Lanner Joy : ความฝัน อุดมการณ์ ความรัก ของแอลลี่ เด็กสาวที่เดินทางมา Gap Year บนเส้นทางสายศิลปินที่เชียงใหม่

เรื่องและภาพ: ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์

บ่ายวันหนึ่งแถววัดร่ำเปิง เราเดินเข้าไปยังคาเฟ่ริมทางนามว่าสนิมทุน [Sanimthoon Community Café] ในอดีตได้ปิดตัวลงช่วยโควิด แต่แล้วก็ถูกชุบชีวิตอีกครั้งผ่านกลุ่มนักกิจกรรม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมายังเป็นพื้นที่รวมตัวของนักกิจกรรมจากประเทศเพื่อนบ้าน กิจกรรมเสวนา อ่านกวี ศิลปะและดนตรีมากมาย ในวันนี้เราแวะมาที่นี่เพื่อมาหาเพื่อนคนหนึ่ง

เราจะพาทุกคนมาพบกับเด็กสาวคนหนึ่งที่เลือกเดินในเส้นทางที่แตกต่าง “แอล” ถลัชนันท์ วงค์ขันธ์ ศิลปินน้องใหม่ของเมืองในนามปากกา Lrie (แอลลี่) และหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Chiang Mai Original Young Blood เรารู้จักเธอตั้งแต่เธออายุเพียง 18 ปี ผ่านการแนะนำของเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง ในวันนั้นเธอตัดสินใจเดินทางมา Gap Year ที่เชียงใหม่เพื่อตามหาความฝันในการสร้างสรรค์ทางดนตรี แม้จะคุ้นหน้าคุ้นตากันผ่านชุมชนดนตรีในเชียงใหม่ แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าพื้นฐานเธอเติบโตขึ้นมาท่ามกลางกิจกรรมทางการเมือง เดินทางจากอุบลฯ ไปอยู่กรุงเทพฯ กับ Trauma ในระบบของสังคมที่กดทับเพียงลำพัง นอกจากเธอเคยเล่าว่าชอบฝันเป็นทำนองหรือเนื้อเพลงแล้ว เบื้องหลังชีวิตเธอคนนี้ผ่านความสมหวัง ผิดหวังและเรื่องราวมากมาย จนวันนี้ที่ได้ใช้ชีวิตตามเสียงเพลงของตนและวิถีแห่งยุคสมัยและการเมือง เธอกำลังจะเริ่มต้นชีวิตบทใหม่แล้ว มาฟังเรื่องราวของเธอกัน

ภาพจากรายการดนตรี Harmonise 

ตื่นเต้นไหม จะเริ่มเรียน (เข้ามหาลัย) แล้ว?

เรากล่าวทักทายแอลถึงการเริ่มต้นชีวิตในบทใหม่

“หนูกลัวว่าหนูจะไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะเราไม่ค่อยได้อยู่กับเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันมานาน กลัวจะเข้าสังคมไม่ได้” 

“แต่ก็อยากเข้าไปเรียนไว ๆ เพราะมันเป็นคณะที่หนูสนใจ อยากไปเก็บเกี่ยวความรู้มา” แอลสะท้อนถึงความสนใจในสาขาจิตวิทยา

“เนี่ย ต่อแถวเป็นคนไข้กันเต็มเลย นักดนตรีแถวนี้” แอลพูดไปพลางหัวเราะไป

ทำไมเลือกเรียนมหาลัยเอกชน?

“หนูไม่ค่อยมีความมั่นใจว่าถ้าเข้าระบบสอบแล้วเราจะทำได้ เป็นพวก Self-esteem ต่ำ กลัวความผิดหวังว่าจะไม่ผ่าน ก็เลยไม่ลงสอบดีกว่า”

“คิดว่าช่วงเวลาที่หนู Gap Year ไป มันไม่ได้มีช่องว่างให้หนูได้อ่านหนังสือหรือทำอะไรด้านอื่น ๆ เลย นอกจากการเดินทางทางดนตรี”

เป็นยังไงบ้างกับ Gap Year ที่ผ่านมา

“ปีกว่าแล้วค่ะ ได้อะไรเยอะมาก ตอนแรกก็กะว่าจะร้องเพลงอย่างเดียว แต่สุดท้ายมันไม่ใช่ มันมีอะไรมากกว่านั้นมาก ทั้งการเดินทาง ทั้งการทำเพลง”

“ก็ได้เจอความผิดหวัง และสมหวังหลายอย่างเหมือนกัน ถือว่าคุ้มค่ะ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ถ้าเราไม่ได้ลองเราก็คงหาไม่ได้อีกแล้ว”

สมหวัง ผิดหวัง เรื่องอะไรบ้าง?

“ความสมหวังของหนูคือการที่ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ทำสิ่งที่ชอบมากยิ่งขึ้น”

“ความผิดหวังก็คือ การที่เราเหมือนสูญเสียบางอย่างที่มันเป็นช่วงวัยของเรา บางครั้งเราก็แอบคิดว่า เราก็อยากใช้ชีวิตเหมือนเด็กธรรมดา ๆ บ้าง พอได้เริ่มทำงาน ได้เริ่มทำเพลง หนูก็เหมือนต้องจริงจังกับชีวิตมากขึ้น เพราะว่าครอบครัวหนูก็ไม่ได้เชิงว่าเห็นด้วยกับเรา มันคือการต้องพิสูจน์ว่าเราไปในทางนี้ได้รอดจริง ๆ”

ภาพจากเพจ Facebook Thalachanan Wongkhan

ความเป็นเด็กธรรมดาคืออะไรในมุมมองของแอล

“ตั้งแต่หนูย้ายมาเชียงใหม่ หนูรู้สึกว่าหนูเป็นคนมีเพื่อนสนิทได้ยากมาก ๆ เพราะเพื่อนสนิทหนูกระจุกตัวกันอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเราก็ไม่ได้มีโอกาสจะได้เจอเพื่อนแบบนั้น”

“Comfort Zone มันหายไป แต่ว่ามันก็แลกกับการที่เราได้เจอสิ่งใหม่ ๆ ที่อาจจะดีขึ้น อีกมุมหนึ่งของชีวิตเรา ในขณะเดียวกันเราก็สูญเสียการได้นั่งคุย Gossip ทั่ว ๆ ไป”

“อีกอย่างมันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตหนูมันอยู่กับเรื่องการเมือง จริง ๆ ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่วัย 16-17 แล้ว”

“ช่วงนั้นโควิดเนอะ เราก็อยู่เบื้องหลังในการช่วยซัพพอร์ตเป็นตัวแทรกซึม เวลากลุ่มต่าง ๆ เขามีการเคลื่อนไหว เราก็จะแอบ ๆ ไปช่วย”

เราเองเห็นแอลแว๊บแรกก็เคยรู้สึกว่าแอลดูไม่เหมือน “เด็ก” แสดงว่าทำกิจกรรมการเมืองมาตั้งแต่อยู่มัธยมเลย? ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย 

“จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ หนูย้ายไปอยู่อุบลฯ ก็คือไปอยู่กับปู่กับย่า หนูก็จะได้รับแรงกดขี่ ทุกอย่างที่เป็นความบอบช้ำ ทั้งการล่าแม่มด Culture ทางวัฒนธรรมที่ชายเป็นใหญ่ การโดนลวนลาม อะไรแบบนี้ เราเจอมาหมดแล้ว”

“พอเรารับแรงกระแทกตรงนั้นไม่ไหว เราก็เลยเหมือนต้องสรรหาดินแดนใหม่เพื่อให้เราคลี่คลายความเป็นตัวเองได้มากยิ่งขึ้น”

“เราก็เลยไปอยู่กรุงเทพฯ ตอนอายุ 15 ไปอยู่คนเดียว จับพลัดจับผลู อยู่ดี ๆ ก็ได้ไปอยู่ในวงการการเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ได้ออกตัวมาก ไม่เคยบอกใครที่ไหน เราก็เข้าไปช่วยในสิ่งที่เราสามารถช่วยได้”

อย่างแก๊งพี่ไผ่ [ไผ่ ทะลุฟ้า] นี่ไปรู้จักเขาได้ยังไง

“ฮามาก อันนั้น ตอนนั้นหนูไปม๊อบแล้วโดนตำรวจไล่ แล้ววิ่งขึ้นรถกระบะ อยู่ดี ๆ รถกระบะคันนั้นก็พาหนูไปบ้านของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเฉยเลย”

ดูเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงเยอะมากเลยนะ วัย 15, 16 ของแอล

“มันเหมือนจาก Culture ที่เราเคยอยู่มา แล้วพื้นฐานครอบครัวเรา มันทำให้เราไม่ได้เห็นคุณค่าอะไรในตัวเอง รู้สึกเหมือนขาดความเชื่อมั่นอะไรบางอย่างไป”

“บางครั้งเราก็ยังมีอารมณ์อยากไปดูหนัง กินข้าวกับเพื่อนเหมือนเด็กทั่วไปบ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการเคลื่อนไหวมันทำให้หนูโตขึ้น มันทำให้หนูมี Mindset บางอย่าง แล้วมันก็ซัพพอร์ต Trauma ในใจด้วย”

การเติบโตท่ามกลางกิจกรรมทางการเมืองภายในรั้วโรงเรียน

“พี่อาจจะเคยเห็นมันจะมีการเล่นสเก็ตในม๊อบใช่ไหม หนูจะเป็นคนจัดสเก็ตในม๊อบ”

“ช่วงนั้นคือฮามาก คือหนูไปทำประชาสัมพันธ์กิจกรรมในโรงเรียนใช่ไหม แล้วอาจารย์ก็ไม่รู้ว่าเป็นหนู เขาก็มาบอกหนูว่า เนี่ย รู้ไหม โรงเรียนเรามีเด็กไอ้พวกกลุ่มนักเคลื่อนไหวแทรกซึมมาด้วยนะ ฟีลแบบ Gossip กำลังจะไปทางร้าย ๆ แล้ว หนูก็เลยบอกแกไปว่า ก็หนูเนี่ยแหละค่ะอาจารย์”

“เขาก็เหวอ ไม่กล้าพูดต่อ พอเราเปิดเผยมากขึ้น มันทำให้อาจารย์ไม่ค่อยกล้ามายุ่งกับเรา”

“แล้วหนูเป็นคนที่แต่งตัว เรื่องทรงผม เรื่องการแต่งตัว หนูก็ค่อนข้างจะเว่อร์ไปนิดนึง แต่ว่ามันทำให้หนูมีความสุข หนูก็เลยทำ แต่อาจารย์เขาก็ไม่ค่อยกล้ามายุ่งกับหนูเท่าไร”

ภาพจาก Facebook Thalachanan Wongkhan

ชีวิตวัยนั้นดูมีเพื่อนเยอะเนอะ ดูเป็นคนรักเพื่อน

“หนูโชคดีอยู่อย่างนึงคือหนูอยู่ศิลป์จีนฯ แล้วศิลป์จีนฯ มันไม่ค่อยมีผู้ชายเรียน ก็เลยมีเพื่อน ๆ ผู้หญิงเยอะ ถามว่าเพื่อน ๆ เขาชอบเราเหรอ ก็ไม่เชิงขนาดนั้น เพราะเรามีความคิดเป็นเด็กหัวดื้อ แต่ว่าโชคดีที่เพื่อนมีความเห็นอกเห็นใจเรา บางทีเวลาเพื่อนมาแชร์ Mindset คุยกันนอกเหนือจากในห้องเรียน เพื่อนจะมาคุย แล้วหนูก็จะได้มุมมองที่มันต่างกันออกไป จะมีเพื่อนกลุ่มนีงในห้องที่พยายามดึงหนูเข้ามาทำงานกลุ่ม ในการสอบ น่ารักมาก ๆ ถ้าไม่ได้เพื่อนกลุ่มนั้นหนูคิดว่าหนูไม่น่าจะเรียนจบ”

“ด้วยความที่โรงเรียนมัธยมโรงเรียนวัด เด็กมันจะไม่ได้รวยมาก จะอยู่กลาง ๆ ถึงค่อนจน บางครั้งเพื่อนมันจะชอบมีปัญหาครอบครัว มีปัญหากับแฟน ถ้าเขาคุยกับเราเขาก็จะได้มุมมองที่แตกต่างออกไป” แอลเล่าถึงชีวิตที่มักมีโอกาสได้แลกเปลี่ยน ให้คำปรึกษากับเพื่อนวัยเดียวกันอยู่บ่อยครั้ง

จากตรงนั้น อยู่ดี ๆ ย้ายมาเชียงใหม่ได้ยังไง

“มันเริ่มจากตอนที่หนูมั่นใจสุด ๆ แล้วว่าหนูชอบทำดนตรี แล้วหนูรู้สึกอยากทำเพลงของตัวเองออกมาให้เป็นรูปเป็นร่าง หนูก็เลยไปหาพี่เฉื่อย (รัชพงศ์ โอชาพงศ์) นั่งรถจากสมุทรปราการไปศาลายา มหิดล แล้วเขาก็มาสอนแต่งเพลง ช่วงนั้นก็จะมีพวกสหภาพคนทำงานฯ มาด้วย”

“พี่เฉื่อยคือคนที่ทำโครงการ Triple H Music ของสสส. ตีกลองถัง เอางบของสสส. ไปช่วยเหลือเด็กในคลองเตยโดยใช้กลองถัง แต่ตอนนี้หนูไม่ค่อยมั่นใจว่าแกทำอะไรนะ เพราะนั่นมันนานมาแล้ว”

“แล้วก็เลยได้เจอกับพี่ ๆ สหภาพนักดนตรี เขาก็เลยชวนหนูว่า ไปบ้านพี่โย่ง (มานพ นครชัย) กันไหม มีนัดปาร์ตี้ มีนัดคุย ร้องเพลงอะไรกัน หนูก็ไปประมาณสองครั้ง แล้วได้เจอพี่อาร์ท (ธีรวัชร์ อุกฤษณ์) ครั้งที่สามมั้ง” บ้านพี่โย่งที่แอลกล่าวถึงคือสถานที่ที่เคยเป็นบ้านเก่าของค่ายเพลง Panda Records

“หนูก็เลย นี่! เพลงหนู! ให้พี่อาร์ทฟัง พี่อาร์ทก็เลย เฮ้ย! เพลงนี้ดี เยี่ยมไปเลย! เนี่ยเดี๋ยวช่วยอัด อย่างงู้นอย่างงี้”

“แล้วก็ได้มานั่งคุยกัน เขาก็ถามหนูว่าชอบวงอะไร หนูก็บอกชอบ Hope The Flowers ชอบ Solitude Is Bliss ค่ะ!”

“พี่อาร์ทก็บอกว่า ไอ้เอิง ไอ้เอิง! บอกไอ้เอิงเลย แอดเฟสมันไปเลย พ่อมึงคิดถูกแล้วที่จะให้มึงไปอยู่เชียงใหม่เนี่ย มึงไปอยู่เชียงใหม่เลย” ไอ้เอิงที่พี่อาร์ทกล่าวถึงก็คือผู้สัมภาษณ์แอลในบทความนี้เอง 

“ตอนนั้นหนูก็โลเลเพราะหนูเพิ่งจะมามีเพื่อนตอนปีสุดท้ายเอง ถ้าย้ายมาก็ต้องมาหาเพื่อนใหม่ หาสังคมใหม่อีก มันเหมือนเป็นความ Homesick ที่เราปรับตัวจากการย้ายจากอุบลฯ มากรุงเทพฯ มาปรับตัวเสร็จแล้วก็ต้องย้ายเมืองอีก อะไรแบบนี้”

ก็ดูหาเพื่อนเก่งตลอดนะ จะไปที่ไหน ดูเป็นคนเปิดกับชีวิตดีนะ

“เป็นคนพูดมาก ฮ่า ๆๆๆ”

“บางครั้งก็จะมีบางช่วงที่เรารู้สึกว่า เอ๊ เราทำถูกไหมนะ บางครั้งที่เราต้องพูดมาก ๆ เพราะเราไม่ชอบความเงียบ ก็เลยต้องพูดเพื่อละลายพฤติกรรมของอีกฝ่าย อะไรแบบนี้”

“เราต้องการความเงียบในบางครั้ง ในช่วงที่เรารู้สึกว่าเราสูญเสียพลังงาน พูดคุย เจอคนเยอะ ๆ ก็ต้องหาเวลาไปอยู่กับต้นไม้ อยู่กับน้ำตกบ้าง”

ภาพจาก Facebook Thalachanan Wongkhan

คืนวันแรกเริ่ม ชีวิตในเชียงใหม่ และ Chiang Mai Original

“หนูพูดมาสิบรอบแล้วเรื่องนี้ แต่พูดทีไรก็ฮา”

”ตอนนั้นหนูยังอยู่แม่ริมเนอะ แล้วก็ไปที่เชียงใหม่ออริจินัลไลฟ์ ไปแบบไม่มีเพื่อนเลย แล้วพี่เอิงก็บอกให้หนูลองไปดู บอกว่าร้านนี้กำลังจะเปิดนะ​ หนูก็รู้สึกว่าหนูอยู่บ้านนานเกินไปแล้ว ไม่ได้แล้ว เดี๋ยวเราจะแข็งตาย เรารู้สึกอยากออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง”

“วันนั้นก็เดินเข้าไป นั่งกินเบียร์ เขาก็คงงงว่าหนูเป็นใคร เพราะร้านมันยังไม่ได้เปิดดี ก็มีพี่ชา (Chaharmo – สุพิชา เทศดรุณ) พี่ลภ (วัลลภ แก้วพ่วง) พี่เอก (เอก แซ็กป่า – เอกชัยเทพรักษา) อยู่ที่นั่น”

“พี่เอกก็เดินเข้ามาถาม Where you from? เฮอะ ๆๆๆๆ”

“หนูก็บอกไปว่า หนูเป็นคนไทยค่ะ”

“แล้ววันนั้นพี่ชากับพี่ลภก็ชวนไปดูดนตรีที่ท่าแพอีสท์ต่อ หนูจำได้ว่านั่งซ้อนรถพี่ชาไปเลย”

“พี่ชาก็สัมภาษณ์หนูว่าแบบ แล้วเป็นใคร มาจากไหน ทำไมมาคนเดียว แล้วมีเพลงของตัวเองเหรอ แล้วเขาก็ถามว่าหนูอายุเท่าไหร่ พอหนูบอกว่า 18 แกก็ตกใจมาก”

“หลังจากนั้นวันเปิดร้านพี่ชาก็เลยชวนหนูมา วันเปิดใหญ่เลย เป็นวันที่ได้เจอกับแก๊งพี่เกม (ธนากอน) พี่เพียว (Verandaa) พี่พี (H8U) ดิว (ชยานันต์)”

ภาพจาก Facebook Thalachanan Wongkhan กลุ่ม Chiang Mai Original Young Blood ระหว่างเดินสายทัวร์

กลุ่ม Chiang Mai Original Young Blood

“ในกลุ่มก็จะมีดิว มีรมิ (RAMI – รมิ) ด้วย ก็ฮาดีพี่ แต่ละคนมันจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ก็เลยหาจุดที่เหมือนกันไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่หนูรู้สึกว่ามันมีให้กันและกันคือความตั้งใจอยากที่จะเห็นใครสักคนนึงเติบโต คือสิ่งที่หนูสัมผัสได้ เหมือนพร้อมจะช่วยกัน พร้อมซัพพอร์ตกัน” แอลเล่าถึงความสนุกที่ได้พบเพื่อนใหม่ผ่านกลุ่มเชียงใหม่ออริจินัลที่ภายหลังรวมตัวกันได้ไม่นานกลุ่มก้อน Young Blood ก็ก่อตัวขึ้น และได้ออกเดินสายทัวร์แสดงดนตรีทั่วประเทศร่วมกัน

ภาพจากเพจ Aek Wild Sax จากซ้ายไปขวา: เพียว (Verandaa), รมิ (RAMI – รมิ), เกม (ธนากอน), พี่แจ๊ค (SUTHEP BAND), พี (H8U), ก๊อต (TuKu didgeridoo band)

ดีใจมากที่เห็นแอลได้ไปทัวร์กับแก๊งนี้เมื่อปลายปี

“ใช่ เป็นครั้งแรก หนูคิดว่าหนูขี้กะโหลกโปกมากเลย อยู่ดี ๆ ก็ได้ไป ก็รู้สึกว่ามันเป็นสนามแรกที่เรากลับมาแล้วเราได้อะไรเยอะมาก กลับมาเรารู้ว่าเราจะทำยังไงกับโชว์ เรารู้ว่าเราจะทำยังไงกับเพลงของเรา พอเราได้เดินทางเยอะ ๆ มันเหมือนเป็นคำตอบให้เรามากขึ้น”

ภาพจาก Facebook Thalachanan Wongkhan

ในทางดนตรี มีเป้าหมายอะไรบ้าง

“หนูอยากให้มันออกมาเป็นศิลปะของหนู แล้วก็ให้ตัวหนูภูมิใจกับตัวเองได้สักที ฟีลเหมือนว่าต่อให้ใครจะมาพูดอะไร หนูก็จะรู้สึกว่า ฉันชอบมัน อะไรเงี้ย ฉันภูมิใจกับมัน ฉันภูมิใจที่จะนำเสนอมันออกมา หนูอยากเป็นคนที่เชื่อมันกับสิ่งที่ตัวเองทำได้สักที ว่ามันดีแล้ว กับสิ่งที่เราสร้างมันออกมา”

นำเสนอซิงเกิ้ลล่าสุดให้ฟังหน่อย

“เพลงกล่อมขวัญนะคะ มีให้ฟังใน YouTube, Spotify, แล้วก็ Apple Music” 

ภาพจาก YouTube Lrie

“เป็นเพลงที่เขียนให้กับปู่กับย่า เขียนในช่วงที่อยู่เชียงใหม่ที่ผ่านมา ก็คิดถึง มองย้อนกลับไป เพราะหนูโตมากับปู่กับย่า สายสัมพันธ์ก็เลยจะแน่นแฟ้นหน่อย”

“เวลาหนูกลับบ้าน ภาพที่เราเห็นคือปู่กับย่าเราเขาจะแก่ลงอะไรอย่างเงี้ย ใช่ แล้วเราก็จะร้องไห้ บางครั้งก็ไม่กล้าโทรไปเพราะว่ามันจะมีช่วงที่เขาไม่สบาย ถ้าเราโทรไปกลัวจะได้ยินเสียงเขาที่อ่อนลงกว่าเดิม หนูไม่อยากรับรู้ตรงนั้น แล้วมันไกลกัน ด้วยความที่หนูอยู่เชียงใหม่ เขาอยู่อุบลฯ แล้วแบบ เศร้ามากเลยพี่เอิง หนูกลัวเขาตายอ่ะ”

“เขาก็จะ 80 แล้วน่ะ”

“เราสนิทกัน แต่ก็จะมีอะไรที่เราคุยกันได้แล้วก็คุยกันไม่ได้ เพราะ Gen มันต่างกัน”

“แต่ It’s OK ชีวิตมันก็ต้องไปต่อ”

ความรู้สึกหลังปล่อยเพลงเป็นยังไงบ้าง

“ถือว่าเป็นประสบการณ์ว่าต่อไปถ้าเราเขาห้องอัดอีก เราจะต้องทำอะไรบ้าง”

“พี่ชาช่วยทำ มือกีต้าร์ก็จะเป็นชยานันต์ แล้วก็มือไวโอลินเป็นพี่จูลี่ (พิชญา อินธิปัญญา)”

“อีกอย่างหนึ่งก็รู้สึกว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง รู้สึกดีที่ปล่อยมันออกไป เพราะว่าย่าหนูก็คงอยากมีรูปใน YouTube, Spotify กับเขาบ้าง”

ได้เปิดให้ย่าฟังรึยัง

“ยัง หนูไม่กล้าเปิดให้ฟัง หนูอาย ฮิ ๆๆ แต่ก็น่าจะมีคนแอบเปิดให้ฟังอยู่นะ”

“เดี๋ยวเขาฟังแล้วจะร้องไห้ เขาคิดถึง”

ภาพจาก Facebook Thalachanan Wongkhan

แอลเปลี่ยนไปยังไงบ้าง ปีกว่ากับ Gap Year 

“พี่เอิงว่าหนูเปลี่ยนไปยังไงบ้าง”

ถ้าเรามองก็คิดว่าดูกลางมากขึ้น ดูเป็นตัวเองมากขึ้น ในแบบที่สบายใจ

“หนูมีสมดุลมากขึ้น สมดุลในสิ่งที่เราคิดว่าต้องปล่อย กับสมดุลในมุมที่รู้ว่าเราจะต้องจริงจังละ”

ทุกวันนี้ความเหงาเข้ามาไหม

“แฮะ มันจะเป็นความเหงาในอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วก็ความบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย คือเพื่อนที่หนูเจอจะเป็นแก๊งเชียงใหม่ออริจินัล จะเป็นแก๊งทับสิบสอง” แอลสะท้อนถึงกลุ่มแวดวงดนตรีที่ตนมักไปคลุกคลีด้วยอยู่บ่อย ๆ 

“ก็บันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ว่าความเหงาลึก ๆ ข้างในเรามากกว่า ที่เราจะรู้สึกเหงาในบางครั้ง”

สามสี่ปีนี้ เราน่าจะต้องอยู่เชียงใหม่อีกสักพัก ชีวิตช่วงนี้อยากทำอะไร

“ศิลปะ Art Performance หรือดนตรีมันควรเข้าถึงแล้วก็ใช้สื่อสารได้ อยากเป็นจุดชนวนเล็ก ๆ ที่จะช่วยซัพพอร์ตศิลปิน ช่วยซัพพอร์ตสเปซ พื้นที่คอมมูนิตี้ แล้วก็เมือง ให้มันเป็นเป้าหมายที่จะเป็นพื้นที่เมืองดนตรีได้”

“หนูอยากทำเพลงของตัวเอง แล้วก็หนูอยากเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ ขยายคอมมูนิตี้เชียงใหม่ ขยายศิลปะและดนตรีให้มันเข้าถึงกับผู้คนได้ง่ายขึ้น หนูอยากให้เป้าหมายของเมืองมันเป็นไปตามทีมกลาง ที่เราได้ประชุมกัน” ทีมกลางที่ว่านั้นแอลกำลังเล่าถึงกลุ่ม dontree chiang mai ชาวดนตรีเชียงใหม่ และการขับเคลื่อนนิเวศดนตรีของเมือง

แล้วกับร้านสนิมทุน มาเจอกันได้ยังไง

“ผ่านบังคาริม (จิตริน พลาก้านตง) คนอุบลฯ เหมือนกัน รู้จักกันมาตั้งแต่หนูอยู่ม.4 เขาอยู่กับกลุ่มทะลุฟ้า แล้วเขาก็มาหุ้นกับที่นี่ ที่มีพี่เอ๋ (อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล) พี่อู๊ด (ชวิศา อุตตะมัง) อยู่แล้ว เนี่ยรอบนี้เขาไปกรุงเทพฯ เพราะไปฟังคำตัดสินคดี 112 เพิ่งได้ประกันตัวตะกี๊เลย”

“ช่วงที่พี่เขาไปกรุงเทพฯ หนูก็เลยมาช่วยดูแลร้าน”

สงสัยจะไม่ได้เรียนอย่างเดียวหรอกเนี่ย

“หนูก็ว่างั้นแหละ สี่ปี่จบบ่อนิ”

“แต่มันก็หนักอยู่ เพราะหนูไม่ได้ให้ที่บ้านช่วยซัพพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่ายรายเดือน แค่ซัพพอร์ตค่าเทอมอย่างเดียว”

ดนตรี เป็นงานหรือความฝัน

“หนูเรียกว่า เป็นสิ่งที่หนูรัก”

“มันมีช่วงนึงที่หนู Depress มาก ๆ แล้วหนูเป็น PTSD ตอนนั้นหนูไม่รู้ว่าหนูจะเอายังไงต่อ หนูไม่มีความฝัน หนูไม่มีสิ่งที่หนูรัก หนูมีเพื่อนแต่ว่าต่อให้คนมากมายมาบอกว่าเธอมีคุณค่า เธอเป็นคนที่รักของฉัน หนูก็ยังไม่เชื่อมั่นมันอยู่ดี”

“แต่ว่าไอ้ดนตรีเนี่ย เป็นสิ่งที่พิสูจน์การที่หนูอยากมีตัวตนอยู่ หนูเรียกว่าเป็นสิ่งที่หนูรักมากกว่า”

ฝันอยากเห็นอะไร

“มันยากเนอะ ในยุคสมัยนี้ แต่หนูว่าเราก็ต้องค่อย ๆ จุดชนวนในการขับเคลื่อนไป หนูอยากให้ดนตรีมันถูกพูดถึงได้ ในด้านของการเมือง ความยากไร้ ชีวิต ผู้คน แล้วก็ความรัก สุดท้ายความรัก ผู้คน เมือง มันก็เป็นจินตนาการที่ทำให้เกิดบทเพลงขึ้นมาอยู่ดี หนูอยากเห็นว่ามันไปด้วยกันได้ โดยที่ไม่ต้องมากลัวว่าจะมีผลกับการเงิน การเดินทาง ความฝันของเรา”

'นนทบุเรี่ยน' ที่มาเป็นชาวเชียงใหม่ เป็นนักรณรงค์เมืองดนตรีที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นนักเขียนกับเขาบ้าง เมื่อได้ลองทำจึงปิติเป็นอย่างมาก เล่นดนตรีบ้างเพื่อเคลียร์พื้นที่จิตใจ มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองแนวราบและการกระจายอำนาจเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง