แต่ละสโมสรฟุตบอลภาคเหนือเจ็บน้อยเจ็บมากกันเท่าไหร่แล้วบ้าง

เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น

หลังจากกระแสยุติการดำเนินงานและไม่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในฤดูกาลต่อไปของสโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ เอฟซี รวมถึงปัญหาการเงินที่ทางสโมสรค้างค่าเหนื่อยนักเตะและเช็คเด้งผู้ผลิตเสื้อครบรอบ 25 ปีของทีม มรสุมปัญหาเหล่านี้ทำเอาแฟนบอลต่างมองว่าหรือนี่อาจเป็นจุดสิ้นสุดของทีม? แต่แล้ว เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 Think curve ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุดของทีมจากการให้สัมภาษณ์ของ มนตรี หาญใจ อดีตผู้จัดการเชียงใหม่ เอฟซี โดยมนตรียืนยันว่า เชียงใหม่ เอฟซี จะยังมีทีมลงแข่งขันต่อไป พร้อมเตรียมเปิดตัวกลุ่มทุนใหม่ที่จะบริหารทีมร่วมกับแฟนบอลในเร็ว ๆ นี้ 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรณีเชียงใหม่ เอฟซี ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการฟุตบอลบ้านเรา ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือว่าสโมสรฟุตบอลในไทยทำเป็นอาชีพมากขึ้น การค้างเงินค่าเหนื่อยนักฟุตบอลลดลง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสโมสรส่วนใหญ่ยังขาดสภาพคล่องและได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเงินอยู่ ‘Lanner’ ชวนพาส่องงบประมาณการเงินของแต่ละสโมสรฟุตบอล 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนว่า เจ็บน้อยเจ็บมากกันเท่าไหร่แล้วบ้าง

สโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ ยูไนเต็ด

แม้จะเป็นทีมน้องใหม่ที่พึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 แต่เชียงใหม่ ยูไนเต็ด ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันแข่งขันอยู่ในไทยลีก 2 และจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 9 แต่หากดูรายได้และรายจ่ายรวมของสโมสรจะเห็นได้ว่าเจ็บทุกปี มีเพียงปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิดที่รายได้สัมพันธ์กับรายจ่ายรวมทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด 

งบประมาณการเงินของบริษัท เจแอลเชียงใหม่ ยูไนเต็ด จำกัด (สโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ ยูไนเต็ด)
ปีงบประมาณรายได้รวมรายจ่ายรวมกำไร(ขาดทุน)
256214,499,625.6821,262,265.13-6,762,639.45
256313,839,614.5115,338,967.95-1,499,353.44
256420,163,603.5020,361,605.90-198,002.40
256520,333,133.1823,418,064.81-3,084,931.63
25668,061,458.8016,034,432.20-7,972,973.40
ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด

จากที่บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักของทีมทำให้สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2563 – 2564 ที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด ทำให้ทีมต้องเผชิญปัญหาทางด้านการเงิน หากดูจากตารางเห็นได้ชัดว่าในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ขาดทุนอย่างหนัก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่โรคระบาดโควิดคลี่คลายแล้ว ทีมสามารถทำรายได้สูงและมีกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

งบประมาณการเงินของบริษัท เชียงราย ยูไนเต็ด คลับ จำกัด (สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด)
ปีงบประมาณรายได้รวมรายจ่ายรวมกำไร(ขาดทุน)
2562106,844,371.72105,877,333.69853,001.31
256374,285,027.12104,120,710.54-30,834,866.66
256459,927,914.60106,384,758.55-46,957,107.17
2565103,464,077.9289,325,066.3414,053,584.58
256669,203,470.8462,020,828.407,144,833.68
ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สโมสรฟุตบอลโรงสีแม่ใจธนะโชติวัฒน์ พะเยา

เป็นอีกหนึ่งสโมสรฟุตบอลน้องใหม่สำหรับ สโมสรฟุตบอลโรงสีแม่ใจธนะโชติวัฒน์ พะเยา ที่พึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2565 และเพียงปีเดียวเท่านั้นพวกเขาก็สามารถขยับตัวเองจาก ไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก สู่ ไทยลีก 3 ได้สำเร็จ ซึ่งเมื่อดูจากตารางเห็นได้ชัดเลยว่าการขยับขึ้นมายังลีกที่สูงขึ้นย่อมได้รับเงินสนับสนุนมากขึ้น นั่นรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นตามมาเช่นกัน ทำให้สองปีมานี้สโมสรฟุตบอลโรงสีแม่ใจธนะโชติวัฒน์ พะเยา ยังขาดทุนอยู่

งบประมาณการเงินของบริษัท โรงสีแม่ใจธนะโชติวัฒน์พะเยา จำกัด (สโมสรฟุตบอลโรงสีแม่ใจธนะโชติวัฒน์ พะเยา)
ปีงบประมาณรายได้รวมรายจ่ายรวมกำไร(ขาดทุน)
2562
2563
2564
2565204,200.311,164,816.00-960,615.69
2566728,047.011,986,564.00-1,258,516.99
ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สโมสรฟุตบอลลำปาง

รถม้ามรกต หรือสโมสรฟุตบอลลำปาง ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์สโมสรในการเลื่อนชั้นขึ้นไปแข่งขันในไทยลีก 1 เป็นครั้งแรกเมื่อฤดูกาล 2564/2565 เมื่อดูงบประมาณจากตารางแล้วเห็นได้ชัดว่าสโมสรมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงทุกปี และขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

งบประมาณการเงินของบริษัท สโมสรฟุตบอลลำปางเอฟซี จำกัด (สโมสรฟุตบอลลำปาง)
ปีงบประมาณรายได้รวมรายจ่ายรวมกำไร(ขาดทุน)
25624,638,421.2417,126,174.76-12,487,753.52
25631,439,613.3415,519,810.26-14,080,196.92
2564868,744.939,177,325.86-8,308,580.93
25653,066,563.2914,470,219.99-11,403,656.70
25662,348,658.535,725,952.58-3,377,294.05
ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สโมสรฟุตบอลลำพูน วอริเออร์

ลำพูน วอริเออร์ เป็นอีกหนึ่งทีมในภาคเหนือตอนบนที่มีผลงานยอดเยี่ยมจนสามารถเลื่อนชั้นขึ้นไปแข่งขันในไทยลีก 1 และยังจบฤดูกาลล่าสุดในอันดับที่ 9 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของจังหวัดลำพูนเลยก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อมองจากตารางพบว่าความแข็งแกร่งของลำพูน วอริเออร์ ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงทุกปี และยังต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างหนัก มีเพียงปี พ.ศ. 2566 ที่รายได้และรายจ่ายค่อนข้างสัมพันธ์กันอีกทั้งยังขาดทุนน้อยที่สุด

งบประมาณการเงินของบริษัท สโมสรฟุตบอลลำพูน จำกัด (สโมสรฟุตบอลลำพูน วอริเออร์)
ปีงบประมาณรายได้รวมรายจ่ายรวมกำไร(ขาดทุน)
25625,633,219.6017,435,103.56-11,801,883.96
25633,261,996.6115,931,646.56-12,669,649.95
25644,898,869.1132,362,301.79-27,463,432.68
256513,190,595.7638,615,272.68-25,424,676.92
256644,099,494.546,537,045.39-2,437,550.88
ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สโมสรฟุตบอลน่าน

สำหรับสโมสรฟุตบอลน่านที่แข่งขันในไทยลีก 3 โซนภาคเหนือ และจบด้วยอันดับ 11 เมื่อมองตารางแล้วพบว่าเป็นสโมสรฟุตบอลที่รายได้ค่อนข้างน้อย และยังขาดทุนในทุก ๆ ปี แต่เมื่อเทียบกับทีมอื่นในภาคเหนือตอนบน ถือว่าขาดทุนน้อยที่สุด

งบประมาณการเงินของบริษัท น่านฟุตบอลคลับ จำกัด (สโมสรฟุตบอลน่าน)
ปีงบประมาณรายได้รวมรายจ่ายรวมกำไร(ขาดทุน)
25622,258,865.203,066,738.73-807,873.53
25631,519,746.931,734,118.04-214,371.11
2564375,616.502,540,206.96-2,164,590.46
25651,557,182.695,094,181.54-3,536,998.85
2566669,226.401,790,416.57-1,121,190.17
ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สโมสรฟุตบอลแพร่ ยูไนเต็ด

ส่วนสโมสรฟุตบอลแพร่ ยูไนเต็ด เป็นทีมที่แข่งขันในไทยลีก 2 และฤดูกาลล่าสุดจบด้วยอันดับที่ 11 เมื่อมองจากตารางแล้วแพร่ ยูไนเต็ด นั้นไม่ต่างจากทีมอื่นในภูมภาคเดียวกัน โดยทีมมีรายจ่ายที่ค่อนข้างสูงและขาดทุนสะสมต่อเนื่อง มีเพียงปี พ.ศ. 2563 เท่านั้นที่ทีมทำกำไรได้

งบประมาณการเงินของบริษัท ฟุตบอลแพร่ยูไนเต็ด จำกัด (สโมสรฟุตบอลแพร่ ยูไนเต็ด)
ปีงบประมาณรายได้รวมรายจ่ายรวมกำไร(ขาดทุน)
256211,123,783.6816,679,104.62-5,555,320.94
256317,106,519.5316,015,659.571,090,859.96
256422,536,143.0027,690,539.49-5,154,396.49
256516,299,425.3225,193,034.04-8,893,608.72
256612,015,149.9522,947,024.60-10,931,874.65
ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

สโมสรฟุตบอลอุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม

สำหรับสโมสรฟุตบอลอุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม แข่งขันในไทยลีก 3 โซนภาคเหนือ และจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 6 ซึ่งอุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม ได้เปลี่ยนฝ่ายบริหารและผู้สนับสนุนหลักเมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โดยได้บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด และเมื่อมองจากตารางแล้วพบว่าผู้สนับสนุนรายนี้ได้รับผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งบอกถึงความพร้อมในการให้เงินทุนสนับสนุนอุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม

งบประมาณการเงินของบริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (สโมสรฟุตบอลอุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม)
ปีงบประมาณรายได้รวมรายจ่ายรวมกำไร(ขาดทุน)
25621,604,597,015.001,014,183,289.00345,947,701.00
25631,613,711,506.00913,436,878.00561,907,507.00
25641,847,587,428.001,089,169,800.00607,541,547.00
25652,326,776,637.001,430,766,670.00716,628,094.00
25662,714,141,092.001,774,924,654.00751,552,023.00
ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

จากข้อมูลข้างต้นพบว่าสโมสรฟุตบอลที่มีความพร้อมด้านงบประมาณการเงินคือ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งมีรายได้และทำกำไรได้มากกว่าทีมอื่น ๆ ในแถบภาคเหนือตอนบน ส่วนสโมสรฟุตบอลอุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม แม้ว่าตัวเลขจะแสดงรายได้และกำไรสูงที่สุด แต่ทว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นงบประมาณการเงินของบริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด เพียงรายเดียว ซึ่งศักดิ์สยามลิสซิ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านสินเชื่อและไม่ได้ระบุแน่ชัดว่านำเงินไปสนับสนุนทีมเป็นจำนวนเท่าใด อีกทั้งอุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม ยังเป็นการรวมทุนจากผู้สนับสนุนในท้องถิ่น ประกอบด้วย เครื่องดื่มตรา ช้าง , บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) , สนามฟุตบอลหญ้าเทียมอุตรดิตถ์ยูไนเต็ด , บริษัท ทุเรียนในตำนาน (ประเทศไทย) จำกัด , บ้านคอมพิวเตอร์ไอที ทีทีการ์เด้น และฟาร์มประเสริฐ อุตรดิตถ์ ยาและอาหารสัตว์ แม้ว่าฤดูกาลปัจจุบันอุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม ลงเล่นเพียงในไทยลีก 3 โซนภาคเหนือ แต่ถือได้ว่าได้รับความสนใจจากกลุ่มทุนภายในท้องถิ่นเป็นอย่างดี

ภาพ : Uttaradit-Saksiam FC

การที่มีสโมสรฟุตบอลในท้องถิ่นเสมือนมีศูนย์รวมของคนในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนที่เข้ามาสนับสนุน หรือแฟนบอลที่คอยเชียร์ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญและก่อให้เกิดความสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว โดย ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ waymagazine ไว้ว่า “สโมสรฟุตบอลทำให้คนในชุมชนมาเจอกัน แล้วสร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน สโมสรฟุตบอลยังเป็นเหมือนกาวที่เชื่อมคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนใช้จ่ายในเกมฟุตบอลทุกสัปดาห์ และคนจำนวนมากสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนั้นได้ แม้ฐานแฟนบอลไม่เยอะ แต่ฟุตบอลลีกมันขายทั้งลีก อีกทั้งการมีส่วนร่วมกับแฟนบอลด้วยกันเอง สร้างความสัมพันธ์ สร้างตัวตนขึ้นมา ในอีกแบบหนึ่งที่สัมพันธ์กับสโมสรฟุตบอล ดังนั้นการไปสนามฟุตบอล คนไม่ได้ไปเพื่อหาความบันเทิงจากเกมกีฬาอย่างเดียว ซึ่งต่อให้ผลงานไม่ดี ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ดูอยู่” 

ภาพ : Uttaradit-Saksiam FC

ด้าน THE GLOCAL ยังอธิบายใน “ฟุตบอลไทย” จากกีฬาสู่การเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น ไว้ว่าทีมฟุตบอลท้องถิ่นมักถูกมองว่าเป็นตัวแทนของชุมชน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของทีมก็นำมาซึ่งกระแสต่าง ๆ ที่สะท้อนความรู้สึกของประชาชนท้องถิ่น ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าในระดับท้องถิ่นฟุตบอลอาจไม่เพียงแต่เป็นกีฬาแต่ยังเป็นธุรกิจ ความสำเร็จของทีมฟุตบอลท้องถิ่นสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชน และเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนระดับท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อที่ว่าฟุตบอลไทยมีศักยภาพในการเป็นกิจกรรมที่สร้างความรุ่งเรืองสำหรับท้องถิ่นในระยะยาว

ภาพ : siamsport

ท้ายที่สุดแล้ว จากผลงบประมาณการเงินของแต่ละสโมสรฟุตบอลที่เราได้นำเสนอ แม้ว่าหลายสโมสรจะประสบปัญหาการขาดทุน แต่สโมสรเหล่านี้เสมือนเป็นตัวแทนของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ส่งผลให้ไม่เพียงแต่ต้องคำนึงถึงเรื่องผลกำไรขาดทุน แต่ยังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับแฟนบอล ซึ่งหากสโมสรล้มแฟนบอลย่อมเจ็บตามไปด้วย จึงเป็นเรื่องยากหากจะยุบทีมฟุตบอลทีมใดทีมหนึ่งที่ยังมีแฟนบอลและกลุ่มธุรกิจสนับสนุนอยู่ อีกทั้งหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนฟุตบอลภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาและต่อยอดฟุตบอลภูมิภาคให้ยั่งยืนยาวนาน

อ้างอิง

  • siamtongtin. (2564). สโมสรฟุตบอล “อุตรดิตถ์ศักดิ์สยาม เอฟซี” ได้ทุนท้องถิ่นสนับสนุนหลัก พร้อมเสริมทัพนักเตะใหม่อีกเพียบ ตั้งเป้าเล่นรอบแชมเปียนส์ลีก. เข้าถึงจาก https://siamtongtin.com/sport/29260/
  • prachatai. (2567). “ฟุตบอลไทย” จากกีฬาสู่การเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น (3) ฟุตบอลกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น. เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2024/03/108342
  • waymagazine. (2561). ท้องถิ่นนิยม ชาตินิยม เรียนรัฐศาสตร์ผ่านลูกกลมๆ ที่เรียกว่าฟุตบอล. เข้าถึงจาก https://waymagazine.org/a-little-ball-to-the-big-world-_nation-people/

นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง