ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “เศรษฐา” พ้นเก้าอี้นายกฯ ด้านนักกฎหมายชี้ นี่คือระบอบประชาธิปไตยที่ขาดตอน

14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เศรษฐา ทวีสิน คดีคุณสมบัตินายกฯ จากกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 5:4 เสียง วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5)

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะยังคงเป็นชุดรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และแต่งตั้งฝ่ายบริหารชุดใหม่

ล่าสุดเฟซบุ๊คเพจพรรคเพื่อไทยได้โพสต์หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติดังกล่าวว่า

“ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยเจออุปสรรค แต่เราจะทำงานต่อ เราจะไม่หยุดทุกครั้งที่ล้ม เราจะล้มไปข้างหน้า และลุกขึ้นใหม่อย่างมั่นคง

เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนไทย 14 สิงหาคม 2567

พรรคเพื่อไทย”

โดยหลังจากที่ เศรษฐาและคณะรัฐมนตรี พ้นสภาพ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยคุณสมบัติคือต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองที่มี สส. ในสภาไม่น้อยกว่า 5% หรือมี สส. เกิน 25 เสียงขึ้นไป 

จากเงื่อนไขดังกว่าจะพบว่ามีแคนดิเดตทั้งหมด 7 คน จาก 5 พรรคการเมือง ดังต่อไปนี้

1.พรรคเพื่อไทย จำนวน 2 คน คือ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค และชัยเกษม นิติสิริ สส.บัญชีรายชื่อ

2.พรรคภูมิใจไทย จำนวน 1 คน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี, รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรค

3.พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี, รมว.พลังงาน และหัวหน้าพรรค

4.พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 1 คน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

5.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 1 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ

ด้าน ภาสกร ญี่นาง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยความคิดเห็นกับ Lanner ว่า ในแง่ของกระบวนการทางกฎหมายนั้นเป็นปัญหาอย่างมาก การที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์กรที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน และเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่ขาดตอน ไม่ได้อิงกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ เพราะหากพิจารณาที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย แต่มาจากการแต่งตั้งโดย เครือข่ายอำนาจของ คสช. ตั้งแต่ปี 2557

ภาสกร ญี่นาง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเครือข่ายอำนาจเดิม ไม่สามารถครองอำนาจหรือรักษาเสถียรภาพของตนเองได้ภายระบอบหรือกลไกแบบประชาธิปไตย อาทิ การเลือกตั้ง ที่แพ้การเลือกตั้งและเสียอำนาจทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงอาศัยกลไกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการประชาธิปไตยจะเห็นได้บ่อยครั้งว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจให้กับตนเอง และทำลายคู่แข่ง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง