คนเมืองเชียงใหม่ค้านโครงการป้องกันน้ำท่วมของกรมโยธาฯ ย้ำปัญหาน้ำท่วมต้องมีส่วนร่วมของประชาชน

15 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ได้มีเวทีประชาพิจารณ์ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำหลัก ในพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ ทั้งหมด 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.บริเวณชุมชนหนองหอย บริเวณสะพานเม็งรายอนุสรณ์ (ก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมริมตลิ่งน้ำปิง) 2.บริเวณถนนเจริญราษฎร์ (ก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วม รูปแบบยกถนน) และ 3. บริเวณถนเลียบทางรถไฟ (ปรับปรุงรางระบายน้ำเดิม) ซึ่งการประชาพิจารณ์ในครั้งนี้เป็นโครงการของ กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ วัดเกตการาม ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

การจัดเวทีในครั้งนี้มีตัวแทนของกรมโยธาฯ ที่เป็นบริษัทรับฟังความคิดเห็น เป็นการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นกับโครงการป้องกันน้ำท่วม ใน 3 พื้นที่ และหากเห็นด้วยต้องการระดับความสูงระดับไหนใน รวมไปถึงมีการสอบถาม สภาพความเสียหายจากน้ำท่วม เพื่อนำความเห็นทั้งหมดกลับไปรายงานต่อกรมฯ โยธา และจะมีการนำเสนอทางแก้อีกครั้งในเดือนเมษายน 2568

ในเวทีมีประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความเห็นกว่า 50 คน โดยทั้งหมด ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เนื่องจากวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วมดังกล่าวเป็นการรวบรัดตัดตอนในการแก้ปัญหา เป็นการคิดวิธีการแก้ไขมาก่อนหน้าโดยไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการที่มีความรู้ในการจัดการน้ำ มีเพียงการให้เลือกว่าจะเอาพนังกันน้ำหรือการยกถนนให้สูงขึ้นเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการแก้ที่ไม่ตรงจุดต่อปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมืองเชียงใหม่

“ถ้ารีบขนาดนี้ก็ไม่ต้องทำเลยดีกว่า” เสียงหนึ่งของประชาชนในพื้นที่

ด้าน ทนวินท วิจิตรพร สมาคมเพื่อการออกแบบและส่งเสริมการมีพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว เผยว่า การจัดเวทีในครั้งนี้เป็นการรีบจัดเวทีอย่างเร่งรีบจนเกินไปและทางบริษัทฯ ที่รับเก็บข้อมูลความเห็นก็ไม่มีการรับฟังประชาชนอย่างตั้งใจ ทั้งที่ประชาชนเป็นผู้เสียภาษี ทนวินท กล่าวว่า กระบวนการทำแบบสอบถามนั้นยังไม่มียังความสมบูรณ์ในแง่ของการให้ข้อมูล โครงการในการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นยังจำกัดอยู่แค่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกับมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ยังขาดการจัดการในมิติอื่น อย่าง มิติทางวัฒนธรรม มิติสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางนิเวศ การพัฒนาที่ยั่งยืนและพื้นที่สาธารณะ ที่ประเทศไทยพยายามจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และควรมีการอัพเดทโครงการให้ถี่มากขึ้น

 ทนวินท วิจิตรพร

“ต้องแยกให้ที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เอาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม” ทนวินท ย้ำ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง