จาก ‘เสาร์ซาวเอ็ด’ ถึง ‘เชียงใหม่ไพรด์’ ย้อนเวลาก่อนความหลากหลายจะเบ่งบาน

ภาพเหตุการณ์ “เสาร์ซาวเอ็ด” จาก The Momentum

‘ไพรด์’ งานไพรด์ หรือเทศกาลไพรด์ เป็นงานเฉลิมฉลองของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน (หรือที่เรียกกันว่า Pride month) ของทุกปี ถือเป็นงานที่แสดงให้เห็นได้ว่าสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมหนึ่ง ๆ นั้นมีมากหรือน้อยเพียงใด

การเฉลิมฉลองงานไพรด์มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค 60s จากเหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ณ สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) บาร์เกย์ย่านกรีนิชวิลเลจ เมืองนิวยอร์ก และการจลาจลครั้งนี้ได้จุดชนวนของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา

ภายหลังเหตุการณ์จลาจลเป็นเวลา 3 ปี การเฉลิมฉลองเทศกาลไพรด์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีผู้เข้าร่วมการเฉลิมฉลองกว่า 2,000 คน จากนั้นงานเทศกาลไพรด์ก็ได้ขยายตัวออกไปทั่วโลก

ในบริบทของประเทศไทยมีการจัดงานที่ลักษณะคล้ายคลึงกับงาน “Bangkok Pride” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 24 ปีก่อน คือในปี พ.ศ. 2542 อันเป็นยุคเดียวกันกับเพลงที่มีชื่อว่า “ประเทือง” งานดังกล่าวมีชื่อว่า “Bangkok Gay Festival 1999” โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือเพื่อการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์ในหมู่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเพื่อทำให้สังคมทั่วไปรับรู้ว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2545 – 2549 งาน “Bangkok Gay Festival” ได้เปลี่ยนชื่อเป็นงาน “Bangkok Pride” โดยมักจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และมีการขยายประเด็นออกไปครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีเพศหลากหลาย หรือประเด็นการปรับชุดความคิดเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศของภาครัฐ สังคม ตลอดจนสื่อมวลชน เพื่อให้มีมุมมองต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การจัดงาน Bangkok Pride ได้ยุติไปช่วงระยะหนึ่ง คือช่วงหลังปี พ.ศ. 2549 – 2559 ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ได้มีความพยายามในการจัดงาน Bangkok Pride ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในการกลับมาได้อย่างที่ควร 

กระทั่งในปี พ.ศ. 2565 ได้มีการจัดงาน “Bangkok Naruemit Pride 2022” ขึ้นโดยความร่วมมือของคณะทำงานบางกอกไพรด์และกลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับบริบทที่มีการกระเพื่อมมาอย่างยาวนานของประเด็น “สมรสเท่าเทียม” รวมทั้งชุดความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของผู้คนในสังคมทำให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับความหลากหลายทางเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น

.

เริ่มแรกแป๋งงานไพรด์เชียงใหม่กับงาน “เชียงใหม่เกย์ไพรด์”

การจัดงานไพรด์ใน จ.เชียงใหม่ มีข้อมูลว่าได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองในบรรยากาศของไพรด์ขึ้นครั้งแรก ภายใต้ชื่องานว่า “เชียงใหม่เกย์ไพรด์” ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2552 หากแต่ไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานครั้งแรกมากนัก

ต่อมาได้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2552 โดยใช้ชื่องานเดียวกันคือ เชียงใหม่เกย์ไพรด์ ครั้งที่ 2 มีผู้จัดคือ Mplus องค์กรเครือข่ายภาคี และสถานประกอบการ รวมทั้งสิ้น 14 องค์กร โดยมีกำหนดจัดงานในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 และภายในงานจะมีการตั้งขบวนพาเหรด ณ พุทธสถาน จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนช้างคลาน ผ่านย่านไนท์บาร์ซา และไปสิ้นสุดที่ Tawan Plaza พร้อมทั้งจะมีการตั้งเวทีการแสดงและบูธให้ความรู้เรื่องเพศ เพศวิถี และโรคเอดส์ด้วย

ภายหลังการแถลงข่าวจัดงานของคณะผู้จัดงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ ครั้งที่ 2 ปรากฏว่าได้มีหลากหลายกลุ่มออกมาคัดค้านและได้ยืนหนังสือต่อผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สาขาเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีเชียงใหม่ สภาวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้คัดค้านการจัดงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ ครั้งที่ 2 โดยระบุเหตุผลว่า “กะเทยแต่งสาว สวมชุดล้านนาเพื่อปล่อยผี อาจทำให้วัฒนธรรมล้านนาถูกมองในมุมลบ” อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 26 มกราคม 2552

เพื่อหาทางออกให้แก่ทุกฝ่าย คณะผู้จัดงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ทั้ง 14 องค์กร ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขแนวทางการแสดงศิลปวัฒนธรรม โดยมีข้อสรุปว่าจะไม่มีการแสดงที่โป๊เปลือย และการเต้นรำจะเป็นไปตามที่สังคมยอมรับได้

.

กระแสต่อต้านงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ (ครั้งที่ 2) พรั่งพรูทั่วทุกสารทิศ

เมื่อยิ่งเข้าใกล้วันจัดงาน กระแสการต่อต้าน การคัดค้าน งานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ ครั้งที่ 2 ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น มีผู้คนและหน่วยงานออกมาแสดงความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการให้มีงานดังกล่าวเกิดขึ้นมากมาย 

เป็นต้นว่า คอลัมนิสต์ผู้หนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า “บานเย็น” ได้เขียนข้อคิดเห็นลงคอลัมน์ “หมุนตามวัน” ในหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ มีเนื้อความทำนองว่า “ขอเสริมแรงร่วมต้านกะเทย ห้ามจัดเกย์พาเหรด เพราะขัดต่อจารีตประเพณีวัฒนธรรมล้านนา อย่าให้กะเทยห่ามๆ หยามบ้านเมืองด้วยก้นปอม นมปลอม ดูยังไงมันก็อุบาทว์ ไม่มีทางสวยงามไปได้”

ด้านผู้ว่าราชการเชียงใหม่และผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมเชียงใหม่ในขณะนั้นก็ได้มีความในทางเดียวกันคือ ไม่เห็นด้วยกับการจัดงาน ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่เหมาะสม โดยทางสำนักงานวัฒนธรรมเชียงใหม่ได้ออกบทความชื่อ “การเฝ้าระวังวัฒนธรรมกับการต่อต้านพาเหรดเกย์” มีเนื้อหาระบุว่าไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยชี้ว่าแม้จะเป็นสิทธิตามกฎหมายแต่ความเหมาะสมก็สำคัญ

ฝ่ายชนชั้นนำในเชียงใหม่ เช่น เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ก็ยังได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องไว้เช่นกัน ความว่า “คิดกันให้ดี คณะผู้จัดควรมองให้รอบด้านและกลับไปทบทวนในการจัดงาน”

นอกเหนือไปจากนี้ ยังได้ปรากฏว่าสถานีวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดง คลื่น FM 92.5 MHZ กลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 ได้ออกอากาศเนื้อหาเชิงปลุกระดม ต่อต้าน และคัดค้านการจัดงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ 2 ประการ คือ

  1. ให้ทางคณะผู้จัดงานฯ เปลี่ยนชื่องาน ไม่ให้ใช้คำว่า Chiang Mai Gay Pride
  2. ให้เลื่อนการจัดงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ออกไป

พร้อมกันนั้นในช่วงก่อนที่จะมีงานเพียง 2 วัน ทางกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 ได้เรียกตัวแทนผู้จัดงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์เข้าไปพูดคุยด้วย โดยอ้างว่าเพื่อหารือและหาข้อยุติ

จากกระแสการต่อต้านและคัดค้านทั้งหมดนี้ คณะผู้จัดงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานีตำรวจภูธรกองเมือง ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เนื่องด้วยเกรงว่าอาจจะมีการใช้ความรุนแรงเพื่อพยายามยุติการเดินขบวน

.

“เสาร์ซาวเอ็ด”

ภาพ: มติชนออนไลน์

เวลาประมาณ 15:30 น. ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 อันเป็นกำหนดการของงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ ครั้งที่ 2 คณะผู้จัดงานฯ ต่างพากันเดินทางไปเตรียมงาน ณ พุทธสถานเชียงใหม่ (วัดอุปคุต) ก่อนที่ในเวลาประมาณ 16:00 น. จะปรากฏว่าสมาชิกกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 จำนวนมากจำรถบรรทุก รถเครื่องเสียง พร้อมป้ายต่อต้าน คัดค้านงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ของกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 เข้ามาในพื้นที่พุทธสถาน 

เมื่อมาถึงกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 ก็ทำการตะโกนด่า ปิดล้อม และกักขังคณะผู้จัดงานฯ และกลุ่มคนที่เตรียมงาน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลุ่มคนข้ามเพศ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาสังคมที่ทำงานด้านเอดส์ และสิทธิมนุษยชน โดยมีการกักขังไว้ภายในตึกพุทธสถานเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง

ภาพ: มติชนออนไลน์

ขณะเดียวกันก็ทางกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 ก็ไม่ยินยอมให้มิตรสหายของคณะผู้จัดงานฯ และผู้ที่ตั้งใจมาร่วมงานซึ่งอยู่ด้านนอกเข้าไปภายในพุทธสถาน โดยสมาชิกกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 ไว้วางกำลังสมาชิกผู้ชายไว้ที่ประตูเข้า – ออกพุทธสถานทุกจุด

ในระหว่างที่ถูกกักขังอยู่ภายในพุทธสถาน คณะผู้จัดงานฯ ได้ร่วมกันนั่งภาวนา ซึ่งก็ได้มีสมาชิกกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 เข้ามาก่นด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ขว้างปาสิ่งของใส่ เช่น เศษอาหาร แก้วน้ำ และก้อนหิน จนเป็นเหตุให้สมาชิกฝ่ายงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์คนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ

ตลอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเชียงใหม่ประจำอยู่ในบริเวณพุทธสถานกว่าร้อยนาย แต่เมื่อทางฝ่ายคณะผู้จัดงานฯ เข้าไปขอให้ช่วยดูแลความปลอดภัย เนื่องจากทางกลุ่มรักษ์ใหม่ 51 ได้กระทำการคุกคามด้วยวาจาและความรุนแรงอยู่โดยตลอด ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่กลับตอบว่าไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องมีกำลังพลไม่พอ

ภาพ: มติชนออนไลน์

สถานการณ์ทั้งหมดคลี่คลายลงเมื่อคณะผู้จัดงานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ยอมลดทอนสิทธิศักดิ์ศรีของตนเอง และปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของทางกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 ซึ่งได้แก่ การคลานออกจากพุทธสถาน และการกราบขอโทษชาวเมืองเชียงใหม่ 

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการจัดตั้งกลุ่มเสาร์ซาวเอ็ดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นคณะทำงานรณรงค์ สร้างความเข้าใจเนื่องสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้มีเพศหลากหลาย, สร้างเสริมศักยภาพการทำงานของนักกิจกรรมเพศหลากหลาย, สร้างพื้นที่ทางสังคมให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ, ทำกิจกรรมสันติวิธีเพื่อให้มีการยุติความรุนแรง ควบคุม และการสร้างอคติที่มีความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ, และผลักดันนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

นอกจากยังได้มีการสถาปนาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีขึ้นเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Stop Violence Against LGBTIQs Day)

.

เชียงใหม่ไพรด์ในปัจจุบัน

ปัจจุบันสถานการณ์เกี่ยวกับการจัดงานไพรด์ใน จ.เชียงใหม่ เป็นไปในทิศทางที่ขึ้น งานเชียงใหม่ไพรด์กลายเป็นงานเทศกาลที่ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น อันจะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ. 2567 นี้ ทางคณะผู้จัดงาน กลุ่ม Chiang Mai Pride ได้ร่วมงานกับทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ โดยจะมีกิจกรรมให้ร่วมได้ตลอดทั้งเดือนมิถุนายน 

นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งเมื่องานเฉลิมฉลองซึ่งครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่อง “ขึด” ไม่เหมาะสม มีแต่จะสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้แก่ศิลปวัฒนธรรมล้านนา สามารถเดินทางผ่านประวัติศาสตร์การถูกลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงด้วยเหตุที่เนื่องมาจากอคติทางเพศ มาสู่การเป็นงานเทศกาลที่มีผู้สนับสนุนมากมาย ทั้งยังเป็นที่ตั้งตารอของนักท่องเที่ยวด้วยในอีกทางหนึ่ง

.

อ้างอิง

ทีมงานเสาร์ซาวเอ็ด. รำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เชียงใหม่เกย์ไพรด์. เชียงใหม่. มูลนิธิเดอะลิ้งค์ (The LinQ Foundation). มปพ.

BBC. London Pride parade: History of gay rights in the UK. online via https://www.bbc.co.uk/newsround/40459213

The Momentum. 28 มิถุนายน 1969: จลาจลที่สโตนวอลล์ จุดกำเนิด Pride Month. ออนไลน์ เข้าถึงได้ที่ https://docs.google.com/document/d/1NV7e-yfs97yuaSjH7n69s-52neoFHHvc1Z1j0v3igL8/edit.

Modernist. ย้อนประวัติศาสตร์ “Bangkok Pride” ในไทย สู่การเป็นแม่งานใหญ่ของโลก. ออนไลน์ เข้าถึงได้ที่ https://themodernist.in.th/relive-the-history-of-bangkok-pride-in-thailand/#%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E2%80%9CBangkok_Pride%E2%80%9D_%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง