เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ
เมื่อการมองผ่านแว่นของคนเมืองหรือคนกรุงเทพฯ อาจมองเรื่องซับซ้อนของจังหวัดอื่นๆ ไม่ชัดเจน เช่น คนกรุงเทพฯ ต้องการคนโปร่งใส มีคุณธรรม เข้าสู่การเมือง แต่หลายๆ ที่ในประเทศไทยนั้นมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก ตัวอย่างที่จังหวัดพะเยา ทำไมผลการเลือกตั้งถึงแตกต่างจากกระแสสีส้มและทำไม ‘ธรรมนัส พรหมเผ่า‘ คนสีเทาๆ ผู้เนรมิต ‘พะเยาฟาสต์แทรค‘ ถึงยังเป็นที่รักของคนพะเยา เมื่อมองจากคะแนนเสียงที่ได้ครั้งล่าสุด
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ‘พะเยา’ ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ผลการเลือกตั้งอาจจะดูไม่ตามกระแสนิยมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหม่ ที่คนไทยส่วนใหญ่ในหลายจังหวัดต่างออกมาเลือก ส.ส.เขต จากพรรคก้าวไกล โดยผลการเลือกตั้ง ส.ส. ของจังหวัดพะเยา ทั้ง 3 เขต ผู้ชนะได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 นายธรรมนัส พรหมเผ่า พรรคพลังประชารัฐ (53,963 คะแนน) เขตเลือกตั้งที่ 2 นายอนุรัตน์ ตันบรรจง พรรคพลังประชารัฐ (32,779 คะแนน) เขตเลือกตั้งที่ 3 นายจีรเดช ศรีวิราช พรรคพลังประชารัฐ (34,720 คะแนน)
ส่วนคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของจังหวัดพะเยาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่าอันดับ 1 พรรคเพื่อไทย (115,484 คะแนน) อันดับ 2 พรรคก้าวไกล (108,078 คะแนน) อันดับ 3 พรรคพลังประชารัฐ (18,347 คะแนน)
เมื่อช่วงเดือนกรกฎกาคม 2566 ผศ.ดารารัตน์ คำเป็ง ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิจัยและพัฒนาองค์กร คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้วิเคราะห์ถึงระบบการเมืองใน จ.พะเยา ผ่านตัวละครสำคัญ ‘ธรรมนัส พรหมเผ่า’ ผ่าน รายการ “นอก Bangkok” EP 7 ตอน พะเยารักแป้งมาก (จริงหรือ?) ธรรมนัสกับการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสื่อ The MATTER โดยผู้เขียนขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังต่อไปนี้
“พ่อเลี้ยง” วัฒนธรรมการเมืองแบบบ้านใหญ่ของภาคเหนือ
ผศ.ดารารัตน์ ระบุว่าพะเยาถือว่าเป็นจังหวัดน้องใหม่ เพราะพึ่งตั้งเมื่อปี 2520 ก่อนที่เราจะเข้าใจการเมืองจังหวัดพะเยา ต้องเข้าใจว่าจังหวัดพะเยามันมีภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือมันจะมีภูเขากั้น ภูเขากั้นทำให้มันมีโซนหน้าเขาหลังเขา ก็จะมีความีชาติพันธุ์มาเป็นฐานเสียงตรงนั้นในการเมืองแต่ละยุคด้วย ทั้งนี้การเมืองภาคเหนือมันจะไม่มีคำศัพท์ว่า “บ้านใหญ่” ศัพท์ว่าบ้านใหญ่จะอธิบายการเมืองในลักษณะของภาคตะวันออก แต่ของภาคเหนือมันเป็นลักษณะของการเมืองแบบ “ตระกูลการเมือง” ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบ “พ่อเลี้ยง” จะมีความแตกต่างแต่จะมีความคล้ายคลึงกันในบริบทภาคเหนือด้วยเช่นเดียวกัน
ช่วงทศวรรษที่ 2520 ที่พะเยาแยกมาจากจังหวัดเชียงราย การแยกมาปี 2520 มีการเลือกตั้งปี 2522 อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2519 ตอนนั้นเป็นเขตจังหวัด มี ส.ส.อยู่ 3 คน ทั้งจังหวัด ซึ่งต้องบอกว่าพะเยามีการสะสมความมั่งคั่งทางทุนเศรษฐกิจ ทำให้มีเศรษฐีที่เรียกว่า “พ่อเลี้ยง” ซึ่งพ่อเลี้ยงก็จะรวยมาจากธุรกิจที่เราเรียกว่าเป็นพืชผลการเกษตรที่ผูกขาด พืชการเมือง มันต้องอาศัยการอุปถัมภ์ คอนเนคชั่น ต้องอาศัยเหมือนกับคนนี้ซื้อกล้ามาจากพ่อเลี้ยง เอาไปให้ชาวไร่ปลูก ชาวไร่ นอกจากซื้อกล้าแล้วยังต้องซื้อยาฆ่าแมลง ต้องซื้อปุ๋ย พอปลูกเสร็จแล้วก็มาขายให้พ่อเลี้ยง มันก็เป็นความสัมพันธ์ที่วนกันระหว่างพ่อเลี้ยงกับชาวไร่ชาวนา พ่อเลี้ยงก็จะมีฐานความนิยมจากชาวไร่ชาวนาอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ถึงแม้พ่อเลี้ยงจะไม่ได้เล่นการเมือง แต่ว่าก็จะมีอิทธิพลอะไรบางอย่าง เริ่มต้นจากตรงนั้นก่อน พอเหมือนกับมีฐานบารมี ฐานคะแนนความนิยมชมชอบก็เริ่มตัดสินใจลงเล่นการเมือง แล้วก็เล่นเพื่อประโยชน์บางอย่างกับธุรกิจของตัวเอง อย่างเช่นพ่อเลี้ยงภาคเหนือก็จะแบ่งเป็นหลายพืช เช่น พ่อเลี้ยงข้าว พ่อเลี้ยงขายข้าว พ่อเลี้ยงป่าไม้ พ่อเลี้ยงขายเมี่ยง พ่อเลี้ยงโรงยาสูบ โรงบ่มยาสูบ ซึ่งพ่อเลี้ยงมักจะเป็นคนที่มีอิทธิพลและมีบารมีในจังหวัด
การเมืองพะเยา 3 ยุค ก่อนการผงาดของ ‘ธรรมนัส พรหมเผ่า’
ผศ.ดารารัตน์ แบ่งการเมืองพะเยา แบบสั้นๆ ออกเป็น 3 ยุค ยุคที่ 1 เป็นยุคของตระกูล “ตันบรรจง” (ตระกูลของพ่อเลี้ยง “เพียว ตันบรรจง” พ่อเลี้ยงพืชการเมืองอย่างใบยาสูบ ซึ่งเป็นพืชสำคัญของคนพะเยา) ยุคนี้อยู่ประมาณการก่อตั้งจังหวัดพะเยา 2520 -2539 ยุคที่ 2 เป็นอิทธิพลของรัฐธรรมนูญปี 2540 กระแสพรรคไทยรักไทย ประมาณการเลือกตั้ง 2544 จนถึงก่อนรัฐประหาร 2557 ก็จะเป็นยุคทองเพื่อไทย ยุคที่ 3 คือหลังรัฐประหาร 2557 ถึงการเลือกตั้งจนปัจจุบัน หรือเรียกว่ายุคกระแสใหม่ หรือยุคธรรมนัส
เมื่อโฟกัสไปที่ยุคที่ 2 ยุคพรรคไทยรักไทยต่อยอดมาถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเทรนด์กันหมดเลยภาคเหนือ กระแสนี้ทำให้ตระกูลตันบรรจง แพ้การเลือกตั้งราบคาบในการเลือกตั้งปี 2544 เกิดนักการเมืองในนามพรรคไทยรักไทยต่อเนื่องมาเพื่อไทย ที่มีชื่อเสียง 2 ท่าน คนแรกคือวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.เขต 2 และอรุณี ชํานาญยา ส.ส.เขต 1 นอกจากนี้ยังมีเกรียงไกร ไชยมงคล ส.ส.เขต 3 ที่สามารถเอาชนะตระกูลตันบรรจงได้ แม้ตะกูลตันบรรจงได้หายไปจากการเมืองยุคหนึ่ง แต่ตระกูลตันบรรจงกลับมาอีกครั้งตอนการเลือกตั้งปี 2548 มาลงในนามพรรคไทยรักไทย เลยได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้าน อาจจะกล่าวได้ว่าพรรคไทยรักไทย (ต่อมาคือพลังประชาชนและเพื่อไทย) สามารถครองการเมืองพะเยาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงรัฐประหารการเลือกตั้งปี 2557
ส่วนธรรมนัส น่าจะมีบทบาทโดยเฉพาะการเลือกตั้งระดับชาติ ก็ประมาณการเลือกตั้งปี 2562 แต่ก่อนหน้านั้นธรรมนัสก็จะมีบทบาทในสังคมแวดล้อมของพะเยาเสมอ แม้ธรรมนัสถือว่าเป็นคนพะเยาแต่อาจจะไม่ได้เติบโตในจังหวัดพะเยาโดยตรง พึ่งกลับมาปักหลักยังจังหวัดและก็มีการส่งเครือข่ายในทางการเมืองลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ซึ่งช่วงนี้เราจะเห็นได้ชัดเลยเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 กระจายอำนาจ ท้องถิ่นมีบทบาทในการเลือกตั้งผู้บริหารได้โดยตรง นายกเทศมนตรีก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นายก อบจ.ก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้นการเลือกตั้งระดับนี้ธรรมนัสก็ส่งเครือข่ายของตนเองลงสู่สนามการเมืองก่อน ทำให้เกิดการเรียกว่าการสะสมบารมี
“อันนี้ต้องบอกก่อนนะว่าคุณธรรมนัสพูดเองว่า คุณธรรมนัสไม่ชอบให้คนเรียกว่ามาเฟีย ไม่ชอบให้เรียกว่าเจ้าพ่อ คุณธรรมนัสนิยามตัวเองว่าเป็นผู้มีบารมี .. ดังนั้นคำว่าบารมีของคุณธรรมนัสแปลว่า สิ่งที่เขาสร้างขึ้น ต้องบอกว่าจากความเห็นส่วนตัวนะ คิดว่าเป็นการสร้างขึ้นใหม่เพราะต่างจากตันบรรจงช่วงแรก ตันบรรจง ชอบให้เป็นพ่อเลี้ยงก่อน มีเครือข่ายในอุปถัมภ์ ระบบเศรษฐกิจมีพืชการเมืองคอยหล่อเลี้ยง ความสัมพันธ์แบบนั้น มีเรื่องทุนเรื่องผลประโยชน์ แต่คุณธรรมนัสท่านมาใหม่ แม้จะเป็นคนพะเยาแต่ท่านมาใหม่ ดังนั้นท่านต้องสร้างบารมีใหม่ในนามแบบผู้มีบารมีในจังหวัดพะเยา” ผศ.ดารารัตน์ กล่าว
คนสีเทาที่คนพะเยารัก ผู้เนรมิต ‘พะเยาฟาสต์แทรค’
แม้ธรรมนัส จะถูกคนที่อื่นโดยเฉพาะคนกรุงเทพมองว่าเป็นคน “สีเทา” หลายอย่าง แต่ก็มีคำถามว่าทำไมคนพะเยาถึงรักธรรมนัส? ผศ.ดารารัตน์ ตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“บางทีเราอาจจะย้อนกลับไปในเรื่องของของคุณลักษณะของนักการเมืองที่เราอยากเห็น คนกรุงเทพฯ มันจะเห็นชัดมากเลยว่าเราต้องการคนโปร่งใส มีคุณธรรม อย่างเช่นสมัยการเมืองของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ท่านก็ได้รับคะแนนความนิยมของคนตรงนั้น แต่ภาคเหนือ ด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ด้วยการเข้าถึงโอกาสที่มันไม่เท่าเทียม ระบบราชการในภาคเหนือที่มันไม่ได้เป็นเหมือนสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับการเข้าถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนพึงมี ดังนั้นพ่อเลี้ยงหรือผู้มีบารมีหรือนักการเมืองจึงเป็นเหมือนเครือข่ายสัมพันธ์หรือสัมพันธ์กับประชาชนเป็นอย่างมาก” ผศ.ดารารัตน์ กล่าว
ผศ.ดารารัตน์ ยังชี้ว่าธรรมนัสเคยให้สัมภาษณ์ตอนทำวิจัยเขาก็จะบอกว่าเขายกหูโทรศัพท์ถึงคนในกระทรวงต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา ณ ตอนนั้นได้เลย ในลักษณะของ ‘พะเยาฟาสต์แทรค’ ทั้งปัญหาเรื่องของการเกษตรหรือการจัดสรรพื้นที่ทำกิน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของคนพะเยา ธรรมนัสสามารถเรียกประชุมไหรือต่อสายตรงให้รู้ว่าเขาใส่ใจและห่วงใยในประเด็นที่คนพะเยากังวล ในการแก้ไขปัญหาซึ่งระบบราชการอาจจะช้าเกินไปในการแก้ไขปัญหา แล้วเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ด้วยจังหวัดเล็กๆ จังหวัดพะเยามันมีการเปลี่ยนหัวหน้างานหรือระบบราชการจังหวัดค่อนข้างบ่อย ดังนั้นข้าราชการเขาอาจจะมาแปบเดียวแล้วไป แต่นักการเมืองอยู่ยาวอยู่นาน
“อย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่าบารมีของคุณธรรมนัส ท่านต้องสร้างใหม่เพราะท่านไม่ได้มีเศรษฐกิจ หรือระบบอุปถัมภ์เครือข่ายแบบยุคแรก ดังนั้นท่านจะสร้างความมีบารมีของตัวเองผ่านหลายอย่าง ผ่านหัวคะแนนหลายรูปแบบ หัวคะแนนมีทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หัวคะแนนที่เป็นธรรมชาติ และไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งคุณธรรมนัสท่านก็จะเหมือนกับมีมูลนิธิพรหมเผ่า ที่จะดูแลเด็กๆให้ทุนการศึกษา หรือไม่ก็ในเรื่องของการทำนุบำรุงศาสนาก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน อันนี้ย้อนกลับไปสมัยยุคแรกเลยนะ นักการเมืองบางคนบอกว่า ‘เนี่ยอาจารย์รู้ไหมผมจะหาเสียงสมัยก่อน พรรคไม่ได้มีเงินให้เยอะแบบตั้งเวทีปราศรัยเหมือนสมัยนี้นะ เวทีที่หาเสียงดีที่สุด คือเวทีงานศพ ก่อนพระเทศน์ ผมขอยืมไมค์แปปนึง’” ผศ.ดารารัตน์ กล่าว
วัดและศาสนา ก็เป็นเหมือนความเชื่อมโยงระหว่างนักการเมือง วัด และประชาชน เพราะอย่างคนเหนือคนเมืองก็จะมีความแน่นแฟ้นกับในเรื่องของศาสนา แล้วก็บางทีการรวมตัวที่วัด ที่งานศพ มันก็คล้ายกับการรวมตัวในชุมชนได้เยอะมาก มันทำให้เกิดการหาเสียงกัน เพราะฉะนั้นนักการเมืองรุ่นเก่าจะบอกเลยงานที่อย่าขาดคืองานศพ ชาวบ้านไม่เห็นหน้า ส.ส.ตอนงานศพ ผิดมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องอีกอย่างที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของโครงสร้างประชากร ในจังหวัดพะเยา ถือว่าเป็นจังหวัดที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย คือมีประชากรที่อายุ 60 ปี เฉลี่ยประมาณ 20% ดังนั้น ฐานเสียงสำคัญของธรรมนัส ก็คือการดูแลผู้สูงอายุ และสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือว่าการลงพื้นที่ ที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอทำให้คนพะเยาเห็นธรรมนัสค่อนข้างบ่อย อันนี้ก็เป็นผลให้พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งปี 2562 ธรรมนัส ได้ 50,000 กว่าเสียง เกิน 50% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขต 1 ก็คืออำเภอเมือง อำเภอแม่ใจ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งปี 2566 คะแนนก็ยัง 50,000 กว่าเสียง มันไม่มีการลดลงโดยท่าที ดูจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งที่การเลือกตั้งในปี 2566 มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ปี 2562 มันมีบัตรเลือกตั้งใบเดียวมันแยกไม่ออกว่ามันเป็นคะแนนความนิยมระหว่างฝตัวธรรมนัสหรือพรรคพลังประชารัฐ แต่ในปี 2566 ด้วยการที่มันมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่ใบหนึ่งเลือกพรรค ใบหนึ่งเลือกคน แสดงให้เห็นว่าคนพะเยาเลือกธรรมนัสอย่างชัดเจน ไม่ใช่กระแสของพรรค (*ผลการเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดพะเยา ธรรมนัส พรหมเผ่า พรรคพลังประชารัฐ ได้ 53,963 คะแนน แต่คะแนนบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐได้เพียง 10,215 คะแนน – ข้อมูลเปรียบเทียบเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)
เมื่อการมองผ่านแว่นของคนเมืองหรือคนกรุงเทพฯ อาจมองเรื่องซับซ้อนของจังหวัดอื่นๆ ไม่ชัดเจน
ต่อคำถามที่ว่าถ้าหากเราเอาแว่นตาหรือสายตาคนเมืองหรือคนกรุงเทพฯ ไปมองธรรมนัสหรือการเลือกตั้งจังหวัดพะเยาเราจะเข้าใจอีกแบบหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วมันมีเรื่องราวที่ซับซ้อนกว่านั้น ทีนี้เราจะทำความเข้าใจอย่างไรดีว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นจริงๆในจังหวัดพะเยา นั้น ผศ.ดารารัตน์ ยกตัวอย่างว่าถ้าย้อนกลับไปที่เวทีดีเบตอันหนึ่งที่ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย พูดเรื่องกระสุนกระแสบ้านใหญ่ ซึ่งอันนี้ก็น่าจะเป็นเหมือนคอนเซปต์ที่ใครหลายๆ คนจะเข้าใจในจังหวัดพะเยาเป็นแบบนั้น
แต่ว่ากระสุนกระแสหรือบ้านใหญ่ที่มันเหมือนกลายเป็นวาทกรรมอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งจังหวัดพะเยา มันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น มันมีเรื่องระบอุปถัมภ์ที่ยังอยู่ด้วยอาจตอบโจทย์เรื่องปัญหาปากท้องเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ในเรื่องของธรรมชาติคือในเรื่องของการจัดการพื้นที่ทำกิน มันเลยทำให้กระแสตัวบุคคลความนิยมค่อนข้างชัด ซึ่งอย่างที่บอกว่าวัฒนธรรมของคนภาคเหนือก็ไม่ได้ชอบการเมืองแบบชนกันอย่างแรงอย่างรุนแรงอย่างมากก็จะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ความนิยมชมชอบตรงนี้มันยังคงอยู่ และสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการกระจายอำนาจ ที่อาจจะเริ่มโตแล้ว ตรงนี้มันเป็นคำตอบอย่างหนึ่งเหมือนกันว่าถ้าความเหลื่อมล้ำหายไปเพราะมีการกระจายอำนาจประชาชนก็อาจจะเปลี่ยนกระแสหรือความนิยมชมชอบในนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองที่แตกต่างกันไปเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกว่าระบบราชการสำคัญมากในเรื่องของการเป็นสายสัมพันธ์ของประชาชนและในเรื่องของการแก้ไขปัญหานโยบายต่างๆ ดังนั้น พอดีมันมีคนคนหนึ่งหรือผู้มีบารมีเข้ามาเป็นตัวเชื่อมได้เร็วกว่ามันไม่เหมือนส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯ ที่เหมือนติดต่อเข้ากระทรวงได้ง่ายถ้าเกิดมีปัญหาอะไรก็สามารถยื่นเรื่องที่กระทรวงได้ เป็นความหวังอย่างหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งของประชาชนก็เป็นความหวังอย่างหนึ่งเหมือนกันในการเลือกตั้งของพี่น้องคนพะเยา
ผศ.ดารารัตน์ ทิ้งท้ายว่า “อยากให้เข้าใจที่ไปที่มาหลายคนอาจจะบอกว่าเมืองแป้ง บางคนอาจจะบอกไม่เอาปลาส้ม ก็เป็นเทรนด์ในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเรามองว่าอันนี้อาจจะเป็นการเหมารวมการเหมารวมผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเหมือนกัน ที่เล่าไปว่านี่คะแนนเสียงแบบแบ่งเขต กับคะแนนเสียงแบบปาร์ตี้ลิสต์มันแตกต่างกันนะ ทำไมคนพะเยาถึงยังให้ความนิยมถึงกระแสคุณธรรมนัส เป็นกระแสที่ดีตลอด การทำความเข้าใจเรื่องผลการเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่งมันอาจจะต้องย้อนกลับไปประวัติศาสตร์การเมืองภูมรัฐศาสตร์ของเขา โครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจ สังคม ของเขาเป็นอย่างไร เพื่อที่จะทำความเข้าใจและดูการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีพลวัตรตลอด พะเยาไม่ได้นิ่ง แบบ 40 ปีมาเป็นจังหวัดนิ่งแช่แข็ง มันมีการเปลี่ยนคนพะเยาเปลี่ยน แล้วก็มันแสดงออกทางการเลือกตั้ง คนมีการเรียนรู้เรื่องของการเมืองเพิ่มมากขึ้น และการเรียนรู้มันทำให้เทรนด์เรื่องกระแสการเลือกตั้งพะเยามันเปลี่ยน หรือแบ่งได้เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยน โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยน หรือระบบก็เปลี่ยน ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลือกตั้งใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาก”.
* รับฟัง รายการ “นอก Bangkok” EP 7 ตอน พะเยารักแป้งมาก (จริงหรือ?) ธรรมนัสกับการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสื่อ The MATTER ได้ที่ ลิงค์นี้
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เริ่มสนใจงานเขียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นทั้งนักเขียน นักเรียน นักดนตรี และนักรัก