เปิด 5 เหตุผล ทำไมเราควรจับตามองการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เขต 1

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

หลังการยุบพรรคก้าวไกลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา​ ส่งผล​ให้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อมขึ้นเพื่อหา สส. พิษณุโลก เขต 1 ​เสียใหม่

การเลือกตั้งซ่อมจะจัดขึ้น​ในวันอาทิตย์ที่ 15​ กันยายน​นี้​ เป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัคร​จาก​ 2​ พรรคการเมือง​ และ​ 2​ ขั้วการเมือง​ ​​ได้แก่​ เบอร์​ 1​ ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ตัวแทนจากพรรคประชาชน​ และเบอร์ 2​ จเด็ศ จันทรา​ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งการเลือกตั้งซ่อม​ครั้งนี้​ได้รับการจับตามองจากสังคมอย่างมาก เพราะถือได้ว่าเป็นสนามประลองกำลังระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านอย่างตรงไปตรงมาที่สุดครั้งหนึ่ง​ หลังเหตุการณ์พลิกขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา​

วันนี้ผมอยากพาผู้อ่านทุกคนมาสำรว​จ​ 5​ เหตุผลที่ทำไมเราถึงควรจับตามองการเลือกตั้งซ่อมที่พิษณุโลก​ เขต​ 1​ ที่กำลังจะมาถึงในวันพรุ่งนี้​

1.เป็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลอย่างแท้จริง

เงื่อนไขหนึ่งที่สื่อมวลชนหลายสำนักให้ความสนใจการเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดพิษณุโลกครั้งนี้คือ เป็นสนามการแข่งขันระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านอย่างแท้จริง เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชนส่งตัวแทนอย่าง ณฐชนน อดีตผู้ช่วยของ ปดิพัทธ์ ลงสมัคร ขณะที่ฝ่ายพรรครัฐบาลที่ประกอบด้วยหลายพรรคเลือกส่ง​​ จเด็ศ ผู้มีสายสัมพันธ์อันดีกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคเดียวจากขั้วรัฐบาลที่ส่งลงสมัครในครั้งนี้ ส่งผลการเลือกตั้งซ่อมในครั้งจะเป็นการวัดพลังทางการเมืองระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคฝ่ายแกนนำค้านอย่างเลี่ยงไม่ได้

หากนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายรอบการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เราจะพบปัจจัยมากมายที่ทำให้การแข่งขั้นระหว่าง 2 พรรคมีความเป็นไปได้ที่อาจเป็นผลบวกแก่ทั้ง 2 ฝ่าย เหตุการณ์แรกคือการหยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจเป็นแรงหนุนให้ ณฐชนน ในนามพรรคประชาชนจะได้รับคะแนนจากความโกรธและความเห็นใจจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ขณะที่จเด็ศอาจได้คะแนนเสริมจากการเป็นผู้สมัครที่มาจากพรรคแกนนำรัฐบาล พร้อมกับแรงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะแรงสนับสนุนจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เพิ่งมาเดินสายมาอ้อนขอคะแนนจากชาวพิษณุโลก เขต 1 ไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้ จเด็ศ จะมีข้อได้เปรียบจากการเป็นผู้สมัครของพรรคแกนนำรัฐบาล แต่โพลล์ล่าสุดจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ว่า ณฐชนนมีความเป็นไปได้ที่จะชนะเลือกตั้งมากกว่า แรงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ส่งมาให้จเด็ศมากนัก สังเกตเห็นได้จากไม่มีแกนนำเบอร์ใหญ่ของพรรคเดินทางมาช่วยหาเสียงแต่อย่างใด แตกต่างจากกรณีเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ที่พรรคส่งตระกูลชินวัตรครบทุกคนลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครของพรรคอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนก็ยังชี้ชวนให้เราจับตามองการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ ใช่ว่าณฐชนนจะลอยลำเข้าเส้นชัยอย่างง่ายแม้จะมีคะแนนนำก็ตาม

2.เป็นเขตยุทธศาสตร์ของภาคเหนือตอนล่าง

พิษณุโลกถือเป็นเขตยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งเขตสำคัญในภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีเขตการเลือกตั้งถึง 5 เขต และยังเป็นจังหวัดที่เปลี่ยนหน้า สส. บ่อยมาก ไม่มีใคร ตระกูลไหน หรือพรรคใดสามารถกวาดคะแนนเบ็ดเสร็จได้เลย ขณะที่จังหวัดรอบข้างหลายจังหวัดมีความแน่นอนทางเมืองมากกว่า สส. หลายคนจากจังหวัดรอบข้างต่างมีสายสัมพันธ์กับบ้านใหญ่ประจำจังหวัดทั้งสิ้น แม้จะเปลี่ยนพรรคสังกัดแต่ยังเป็น สส. หน้าเดิม ทำให้มีความแน่นอนในระดับหนึ่งที่สามารถจะอนุมานได้ว่า ใครจะเป็น สส. ของจังหวัดเหล่านี้

เมื่อสำรวจการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุดจะพบว่า จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของ สส. และพรรคการเมือง​สูงมาก โดยแบ่งเป็นพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง 2 เขต ก้าวไกล 2 เขต รวมไทยสร้างชาติ 1 เขต และจำนวน 3 คนจาก สส. เขตทั้งหมดเป็น สส. หน้าใหม่ที่ล้มแชมป์เก่าได้ จึงถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่หากพรรคการเมืองต้องการชัยชนะในการเลือกตั้งก็จำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรอย่างมากเพื่อเป็นผู้ชนะ

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคเหนือตอนล่างแล้ว พิษณุโลกเป็นจังหวัดสำคัญที่พรรคการเมืองและผู้สมัครต้องทุ่มเททรัพยากรสูงมาก หากหวังว่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งในจังหวัดนี้ได้ และหากสามารถกุ่มชัยชนะในจังหวัดนี้ได้ ยังอาจเป็นสมการสำคัญในการล่าคะแนนเสียงของพรรคการเมือง

3.เป็นเขตเลือกตั้งที่มีพลวัตรทางการเมืองสูง ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ

พิษณุโลกเขต​ 1​ นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตรทางการเมืองที่สูงมากด้วยเช่นกัน พูดง่าย ๆ​ คือเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า​ “ใครเป็นเจ้าของ” หรือ “จังหวัดนี้ยังไงก็เลือกพรรคนี้” เพราะหากเราย้อนกลับไปประมาณ 20​ ปีที่ผ่านมายังไม่พรรคใดหรือตระกูลการเมืองตระกูลใดสามารถ​ปักธงชัยยึดตำแหน่ง สส.​ ประจำของพิษณุโลกเขต​ 1​ มาอย่างต่อเนื่องได้เลย​

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา วรงค์​ เดชกิจวิกรม จากพรรคประชาธิปปัตย์ เคยได้รับการรับเลือกต่อเนื่องถึง​ 3​ สมัย​ (พ.ศ.​2548,​​ 2550 และ 2554) แต่ต่อมาก็ต้องพ่ายให้กับปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 นายปดิพัทธ์ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อในปี 2566 แต่ทั้งวรงค์และปดิพัทธ์ต่างก็ไม่ใช่นักการเมืองที่จะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ หรืออ้างตัวว่ามาจากตระกูลทางการเมืองใด ๆ เนื่องจากทั้งคู่ก็ต่างได้รับเลือกเป็น สส. ครั้งแรกในพื้นที่นี้ และทั้งคู่ต่างก็ไม่เคยผ่านตำแหน่งทางการเมืองอื่นเลยก่อนได้รับเลือกเป็น สส.

แม้รายรอบเขตเลือกตั้งนี้จะมีตระกูลการเมืองอยู่หลากหลายตระกูล ไม่ว่าจะเป็นตระกูลไกลฤกษ์จากพิษณุโลกเขต 2 หรือตระกูลเทพสุทินที่ยึดครองพื้นที่จังหวัดสุโขทัย กระทั่งตระกูลชามพูนทและตระกูลวิวัฒน์ 2 ตระกูลที่ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นนายกในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 2 ตระกูลแม้จะส่งตัวแทนจากตระกูลของตนลงเลือกตั้งในเขต 1 พิษณุโลกเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา แต่ทั้งคู่ก็ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา

ฉะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่พิษณุโลกเขต 1 เป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางการเมืองที่สูงระดับหนึ่ง จนมิอาจมีใครสามารถกล่าวอ้างได้เลยว่าเป็น “เจ้าของพื้นที่” หรือสามารถผูกขาดตำแหน่ง สส. ในเขตนี้ได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อหน้าสังเกตว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สส. จากพิษณุโลกเขต 1 จะเป็น สส. สังกัดพรรคที่เป็นฝ่ายค้านทั้งสิ้น เว้นเพียงปี 2551-2554 ที่นายวรงศ์ได้ขยับมาเป็น สส. ฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์ต้นสังกัดของเขาอาศัยการจัดตั้งรัฐบาลหลังการยุบพรรคพลังประชาชน แต่หลังจากนั้น สส. จากเขตนี้ก็ไม่ได้สังกัดในพรรครัฐบาลอีกเลย

4.ผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งคู่

ผู้สมัครจากทั้งพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยต่างเป็นสนามการเลือกตั้งของพิษณุโลกเขต 1 ครั้งแรกสำหรับพวกเขา ผู้สมัครเบอร์ 1 อย่าง​ ณฐชนนแม้เขาจะทำงานอยู่ในทีมงานของปดิพัทธ์มาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ก็ถือว่าในฐานะผู้สมัครเป็นครั้งแรกสำหรับเขา ขณะที่ผู้สมัครเบอร์ 2 เคยเป็นผู้สมัคร สส. มาแล้ว แต่เขามิได้สมัครในเขต 1 พิษณุโลก ในครั้งนี้เขาได้เปลี่ยนสนามการแข่งขันมาเป็นผู้สมัครในสนามของเขต 1 แล้ว สำหรับผู้คนในพิษณโลก เขต 1 แล้วเขาก็ยังถือเป็นหน้าใหม่ในสนามนี้เช่นกัน

หากจะลองสำรวจประวัติของทั้งคู่เสียหน่อย สิ่งที่พวกเราจะได้พบอาจเป็นประวัติคร่าว ๆ ของทั้งสอง ในส่วนประวัติของณฐชนนนั้นอาจไม่มีอะไรหวือหวามาก เขาเป็นลูกชายร้านขายยางรถยนต์ใหญ่ในตัวเมืองพิษณุโลก หลังจากการเลืองตั้งปี 2562 ก็เข้ามาทำงานร่วมกับปดิพัทธ์ในตำแหน่งผู้ชำนาญการประจำตัวและเป็นมาต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกลใกล้มาถึง ณฐชนนก็ได้ถูกส่งให้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชน เพื่อเตรียมเป็นผู้สมัครเลือกตั้งแทนปดิพัทธ์ที่อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หลังการยุบพรรคณฐชนนจึงได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพิษณุโลกเขต 1 ในฐานะผู้สานต่ออุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลในนามใหม่ว่าพรรคประชาชน

ในส่วนประวัติของจเด็ศนั้นไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก เท่าที่เราพอจะรู้คือเขาเป็นอดีตผู้สมัครพิษณุโลก เขต 3 แต่เขาแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเขาเป็นผู้สมัครที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับแกนนำในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เคยเดินทางมาช่วยจเด็ศหาเสียงเมื่อปี 2566 และในการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะมาถึงสมศักดิ์ก็ยังคงมาช่วยหาเสียงเช่นเดิม นอกจากนั้นเขายังเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดปัจจุบัน ทำให้เขาอาจมีพลังทางเมืองในระดับหนึ่ง จนอาจเป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของเขาในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

5.ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างแนวทางแก้ปัญหาของชาวพิษณุโลก กับแนวทางอุดมการณ์ทางการเมือง

การหาเสียงของทั้งณฐชนนและจเด็ศดำเนินไปบนแนวทางและความเชื่อที่แตกต่างกันไป พรรคประชาชนยังรักษาแนวทางการเมืองต่อจากพรรคก้าวไกล คือชูนโยบายและความตรงไปตรงมาทางการเมือง ณฐชนนและผู้ช่วยหาเสียงต่างนำเสนอแนวนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และย้ำเตือนจุดยืนที่ตรงไปตรงมาของพวกเขา

ในเวลาเดียวกันจเด็ศเดินทางหาเสียงด้วยแนวทางที่แตกต่างออกไป เขาหาเสียงจากการนำเสนอการแก้ปัญหาที่มีเฉพาะของคนพิษณุโลก อาทิ ปัญหาขยะล้นเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้น จเด็ศนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาขยะด้วยวิธีการให้ตัวเขาเข้าไปเป็น สส. ในขั้วรัฐบาล เพื่อที่จะได้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะได้ พร้อมทั้งยังอาสาเป็นคนประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาเช่นกัน

ทั้งสองคนและทั้งสองพรรคต่างอาศัยแนวทางการหาเสียงคนล่ะส้นทางกัน เสมือนแสดงจุดยืนที่แตกต่างกันของทั้งสองพรรค พรรคเพื่อไทยอาศัยการใช้ความสัมพันธ์กับผู้มีตำแหน่งในการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น เพื่อนำมาแก้ปัญหาให้แก่คนในเขตของตน พร้อมกับอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นรัฐบาลเพื่อเป็นสะพานดึงความช่วยแหลือจากส่วนกลางมาแก้ปัญหาที่คนในเขตของตนกำลังเผชิญ

ในขณะที่พรรคประชาชนเลือกที่จะหาเสียงในแนวทางตามแนวทางพรรคก้าวไกล คือการเสนอวิสัยทัศน์ในการทำงานในระบอบนิติบัญญัติ และการนำเสนอว่าเป็นพรรคการเมืองที่ตรงไปตรงมา พร้อมอาศัยเคลื่อนความโกรธหรือเห็นใจที่มีต่อพรรคประชาชนหลังจากคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลเป็นแรงหนุนเสริม

ดังนั้น การเลือกตั้งพิษณุโลก เขต 1 ครั้งนี้จึงเปรียบเสมือเวทีประลองแนวทางการทำงานในฐานะ สส. พร้อมกับเป็นเวทีที่จะเผยให้เห็นว่าชาวพิษณุโลก เขต 1 จะเลือกแนวทางการทำงานการเมืองแบบใด และเลือกนักการเมืองแบบใด นอกจากนั้นสนามการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ยังเป็นเสมือมวยเปิดเวทีสนามการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งต่อไป

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง