เมด อิน พะเยา: ความหวัง ความฝัน คนค้าขายรอบกว๊านพะเยา ต่อรัฐบาลใหม่

เรื่องและภาพ: กมลชนก เรือนคำ

จังหวัดพะเยาเป็นเหมือนเมืองผ่านที่นักท่องเที่ยว นักเดินทาง มักมองข้ามและเลยไปเที่ยวจังหวัดเชียงราย หรือจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ หรือใช้เป็นเมืองผ่านในการที่จะเดินทางเข้าสู่ภาคกลางเสมอมา แต่ใช่ว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวไปเสียทีเดียว เพราะต่างก็มีผู้คนที่ชื่นชอบธรรมชาติ ความสงบ ความเงียบเหงาในจังหวัดพะเยา ก็ยังมาแวะเวียนอยู่เสมอ เมื่อนึกถึงจังหวัดพะเยาแล้วเราคิดถึงอะไรกันบ้างนอกจากกว๊านพะเยา กว๊านพะเยาเองมักเป็นที่แรกที่เรานึกถึง  เราจะไปชื่นชมความงามของกว๊านยามเย็น ชื่นชมดอยหนอก แต่ถ้าเรามองลงไปถึงชีวิตคนชายกว๊านพะเยาล่ะ?

ภาพ: กมลชนก เรือนคำ

“กว๊านพะเยา” เป็นชีวิต เป็นฐานเศรษฐกิจ เป็นสถานที่ทำเงิน เป็นแหล่งสร้างอาชีพของคนชายกว๊าน แต่ก่อนในสมัยที่เศรษฐกิจพะเยายังคงรุ่งเรืองตั้งแต่หลังช่วงปี 2540 เป็นต้นมา จากคำบอกเล่าของคนพะเยา ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เทศกาล โอกาสสำคัญในชีวิตใครสักคนหนึ่ง สถานที่ฉลองที่แรกที่คนพะเยามักจะนึกถึงเสมอคือร้านอาหารริมกว๊านพะเยา หรือการที่ปูเสื่อสั่งอาหารตามรถพ่วงขายอาหารในช่วงวันหยุด มีให้เห็นละลานตา มีทั้งขาจรขาประจำและคนในพื้นที่เอง ทุกร้านโต๊ะเต็ม ขายดีเทน้ำเทท่า

แต่หลังจากรัฐประหารในปี 2557 เศรษฐกิจพะเยาซบเซา ไม่ค่อยมีคนออกไปใช้เงินนอกบ้าน รายได้ของคนชายกว๊านก็ถือว่าหายไป จากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นักการเมืองพะเยามีบทบาทในระดับชาติ ริมกว๊านก็ดูเหมือนกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น ร้านอาหารเริ่มโต๊ะเต็ม บริเวณกว๊านมีคนมาปูเสื่อทานอาหารพักผ่อนหย่อนใจ 

ล่วงมาถึงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจก็กลับมาซบเซาอีกครั้ง กว๊านเงียบสงัด ร้านทยอยปิดตัวลง ผู้คนเลือกทานอาหารในบ้านมากกว่านอกบ้านเพราะปลอดภัย ประหยัด และในตอนนั้นเองผู้คนเริ่มตระหนักถึงเรื่องการจัดการโรคระบาดของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มริบหรี่ลงไปในทุกวัน

การเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมาจึงได้ปลุกความหวังให้กับคนพะเยาอีกครั้ง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ แต่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีความแน่นอนนี้ ข้อมูลจากรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดพะเยา ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจังหวัดพะเยาโดยรวมมีสัญญาณหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน จากด้านอุปสงค์ที่หดตัวจากดัชนีการใช้จ่ายภาครัฐ หดตัวร้อยละ -21.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนลดลง ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนสะท้อนจากจำนวนพื้นที่อนุญาตก่อสร้างที่ลดลง เป็นสำคัญ เนื่องจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุน ดัชนีมูลค่าการค้าชายแดน หดตัวร้อยละ -47.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งคนพะเยายังเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัจจัยกดดันจากค่าครองชีพที่ยังปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวพะเยาต้องระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยและคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น

เราลองมาฟังเสียงคนค้าขายในพะเยาดูว่า พวกเขาตั้งความหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ไว้ยังไงกันบ้าง

จากที่ไม่เคยเป็นหนี้ ต้องตกอยู่ในวังวนร้อยละยี่สิบ – หวังรัฐบาลใหม่ทำเรื่องเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ร้านส้มตำ-ไก่ย่างในสวนสาธารณะริมกว๊านพะเยา (ภาพโดยกมลชนก เรือนคำ)

แม่ค้าส้มตำรายหนึ่งริมกว๊าน เล่าว่าเมื่อก่อนสมัยที่เศรษฐกิจยุครุ่งเรือง ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ของหมดทุกวัน ชีวิตไม่เคยมีหนี้ หลังจากเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดและการโยกย้ายที่ขายตามที่เทศบาลขอมา ชีวิตของเธอต้องกลับกลายเป็นหนี้ร้อยละยี่สิบ ขาดทุน บางวันยังต้องนั่งพะวงว่า “วันนี้จะถึงหนึ่งร้อยบาทไหม”

“เมื่อก่อนป้าขายตรงริมกว๊าน ไม่ได้มาขายตรงสวนสาธารณะตรงนี้ เมื่อก่อนที่ขายตรงนั้น ขายดีมากๆ คนมาปูเสื่อนั่งกินอาหารเยอะแยะไปหมด ไม่เคยต่ำกว่าหลักพันต่อวัน พอโควิดเข้ามา เราขายไม่ได้ เขาให้หยุด รายได้เราหาย หลังจากโควิดเราก็โดนเทศบาลให้ย้ายที่ขายเพราะตรงริมกว๊านเขาจะเอาให้นั่งท่องเที่ยวจอดรถ ชมกว๊าน เขาบอกว่าแม่ค้าบังทิวทัศน์ เราขายตรงนี้ ไม่มีใครเห็นเรานอกจากเสียว่าเขาจะมาแวะเข้าห้องน้ำ ขายตรงนี้ก็ไม่ให้นั่งกินลูกค้าเขาก็ไม่ยอม พอเราขายไม่ได้ เราต้องเริ่มกู้เงินร้อยละยี่สิบ เทศบาลเขาไม่ได้ช่วยเราเลยนะ เขามีแต่จะไล่ เราที่ทำมาตั้งแต่รุ่นตารุ่นยายจนตอนนี้จะรุ่นลูกรุ่นหลาน แล้วเขาจะไปอะไรกินกัน รัฐบาลนี้จัดการไม่ดีเลย เศรษฐกิจไม่ก้าวหน้า เรามีแต่จะจนลง เราซื้อของมาขายก็ขาดทุนแล้ว เราไม่ได้ขายก็ต้องเอาทิ้ง เสียดายนะ ป้าอยากจะให้รัฐบาลใหม่มาจัดการได้แล้ว คนตัวเล็กอย่างเรามันก็จนลงทุกวัน อยากให้เขามาทำเรื่องเศรษฐกิจให้ดี ให้เราลืมตาอ้าปากได้สักที”

หวังความชัดเจน หลังโครงการภาครัฐช่วงโควิดเคยช่วยไว้

ร้านไอศกรีมในสวนสาธารณะจังหวัดพะเยา (ภาพโดยกมลชนก เรือนคำ)

คุณลุงขายไอศกรีมท่านหนึ่ง ระบุว่าโรคโควิดทำให้เขากลัวและไม่ได้ออกมาขายของ แต่หลังจากโควิดซา ประกอบกับมีโครงการรัฐบาลมารองรับ (โครงการ ม.33 เรารักกัน, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการเราชนะ, โครงการเที่ยวด้วยกัน และอื่นๆ) ก็ทำให้เขาพออยู่รอดได้

“โรคมาใหม่ๆ น่ากลัวมาก เราหยุดขาย หลังจากนั้นมาก็ไม่มีอะไรมาก เรื่องเศรษฐกิจตอนที่รัฐบาลมีโครงการช่วงโควิดเราขายดีมาก พวกโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ประชารัฐ ขายดีสุดๆ แต่พอหมดโครงการจนมาถึงตอนนี้มาคนก็หาย ส่วนเรื่องรัฐบาลใหม่ เราก็มองไม่ออก ถ้าเราไม่เห็นความแน่ชัดของเรื่องเศรษฐกิจ เราก็คงค้าขายไปวัน ๆ ของเราแค่นั้น”

ร้านของฝากขึ้นชื่ออย่าง “ปลาส้ม” รายได้ยังถดถอย หวังรัฐบาลใหม่ดูแลคนค้าขาย

ปลาส้ม ของฝากเลื่องชื่อของจังหวัดพะเยา (ภาพโดยกมลชนก เรือนคำ)

ปลาส้มเป็นของฝากขึ้นชื่อจังหวัดพะเยา ขายแล้วรวยเพราะเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อกลับไปเสมอเมื่อมาเยือนจังหวัดพะเยา ท่องเที่ยวคึกคัก ขายดีคึกครื้น แต่ตอนนี้พบว่าหลายร้านขอแค่ให้มีรายได้ที่เข้ามาแล้วใช้ในชีวิตประจำวันให้รอดก็ดีมากแล้ว

แม่ค้าขายปลาส้มรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่าเธอขายปลาส้มมานานหลายปี เพราะรายได้ดี เป็นของดีประจำจังหวัดอยู่แล้วแต่เมื่อวันหนึ่งรายได้ไม่เป็นเหมือนแต่ก่อน

“ของฝากเนี่ยนะ ยังไงมันก็ขายดีอยู่แล้วเพราะปลาส้มเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็นึกถึง คนต่างจัดหวัดซื้อเยอะ เมื่อก่อนเราก็ขายตรงริมกว๊านไม่ได้มาขายตรงสวนสาธารณะตรงนี้ ตอนขายตรงริมกว๊านขายดีมีนักท่องเที่ยวมาซื้อ อย่างวันเสาร์อาทิตย์เราก็หวังให้นักท่องเที่ยวมาซื้อ จันทร์ถึงศุกร์ก็วันธรรมดาไม่ได้ขายไม่เป็นไรอย่างน้อยก็ขายวันเสาร์อาทิตย์  ตั้งแต่โควิดมาเราก็ไม่ได้ขาย”

“รายได้เราหาย ไม่คึกคักเหมือนช่วงนายกทักษิณ ชินวัตร มิหนำซ้ำเราถูกโยกย้ายมาตรงสวนสาธารณะ เขาเข้าไม่ถึงกันอยู่แล้ว รัฐบาลก็แย่ เทศบาลก็ไม่จัดการ  ยิ่งเทศบาลนี่ตัวนี่รักต้นไม้ยิ่งกว่าคน ไม่เคยเข้ามาดูแลคนค้าขายคนชายกว๊านเลย เราหมดความหวังกับรัฐบาลนี้แล้ว เราอยากให้รัฐบาลใหม่มาช่วยดูแลชีวิตคนค้าขาย คนรากหญ้า ทุกวันนี้ความต้องการเรามันก็มีแค่ได้เงินมาใช้ในชีวิตประจำวัน เลี้ยงลูกหลาน อยากได้ที่ขายที่ดี อยากให้เศรษฐกิจมันดีเหมือนแต่ก่อน เป็นเหมือนที่ชลบุรีได้ยิ่งดี”

ความหวัง ความฝัน ของคนค้าขายรอบกว๊านพะเยา ก็เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่จดจ่ออยู่กับรัฐบาลใหม่ ตั้งความหวังต่อนโยบายต่างๆ ที่จะมาช่วยพวกเขาในเรื่องปากท้อง การค้าขาย ทั้งนี้เศรษฐกิจในจังหวัดพะเยาจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง


อ้างอิง

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดพะเยา ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เริ่มสนใจงานเขียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นทั้งนักเขียน นักเรียน นักดนตรี และนักรัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง