‘พีมูฟ’ เปิดเวทีเสวนาจากเวทีโลกสู่หัวใจคนจนฯ หลังไทยนั่งเก้าอี้ ‘คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ’

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567 ที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมกับ Protection International (PI) จัดเวทีเสวนา “จากเวทีโลกสู่หัวใจคนจน : ไทยในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนกับการต่อสู้ของพีมูฟเพื่อสิทธิและความยุติธรรม” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย อังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานพีมูฟ ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจาก Protection International ศิรวีย์ ทิพย์วงศ์ ตัวแทนพีมูฟและผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ จากเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) กัญญรัตน์ ตุ้มปามา ตัวแทนพีมูฟ และผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

“PI” เตือนอย่าเหลิงได้นั่งเก้าอี้เพราะนักปกป้องสิทธิฯและภาคประชาชนไม่ใช่เครดิตรัฐบาลไทย

โดยปรานม กล่าวว่า ประเทศไทยเพิ่งได้รับการเลือกให้เป็นหนึ่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นโครงสร้างระดับสูงสุดของสหประชาชาติที่ดูแลเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ก่อตั้งเมื่อปี 49 และเป็นปีที่เกิดรัฐประหารในไทย  คณะมนตรีฯ มีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกของยูเอ็น ส่งเสริมความรับผิดชอบและปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน  ผ่านกลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ โดยคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (ยูพีอาร์)  ซึ่งประเทศสมาชิกจะมาร่วมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่างๆ  โดยเราต้องทำข้อเสนอผ่านสมาชิกยูเอ็น ส่วนอีกกลไกคือผู้เชี่ยวชาญพิเศษหรือผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ  เช่น 7 คดีที่รัฐบาลมอบให้พีมูฟต้องมีการตรวจสอบ  ทั้งนี้การที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นคณะมนตรีฯ  หมายถึงเราได้รับการยอมรับบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศ  ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นเครดิตของรัฐบาลไทย แต่เป็นบทบาทการเรียกร้องจากภาคประชาชน ถ้าไม่มีพีมูฟหรือเพื่อนๆหลายขบวนการภาคประชาชน ที่ลุกขึ้นมาบอกว่าปัญหาของสิทธิมนุษยชนคืออะไร รัฐบาลไม่มีทางทราบ ดังนั้นเครดิตต้องกลับไปที่นักปกป้องสิทธิฯ ประชาชนและขบวนเคลื่อนไหวทางสังคมทุกขบวนที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนจนทำไทยได้รับการยอมรับในทางสากล

จี้ “อุ๊งอิ๊งค์”ออกมาฟังข้อเรียกร้องแก้ปัญหาพีมูฟ

ปรานม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามตนได้ข่าวมาว่านายกรัฐมนตรีบอกว่าม็อบมาไล่ ขอถามว่านายกฯ ไม่ได้อ่านหนังสือหรือข้อเรียกร้องของประชาชนที่ส่งไปล่วงหน้าเลยหรือ ทีมงานนายกฯ ทำอะไรอยู่  เขาเชิญนายกฯ มานั่งเป็นประธานในการแก้ปัญหาของสมาชิกพีมูฟ  ทั้งนี้ภาพลักษณ์ที่เราไปสร้างในเวทีระหว่างประเทศสำคัญก็จริง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือหัวใจของพี่น้องประชาชน ที่ไม่ยอมให้ถูกย่ำยีจากควมละเลยของรัฐ การยอมรับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศไม่ใช่ผลงานของรัฐบาล เพราะรัฐบาลเพิ่งเข้ามาไม่ถึง 100 วัน แถมรัฐบาลเก่าที่รับปากพีมูฟไว้ก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง  ขอให้สำนึกว่าความเชิดหน้าชูตาในเวทีระหว่างประเทศของรัฐบาลเป็นการกระทำปฏิบัติการของนักปกป้องสิทธิฯและประชาชนทุกคนในประเทศนี้

“พรุ่งนี้ ( 15 ต.ค.) นายกฯ ต้องมารับข้อเสนอแก้ไขปัญหาของประชาชน ถ้ารัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ หรือรัฐบาลไทยยังละเลยต่อข้อเสนอของพีมูฟ ไม่ยอมมานั่งเป็นประธานในการแก้ปัญหาที่เขาเรียกร้องไป ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ มันจะเป็นสัญญาณทางลบที่ย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญาไว้ ฝากไว้ว่าภาพลักษณะระหว่างประเทศ มันจะสมศักดิ์ศรีได้ก็ต่อเมื่อ ประชาชนได้รับความยุติธรรม เมื่อหัวใจประชาชนไม่เหือดแห้งเหมือนตอนนี้ มันต้องอยู่ดีกินดีแต่ต้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองมีสิทธิเสรีภาพ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกในการรวมตัวชุมนุม นอกจากเศรษฐกิจแล้วต้องมีเสรีภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศนี้ด้วย”ปรานมกล่าว  

“ประธานพีมูฟ”ฉะรัฐบาลเพิกเฉย 10 ข้อเสนอเร่งด่วนย้ำต้องแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนธีรเนตร กล่าวว่า  สิ่งสำคัญที่สุดคือการระงับยับยั้งไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนมากกว่านี้ เรามาชุมนุมแล้ว 8 วัน แต่รัฐบาลไม่สนใจใยดีหรือมารับข้อเสนอของประชาชนเลย โดยเรามีข้อเสนอ 10 ด้านใหญ่  ๆ ผลักดัน ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ การปฏิรูปกระบวนการยุติรรม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นเร่งด่วนทั้งนั้น  โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีการเลือก ส.ส.ร. 100 เปอร์เซ็นต์  เราจากบ้านมาแต่ได้รับการเพิกเฉยจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลที่แล้วนำโดยนายเศรษฐา มีกลไกแก้ปัญหาร่วมกัน นำเข้าเป็นมติ ครม.วันที่ 10 และ 16 ต.ค. 65 ตอกย้ำว่าพีมูฟ ผลักดันเรื่องลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและตัดวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กลับถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากังวลอย่างยิ่ง

หวังรัฐบาลเปิดพื้นที่หาข้อยุติปัญหาประชาชน-ทำตามคำมั่นไม่หลอกลวงเวทีโลก

ประธานพีมูฟ กล่าวต่อว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะมนตรีฯ  จึงเสนอให้เปิดพื้นที่เพื่อหาข้อยุติหรือพื้นที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวของกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน แต่วันนี้ยังไม่ได้การตอบรับจากรัฐบาลเลย  จึงเป็นคำถามในใจว่าการที่รัฐบาลไปให้คำมั่นกับเวทีสากลว่าจะส่งเสริมและหารืออย่างสร้างสรรค์กับผู้มีส่วนได้เสีย ภาคประชาชน ประชาสังคม ชุมชนในเรื่องการผลักดินสิทธิมนุษยชนในประเทศไว้เป็นตัวอักษรนั้นดีมาก  แต่ในทางปฏิบัติเรากลับถูกเพิกเฉย เพราะหลังให้คำมั่นในเวทีสากลของผู้นำประเทศกลับไม่ได้ปฏิบัติตาม และสถานการณ์การละเมิดสิทธิต่างๆ ตลอดจนการออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชน จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราอดกังวลใจไม่ได้

“เรายินดีกับประเทศไทย เราคาดหวังว่าเป็นเวทีหนึ่งที่นายกฯ จะทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนสากล และหันกลับมามองที่พีมูฟ รัฐบาลไทยไปให้คำมั่นกับเวทีระดับโลกไว้ พีมูฟพยายามผลักดัน ยื่นหนังสือก็แล้ว ผลักดันมาแล้ว 8 วัน พรุ่งนี้ประชุม ครม. หวังว่านายกฯ จะมารับฟังประชาชน เพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่ไปให้คำมั่นในเวทีสากล ไม่ได้หลอกลวงเวทีโลก  คำที่บอกว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นคำพูดที่เหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านๆ มา แต่สุดท้ายคำนี้จะกลับมาทำลายรัฐบาลเอง เราต้องการการสนับสนุนที่จริงใจไม่ใช่การสร้างภาพ”ธีรเนตร กล่าว

ตัวแทน “คปสม.” ขอให้ใช้ตำแหน่งคณะมนตรีฯ นำสู่การปกป้องสิทธิฯผู้หญิง-ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

ขณะที่ศิรวีย์ กล่าวว่า ในฐานะนักปกป้องสิทธิฯ  เรื่องแรกปัญหาใหญ่ที่สุดในการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของเราคือโครงสร้างอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม  รัฐพยายามกดดัน กดขี่พวกเราด้วยการออกกฎหมาย หรือนโยบายต่างที่ทับซ้อนปัญหาในพื้นที่ของพี่น้องประชาชน เพราะขาดการมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนา ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปอำนาจรัฐ และกระจายอำนาจสู่ประชาชนโดยตรง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วม  เรื่องที่สองอุปสรรคที่จะนำปัญหาของเราเข้าสู่เวทีสากล คือนายกฯ ที่เป็นตัวแทนในคณะมนตรีฯ  แต่พวกเราพีมูฟมานั่งหน้าทำเนียบ 7-8 วันแล้ว ยังไม่มีตัวแทนมาเจรจา หรือรับข้อเสนอของพวกเรา วันนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาทับซ้อนอีกมากมาย แต่ผู้นำประเทศไม่เคยหันมามอง จึงเป็นไปได้ยากที่จะนำปัญหายกระดับไปสู่สากลได้ ดังนั้นการเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ จะส่งเสริมนักปกป้องสิทธิฯ อย่างพวกเราได้หรือไม่นั้น จึงเป็นเรื่องยาก เพราะทั้งในระดับประเทศและในระดับสากลรัฐยังไม่เคยหันมามองปัญหาของพวกเรา ยกตัวอย่าง สิทธิในการชุมนุมที่รัฐต้องบริการประชาชน  แต่วันนี้รัฐบริการด้วยการปิดถนนทั้งหัวและท้าย

“ วันนี้เราหมดหวังกับรัฐบาล แต่เรายังต้องหวัง เพราะเราแบกความหวังมาจากบ้าน ถ้าเรากลับไปโดยที่ลงทุนไว้สูง เราคนจนไม่มีทุน ก็เท่ากับติดลบ มันก็เป็นปัญหากับพี่น้องที่รออยู่ที่บ้าน  ผู้ชายต้องอยู่บ้านทำนา ทำสวน ส่วนผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้กับครอบครัว หวังว่าการเป็นคณะมนตรีฯ จะนำไปสู่การปกป้องสิทธิของผู้หญิง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เยาวชน กลุ่มเปราะบาง รัฐสวัสดิการต่างๆ ที่เราไม่อยากได้ในเชิงการสงเคราะห์ แต่ต้องเป็นหน้าที่ซึ่งรัฐต้องดูแล และต้องดำเนินตาม 10 ข้อเสนอของพีมูฟ” ศิรวีย์ กล่าว  

“สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ” ขอรัฐบาลแก้ปัญหาที่ดิน-สร้างรัฐสวัสดิการ  สอนมวย“นายกฯ”แก้ปัญหาพีมูฟจุดเริ่มต้นในการเป็นคณะมนตรีฯ-นักสิทธิมนุษยชน

กัญญารัตน์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่พีมูฟต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เราเป็นคนจนกว่าจะได้ที่ดินมาเข้าถึงยากมาก เราไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ แม้เราอยู่บนที่ดินที่เป็นถิ่นฐานเดิม อาจเป็นบนดอย หรือทะเล มันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน  ซึ่งต้องให้ชุมชนจัดการตัวเอง แต่นโยบายของรัฐที่มาครอบคลุมเรา คทช. ที่เข้ามากระจายหรือจัดสรรที่ดินให้พี่น้องคนจนนั้น ไม่ได้สอดคล้องหรือสอดรับกับความต้องการอย่างแท้จริงของชุมชน เราไม่ได้ร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการออกนโยบาย ซึ่งมีกฎเกณฑ์ เงื่อนไข กฎระเบียบบีบรัดเราไว้เหมือนเชือกรัด ไม่สามารถขยับตัวได้ และไม่ใช่ที่ดินของเราอย่างแท้จริง แต่ยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ดี มีกฎเกณฑ์ให้ทำกินแค่ 20 ปี ไม่รู้ว่าภายภาคหน้าเขาจะเรียกคืนหรือไม่ และจะกลายเป็นกลุ่มทุนหรือใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ แต่แน่นอนว่าไม่ได้เป็นของประชาชน

กัญญารัตน์ กล่าวต่อว่า อีกนโยบายที่รัฐต้องแก้ไขคือรัฐสวัสดิการ ตั้งแต่เงินอุดหนุนแรกเกิด 600 บาท ที่ไม่พอแม้ค่านม 1 กระป๋อง หรือเบี้ยผู้สูงอายุ 600 หรือ 800 บาท เฉลี่ยวันละ 20 บาท ซึ่งไม่พอยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ รัฐต้องดูแลคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน ให้พื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่มาเรียกร้องสิทธิแล้วมีคดีความติดตัวกลับบ้าน  ทั้งนี้ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐต้องกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิ  ไม่ต้องกลัว และอยากให้รู้ว่าพีมูฟปักหลักที่ประตู 4 ทำเนียบและจะอยู่ต่อไป  ประชาชนอยากมาร่วมก็มาได้  ทั้งนี้เมื่อนายกฯ เป็นคณะมนตรีฯ อยากให้ปกป้องดูแลนักสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น นายกฯ ควรออกมารับปัญหาของพี่น้องพีมูฟเพื่อนำไปแก้ไข เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นคณะมนตรีฯ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งด้วย

“หวังว่านายกฯ จะนำตำแหน่งนี้มาส่งเสริมนักสิทธิมนุษยชนคนไทย หวังว่าเราจะได้รับความคุ้มครองอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และไม่โดนคคดีความหลังการเรียกร้องสิทธิครั้งนี้หวังวานายกฯ จะทบทวนกฎหมายนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับความตองการของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  และส่งเสริมรัฐสวัสดิการให้พี่น้อง ทั้งเด็ก คนชรา ให้อยู่ดีกินดีในยุคข้าวยากหมากแพง”กัญญารัตน์ กล่าว

“สว.อังคณา”จับตารัฐบาลให้คำมั่นแล้วทำจริงหรือไม่

ด้านอังคณา กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปดูนโยบายของรัฐบาลที่เน้นเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ไม่ได้เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าไร แต่เน้นความกินดีอยู่ดีเศรษฐกิจระดับกลาง  ซึ่งคนตัวเล็กๆ เป็นจุดหนึ่งที่อยากให้รัฐบาลมองเห็น พรุ่งนี้ประชุม ครม. หวังนายกฯ จะมาเยี่ยมรับทราบปัญหาและนำไปแก้ไข  ทั้งนี้ข้อท้าทายที่ประเทศไทยเข้าไปนั่งในเก้าอี้คณะมนตรีฯ มันมีกลไกที่เรียกว่ากลไกระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นกลไกสหประชาชาติ มี 190 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก กลไกระดับสหประชาชาติเขาไม่ได้มองแค่กลไกระดับประเทศ  แต่มองระดับกฎหมายต่างๆ ดูว่ารัฐบาลให้คำมั่นแล้วทำจริงหรือไม่ หวังว่าพรุ่งนี้นายกฯ จะเดินเข้ามาหาพี่น้อง และมาถามความทุกข์ยากของพี่น้อง เพราะพวกเราไม่ได้อยากอยู่นาน ไม่อยากมานอนที่ตรงนี้

แนะรัฐบาลโน้มตัวมาคุยกับประชาชนหน้าทำเนียบไม่ต้องออนทัวร์ชนบทให้เสียเวลา

อังคณา ยังกล่าวต่อว่า  ตั้งแต่เรามีนายกฯ คือนายเศรษฐา มาถึง น.ส.แพทองธาร  ซึ่งมาจากคนที่มีฐานะดี เป็นคนรวย ในขณะเดียวกับที่พวกเราชาวบ้านยังยากจนอยู่  เข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการต่างๆ การที่ชาวบ้านมาในวันนี้ ถ้ารัฐบาลจะถือโอกาสนี้ในการโน้มตัวมาคุยกับพวกเราก็จะถือเป็นภาพที่ดี รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกไปในชนบทไกลๆ ให้เสียเวลา ชาวบ้านเข้ามาเพราะเดือดร้อน เราได้ยินชื่อพีมูฟมานาน มาเรียกร้องบ่อย เพราะปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขเสียที รัฐบาลรับปากแก้ไข พอเปลี่ยนหัวก็ไปหมด การแก้ปัญหาจึงไม่ยั่งยืนและไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ   นอกจากนี้มติ ครม.ต่างๆ ที่เป็นเหมือนกฎหมาย แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติจะทำอย่างไร อนาคตของประเทศไม่ได้อยู่แค่ลูกหลานคนรวย ลูกหลานนายทักษิณ ชินวัตร หรือคุณแพทองธารเท่านั้น  แต่ทุกคนต้องได้รับโอกาสในการเติบโต มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเท่าเทียม ขอให้รัฐบาลทำตามที่ได้รับปากไว้ในเวทีสากล  เพราะประชาชนสามารถให้ข้อเสนอแนะและแนะนำได้ว่ารัฐควรทำอย่างไร

ตำรวจปิดทางเข้าออกและเสรีภาพในการชุมนุม

ผู้สื่อข่ายรายงานว่าหลังเสร็จสิ้นเวทีเสวนาได้มีสถานการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าทีตำรวจได้นำกำลังพร้อมแผงเหล็กมาปิดกั้นทางเข้าออกการชุมนุมของพีมูฟ ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมไม่สามารถอาบน้ำใช้ห้องน้ำได้ เพราะเมื่อเดินออกไปแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ให้กลับเข้าไปอีก อีกทั้งรถเสบียงที่ขนอุปกรณ์หุงหาอาหารของสมาชิกที่เป็นพี่น้องมุสลิมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในพื้นที่รวมทั้งมีเด็กอายุ 4 เดือนที่แม่ต้องมาร่วมชุมนุมเพราะต้องการให้รัฐบาลแก้ไขความเดือดร้อนด่วน ทั้งนี้ในการเจรจา  ตัวแทนพีมูฟพยายามขอเอกสารคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพราะพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบต้องสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้จัดการชุมนุม แต่ตำรวจไม่สามารถนำคำสั่งที่เป็นลายลักษร์อักษรมาได้  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21 ระบุชัดเจนว่าประชาชนมีสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ และการจำกัดสิทธิต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล รัฐมีหน้าที่ไม่เพียงแต่จะต้องไม่ขัดขวาง แต่ยังต้อง อำนวยความสะดวก ให้การชุมนุมอย่างปลอดภัยและเสรี จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. สถานการณ์จึงคลี่คลายแต่ผู้ชุมนุมหวั่นว่าสถานการณ์เช้านี้จะตึงเครียดเนื่องจากพีมูฟยังคงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาร่วมหาทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง