‘ตีหนึ่งที่คูเมือง’ ไม่โรแมนติก เมื่อพื้นที่สาธารณะกลางคืนในเมืองเชียงใหม่ยังไร้ความปลอดภัย

เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

“ตีหนึ่งอ้ายเข้ามาในเวียง

ตีหนึ่งอ้ายเข้ามาคูเมือง

โอ๊ะๆ อ้ายหยังมาเหลือใจ๋

อ้ายหยังบ่ะหันคนเมือง”

“ตีหนึ่งที่คูเมือง” เพลงใหม่มาแรงของ ILLSLICK ที่เพิ่งปล่อยให้ฟังกันตั้งแต่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา แถมมิวสิควีดีโอยังได้อินฟลูคนดังอย่าง ‘พั้นรักแมว’ มาเล่นด้วย และตอนนี้ยอดวิวก็พุ่งทะยานไปแล้วกว่า 24 ล้าน (นับถึง 15 มีนาคม 2568) 

เพลงตีหนึ่งที่คูเมืองพูดถึงชายหนุ่มที่ไปคูเมืองในช่วงตีหนึ่ง และได้เปิดชมไลฟ์สตรีมของหญิงสาวที่เขาชอบจึงกด Donate ให้กำลังใจเธออยู่ฝ่ายเดียว ในเนื้อหาของเพลงได้หยิบยกเอา ‘คูเมือง’ มาใช้บอกเล่าเนื้อหาบางส่วน แม้ว่าในเนื้อเพลงจะไม่ได้ระบุไว้ว่าคูเมืองในที่นี้ คือคูเมืองในแห่งไหน แต่ถึงอย่างไรนั้นก็ชวนให้นึกถึงคูเมืองเชียงใหม่เป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นสถานที่เที่ยวที่ได้รับความนิยม

ในเพลงได้มีการกล่าวถึงบรรยากาศคูเมืองในตอนกลางคืนว่าไม่พบเห็นผู้คนในบริเวณนั้นเลย ชวนให้ตั้งคำถามว่า ในปัจจุบันผู้คนออกมาใช้ชีวิตตอนกลางคืนมากขึ้น แต่ทำไมคูเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้น จึงไม่มีผู้คนมาใช้พื้นที่ตรงนั้นเลย และเราจะหาทางออกต่อประเด็นนี้กันอย่างไรได้บ้าง

ภาพ: เทศบาลนครเชียงใหม่

ป้อมค่าย ป้องกันศัตรู ความหมายของคูเมืองสมัยจารีตในเมืองเชียงใหม่

ในอดีตคูเมืองเชียงใหม่ไม่ได้เป็นจุดนับพบหรือจุดเช็คอินสำหรับนั่งกินลมชมวิวรับชมไลฟ์สดเหมือนกับในเพลง แต่มีความสำคัญในหลากหลายมิติ คูเมืองถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับกำแพงเมืองเพื่อป้องกันข้าศึก โดยจะมีน้ำล้อมรอบทำให้ศัตรูเข้าถึงยากขึ้น บริเวณคูเมืองจะมีประตูเมืองและป้อมปราการเพื่อควบคุมการเข้าออกของผู้คน และยังเชื่อมโยงกับระบบชลประทานที่คอยเชื่อมต่อกับลำเหมือง เพื่อกักเก็บและกระจายน้ำสู้พื้นที่เกษตร ป้องกันน้ำท่วมเมือง 

จะเห็นได้ว่าคูเมืองนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองในยุคจารีต จะเห็นได้จากเมืองต่างๆ ในล้านนา อาทิ เชียงแสน ลำพูน แพร่ โดยคูเมืองที่มีชื่อเสียงและยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปัจจุบันก็คือคูเมืองเชียงใหม่

ในบทความ กำแพงเมืองเชียงใหม่ ปราการแห่งล้านนา เขียนโดย สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เผยว่ากำแพงเมืองเชียงใหม่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1839 โดยพญามังราย เพื่อเป็นปราการป้องกันเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา โดยเริ่มจากการขุดคูเมืองและนำดินมากองเป็นแนวกำแพง ก่อนจะพัฒนามาเป็นการก่ออิฐครอบคันดิน 

โครงสร้างของกำแพงเปลี่ยนแปลงหลายครั้งตามเหตุการณ์สำคัญ เช่น การบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ. 2063) และพระยากาวิละ (พ.ศ. 2344) งานขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. 2538 พบว่ากำแพงเมืองชั้นในก่ออิฐครอบแกนดิน และมีลักษณะการก่อสร้างแตกต่างกันไปในแต่ละจุดตามปัจจัยสิ่งแวดล้อม 

ขณะที่กำแพงเมืองชั้นนอกซึ่งสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20-21 มีบทบาทสำคัญทั้งในการป้องกันเมืองและควบคุมน้ำท่วม

แต่ปัจจุบันคูเมืองและกำแพงเมืองเชียงใหม่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ที่มีทั้งสวนหย่อม ร้านอาหาร คาเฟ่ และจุดถ่ายรูปที่ได้รับความนิยมหลายแห่ง อาทิ ประตูท่าแพ โดยคูเมืองนั้นเป็นพื้นที่กิจกรรมสำคัญอย่างเทศสงกรานต์ที่ประชาชนในพื้นที่รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต้องมาทุกครั้ง

ภาพ: สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

ตีหนึ่งที่คูเมือง ที่ไม่ได้โรแมนติกอย่างที่คิด

ในตอนนี้หากคิดจะไปนั่งดูไลฟ์สดของหญิงสาวที่ชอบ ในคูเมืองเชียงใหม่ตอนตีหนึ่ง อาจไม่ได้ฟีลโรแมนติกแบบในเพลง เพราะในหลายพื้นที่ของคูเมืองนั้นเงียบเหงาและวังเวง บางพื้นที่ก็มีแสงไฟค่อนข้างน้อยทำให้บรรยากาศนั้นดูไม่ปลอดภัย 

อีกทั้งบริเวณถนนรอบคูเมืองยังมี การก่อสร้างสายไฟใต้ดิน ซึ่งมีระยะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2566 ไปจนถึงปี 2569 ตามเป้าหมายของเทศบาลที่อยากสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็น “เมืองสวย ไร้สายไฟ” และในการก่อสร้างนี้ก็ทำให้ถนนรอบคูเมือง มีสภาพที่เป็นหลุมเป็นบ่อไม่เหมาะแก่การใช้งาน ทำให้คนขับมอเตอร์ไซต์มาไวๆ หรือคนที่ไม่คุ้นชินเส้นทางอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย 

อีกทั้งฟุตบาทบางจุดก็พุพัง บางจุดก็แคบหรือมีตู้ไฟขวางจนแทบจะเดินไม่ได้ หากจะไปดื่มด่ำอารมณ์เหงาๆ แบบเพลงตีหนึ่งที่คูเมืองอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก

“ถามจริงคนที่ไปอยู่เชียงใหม่มีใครไปนั่งเล่นคูเมืองบ้างไหม? ”

สิทธิชาติ สุขผลธรรม

สิทธิชาติ สุขผลธรรม กลุ่มอาสาสมัครผู้ใช้จักรยานเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยในคูเมืองเชียงใหม่ โดยมองว่าในความเป็นจริงคนที่อาศัยอยู่เชียงใหม่นั้น ไม่ค่อยมีใครไปนั่งเล่นที่คูเมืองกันเท่าไหร่ เพราะว่าสถานที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมต่อการใช้งานจริงขนาดนั้น

สิทธิชาติได้ให้ความเห็นเรื่องถนนในเขตคูเมือง ในวงพูดคุยวาระเชียงใหม่ “เทศบาลกับการจัดการขนส่งสาธารณะและทางเท้า” ไว้ว่าพื้นที่ถนนในตัวคูเมืองเชียงใหม่ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การเดินทางสำหรับรถยนต์และรถขนาดใหญ่เพียงเท่านั้น รวมไปถึงไม่มีการควบคุมความเร็วของรถยนต์ที่เข้ามาในเขตเมืองเก่า ส่งผลให้ถนนรอบคูเมืองพังและเสียดายได้ง่าย ซึ่งเทศบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการบำรุงถนนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี 

นอกจากนี้บริเวณคูเมืองยังเป็นพื้นที่ของสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวใช้ฟุตบาทในการสัญจร ทั้งยังมีพื้นที่ที่ชุมชนหนาแน่นอย่างตลาด แต่การออกแบบเส้นทางรอบคูเมืองกลับไม่มีความปลอดภัยต่อคนที่ใช้ มอเตอร์ไซต์ จักรยาน รวมไปถึงคนเดินเท้า เนื่องจากการออกแบบถนนให้มีมากถึง 3-4 เลนส์ ทำให้รถยนต์ที่เข้ามาในตัวคูเมืองมีอัตราการขับขี่ที่ค่อนข้างเร็ว

สิทธิชาติ ยังกล่าวถึงแนวทางการปรับปรุงพื้นที่คูเมืองว่าถ้าอยากให้การจราจรในคูเมืองมีความปลอดภัยมากขึ้น ควรปรับปรุงเรื่องขนาดถนนโดยลดขนาดลงให้ เหมาะสมกับการเป็นถนนที่ใช้สัญจรในเขตชุมชน ในส่วนของฟุตบาทก็ควรมีการขยายให้กว้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนสามารถใช้งานได้จริง และเดินแล้วรู้สึกว่าปลอดภัย 

“ลดขนาดถนนซะ ออกแบบให้ถนนมันปลอดภัยขึ้น ติดมาตรการ Traffic Coming  หรือมาตรการลดความเร็วของรถที่สัญจร กับมาตรการจำกัดประเภทรถที่เข้ามาในเขตคูเมืองก็ได้ รถคันใหญ่ที่มีขนาดเยอะก็ไม่ควรจะเข้ามา”

สิทธิชาติกล่าวเสริมว่า หากพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบคูเมืองได้รับการปรับปรุงและออกแบบให้เหมาสมกับการใช้งานจริง ไม่ใช่แค่การออกแบบไว้เพื่อการประดับตกแต่ง ก็จะทำให้ผู้คนหันมาใช้พื้นที่เหล่านั้นในการพักผ่อนมากขึ้น 

“พื้นที่รอบคูเมืองมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คนใช้งาน  บริเวณที่ปูหญ้าไว้ก็ไม่ได้มีที่นั่งสำหรับคนที่อยากจะไปนั่งใช้เวลาตรงนั้น  ควรปรับปรุงพื้นที่รอบๆ แหล่งน้ำ ให้มันสามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่ออกแบบมาเพื่อให้รถขับผ่านแล้วมองสวยๆ  เมื่อก่อนนี้น้ำในคูเมืองนี่คนสามารถลงไปเล่นได้เลย แต่ตอนนี้มันทำไม่ได้แล้วเพราะน้ำมันเน่าไปหมด”

ถอดบทเรียนจากนิวยอร์ก ‘สนง.กลางคืน – คกก.ด้านกลางคืน’ สร้างพื้นที่หลังพระอาทิตย์ตกดินสำหรับทุกคน

ในยุคที่ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไป การออกมาใช้ชีวิตตอนกลางคืนของคนในเมืองเป็นเรื่องที่พบเห็นได้มากขึ้น พื้นที่สาธารณะในตอนกลางคืนจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าพื้นที่สาธารณะในประเทศของเรายังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยมากนัก 

หากเราลองไปดูตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่สาธารณะตอนกลางคืนของ นิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ก็จะเห็นว่า นิวยอร์กมีการจัดการพื้นที่กลางคืนที่น่าสนใจ โดยมีการจัดตั้งสำนักงานกลางคืน (Office of Nightlife) และ “นายกกลางคืน” (Night Mayor) เพื่อผลักดันแนวคิดเพื่อออกแบบเมืองให้ตอบโจทย์กิจกรรมยามค่ำคืน

บทความ Night time Design Criteria: Placemaking After-dark เขียนโดย Leni Schwendinger ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้แสงในเมือง ร่วมกับ Daleana Vega Martinez และ Fatima Terin ใน Urban Design Forum องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่พูดถึงเรื่องพื้นที่สาธารณะในนิวยอร์ก ได้พูดถึงหลักเกณฑ์ในการออกแบบกลางคืนเพื่อสร้างพื้นชีวิตหลังพระอาทิตย์ตกดิน ที่เสนอว่าชีวิตของพื้นที่กลางคืนควรจะมีการยกระดับทั้งหมด 3 ด้าน ดังนี้ 

1.เศรษฐกิจ ที่เป็นอุตสาหกรรมกลางคืน เช่น ร้านอาหาร บันเทิง การขนส่ง การแพทย์ และการสุขาภิบาล เป็นแหล่งจ้างงานสำหรับคนจำนวนมากและดึงดูดนักท่องเที่ยวรวมทั้งคนท้องถิ่นให้เพิ่มกิจกรรมทางธุรกิจ ควรจะมีการใช้เทคนิคแสงสว่างที่ทันสมัยและเชื่อมต่อกันได้ (smart technology) ช่วยประหยัดงบประมาณของเมือง

2.สุขภาพ ควรจะมีการสร้างเมืองที่สามารถเดินได้หรือ “walkability” กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการออกแบบทิวทัศน์ของถนนในเมือง รวมไปถึงสร้างระบบนำทาง (wayfinding) ช่วยให้การเดินทางในเมืองง่ายขึ้นและเป็นธรรมชาติ การสร้างสวนขนาดเล็ก, ลานสี่เหลี่ยม, และที่นั่งที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการใช้งานหลังค่ำ ช่วยส่งเสริมทั้งการออกกำลังกายและการพบปะสังสรรค์

3.ความเป็นมิตรและความปลอดภัย ที่ต้องออกแบบเป็นกลยุทธ์ในระดับเมือง เช่น โครงการ Vision Zero (เป้าหมายลดอุบัติเหตุ) และเพิ่มทางเลือกด้านการเดินทาง ทำให้ถนนมีความปลอดภัยขึ้น ผสมผสานงานวิจัยทางสังคมเข้ากับการทดลองใช้แสงสว่างที่ตอบสนองต่อสถานการณ์จริงช่วยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและความภาคภูมิใจในพื้นที่ ออกแบบนโยบายที่ปรับใช้ตามช่วงเวลาเพื่อจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์และยาเสพติดก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการทำให้ยามค่ำคืนปลอดภัยขึ้น

ในบทความยังได้พูดถึงเมืองนิวยอร์กที่ได้เข้าร่วมกับเมืองใหญ่ระดับโลกอย่างลอนดอน ซิดนีย์ และอัมสเตอร์ดัม ที่มีการเขียนกฎหมายท้องถิ่น 2017-178 ที่แก้ไขกฎระเบียบของเมืองเพื่อจัดตั้งสำนักงานกลางคืนและคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกลางคืน โดยโครงการเหล่านี้เริ่มต้นโดยเน้นคุณภาพชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มและเสียงรบกวน 

แต่ในด้านบวกก็ได้เน้นคุณค่าของดนตรีสดและการแสดงหรรษา และขั้นต่อไปของโครงการคือการขยายมุมมองไปที่วัฒนธรรมโดยรวมและการวางแผนออกแบบพื้นที่กลางคืนที่จะมีผลต่อชีวิตประจำวันของคนในเมือง

หากพื้นที่บริเวณคูเมืองได้รับการปรับปรุงให้ปลอดภัยและตอบโจทย์การชีวิตได้อย่างเข้ากันกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองเชียงใหม่ ภาพคูเมืองในตอนตีหนึ่งที่ผู้คนสามารถออกมากใช้ชีวิต นัดพบปะ นั่งพักผ่อนหรือนั่งดูไลฟ์สตรีม ตีหนึ่งที่คูเมืองก็คงจะโรแมนติกมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ้างอิง

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. กำแพงเมืองเชียงใหม่ ปราการแห่งล้านนา. https://www.finearts.go

Leni Schwendinger. Nighttime Design Criteria: Placemaking After-dark. https://urbandesignforum.org/building-a-nighttime-design-criteria-placemaking-after-dark/

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa slot mahjong