การเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ถึงว่าเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญในปี 2568 ที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตใกล้ตัว อย่าง น้ำประปา ถนน ขนส่งสาธารณะ และอีกมากมาย การเลือกตั้งตัวแทนถือว่าเป็นหนึ่งในกลไกที่ได้มาของสิ่งเหล่านี้ โดยปัจจุบันการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นทั้งหมด 47 จังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ เนื่องจากอีก 29 จังหวัดมีการจัดการเลือกตั้ง นายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้แล้ว
Rocket Media Lab ได้รวบรวมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อบจ. ในปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย ค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ จากรายงานประมาณการรายจ่ายจากข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี 2568 ของ อบจ. ทั่วประเทศ (โดยไม่รวม อบจ. แม่ฮ่องสอนที่ไม่มีการตั้งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568) พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อบจ. ในปีงบประมาณ 2568 ประกอบด้วย ค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ รวมเป็นเงิน 3,563,810,232 บาท
โดย 17 จังหวัดภาคเหนือมีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2568 ประกอบด้วย ค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ รวมเป็นเงินทั้งหมด 703,318,000 บาท และมีผู้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 9,897,859 คน โดย จังหวัดที่มีงบค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่มากที่สุดในการเลือกตั้งอบจ. ปี 2568 คือ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเงิน 100,000,000 บาท และจังหวัดที่มีงบค่าจัดการเลือกตั้ง และค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่น้อยที่สุดในการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2568 คือจังหวัด ลำพูน เป็นเงิน 21,200,000 บาท หากไม่รวมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนเนื่องจากไม่มีการตั้งงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ อบจ. ปี 2568
ประเด็นที่น่าสนใจคือการลาออกก่อนหมดวาระด้วยข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ยุทธศาสตร์ทางการเมืองหรือเหตุผลอื่นๆ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือนั้นมีนายก อบจ. ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระทั้งหมด 9 จังหวัดจาก 17 จังหวัด ดังนี้ นครสวรรค์ พะเยา พิษณุโลก อุทัยธานี สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์
ซึ่งปัญหาหลักในการเลือกตั้งก่อนวาระ นั้นก็คือ ประชาชนต้องเสียเวลาที่ต้องไปเลือกตั้งจาก 1 ครั้งที่สามารถหย่อนบัตรทั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ จะกลายเป็นการเลือกตั้งถึง 2 ครั้งที่ต้องไปเลือกนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนหมดวาระ 1 ครั้ง และ ส.อบจ. อีก 1 ครั้ง หากจัดให้มีการเลือกตั้ง 2 ครั้งจะต้องคูณงบประมาณไปถึง 2 เท่า
หากงบประมาณที่ตั้งไว้ในงบประมาณประจำปีไม่เพียงพอในการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ก็ต้องใช้งบจากเงินสะสมของ อบจ. ในแต่ละจังหวัด หากยิ่งมีการลาออกก่อนวาระมากเพียงใด ก็ต้องใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งมากขึ้น ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ควรจะเป็นงบประมาณที่ถูกนำไปใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งหากมาดูตัวเลข โดยทั้ง 9 จังหวัดที่กล่าวมาข้างต้น หากนำมารวมงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2 รอบ จะใช้งบประมาณถึง 350,418,000 บาท
ทั้งนี้ในภาคเหนือมีนายก อบจ. ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระทั้งหมด 9 จังหวัด ดังนี้ นครสวรรค์ พะเยา พิษณุโลก อุทัยธานี สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ มีรายชื่อดังนี้
สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 พ.ค. 67 ซึ่งปัจจุบันสมศักดิ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. ได้อีกหนึ่งสมัยหลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.นครสวรรค์ อีกครั้งในวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา
อัครา พรหมเผ่า อดีตนายก อบจ.พะเยา น้องชายของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 มิ.ย. 67 โดยปัจจุบันอัคราไม่ได้ดำรงตำแหน่ง นายกอบจ.พะเยา โดยให้เหตุผลว่าตนต้องการไปเล่นการเมืองระดับชาติ แต่มีการส่งไม้ต่อให้ ธวัช สุทธวงค์ นายก อบจ.พะเยา คนปัจจุบัน
มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 20 มิ.ย. 67 ซึ่งปัจจุบันมนต์ชัยก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 3 หลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.พิษณุโลก อีกครั้งในวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา
เผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 2 ส.ค. 67 ซึ่งปัจจุบันเผด็จก็ยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 5 หลังจากการเลือกตั้งนายก อบจ.อุทัยธานี อีกครั้งในวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้ เผด็จ เป็นผู้ลงสมัครเพียงคนเดียว
มนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย สามีของน้องสาวของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 ก.ย. 67 และปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. เป็นสมัยที่ 2 หลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา
สุนทร รัตนากร อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันจังหวัดกำแพงเพชรอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ก่อนจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.กำแพงเพชร ในวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ สุนทรก็เป็นหนึ่งในผู้ลงสมัครเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ย. นี้เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ตาก ซึ่งณัฐวุฒิได้มีการส่งไม้ต่อให้ อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ ลูกสะใภ้ของณัฐวุฒิและอดีตรองนายก อบจ.ตาก ในการลงสมัคร หลังจากตนดำรงตำแหน่งนายก อบจ.มากว่า 3 สมัย
อัครเดช ทองใจสด อดีตนายก อบจ.เพชรบูรณ์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 ต.ค. โดยมีผลในวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมาเป็นวันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง โดย อัครเดช ได้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.เพชรบูรณ์ มากว่า 6 สมัย
ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา อดีตนายก อบจ.อุตรดิตถ์ ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 4-8 พ.ย. 67 จะเป็นวันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง และจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.อุตรดิตถ์ในวันที่ 22 ธ.ค.67
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...