ภาพปก: 10 Years Thailand
ข้าพเจ้าไม่รู้จะเกริ่นนำเริ่มบทความชิ้นนี้อย่างไร
ขอเริ่มจากปี พ.ศ. 2553 ผู้เขียนเดินทางจากจังหวัดกาฬสินธุ์เมืองดินดำ มาอาศัยศึกษาต่อที่จังหวัดขอนแก่นเมืองแห่งดอกคูณและเสียงแคน เป็นห้วงเดียวกันกับที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้กลายเป็นผู้กำกับไทยคนแรกที่คว้ารางวัลสูงสุด ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ทิวทัศน์ของขอนแก่นในเวลานั้นเต็มไปด้วยภาพของอภิชาติพงศ์ที่ถูกติดอยู่ทั่วเมือง พร้อมข้อความแสดงความยินดี และยกให้เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งจังหวัด กล่าวได้ว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้กำกับผู้นี้ถูกยกให้เป็นบุคคลสำคัญประจำเมือง
การที่ผู้เขียนต้องนั่งรถประจำทางสาย ขอนแก่น-มุกดาหาร ไปกลับระหว่างบ้านกับมหาวิทยาลัยอยู่บ่อย ๆ ก่อนรถจะเข้าเทียบจอดที่บขส. ต้องเคลื่อนผ่านสวนรัชดานุสรณ์ที่อยู่ติดกัน ทำให้สังเกตเห็นอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความรกของแมกไม้ ในสวนสาธารณะที่ขาดการบำรุงดูแล
เกิดความสงสัยว่าทำไมขอนแก่นจึงเลือกจะยกย่องจอมพลผู้นี้ ผู้ซึ่งหลังจากเสียชีวิตพบว่ามีทรัพย์สมบัติมูลค่าหลายพันล้านบาทที่ได้มาจากการฉ้อราษฎร์ ระหว่างมีชีวิตก็มีอนุภรรยามากกว่าร้อยคน และเป็นเผด็จการที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ ให้ขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญประจำเมือง จนมีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นกลางเมืองเพื่อระลึกถึง มากกว่าจะเป็น ผู้กำกับระดับโลก นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก (ซึ่งมีการถูกกล่าวถึงในคำขวัญจังหวัด) หรือนักเทนนิสมือวางอันดับ TOP 10 ของโลก
ด้วยการที่ต่อมาผู้เขียนได้ดำรงสัมมาอาชีพเป็นนักข่าว จึงโอกาสได้สัมภาษณ์ อาจารย์จำนงค์ กิติสกล ข้าราชครูเกษียณ เพื่อขุดค้นถึงช่วงเวลานึงของชีวิตอาจารย์ ที่ได้มีส่วนเล็ก ๆในการช่วยปั้นจอมพลผู้นี้ ให้ขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญประจำเมือง เป็นประวัติศาสตร์อีกชุดที่หาอ่านจากแหล่งอื่นไม่ได้ ประกอบกับข้อมูลอื่น ๆ ที่หาอ่านได้ทั่วไปจากออนไลน์ และในเล่มหนังสือ ผู้เขียนหวังว่าบทความชิ้นนี้ จะมีประโยชน์ต่อการเสียเวลาเข้ามาอ่านไม่มากก็น้อย
ซุ่มเสียงของจอมพล
“แต่ก่อนไม่เคยเห็นหน้าสฤษดิ์เลยแต่กลัว เพราะตอนนั้นเขามีอำนาจเด็ดขาด สั่งประหารคนได้ เวลาได้พูดนี้เสียงก็ดุดันมาก” จำนงค์ เล่าย้อน ถึงช่วงวัยเด็ก ที่เสียงประกาศของจอมพลจากเมือง ถูกผ่านส่งคลื่นความถี่ มาแปลงขยายด้วยวิทยุทรานซิสเตอร์ ให้คนในหมู่บ้านเล็ก ๆใน อำเภอประทาย นครราชสีมารับฟัง แม้จะไม่เคยเห็นหน้าตาสัณฐานของนายกรัฐมนตรี แต่ชื่อเสียงด้านความเด็ดขาด ชัดเจน วีรกรรมขึ้นไปปราบโจรร้ายด้วยตัวเองถึงบนเขาใหญ่ ทำให้ชาวบ้านต่างนิยมชมชอบในตัวผู้นำผู้นี้
กว่าจะมารู้จักกับคำว่าเผด็จการทหาร การยึดอำนาจรัฐประหาร ก็เมื่อจำนงค์เข้ามาเรียนสาขา ศิลปศึกษา ในตัวเมืองโคราช ในช่วงรอยต่อของ 2 เหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญ คือ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ที่สายธารแนวคิดเสรีประชาธิปไตยเติบโต ทำให้จำนงค์เริ่มได้อ่านหนังสือด้านสังคม-การเมือง ที่แพร่หลายในหมู่นักศึกษาในขณะนั้น ได้ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหารกับขบวนการนักศึกษา ที่รวมตัวกันจากสถาบันต่าง ๆในโคราช โดยหลังจากนั้นเพื่อนของเขาหลายคนถึงกลับต้องหนีเข้าไปสู้ต่อในป่า
หลังเรียนจบจำนงค์สอบบรรจุได้เป็นครูในสังกัดจังหวัดขอนแก่น ด้วยอุดมการณ์ของวัยหนุ่ม จึงตั้งใจขอไปบรรจุ ในหมู่บ้านที่ห่างไกลที่สุด ในอำเภอที่ห่างไกลอย่างอำเภอสีชมพู แต่สอนได้ 2-3 ปี กลับมีปัญหาว่าครูในสังกัดท้องถิ่น ที่สอนในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เหมือนครูที่สังกัดกับส่วนกลาง จึงได้รวบรวมชาวบ้านเดินขบวนเข้าไปเรียกร้องความเป็นธรรมถึงในตัวเมืองขอนแก่น จนถูกฝ่ายความมั่นคงเรียกตัวไปพบ
หลังจากเกิดความขัดแย้ง จำนงค์ จึงได้ตัดสินใจไปศึกษาต่อ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม (มศว มค.) ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยมหาสารคามในเวลานี้ ซึ่งนั่นทำให้จำนงค์มีส่วนเล็ก ๆ ในการสร้างหลักปักฐานให้จอมพล ขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญในเมืองขอนแก่น
กายภาพของเผด็จการ
“อาจารย์แกบอกกับผู้ว่าฯ ว่า เมืองขอนแก่นเกิดจากการวางผังของจอมพลสฤษดิ์ ก็เลยอยากจะสร้างอนุสาวรีย์คนสำคัญของขอนแก่น คนสำคัญของอาจารย์แกนะ แกไม่ได้ถามคนอื่นหรอก ว่าเขามองสฤษดิ์เป็นเผด็จการไหม แกชอบของแกก็เลยขอผู้ว่าฯ สร้าง” ระหว่างเรียนที่ มศว.มหาสารคาม ได้เป็นลูกศิษย์สนิทสนมกับ อาคม วรจินดา ประติมากร และอาจารย์สอนด้านศิลปะ
ในช่วงการขึ้นสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศไทยถูกนิยามว่าถูกปกครองภายใต้ระบอบสฤษดิ์ หรือเรียกว่าระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ตามคำนิยามของ อาจารย์ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เป็นยุคสมัยที่เผด็จการอยู่ในรูปทรงเต็มใบ สภาผู้แทนราษฎรถูกระงับตามประกาศคณะรัฐประหาร มีการใช้มาตรา 17 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับตัวเอง จับกุม ประหัตประหาร ผู้เห็นต่างและศัตรูทางการเมือง รวมทั้งถูกเรียกว่ายุคแห่งความมืดบอดทางปัญญา ที่สื่อถูกปิดกั้น ปัญญาชนหลายคนถูกจับขัง
จอมพลสฤษดิ์ อยู่ในอำนาจเพียง 5 ปีเศษ ๆ (พ.ศ. 2502-2506) แต่เป็นที่ช่วงเวลาสำคัญที่ฝ่ายจารีต อนุรักษ์นิยมได้รื้อฟื้นคืนอำนาจกลับมาอย่างแข็งแรง แม้ตัวสฤษดิ์จะเสียชีวิตไปในปี 2506 แต่ระบบสฤษดิ์ยังคงอยู่ เป็นแรงส่งให้เผด็จการทหารครองประเทศต่อไปอีกยาวนาน กว่าช่วงเวลาการแบ่งบานของประชาธิปไตยจะมาถึง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และยังเป็นต้นแบบให้ผู้นำทหารที่ยึดอำนาจยุคต่อ ๆ มาพยายามจะเป็นเหมือน
ขณะเดียวกันก็ถูกยกให้เป็นยุคการพัฒนาบุกเบิกประเทศด้านต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาในภาวะสงครามเย็น รัฐบาลสฤษดิ์ได้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในหลายด้าน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ก็เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้
โดยจังหวัดขอนแก่นถูกวางให้เป็นเมืองเอกของอีสาน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของภูมิภาค โดยมีสฤษดิ์นั่งเป็นประธานคณะกรรมการแผนพัฒนาจังหวัดด้วยตัวเอง มีการวางผังเมืองใหม่ สร้างถนนมากมาย สร้างเขื่อนอุบลรัตน์ และก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาคม วรจินดา เติบโตขึ้นมาในจังหวัดขอนแก่น ร่วมสมัยกับการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นในยุคสฤษดิ์ พ่อของเขา เนตร วรจินดา ที่เป็นนักธุรกิจในท้องถิ่น เคยตั้งใจจะบริจาคที่ดินส่วนตัวริมถนน “กลางเมือง” เพื่อให้สฤษดิ์ นำไปทำโครงการขยายถนนกลางเมือง ให้มี 4 ช่องจราจร เพื่อเป็นเส้นสัญจรหลัก และย่านการค้าสำคัญของเมือง แต่โครงการขยายถนนนี้ยังไม่ดำเนินขยายไม่ถึง 4 ช่องจนถึงปัจจุบัน
อาคม ได้รับทุนจากมูลนิธิฟอร์ด ไปศึกษาด้านประติมากรรมที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม (มศว มค.) จำนงค์ เล่าถึงอาจารย์อาคม ว่าเป็นประติมากรฝีมือดี ที่สร้างผลงานมามากมาย แต่ในเวลานั้นกลับไม่เคยรับได้ตำแหน่งทางวิชาการ เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยชอบเขียนขอตำแหน่ง แต่มาภายหลังเกิดอยากขอตำแหน่งขึ้นมา จึงต้องการจะสร้างผลงานใหม่เพื่อจะนำไปประกอบการขอตำแหน่ง โดยตัวอาจารย์อาคม มีความชื่นชอบในตัวจอมพลสฤษดิ์ นำมาซึ่งโครงการปั้นรูปเหมือนของจอมพลสฤษดิ์
“เราสนิทกับอาจารย์มาก ก็เลยได้ไปด้วย แกมาหาบอกว่า ‘จำนงค์ไปกับครูหน่อย’ ก็เลยได้ไปนั่งกินเหล้าคุยกันกับผู้ว่าฯ” ราวปี พ.ศ. 2525 อาจารย์อาคม เริ่มติดต่อนำเสนอโครงการปั้นรูปเหมือนของจอมพลสฤษดิ์ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น จำนงค์เคยได้ติดสอยห้อยตามอาจารย์อาคมไปนั่งดื่ม พูดคุยถึงรายละเอียดโครงการกับผู้ว่าฯ ที่โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล
เค้าโครงของจอมพล ถูกร่างขึ้นที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม โดยการหาคนที่รูปร่างสูงใหญ่มีพุง มาใช้เป็นตัวแบบ เทียบเค้าโครงสัดส่วนสรีระทางกายภาพต่าง ๆ และใช้ภาพถ่ายเพื่อเปรียบหน้าตาสเก็ตช์ออกมาเป็นโครงร่างเท่าตัวจริง
ช่วงเริ่มปั้นจำนงค์มีส่วนเป็นลูกมือช่วยนวดดินหยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในหลายโอกาส ตามที่มีเวลาว่างและอาจารย์อาคมจะเรียกมาให้ช่วย ได้พบกับคุณหญิงวิจิตราที่เดินทางมาเยี่ยมชมการสร้างรูปปั้นของสามี ด้วยตัวเองถึงมหาสารคาม จำนงค์จำได้ว่าคุณหญิงวิจิตราเป็นคนผิวบางมากโดนแดดไม่ได้ ต้องมีคนกางร่มให้ตลอดเวลา
“อาจารย์อาคมพูดเองเลยว่า มันปั้นใหญ่ไม่ได้ มันจะไปใหญ่ว่าราชกาลที่ 5 ได้ยังไง ผมได้ยินมากับหู” เดิมรูปปั้นจอมพลจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ อาจารย์อาคมตั้งใจจะปั้นในสัดส่วน 1.5 เท่า แต่เมื่อคิดว่ารูปปั้นไม่ควรจะใหญ่กว่ารูปปั้นกษัตริย์อย่างอนุสาวรีย์ราชกาลที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ในศาลากลางจังหวัด จึงลดสัดส่วนลงมาให้เหลือ 1 ต่อ 1 เท่าตัวจริง
บุคคลสำคัญที่เพิ่งสร้าง
อาจารย์นิพนธ์ ขันแก้ว ข้าราชการครูเกษียณ นักกิจกรรมทางศิลปะ ในจังหวัดขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารคดี (และผู้เขียนโทรไปสัมภาษณ์เพิ่ม) เล่าถึงบรรยากาศของขอนแก่นในอดีต ว่า สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังไม่อยู่ในฐานะบุคคลสำคัญของเมือง เรื่องราวของจอมพลไม่ได้ถูกพูดถึงในหมู่คนรุ่นเดียวกันมากนัก มีเพียงคนรุ่นก่อนอาจารย์บางกลุ่มที่พูดถึงอยู่บ้าง จนการมีอนุสาวรีย์ฯ หลังจากที่จอมพลเสียชีวิตไปกว่า 20 จึงเริ่มมีหน่วยงานราชการมาแห่แหนให้ความสำคัญ
รูปปั้นจอมพลสฤษดิ์ ถูกส่งไปหล่อขึ้นรูปที่วัดพรมสุวรรณสามัคคี ในกรุงเทพ มีคุณหญิงวิจิตรา เข้าร่วมพิธีบรรจุอัฐเข้าไว้ใต้ฐานด้วย ในการสร้างอนุสาวรีย์มีพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ และในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร (พระราชยศในขนาดนั้น) เสด็จแทนพระองค์มาเป็นประธาน
เมื่ออนุสาวรีย์ถูกสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2527 หน่วยงานราชการในจังหวัดจึงเข้ามาพยายามสร้างให้จอมพลท่านนี้กลายเป็นคนสำคัญของเมือง มีการจัดพิธีวางพวงมาลา ข้าราชการในจังหวัดต้องใส่ชุดข้าราชการมาร่วมคารวะ กลายเป็นประเพณีประจำจังหวัด ในวันที่ 8 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งวันคล้ายวันอสัญกรรม และพยายามขยายความรับรู้สู่คนทั่วไปด้วยการทำหนังสือเล่าประวัติ และคุณูปการที่มีต่อเมืองขอนแก่น
ในปี พ.ศ. 2535 ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มาสร้างแนวกำแพงยาวไว้ด้านหลังอนุสาวรีย์ ที่มีประติมากรรมนูนต่ำจำนวน 11 ภาพ เล่าเหตุการณ์สำคัญในแต่ละช่วงชีวิต และคุณงามความดีด้านต่าง ๆของจอมพลสฤษดิ์ เรือนรับรองกลางน้ำ ตั้งอยู่ภายเขตรั้วจวนผู้ว่าฯ ที่จอมพลเคยใช้พักข้างแรม ระหว่างเดินทางมาตรวจงานในภาคอีสาน และเขียนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 ถูกเก็บรักษาไว้เป็น “อนุสรณ์สถานจอมพล สฤษดิ์” ถนนที่ด้านหน้าจวนผู้ว่าฯ ถูกตั้งชื่อว่า “ถนนจอมพล”
“เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ขอนแก่นเป็นเมืองที่พยายามอนุรักษ์เรื่องราวของจอมพล สฤษดิ์ไว้มากที่สุดแห่งหนึ่ง” นิตยสารสารคดีฉบับที่ 433 “เผด็จการที่รัก ? จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” จนมีข่าวลือต่าง ๆ อย่างเช่นว่าเคยมีความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อจังหวัดเป็น “สฤษดิ์บุรี” หรือขอนแก่นจะกลายเป็นเมืองหลวงของประเทศแห่งใหม่ หากจอมพลผู้นี้อายุยืนยาวกว่านี้
ในด้านจำนงค์ เรียนจบออกมาก่อนที่รูปปั้นของจอมพลจะแล้วเสร็จ จากนั้นกลับไปสอนที่อำเภอประทาย และได้แต่งงานแล้วย้ายตามภรรยามาที่เมืองขอนแก่น ทำให้ได้มาเห็นอนุสาวรีย์ด้วยตัวเอง ในมุมมองของเขาเป็นผลงานของอาจารย์อาคมที่ไม่ดี และเห็นด้วยกับที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่ารูปปั้นตัวเล็กเกินไป และไม่เหมือนตัวจริง จำนงค์มองว่า เพราะข้อกำจัดการเรื่องที่ต้องปั้นให้เล็กกว่ากษัตริย์ทำให้ต้องกดรูปปั้นเล็กลงจนทำให้ไม่สมส่วน
การกลับมาของจอมพล
“ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 ของประเทศไทย
ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 เป็นผู้หนึ่งที่ได้บริหารราชการด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง ก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ชาติบ้านเมือง และได้ริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภูมิภาคมีความเจริญเท่าเทียมกัน ในภาคตัวออกเฉียงเหนือเหนือนี้ จังหวัดขอนแก่นได้รับการพัฒนา จนมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ประชาชนและข้าราชการในจังหวัดขอนแก่น จึงร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นี้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเกียรติคุณสืบไป”
ข้อความที่บันทึกอยู่ด้านหลังของอนุสาวรีย์ สำหรับอาจารย์จำนงค์ ไม่รู้ว่าข้าราชการ และกลุ่มพ่อค้านักธุรกิจในขอนแก่น มีส่วนในการผลักดันให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ ตามข้อมูลหลายแห่งอธิบายไว้ มากน้อยเพียงใด แต่ประวัติศาสตร์ที่เขารับรู้ ความต้องการจะสร้างอนุสาวรีย์เริ่มมาจากความต้องการของอาจารย์อาคม ส่วนใครมีส่วนร่วมผลักดัน หรือเติมส่วนต่อเสริมอื่น ๆ ทั้งในการสร้างอนุสาวรีย์ และเรื่องเล่าต่าง ๆ เป็นอีกเรื่องนึง (มีข้อมูลบางแหล่งบอก ว่างบประมาณที่ใช้สร้างอนุสาวรีย์มาจากเงินบริจาคโดยผู้มีจิตศรัทธา แต่ผู้เขียนยังไม่ได้สืบค้นต่อ)
อาจารย์ จำนงค์ เข้าสอนที่โรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น จนกลายมาเป็นข้าราชการเกษียณในทุกวันนี้ โดยมีงานอดิเรกในการค้นคว้าประวัติศาสตร์ในภาคอีสาน รวมถึงเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการทางศิลปินในขอนแก่นบางครั้งคราว เรื่องราวของการได้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์ของจอมพลเป็นเพียงเรื่องราวส่วนเล็ก ๆ ของชีวิต (ที่ถูกผู้เขียนรื้อฟื้นมาขอสัมภาษณ์) ไม่ใช่เรื่องของความภาคภูมิใจอะไร เพราะส่วนตัวไม่ได้ชื่นชอบในตัวจอมพลสฤษดิ์ รวมถึงระบอบเผด็จการต่าง ๆ และสิ่งที่อาจารย์จำนงค์ ได้เห็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือการที่คนรุ่นใหม่ในขอนแก่น พยายามต่อต้านเรื่องเล่าของจอมพลที่ถูกรัฐสร้างขึ้น
แม้หลังจากมีอนุสาวรีย์ หน่วยงานราชการจะพยายามยกให้สฤษดิ์เป็นบุคคลสำคัญของเมือง แต่สำหรับคนเมืองทั่วไปอาจไม่สำเร็จเท่าที่ควร ต่างเปรียบเทียบได้จากอนุสาวรีย์ย่าโม ในเมืองโคราชที่กลายเป็นแลนด์มาร์คหลักของเมือง มีคนทั่วไปเข้ามากราบไว้บูชาจำนวนมาก และเรื่องราวของย่าโมก็ถูกบรรจุอยู่ในเรื่องเล่าหลักของคนในจังหวัดมากกว่า ต่างจากสวนรัชดานุสรณ์ที่เป็นพื้นที่กลางเมือง ที่รกร้างค่อนทางเปลี่ยวผู้คน ถูกใช้แหล่งนัดพบค้าบริการทางเพศ ที่อยู่อาศัยหลับนอนของคนไร้บ้าน
หลังการทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง คือการที่สิ่งของและสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวพันกับคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ถูกรื้อถอนให้หายไป อย่างเช่น หมุดคณะราษฎรที่ถูกถอดออกไปจาก ลานพระบรมรูปทรงม้า ส่วนในจังหวัดลพบุรี ค่ายพิบูลสงคราม ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายสิริกิติ์” ส่วน ค่ายพหลโยธิน ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายภูมิพล” และอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ที่อยู่ภายในค่ายก็ถูกเคลื่อนย้ายออกไป
รวมไปถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งอุทิศให้กับการปราบกบฏบวรเดช เคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ ซึ่งกรมทางหลวงได้มีแผนจะก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกวงเวียนหลักสี่ จึงประกาศว่าต้องเคลื่อนย้ายตัวอนุสาวรีย์ออกไปจากบริเวณเดิมไว้ก่อน ระหว่างมีการก่อสร้าง
ถามกลางเสียงคัดค้านของหลายกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์นี้ไว้ แต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ได้มีกลุ่มคนปริศนาออกมาย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฎออกไป มีการห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพ ทางหน่วยงานท้องที่ ออกมาปฏิเสธการกระทำนั้น และอนุสาวรีย์ปราบกบฏก็หายไปอย่างปริศนาจนถึงปัจจุบัน
ในปีเดียวกัน จังหวัดขอนแก่นได้มี“โครงการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์สวนรัชดานุสรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพเป็นจุดแลนด์มาร์คของเมือง” โดยรัฐบาลกลางได้จัดสรรงบมาให้หน่วยงานท้องถิ่น ปรับปรุงสวนรัชดานุสรณ์ เปลี่ยนโฉมจากสวนสาธารณะเปลี่ยวยามดึก ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไฟส่องสว่าง เปลี่ยนพื้นที่ซึ่งต้นไม้ขึ้นรกเป็นลานกิจกรรม เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้งาน
ตัวอนุสาวรีย์จอมพลฯ นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนานี้แล้ว พื้นที่โดยรอบยังได้รับการปรับปรุงอย่างดี พื้นที่ซึ่งรกไปด้วยต้นไม้บดบังรูปร่างของจอมพล ถูกปรับทำเป็นลานกว้างรอบ ๆ พร้อมติดตั้งไฟส่องสาดเข้าหาตัวอนุสาวรีย์ ทำให้เห็นเด่นชัดมากกว่าก่อน
ช่วงเวลาการปรับปรุงอนุสาวรีย์สฤษดิ์ ถูกบันทึกอยู่ใน ภาพยนตร์ “Song of the city” (2561) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ใช้สวนรัชดานุสรณ์ที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงเป็นทำเลหลักในการถ่ายทำ ตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของจอมพลผู้นี้ในเมืองขอนแก่น ผู้เขียนได้เคยเข้าไปสัมภาษณ์อภิชาติพงศ์ ระหว่างที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้
อภิชาติพงศ์ ที่เติบโตมาและอาศัยอยู่ในเมืองขอนแก่น จนเรียนจบปริญญาตรี เล่าให้ฟังว่าไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของอนุสาวรีย์นี้มาก่อน จนมาสังเกตเห็นในช่วง 6-7 ปีก่อนที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเริ่มสนใจในฐานะเป็นความทรงจำของพื้นที่ขอนแก่น แม้ไม่เห็นด้วยกับการดำรงอยู่ แต่ฐานะคนทำภาพยนตร์ อภิชาติพงศ์จึงอยากบันทึกภาพความเป็นไปของมันไว้
นอกจากนั้นการดำรงอยู่ของอนุสาวรีย์นี้ยังแสดงถึงภาวการณ์ที่ไม่ปกติของสังคมไทย อภิชาติพงศ์ เล่าว่าไอเดียแรกของการทำภาพยนตร์เรื่อง Song of the city จะเป็นการถ่ายในสวนรัชดานุสรณ์ แล้วลบตัวอนุสาวรีย์ให้หายออกไปจากหน้าจอ แต่ไอเดียดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบมาใช้
แม้แต่เรื่องเล่าการนำพาประเทศพัฒนาสู่ความเจริญของจอมพลสฤษดิ์ ก็ถูกงานเขียนยุคหลัง ๆ รื้อถอน ว่าไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่อะไร จอมพลผู้นี้เป็นเพียงตัวแสดงแทนของแผนการพัฒนาที่วางไว้โดยมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ภายใต้สถานการณ์สงครามเย็น โดยภาคอีสานเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาเพื่อป้องกันการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือมองว่าการพัฒนาในช่วงนั้นที่เน้นการขยายตัวของทุนนิยม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเป็นการสนับสนุนรวมศูนย์ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน
หลังจากปี พ.ศ. 2563 อนุสาวรีย์สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็กลับมาได้รับการพูดถึงอีกครั้งในวงกว้าง ที่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลประยุทธ จันทร์โอชา ของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่ขยายตัวไปทั่วประเทศ การชุมชนในขอนแก่นหลายครั้งถูกจัดขึ้นที่สวนรัชดานุสรณ์ และอนุสาวรีย์ที่อาจารย์อาคมปั้นนั้นก็กลายเป็นเป้าหมาย ให้สารพัดกิจกรรมที่ผู้ชุมนุมกระทำใส่อนุสาวรีย์ ทั้งนำผ้าขาวคุม เอาหุ่นที่รูปร่างเหมือนห่อศพซึ่งแสดงถึงการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยทางการเมืองมาแขวน เอาชุดนักเรียน-เอาผ้าถุงมาใส่ให้รูปปั้นจอมพล นอกจากนั้นยังมีการพ่นสี ขวางปาสิ่งของ ตะโกนด่าทอ ชูสามนิ้ว
อนุสาวรีย์ของจอมพลผู้นี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของการพัฒนาเมืองขอนแก่นอีกต่อไป แต่กลายเป็นสัญญลักษณ์ของเผด็จการที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น ให้คนรุ่นใหม่ในขอนแก่นใช้แสดงระบายความโกรธเคืองต่อผู้นำเผด็จการที่มีถิ่นที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวง
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)