สรุปเนื้อหาการบรรยาย “หนึ่งทศวรรษรัฐประหาร” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ดำเนินรายการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน คงเจริญ จัดขึ้นโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567
กฤษณ์พชร เกริ่นถึงการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่าถึงแม้จะมีการจัดการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566 แต่ “สภาวะหลังรัฐประหาร” ยังคงดำรงอยู่และส่งผลกระทบต่อระบบการเมืองและกฎหมายอยู่เนื่อง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค่อย ๆ กลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีของการล้มกระดานด้วยการรัฐประหาร โดยที่ระบบยุติธรรมเป็นตัวการร่วม นำไปสู่ความย้อนแย้งและหลากมาตรฐานในระบบกฎหมายไทย ด้วยการสลักลงไปในประสบการณ์ร่วมของสังคมไทยว่ารัฐประหารย่อมเป็นหนึ่งในทางเลือกอยู่เสมอและไม่ขัดต่อกฎหมายและวัฒนธรรมการเมืองไทย ดังเช้าวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 วุฒิสมาชิกท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลที่นำโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน ไม่สามารถสั่นคลอนได้ เว้นแต่จะเกิดรัฐประหารขึ้น กฤษณ์พชรแสดงความคิดเห็นว่า กรณีสภาวะหลังรัฐประหารส่งผลหลายด้าน แต่ด้านสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นโดยโจ่งแจ้งแต่เงียบเชียบ คือการก่อรูปและปลุกเสก (Enchantment) ของระบบกฎหมายเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
กฤษณ์พชร อธิบายว่า ที่เรียกว่า “ระบบกฎหมายว่าด้วยเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์” เพราะการทำงานของกลไกนี้เกิดจากการประสานกันของหลักการและบทบัญญัติกฎหมายหลายประเภทหลายด้าน ที่แต่เดิมถูกออกแบบมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่กลับถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยละเลยเจตนารมณ์ดั้งเดิมของกฎหมายนั้น จนส่งผลให้กฎหมายที่ว่าด้วยเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์สลับซับซ้อน ย้อนแย้ง ไม่ชัดเจน และไม่สามารถเข้าใจด้วยนิติวิธีสากล
โดยทั่วไป เมื่อคิดถึงกฎหมายว่าด้วยเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไทย นักกฎหมายไทยและเทศย่อมระลึกถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งแม้แต่ชื่อเรียกก็มีความสับสนอยู่มาก บ้างเรียกกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” , “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” บางกลุ่มเลี่ยงที่จะใช้ชื่อและเลขมาตราตามประมวลกฎหมายโดยตรง นัยของสามชื่อนี้ ในทางกฎหมายย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และไม่มีนัยใดถูกต้องที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากนัยตามตัวบทกฎหมายและแนวคำวินิจฉัยของศาล อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญกว่านั้นคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวของกฎหมายที่คุ้มครองเกียรติยศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติทางกฎหมาย การต่อสู้คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มักปกคลุมไปด้วย ข้อถกเถียงอื่นไปพร้อมกัน เช่น ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดการทำผิด กฎหมายในสังคมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือข้อถกเถียงตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 6 ว่าด้วยสถานะความเป็นที่เคารพสักการะขององค์พระมหากษัตริย์ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเสรีภาพในการชุมนุม สิทธิในกระบวนการยุติธรรม หลายส่วนเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น หลักเกณฑ์ในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว รวมไปถึงกฎหมายพิเศษอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2542 , พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2560 , พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ฯลฯ
ยิ่งหากเชื่อมั่นว่าปฏิบัติการทางกฎหมายมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเงื่อนไขและบริบททางสังคมด้วยแล้ว ระบบเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์มีเครือข่ายอำนาจกฎหมาย และวัฒนธรรมพัวพันกันอย่างสลับซับซ้อน เป็นต้นว่า ศรัทธาที่เชื่อว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่มาของความยุติธรรมของศาลยุติธรรมทำให้เกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นฐานความชอบธรรมของศาลด้วย ความเป็นจอมทัพไทยขององค์พระมหากษัตริย์ย่อมทำให้เกียรติยศของกองทัพและกษัตริย์ผูกพันกัน การดำเนินกิจกรรมในระบบทุนนิยมอย่างชอบด้วยกฎหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ทำให้เกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ผูกพันอยู่กับผลิตภาพและความเติบทางเศรษฐกิจที่รากฐานสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมหนัก ภาคการเงิน ภาคการเกษตร ฯลฯ หรือการเป็นตัวแทนทางศีลธรรมและพิธีกรรม เช่น การที่ทรงเป็นพุทธมามักกะและอัครศาสนูปถัมภก ก็ทำให้ศรัทธาทางศาสนาส่องประกายมาถึงเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ดังที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกเทศนาโดยพระสงฆ์ท่านหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ว่าทำไมจึงไม่ควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น
เกียรติภูมิของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสิ่งที่ผูกเชื่อมกับหลายสถาบันสำคัญในสังคม คล้าย ๆ กับทศกัณฐ์ฝากหัวใจของตนเองไว้ที่อื่น ความเชื่อว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นใจกลางของกฎหมายในการรักษาเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่สมจริง
การรัฐประหารและสภาวะหลังรัฐประหารเป็นตัวแปรที่เร่งปฏิกิริยาให้พรมแดนของระบบกฎหมายในการคุ้มครองเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่มานานแล้วเด่นชัดขึ้น ความเด่นชัดที่สุด คือความเสื่อมของนิติวิธีทางอาญาของประมวลกฎหมายอาญา 112 และการปลุกเสกให้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีความขลัง ซึ่งความขลังนี้ทำให้กฎหมายนี้กลายเป็นสิ่งกึ่งศักดิ์สิทธิ์
ความเสื่อมลงของนิติวิธีทางอาญาในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เห็นได้ชัดมานานนับทศวรรษ เช่น การตีความขยายความคุ้มครองให้กว้างขวางกว่าที่กฎหมายบัญญัติ เช่น คดีของจรัส ที่แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มเฟซบุ๊ก พิพากษา ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2565 การละเลยองค์ประกอบภายนอกของการกระทำผิดทางอาญา เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำหนดให้การกระทำได้แก่ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งแต่ละคำเป็นศัพท์บัญญัติที่มีความหมายเฉพาะตามบรรทัดฐานในการตีความกฎหมาย เช่น การหมื่นประมาทต้องเป็นการใส่ความแก่บุคคลที่สาม, การดูหมิ่นหมายถึงการเหยียดหยาม ไม่ใช่แค่การล้อเลียน ฯลฯ แต่การวินิจฉัยและตีความกฎหมายของศาลมักละเลยการปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น คดีของนรินทร์ ที่ติดสติกเกอร์เพจ กู Kult 2 บริเวณพระเนตรบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก แม้ศาลอุทธรณ์จะกลับคำพิพากษา แต่เป็นการกลับคำพิพากษาด้วยเหตุผลของความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน มิใช่การวินิจฉัยแย้งว่าการล้อเลียนมิใช่การดูหมิ่น ทำให้บรรทัดฐานว่าการยกย่องตัวเองเป็นการดูหมิ่นยังไม่ถูกโต้แย้ง หรือการใช้คำว่า “จาบจ้วง” “ด้อยค่า”, “ล้อเลียน” มาขยายความหมายของการดูหมิ่น ซึ่งแตกต่างไปจากนิยามการดูหมิ่นที่ใช้เป็นการทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
กล่าวได้ว่า คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนใหญ่ที่พิพากษากันในช่วงสิบปีหลังรัฐประหารนั้นตีความขยายความองค์ประกอบความผิดให้คลุมเครือ ทั้งในแง่ของการกระทำและบุคคลที่ได้รับความคุ้มครอง คดีที่มีการยกฟ้องมักเป็นการยกฟ้องด้วยความไม่ชัดเจนของพยานหลักฐานที่สะท้อนพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา แต่การตีความให้ความชัดเจนกับกฎหมายนั้นแถบจะไม่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ยังถูกวางไว้ให้มีสถานะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง โดยอาศัยการจัดหมวดหมู่ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ และมีสถานะพิเศษตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่มีการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่สมยศ พฤษภาเกษมสุข และเอกชัย หงษ์กังวาน เป็นผู้ร้อง ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ต่อเนื่องด้วยคดียุพรรคไทยรักษาชาติ และคดีการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ซึ่งทำให้เนื้อความในมาตรา 2 และมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญกลายเป็น “อารัมภบท” ของคำพิพากษาของศาลในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีที่มีการวินิจฉัยลงโทษ และมีลักษณะการตีความกฎหมายที่เป็นองค์ประกอบความผิดให้คลุมเครือขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 (คดีกล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ)
มาตรา 2 และมาตรา 6 ของรับธรรมนูญโดยเนื้อความนั้นมิใช่กฎหมายที่คุ้มครองเกียรติยศของพระมหากษัตริย์โดยตรง เพราะมาตรา 2 กำหนดให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งไม่มีจำเลยในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา 112 รายใดที่แสดงให้เห็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว เช่นเดียวกับมาตรา 6 ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญ คือห้ามมีให้ผู้ใด ฟ้องร้องดำเนินคดีกับพระองค์ ซึ่งเช่นกันไม่มีจำเลยรายใดมีพฤติการณ์ฟ้องร้ององค์พระมหากษัตริย์ ส่วนวรรคแรกที่บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริ์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ” นั้นก็หมายถึงรัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมสถานะของพระองค์ แต่มิได้หมายความว่าจะใช้ข้อความนี้ไปขยายความความรับผิดทางอาญา เพราะการเรียนการสอนกฎหมายอาญาไทยวางบรรทัดฐานมาตลอดว่าการตีความกฎหมายอาญาอย่างขยายความเพื่อลงโทษบุคคลเป็นการตีความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาญา การอ้างถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญสองมาตรานี้ในเกือบทุกคำพิพากษาจึงไม่ได้ทำเพื่อใช้เป็นข้อต่อสู้หรือใช้เป็นเหตุผลทางกฎหมายโดยตรง แต่เป็นทำหน้าที่ในเชิงวาทกรรม เพื่อปิดปากและบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยกฎหมายจารีตประเพณีเกี่ยวกับเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ขึ้นใหม่ให้มีความสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญแบบไทย
กฤษณ์พชร สรุปว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงถูกเจิมด้วยระบบรัฐหลังรัฐประหารให้มีสถานะเสมือนรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดโทษทางอาญาและเป็นอิสระจากนิติวิธีของกฎหมายอาญา
ปัญหาต่อไป คือ หากการพิจารณาพิพากษา 112 เป็นการบัญญัติกฎหมายจารีตประเพณีเกี่ยวกับเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นอีกครั้งแล้ว เนื้อหาสาระของกฎหมายจารีตประเพณีนั้นคืออะไร กฤษณ์พชรแสดงความคิดเห็นว่า สาระสำคัญของจารีตประเพณีนั้น คือการยกสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความศักดิ์สิทธิตามคติไทย คือคติพระมหากษัตริย์ คือ บุคคลที่มีเกียรติยศและคุณสมบัติในอุดมคติ เฉกเช่น “พระราม” (RAMA) ในมหากาพย์รามเกียรติ์
กฤษณ์พชร อธิบายว่า พระรามเป็นบุคคลภาพที่เป็นกลายเป็นตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยมา อย่างน้อยที่สุด ตั้งแต่มีการตั้งเมืองอยุธยาซึ่งมีฐานคติจากกรุงอโยธยาในอุตตรประเทศอันเป็นนครของพระราม กษัตริย์ไทยมีการอ้างอิงถึงพระราม เช่น สมเด็จพระรามาธิบดี แม้ว่าการเรียกพระองค์ว่าเป็นพระรามจะเกิดขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 6 ก็ตาม นอกจากนี้ จิตรกรรมฝาผนังในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวันคู่บ้านเมืองก็มีการประดับด้วยเรื่องราวในรามเกียรติ์ การกลายเป็นโขนซึ่งเป็นนาฏกรรมในวังที่ถูกนำไปเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทยอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปจนถึง เสก โลโซ ด้วยเหตุนี้ พระรามจึงเป็นบุคคลนามธรรมที่มีความสำคัญในความเป็นไทยและวัฒนธรรมทางการเมืองไทยอย่างยิ่ง
รามเกียรติ์ที่เป็นมหากาพย์โบราณ อาจดูน่าเบื่อ แต่ช่วยให้เข้าใจโลกทัศน์เกี่ยวกับเกียรติยศของชนชั้นนำไทยได้เป็นอย่างดี
บุคลิกภาพของพระราม คือการขึ้นชื่อว่าเป็นกษัตริย์ในอุดมคติทรงธรรม ยึดมั่นในมารยาท หน้าที่ทางสังคมเมตตา รักบริวาร และรักมั่นในสีตา ในศาสนาฮินดูเชื่อว่าพระรามเป็นเทพเจ้าที่อวตารเป็นมนุษย์ และเกียรติยศของพระรามตั้งอยู่บนฐานคติที่แตกต่างจากชื่อเสียงหรือเกียรติยศของบุคคลทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เช่น ความเชื่อว่าเกียรติของพระราม/สีดาในสายตาของชาวอโยธยามีความสำคัญเหนือกว่าชีวิตของสีดาที่จะต้องพิสูจน์ความภักดีต่อพระรามด้วยการลุยเพลิงเมื่อพ้นเคราะห์กรรมจากทศกัณฑ์แล้วกลับสู่กรุงอโยธยา เพราะพระรามเป็นกษัตริย์ในอุดมคติเกียรติยศของพระองค์สำคัญและยิ่งละเอียดอ่อน ความด้างเพียงเล็กน้อยย่อมกระทบต่อพระรามอย่างสำคัญ พระรามจึงมีอ่อนไหวต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของพระองค์มากเป็นพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่อธิบายว่ากษัตริย์ไทยเดิมนั้นยึดเอาธรรมเนียมของชนชาตินักรบในอินเดีย เรียกว่า “ชาติขัตติย” ซึ่งมีสวธรรมที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป ดังความว่า
“…คำว่าธรรมในที่นี้เป็นธรรมของชาติขัตติย มิใช่ธรรมของโลกเมื่อว่าเท่านี้จะยังเข้าใจยาก จำต้องยกตัวอย่างให้เห็นหน่อยหนึ่ง ว่าตามลัทธิความประพฤติของชาติขัตติยะโบราณ คือ เหมือนหนึ่งว่าผู้มีอำนาจเป็นชาติขัตติยได้ปกครองแผ่นดิน ทราบว่าลูกสาวของขัตติยะเมืองอื่นมีอยู่สมควรแก่ตนๆ ยังไม่มีคู่ซึ่งจะได้อภิเษก เมื่อไปขอบิดามารดาหญิงนั้นไม่ยอมให้ ขัตติยะผู้ที่ไปสู่ขอถือว่าการคิด นั้นเป็นการชอบธรรมด้วยใช่ว่าจะเอามาทำอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด ประสงค์จะมายกย่องให้เป็นใหญ่เป็นโต บิดามารดาของหญิงที่ไม่ยอมให้นั้นหมิ่นประมาทต่อผู้ซึ่งไปสู่ขอ เป็นการประพฤติผิดธรรมประเพณี เพราะไม่รักษากิริยาอันดีต่อกัน ผู้ซึ่งไปสู่ขอสามารถที่จะประกาศแก่ทหารของตัวว่า การซึ่งตัวประพฤตินั้นเป็นการชอบธรรม แต่บิดามารดาของหญิงนั้นประพฤติไม่ชอบธรรม จะต้องยกไปรบชิงเอานางนั้นให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพไปทำลายเมืองนั้นเสียได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดธรรม” (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า, พระราชพิธีสิบสองเดือน; 215-216.)
ทั้งนี้ การแสดงน้ำใจของชาติขัตติยะ หากอีกฝ่ายที่มีสถานะด้อยกว่าปฏิเสธน้ำใจและความหวังดีย่อมเท่ากับการหมิ่นประมาท โดยพิจารณาจากมาตรฐานทางวัฒนธรรมที่เป็น “การรักษากิริยาอันดีต่อกัน”
คล้ายกับกรณีนางสำมนักขาน้องสาวของทศกัณฐ์ เสนอตัวให้พระราม ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าชายที่ถูกเนรเทศออกจากกรุงอโยธยาย่อมต้องถือว่าสถานะด้อยกว่า เจ้าหญิงกรุงลงกา เมื่อพระรามปฏิเสธ นางยักษ์จึงไประรานสีตา เป็นเหตุให้พระลักษณ์โมโหตัดจมูกและใบหูของนางยักษ์ออกเสีย ซึ่งโดยปกติแล้วธรรมเนียมของชาติขัตติยะย่อมไม่ทำร้ายคนที่ไม่ใช่ชาติขัตติยะด้วยกันและโดยเฉพาะสตรี ด้วยเหตุนี้ การออกอุบายบุกมาชิงตัวนางสีตาของทศกัณฑ์ก็ดูจะชอบด้วยสวธรรมแบบชาติขัตติยะ เพราะพระรามปฏิเสธความหวังดีและพระลักษณ์ทำผิดสวธรรมของนักรบก่อน เป็นต้น
คิดแบบเกียรติยศของชาติขัตติยะ การล้อเลียน ล้อเล่น ปฏิเสธความปรารถนาดี การติฉินนินทา หรือการดูหมิ่นคนในเครือญาติของชาติขัตติยะ ล้วนกระทบต่อเกียรติยศของชาติขัตติยะในจักรวาลของพวกเขาทั้งสิ้น
กฤษณ์พชร ได้ตั้งคำถามสำคัญคือ ชนชั้นนำไทยยังยึดถือคติเช่นนี้หรือไม่ แม้สังคมไทยจะโฆษณาตนเป็นเสรีประชาธิปไตยมาเกือบศตวรรษแล้วก็ตาม คำอธิบายเบื้องต้นของกฤษณ์พชร คือธรรมแบบเดิมที่ยกเกียรติยศของพระรามไว้สูงยังไม่สร้างปัญหาให้กับระเบียบในหมู่ชนชั้นนำไทยทั้งในกองทัพ เครือข่ายภาคธุรกิจ พระพุทธศาสนา ระบบกฎหมาย วงการการศึกษา ฯลฯ ในขณะที่คนกลุ่มอื่นยังไม่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจการเมืองพอจะท้าทายธรรมดังกล่าว แม้ว่าคนกลุ่มอื่นนั้นอาจเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยก็ตาม
กฤษณ์พชร อธิบายเสริมว่าคล้ายกับการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลไทยก้าวข้ามองค์ประกอบความผิด ได้แก่ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอามาตมาดร้าย” ต่อ “พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ไปนานแล้ว แต่ยึดหลักเกณฑ์ที่คล้ายกับสวธรรมของชาติขัตติยะที่มีลักษณะคลุมเครือปรัมปราและศักดิ์สิทธิ์แทน ทั้งนี้ การที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกตีความให้มีความหมายคลุมเครือและปรัมปรา พร้อมกับการใช้เจตนารมณ์ของมาตรานี้ให้เหนือกว่ากฎหมายอื่น โดยไม่คำนึ่งถึงลำดับ ศักดิ์ของกฎหมาย ทำให้เกิดอำนาจแก่ผู้ตีความกฎหมายมาก และการห้ามรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คือกระบวนการในการเจิมให้กฎหมายนี้มีสถานะที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างจากกฎหมายอาญาอื่นๆ ที่เป็นเพียงแค่คำสั่งและคำบัญชาของรัฐ
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ วัฒนธรรมของชนชั้นนำไทยและเครือข่ายของพวกเขายึดถือรามเกียรติ์เป็น อุดมคติและสวธรรมของหมู่ตน สะท้อนให้เห็นในอัตลักษณ์ ผลงาน และปฏิมาวิทยาของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ความเข้าใจที่มีต่อวิธีคิดแบบไทยนี้ จะทำให้นักกฎหมายเข้าใจเนื้อหาสาระของกฎหมายในทางปฏิบัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากขึ้น นักกิจกรรมจะเข้าใจความเสี่ยงมากขึ้นว่าใน วัฒนธรรมทางกฎหมายไทย กฎหมายที่คุ้มครองเกียรติยศของกษัตริย์มีลักษณะเป็นเครือข่ายที่พึ่งถูกสร้างขึ้น ผ่านกฎหมายอื่นๆ รวมไปถึงปฏิบัติการของพรรคการเมือง จุดยืนของภาคธุรกิจ กองทัพ และแนวการตีความกฎหมายของศาล ไม่ใช่แค่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม พระรามได้รับการเคารพเป็นเทพเจ้ามิใชข่เพราะอำนาจหรือเกียรติยศเท่านั้น แต่เป็นเพราะคุณสมบัติของพระรามด้วย อุดมคติแบบพระรามให้ความสำคัญกับเมตตาธรรมต่อบริวาร ความใจกว้าง และรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ฉันมิตร เช่น พระรามนั้น รับฟังความตักเตือนของทั้งวาลมิกิดาบสและพระลักษณ์ อีกกรณีที่เทียบเคียงได้คือการอรชุนออกแรงปรามพระกฤษณะที่เป็นเทพเจ้าให้รักษาสัตย์ไม่ร่วมรบในสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ทั้งพระรามและพระกฤษณะเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ ซึ่งเป็นฐานคติเดียวกันกับสถาบันกษัตริย์ไทยทั้งสิ้น พระรามมีสมุนและสหายเอกคือหมุมานที่เป็นวานรนอกคอกและไม่ใช่แม้แต่มนุษย์ มีที่ปรึกษาคือพิเภกที่เป็นยักษ์และเคยเป็นศัตรูกับตน และมีความยุติธรรมที่แม้แต่สหายของตนประพฤติผิด เช่น หนุมานไปเล่นซนใส่ฤๅษี พระรามก็ต้องลงโทษแม้จะรักก็ตาม
เกียรติศักดิ์ของพระรามนั้นยิ่งใหญ่ แต่เกียรตินั้นสัมพันธ์โดยตรงกับหน้าที่ของพระราม คือการครองตนให้สอดคล้องกับอุดมคติแบบพระราม ทั้งนี้ หากพิจารณาอย่างรอบคอบ “การจาบจ้วง” ที่เกิดขึ้นมักสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและชีวทัศน์ของชนชั่นนำที่เบี่ยงเบนจากอุดมคติแบบพระรามทั้งสิ้น เช่น รูปที่งามที่สุด ความสามารถที่โดดเด่นที่สุด ความยุติธรรมที่ไร้ข้อด้อย มารยาทที่งดงามและเพียบพร้อม และความซื่อสัตย์ระดับยเทพเจ้า ทั้งนี้ หาก พิจารณาในรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ชุมทางใหญ่ของกระแสที่วิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย กฤษณ์พชรเห็นว่าฐานคิดในการวิพากษ์วิจารณ์นั้นมิได้มากจากเสรีประชาธิปไตยเพียงลำพัง แต่มาจากอุดมคติแบบพระราม ด้วย… กล่าวคือ การยึดถืออุดมคติแบบพระรามที่สมบูรณ์แบบนั้นก่อให้เกิดความคาดหวังมหาศาลที่สาธารณชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไปพร้อมกัน
เพราะพระรามกลายเป็นวาทกรรม เมื่อเป็นวาทกรรมย่อมเป็นอิสระจากการควบคุมของผู้ผลิตวาทกรรมนั้น พระรามกลายเป็นของมวลชนที่ยึดถืออุดมคติชุดเดียวกัน กล่าวคือ พระรามนอกจากจะนำมาซึ่งเกียรติยศแล้วยังนำมาซึ่งภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ในชมพูทวีปโบราณการครองตนให้สมบูรณ์แบบของกษัตริย์นั้นอาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะมีโครงสร้างสังคมที่สนับสนุนความสมบูรณ์แบบนั้น เช่น การสงวนความรู้และบทบาทไว้ด้วยระบบวรรณะ แต่ในสังคมสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นเสรีประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยครึ่งใบนั้นการคงอุดมคติแบบพระรามไว้นั้นไม่ง่าย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความศักดิสิทธิในสังคมสมัยใหม่ดูจะเป็นภาระเสียมากกว่าเป็นเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
กฤษณ์พชร มีความเห็นทิ้งท้ายว่า การรัฐประหารก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องแสดงบทบาททางการเมือง ซึ่งกระทบต่ออุดมคติแบบพระรามและเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง เพราะในสภาวะหลังการรัฐประหาร คณะรัฐประหารมักต้องใช้อำนาจพิเศษมากเพื่อรักษาอำนาจของตน และคณะรัฐประหารส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องพึ่งพระบารมีของพระมหากษัตริย์ เงื่อนไขนี้ทำให้วิธีการใช้และการตีความกฎหมายเกี่ยวกับเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์มีพัฒนาไปในทาง “อำนาจพิเศษ” และมีสภาวะยกเว้นๆ มากขึ้น จนธงชัย วินิจจกูล เรียกสภาวะนี้ว่า “ราชนิติธณรม” ซึ่งถึงที่สุดแล้วสภาวะดังกล่าวล้วนแต่สอดคล้องและเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายอุดมคติแบบพระรามโดยตรงทั้งสิ้น
นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น