ์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับหมู่บ้านทั้งสองเป็นวงกว้าง และยืนยันว่าทั้งสองผู้สูญหายพบแล้วในสภาพเสียชีวิต

ขณะเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากจากลำน้ำแม่สาและแม่ริม หลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพัดแพเปียกหาดทรายเหมืองแก้วในพื้นที่ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม เสียหายยับเยิน ร้านค้าเสียหายหนัก พ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ประกาศห้ามไม่ให้ลงเล่นน้ำในแม่น้ำปิงในช่วงนี้ เพื่อป้องกันเหตุซ้ำซ้อน

ภาพ : วิทยุจราจร จราจรเพื่อชุมชนเชียงใหม่

ทั้งนี้ เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคเหนือมีความเชื่อมโยงกับสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยในช่วงวันที่ 13–14 เมษายน 2568 ประเทศไทยตอนบนเผชิญกับพายุฤดูร้อน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่าในหลายพื้นที่ สาเหตุมาจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดความชื้นเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบน ขณะเดียวกันบริเวณดังกล่าวยังมีอากาศร้อนสะสมอยู่

ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักและอันตรายจากน้ำหลากเป็นพิเศษ

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังคงเร่งสำรวจความเสียหายและจัดเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและพายุฤดูร้อนในระยะนี้

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong