เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ
ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กรุงเทพมหานครแต่เพียงเท่านั้น เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเมืองไทย ที่ประชาชนก้าวออกมาต่อต้านอำนาจของเผด็จการที่ปกครองประเทศเป็นเวลาร่วม 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2514
จากจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชน ผ่านการรณรงค์แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลจอมพลถนอมได้ตอบโต้ด้วยการจับกุมนักศึกษา ประชาชนทั้งหมด 13 คน หรือ “13 กบฏรัฐธรรมนูญ” พร้อมตั้งข้อหามั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน รวมทั้งข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่วันที่ 6-9 ตุลาคม 2516 สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความคับแค้นใจแก่ประชาชนทั่วประเทศ จนต้องออกมาชุมนุมประท้วงเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้ง 13 คนที่ถูกจับ พ่วงด้วยการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ การชุมนุมเริ่มต้นที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสู่ถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า แม้รัฐบาลจะประกาศว่าจะเร่งปล่อยตัวทั้ง 13 คน พร้อมเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่ 14 ตุลาคม ก็เกิดความรุนแรงที่รัฐใช้กำลังในการสลาย จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บร่วม 857 คน ก่อนที่เวลาต่อจอมพลถนอม กิตติขจร จะประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการขับไล่ 3 ทรราชคือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ออกจากประเทศ พร้อมกับการที่ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
เนื้อหาข้างต้นอาจจะพูดถึงประวัติศาสตร์ในกรุงเทพฯ เป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ในวันเวลาเดียวกันนี้ ‘ภาคเหนือ’ ของไทย ในความเคลื่อนไหวก็มีอยู่ทั้ง 16 จังหวัดเช่นกัน (เวลานั้นจังหวัดพะเยายังไม่ถูกยกฐานะเป็นจังหวัด ซึ่งถูกแต่งตั้งในปี 2520)
Lanner ชวนร้อยเรียงลำดับเหตุการณ์ ก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ว่าประชาชนในภาคเหนือออกมาต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง
จังหวัดเชียงใหม่
7 ตุลาคม
– มีการติดโปสเตอร์และเขียนโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรงตามถนนหลายแห่งทั่วเมืองเชียงใหม่
8 ตุลาคม
– เวลา 06.00 น. มีการโปรยใบปลิวในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ รวมทั้ง ปิดโปสเตอร์ตามสถานที่ต่างๆ ที่มีข้อความโจมตี รัฐบาลว่าเป็นเผด็จการ และสนับสนุนให้นักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วย
– ผู้กำกับการตำรวจภูธรเชียงใหม่ระดมกำลังตระเวนเก็บโปสเตอร์และใบปลิว
– ยุติศักดิ์ เอกอัคร นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงเรื่องรัฐธรรมนูญ
9 ตุลาคม
– กลุ่มนักศึกษา “กลุ่มนักศึกษาผู้รักชาติ” ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญและโจมตีรัฐบาล
– มีการติดโปสเตอร์ชักชวน “เราจะพบกันที่กรุงเทพฯ”
10 ตุลาคม
– ช่วงบ่ายของวัน มีการเปิดอภิปรายที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ประณามการกระทำของรัฐบาล
– ช่วงเย็น นักศึกษาวิทยาลัยครูประมาณ 3,000 คน เดินขบวนเข้าร่วม ชุมนุมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– เวลา 18.30 น. นักศึกษาจากหลายสถาบันเดินขบวนไปตามถนนสายต่างๆ และจัดชุมนุมที่ประตูท่าแพ ซึ่งมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมชุมนุมราว 5,000-6,000 คน
– เวลา 21.00 น. มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล ปล่อยตัว 13 ผู้ต้องหาและมอบรัฐธรรมนูญให้ประชาชน
– สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เชิญชวนนักศึกษาไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ
11 ตุลาคม
– นักศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษาได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงรัฐบาล ที่ใจกลางจังหวัดเชียงใหม่ มีการปราศรัย โจมตีรัฐบาล ปิดโปสเตอร์ทั่วตัวเมืองเชียงใหม่
– นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่บางส่วนเดินทางไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไว้ที่จังหวัดตาก
12 ตุลาคม
– ช่วงเย็นของวัน มีการชุมนุมกันที่ประตูท่าแพ มีการแสดงละคร, โต้วาที, ไฮปาร์คและรับบริจาคเงินกับอาหารเพื่อใช้ในการชุมนุม
– มีมติไม่สลายตัว และยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ปล่อย 13 ผู้ต้องหาและให้รัฐบาลลาออก และตอบรับข้อเสนอภายใน 12.00 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม
13 ตุลาคม
– เวลา 12.00 น. ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาล ได้รับการติดต่อกับที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– หลังจากการเผาหุ่นประภาส กิตติขจร ได้เคลื่อนขบวนไปยัง ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งเป็นกองบัญชาการของ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน
14 ตุลาคม
– เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่กรุงเทพฯ ตำรวจและทหารได้ใช้ความรุนแรงแก่กลุ่มผู้ชุมนุม
– คณะกรรมการศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือจึงนำรถเคลื่อนไปประกาศข่าวในเมือง ประชาชนเกิดความสับสนในข้อมูลระหว่างข้อมูลจากวิทยุของรัฐและข้อมูลจากนักศึกษา
– หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกมีการชุมนุมในช่วงเย็น มีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากกว่า 10,000 คน มีการร่วมกันบริจาคโลหิต บริจาคอาหารและทรัพย์สิน เพื่อนำไปสมทบที่กรุงเทพฯ
15 ตุลาคม
– สถานการณ์ในกรุงเทพฯ ยังคงตึงเครียดและได้รับกระแสข่าวว่ามีการปะทะกันระหว่างทหารและประชาชน มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก และทราบข่าวว่ามีทหารเคลื่อนขบวนเข้ามาที่จังหวัดเชียงใหม่
– คณะกรรมการศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือจึงตัดสินใจประกาศสลายการชุมนุมเมื่อเวลาประมาณ 01.30 น. เพื่อความปลอดภัยและไม่ต้องการเห็นการนองเลือดที่จังหวัดเชียงใหม่
– ในเวลา 10.00 น. นักเรียน นักศึกษา จากสถาบันต่างๆ เช่น โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ โรงเรียนมงฟอร์ต วิทยาลัยพลศึกษา และประชาชนได้มาชุมนุมกันอีกครั้งที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อทำพิธีไว้อาลัยแด่วีรชน 14 ตุลา
16 ตุลาคม
– นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ วีรชน 14 ตุลา ที่เสียชีวิต
18 ตุลาคม
– ศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือประกาศชุมนุมกันที่ท่าแพ แถลงนโยบายของศูนย์ฯ ออกรับบริจาคเงิน ในวันที่ 19-21 ตุลาคม เพื่อนำไปใช้สำหรับการจัดนิทรรศการประชาธิปไตย ใช้ช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต และใช้เป็นทุนให้นักศึกษาออกไปแนะแนวการใช้ประชาธิปไตยในทางที่ถูกแก่ประชาชน
19 ตุลาคม
– นักเรียนและนักศึกษาได้รับเงินบริจาคจากประชาชน เช่น โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ นักศึกษาวิทยาลัยครูเชียงใหม่ นักศึกษาเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
จังหวัดเชียงราย
หลังจากการประท้วงการจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ จนกระทั่งมีเหตุการณ์ปะทะนองเลือดในวันที่ 14 ตุลาคม นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ให้ความสนใจ มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง มีการติดโปสเตอร์โจมตีรัฐบาลหลายแห่ง เช่น สนามเด็กเล่นที่เทศบาลแต่ก็ถูกตำรวจเก็บไปหมด ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการบริจาคเงินและโลหิต นักเรียนโรงเรียนต่างได้ไว้ทุกข์แก่วีรชน 14 ตุลา
17 ตุลาคม
– นักเรียนโรงเรียนการช่างเชียงราย เดินขบวนไว้ทุกข์ไปยังอนุสาวรีย์ พ่อขุนเมงรายมหาราช มีการวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ มีการติดโปสเตอร์สดุดีวีรกรรมของวีรชนที่เสียชีวิตในการต่อสู้ และรับบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือ ผู้บาดเจ็บ
21 ตุลาคม
– ชุมนุมศิษย์เก่าจุฬาและธรรมศาสตร์ จังหวัดเชียงราย นักเรียน นักศึกษาและประชาชน เดินทางร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่วีรชน 14 ตุลา ที่วัดพระแก้ว
จังหวัดลำพูน
12 ตุลาคม
– มีการแจกแถลงการณ์โจมตีรัฐบาลในจังหวัดลำพูน โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาภาคเหนือแจกแถลงการณ์
– ช่วงเย็นของวัน นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนการช่างลำพูน และประชาชนได้ไปเข้าร่วมการประท้วงกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัว 13 กบฏรัฐธรรมนูญ
15 ตุลาคม
ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาภาคเหนือ มีหนังสือถึงโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดลำพูน เชิญเข้าร่วมไว้อาลัยแด่วีรชน 14 ตุลา ที่เสียชีวิต ณ สนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกข้าราชการขัดขวางไม่ให้รถประจำทางจอดรับ นักเรียนอาชีวะจึงพากันขวางถนนให้รถจอดแล้วขึ้นรถไปร่วมไว้อาลัย
19 ตุลาคม
– นักเรียนและประชาชนจังหวัดลำพูนเดินขบวนขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน
23 ตุลาคม
– นักเรียนร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่วีรชน 14 ตุลา และตั้งศูนย์รับบริจาคเงิน ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย
จังหวัดลำปาง
นักเรียน นักศึกษา และประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารเหตุการณ์กันอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากวิทยุข่าวมีความบิดเบือนข้อมูลความจริง ทำให้การตัดสินของประชาชนยังทำได้ไม่เต็มที่ จนกระทั่งได้ทราบข้อเท็จจริงโดยละเอียดหลังจากนั้น
15-16 ตุลาคม
– นักศึกษาวิทยาลัยครูลำปางได้ไปบริจาคโลหิตและออกรับบริจาคเงินเพื่อส่งมอบให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
23 ตุลาคม
– นักศึกษาและประชาชนร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศล แด่วีรชน 14 ตุลา
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
หลังจากที่ 3 ทรราชได้ถูกขับไล่ออกไปแล้ว คณะนักเรียนในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้รับบริจาคเงินจากประชาชน เพื่อรวบรวมมาให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
จังหวัดแพร่
13-14 ตุลาคม
– มีการถกเถียงและวิจารย์กันอย่างกว้างขวางของประชาชน พร้อมทั้งประณามการทำงานของรัฐบาล
21 ตุลาคม
– นักเรียนเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือและไว้อาลัยแด่วีรชน 14 ตุลาคม
23 ตุลาคม
– นักเรียนจากโรงเรียนการช่างแพร่, โรงเรียนอาชีวศึกษาแพร่, โรงเรียนพาณิชยการแพร่และโรงเรียนพานิชยการลานนา ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาชีวะขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รับบริจาคเงินจากประชาชนนำไปสมทบ กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
27 ตุลาคม
– นักเรียนและประชาชนเดินขบวนไว้อาลัย วางพวงหรีดและมีพิธีทางศาสนาอุทิศส่วนกุศลแด่วีรชน 14 ตุลา รวมทั้งมอบเงินรับบริจาคให้ศูนย์กลางนิสิตฯ
จังหวัดน่าน
16 ตุลาคม
– หลังจากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม นักเรียนโรงเรียนการช่างน่าน โรงเรียนเกษตรกรรมน่าน โรงเรียนสตรีน่าน โรงเรียนสตรีสวัสดิ์วิทยากร และโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ร่วมกันรับบริจาคเงิน รวมทั้งเปิดอภิปรายถึงการเสียชีวิตของวีรชน 14 ตุลา และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ
– มีผู้ไปทำลายป้ายชื่อสะพาน “กิตติขจร 9” เนื่องจากความโกรธแค้นหลังจากทราบข่าวความรุนแรง ทางจังหวัดจึงได้นำป้ายชื่อ “พัฒนาภาคเหนือเขต 8” ไปติดตั้งแทน
จังหวัดอุตรดิตถ์
12 ตุลาคม
– นักเรียนโรงเรียนอุตรดิตถ์ 6 คน เสนอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา 13 คน ผ่านทาง “งาสั้น” แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ไม่ได้ลง
– มีการอภิปรายโจมตีรัฐบาลตั้งแต่เวลา 10.30 – 16.00 น. ที่หอประชุมวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ซึ่งระหว่างการอภิปรายผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้อำนวยการได้ขึ้นกล่าวเพื่อห้ามปราม จึงมีการย้ายมาอภิปรายต่อที่สนามหน้าอาคารเรียน
13 ตุลาคม
– เวลา 09.00 น. นักศึกษาวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ได้ชุมนุมกันที่หน้าอาคารเรียน แต่อาจารย์ไม่ยอมให้ใช้เครื่องขยายเสียง นักศึกษาจึงไปเช่าเครื่องขยายเสียงมาอภิปราย
– เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาจารย์เรียกตัวแทนนักศึกษาเข้าไปพบเพื่อกล่าวถึงผลเสียของการเดินขบวน
– เวลา 10.30 น. เดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัด วางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก จากนั้นก็เปิดอภิปรายที่ตลาดและสถานีรถไฟ
– เวลา 16.00 น. เดินกลับมายังศาลากลางจังหวัด
– เวลา 18.00 น. เคลื่อนกลับมาที่วิทยาลัยครู เพื่ออภิปรายโจมตีรัฐบาลและสลายตัวในเวลา 23.00 น.
14 ตุลาคม
– เวลา 12.30 น. นักศึกษาพร้อมอุปกรณ์ขยายเสียงเรียกนักศึกษามารวมตัวกันที่วิทยาลัยครู แต่ถูกอาจารย์สั่งห้าม อ้างว่ารัฐบาลปล่อยตัว 13 คนแล้ว
15 ตุลาคม
– นักเรียนโรงเรียนอุตรดิตถ์และโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี แสดงออกเพื่อไว้ทุกข์แด่วีรชน 14 ตุลา ด้วยการติดปลอกแขนและแถบดำ
17 ตุลาคม
– นักศึกษาต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่วีรชน 14 ตุลา ที่ศาลากลาง โดยใช้ชื่อว่า “นักศึกษาวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์และสื่อมวลชนจังหวัดอุตรดิตถ์”
– ผู้อำนวยการสั่งห้ามใช้ชื่อ เพราะวิทยาลัยไม่มีส่วนรู้เห็นในครั้งนี้
18 ตุลาคม
– กลุ่ม “นักศึกษาวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์และสื่อมวลชนจังหวัดอุตรดิตถ์” จัดการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วีรชน 14 ตุลา ที่ศาลากลางจังหวัด หลังจากได้รับอนุญาตจากผู้อำนายการ มีอาจารย์หลายท่านเข้าร่วมทำบุญ
29 ตุลาคม
– คณะกรรมการนักเรียนโรงเรียนอุตรดิตถ์ เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ ถนอม, ประภาศ และณรงค์ ฐานะที่เป็นฆาตกรเข่นฆ่านักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน พร้อมยึดทรัพย์
จังหวัดตาก
นักเรียนได้ช่วยกันรับบริจาคเงิน เพื่อส่งไปยังศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หลังทราบถึงเหตุการณ์ความรุนแรง 14 ตุลาคม ที่กรุงเทพฯ
จังหวัดกำแพงเพชร
14 ตุลาคม
– ช่วงค่ำของวันมีการติดโปสเตอร์เรียกร้องสิทธิ์และโจมตีการกระทำของรัฐบาล ทั่วทั้งเมืองกำแพงเพชร และที่รั้วของโรงเรียนการช่างกำแพงเพชร
15 ตุลาคม
– โปสเตอร์ดังกล่าวถูกเก็บไปจนหมด
– เมื่อเหตุการณ์สงบลงนักเรียนและประชาชน ร่วมกันบริจาคเงินและโลหิต และได้พร้อมใจกันไว้ทุกข์แด่วีรชน 14 ตุลา
จังหวัดพิจิตร
ประชาชนติดตามข่าวจากวิทยุและหนังสือพิมพ์ถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นระยะ เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคมในกรุงเทพฯ สงบลง นักเรียนในโรงเรียนต่างๆได้มีการร่วมกันไว้ทุกข์แด่วีรชน 14 ตุลา และบริจาคเงินส่งไปให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย มีนิสิตนักศึกษามาอภิปรายถึงเหตุการณ์ ต่างๆ และการเสียชีวิตของวีรชน
จังหวัดเพชรบูรณ์
มีการนำข่าวจากวิทยุและหนังสือพิมพ์มาอ่านให้นักเรียนฟัง เช่น ที่โรงเรียนวิทยานุกูลนารี ระหว่างที่มีการต่อสู้ระหว่างนักศึกษาประชาชนกับ ทหารตำรวจ ในวันที่ 14 ตุลาคม เมื่อเหตุการณ์สงบลง มีการจัดตั้งกองรับบริจาค เงินเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และมีนักศึกษามาอภิปรายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จังหวัดพิษณุโลก
9 ตุลาคม
– มีการติดโปสเตอร์รอบเมืองพิษณุโลก จากที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก (มหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน)
10 ตุลาคม
– มีการอภิปรายโจมตีรัฐบาลที่หอประชุมวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก เรียกร้องให้ปล่อย 13 ผู้ต้องหา และให้มีการหยุดเรียนตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม
11 ตุลาคม
– เวลา 09.00 น. มีการชุมนุมของนักศึกษา มีการแจกแถลงการณ์ อภิปรายโจมตีรัฐบาล
– ก่อตั้งศูนย์บัญชาการผนึกกำลัง นักเรียน นิสิตนักศึกษาทั้งจังหวัด มีโรงเรียนหลายโรงเรียนเข้าร่วมประท้วง
– ออกโปสเตอร์โดยมีเนื้อหาว่า “ไม่ว่าจะมีสิ่งใดมาทำให้คำสัตย์ปฎิญาณของเราไขว้เขว แต่สัจจะของเรายังอยู่”
– เวลา 13.00 น. มีการเดินขบวนไปตามถนน และมีการวางพวงมาลาและโปสเตอร์ล้อเลียนรัฐบาล ถนอม ประภาศ ณรงค์ ที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
– ระหว่างการเดินขบวน ตำรวจได้เตรียมพร้อมที่ปราบปราม รวมไปถึงเหล่าอาจารย์ที่เข้ามากีดกันนักเรียน
– เดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดเพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด ส่งหนังสือให้ปล่อย 13 ผู้ต้องหา และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
– มีการเปิดอภิปรายที่สนามฟุตบอลหน้าศาลากลางจังหวัด และเคลื่อนขบวนไปยังหอนาฬิกาใจกลางเมือง
– เวลา 18.00 น. เคลื่อนขบวนเข้าไปในวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก เปิดอภิปรายและมีการแสดงเสียดสีรัฐบาลตลอดทั้งคืน และมีประชาชนและนักศึกษาจากสถาบันเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก
12 ตุลาคม
– ช่วงบ่ายของวันมีการเดินขบวนและอภิปรายตามถนนสายต่างๆ อาทิ บริเวณหน้าสถานีรถไฟ
– มีการส่งตัวแทน 6 คน เข้าร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่กรุงเทพฯ
13 ตุลาคม
– นักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน มาเข้าร่วมชุมนุมกันที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก เป็นจำนวนมาก
– ได้รับแจ้งข่าวจากการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ว่ามีการเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
14 ตุลาคม
– ได้รับข่าวจากวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ บอกว่ามีการจราจล และแทรกแซงของคอมมิวนิสต์ที่กรุงเทพฯ
– เกิดความสับสนด้านข้อมูล เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับกรุงเทพฯ ได้หลังสายโทรศัพท์ถูกตัดขาด
– ส่งตัวแทนมากรุงเทพฯ เพื่อนำข่าวกลับไปบอกที่พิษณุโลก
– ตอนค่ำ ทราบข่าวว่ารัฐบาล ถนอม ประภาศ ณรงค์ ประกาศลาออก มีการแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี
15 ตุลาคม
– ตัวแทนที่ส่งไปกรุงเทพฯ รายงานว่าเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่กรุงเทพฯ ตัวรวจและทหารได้ใช้ความรุนแรงแก่ผู้ชุมนุม
– ได้ข่าวว่าตำรวจและทหารในจังหวัดพิษณุโลก ได้รับคำสั่งให้สามารถใช้ความรุนแรงได้เหมือนที่กรุงเทพฯ
– ทางศูนย์บัญชาการฯจึงประกาศยุติการรวมตัว
16 ตุลาคม
– ศูนย์บัญชาการของนักเรียนนักศึกษา ออกแถลงการณ์ ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีการเปิดรับบริจาคเงินด้วย
19 ตุลาคม
– นักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนมารวมตัวกัน ที่สนามหน้าศาลากลางเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมพิธีรับศพวีรชน 14 ตุลา ที่เป็นชาวพิษณุโลก
– ถูกกีดกันจากผู้ว่าราชการจังหวัด จึงสร้างความไม่พอใจแก่คณะนักเรียน
– มีประชาชน นักเรียนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลก มีการวิ่งปิดท้ายขบวนโดยรถสามล้อเครื่องจำนวนกว่า 100 คัน
22 ตุลาคม
– นักเรียนนักศึกษาเดินขบวนไว้อาลัย แด่วีรชน 14 ตุลา จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ไปยังศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งการเดินขบวนในครั้งนี้มี นิสิตนักศึกษา นักเรียนเข้าร่วมมากที่สุด
จังหวัดสุโขทัย
ได้มีผู้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลา โดยนำมาเล่าต่อถึงเหตุการณ์และชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้กับนักเรียนและประชาชนเข้าใจ นักเรียน จึงช่วยกันรับบริจาคเงินเพื่อส่งไปยังศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
จังหวัดนครสวรรค์
12 ตุลาคม
– เวลา 09.00 น. นักศึกษาวิทยาลัยครู 2,000 คน ประกาศนัดหยุดเรียน พร้อมทั้งเปิดเวทีอภิปรายโจมตีรัฐบาลใน บริเวณวิทยาลัย มีการเล่นละครเสียดสีบุคคลในรัฐบาล และมีการติดโปสเตอร์พร้อมกับรับบริจาคเงินตามแหล่งชุมชนในตลาดปากน้ำโพ
– เวลา 14.00 น. นักเรียนจากวิทยาลัยเทคนิคและ โรงเรียนต่างๆ มาเข้าร่วมสมทบและแจกแถลงการณ์กว่า 4,000 คน หลังจากนั้นก็มีการประชุมกันเพื่อส่งตัวแทนจำนวน 18 คนเข้าร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อถึงเวลา 20.00 น. การชุมนุม จึงได้สลายตัว
14 ตุลาคม
– ทราบข่าวว่าได้เกิดความรุนแรงขึ้นในกรุงเทพฯ วิทยาลัยครูจึงเปิดการอภิปรายโจมตีรัฐบาลถนอม-ประภาส
– พยายามส่งกำลังไปช่วยที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถไปได้เนื่องจากมีด่านกักไว้ จึงจัดชุมนุมประท้วงกันตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ได้รับความช่วยเหลือเรื่องอาหารจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาด
15 ตุลาคม
– ตัวแทน 18 คนที่ส่งไปร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเปิดอภิปรายโจมตีรัฐบาลเก่า มีการเผาหุ่นถนอม-ประภาส-ณรงค์
– มีการตั้งศูนย์รับบริจาคโลหิตและไว้ทุกข์แด่วีรชน หลังทราบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่กรุงเทพฯ และชุมนุมจนถึง 08.00 ของวันที่ 16 ตุลาคมจึงสลายตัว
จังหวัดอุทัยธานี
13-14 ตุลาคม
– นักเรียนโรงเรียนการช่างอุทัยธานีได้นัดจับกลุ่มกันในวันที่ 13 ตุลาคม และหยุดเรียนในวันที่ 14 ตุลาคม
17 ตุลาคม
– นักเรียนโรงเรียนการช่างอุทัยธานีได้ออกรับบริจาคเงินจากประชาชน
– นักเรียนโรงเรียนอุทัยวิทยาลัยและโรงเรียนเมืองอุทัยธานี ถือโปสเตอร์แห่ไปทั่วเมือง พร้อมกับกล่าวโจมตีรัฐบาล ถนอม-ประภาส-ณรงค์ อย่างรุนแรง จนในที่สุดประชาชนก็มาร่วมเดินขบวนด้วย
21-22 ตุลาคม
– มีการไว้ทุกข์โดยนักเรียนโรงเรียนการช่างอุทัยธานีด้วยการหยุดเรียน 2 วัน และมีพิธีทางศาสนาเพื่อไว้อาลัยแด่วีรชนที่เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ 14 ตุลา
อ้างอิง
- ประมวลเหตุการณ์ต่างจังหวัดทั่วประเทศ หนังสือ 14 ตุลาคม “วันมหาปิติ” (วารสาร อ.ม.ธ. 14 ตุลาคม “วันมหาปิติ”)
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...