Lanner Joy: ‘Papacraft’ แกลเลอรี่งานคราฟต์ในโฮมคาเฟ่แห่งความสุขของ ช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล ที่อยากแบ่งปันพื้นที่งานคราฟต์ให้เหล่าช่างฝีมือในลำปาง

เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

ถ้านึกถึงที่เที่ยวในเมืองลำปาง ส่วนใหญ่คงจะนึกถึง ‘กาดกองต้า’ เป็นอันดับแรกๆ เพราะเป็นถนนคนเดินยอดฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมและดื่มด่ำกับบรรยากาศริมน้ำวัง บนถนนตลาดเก่าในตำบลสวนดอก อําเภอเมือง จังหวัดลำปาง  เป็นย่านที่เต็มไปด้วยร้านค้า ทั้งคาเฟ่ ร้านอาหารหลากสัญชาติ และที่โดดเด่นเลยนั่นก็คือเป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทงานฝีมือหรือที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า ‘งานคราฟต์’

เราเคยมาเดินเที่ยวที่กาดกองต้ากับกลุ่มเพื่อนสนิทอยู่ครั้งหนึ่งตอนปิดเทอมฤดูร้อนปี 2565 เป็นการนัดมานั่งเม้าท์มอยถึงเรื่องราวที่แต่ละคนพบเจอมาในเทอมนั้น แน่นอนว่าสถานที่ที่เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่สนทนาของพวกเราก็คือร้านกาแฟ ซึ่งร้านที่พวกเราเลือกคือ Papacraft โฮมคาเฟ่สไตล์อบอุ่น ที่มีพื้นที่หลังร้านติดแม่น้ำวัง

แก้วเซรามิกหลายรูปทรง หลายขนาด วางเรียงกันอยู่ตรงโต๊ะหน้าร้าน ถัดเข้าไปอีกนิดมองเห็นเป็นชั้นวางที่เต็มไปด้วยเครื่องหนัง ทั้งเข็มขัด กำไล เครื่องประดับ และยังมีงานคราฟต์อีกหลายชนิดถูกจัดแสดงเอาไว้ ให้ความรู้สึกเหมือนพื้นที่แห่งนี้เป็น ‘แกลลอรีงานคราฟต์’ ถือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากสำหรับคนที่ชอบดูงานคราฟต์แบบเรา

ฤดูหนาวปีนี้ เรากลับมาเยี่ยมเยือนพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง ครั้งนี้เรานัดพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่ดีๆ แบบนี้อย่าง ช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล เกี่ยวกับเรื่องราวของเขาและ Papacraft แกลเลอรีในโฮมคาเฟ่ที่เป็นแหล่งรวมงานคราฟต์ของช่างฝีมือท้องถิ่นในเมืองลำปาง

บรรยากาศของร้านยังคงให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนที่เราเคยมาเมื่อ 2 ปีก่อน นักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติแวะเวียนมาเยี่ยมชมที่นี่ พนักงานในร้านต่างยิ้มต้อนรับอย่างเป็นมิตร เช่นเดียวกับเจ้าของร้านที่รอต้อนรับเราอย่างดี เรานั่งลงคุยกันกับช้างที่โต๊ะไม้ตัวประจำของเขา

ทำความรู้จักกับช้าง นักแปลดีเด่นพ่วงตำแหน่งคราฟต์แมนสุดเก๋า

ช้างเป็นนักแปลหนังสือที่มีผลงานโดดเด่นหลายเล่มและเคยได้รับรางวัลสุรินทราชา ประจำปี 2562 จากผลงานการแปลหนังสือของเขา ช้างเล่าว่าเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การได้เรียนวิชาแปลเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาการสื่อสารมวลชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานแปลเล่มแรกของเขา

“เราเคยเรียนวิศวะ แต่ไม่เห็นภาพตัวเองตอนทำงานประจำเลย กลับกันตอนเราได้เห็นรุ่นพี่ฮิปปี้ที่เขาทำงานฝีมือแล้วไปขายตามตลาดนัด เรากลับรู้สึกว่า เราเห็นภาพเราเป็นแบบนั้นมากกว่า”

ช้างเล่าให้เราฟังว่า เขาเคยเป็นอดีตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่ผันตัวออกมาตามหาความฝันที่แท้จริงของตัวเอง การใช้ชีวิตแบบ ‘ฮิปปี้’ เป็นหนึ่งในความชอบของเขา เมื่อได้คลุกคลีกับความชอบนี้ทำให้ช้างเกิดทักษะในงานฝีมือมาตั้งแต่ตอนนั้น 

“เราอยากทำงานคราฟต์ แต่เราก็กังวลตลอดว่า เราจะอยู่รอดไปกับมันได้ยังไง แล้วเราจะช่วยให้คนทำงานคราฟต์เขาอยู่ได้ได้ยังไง”

นี่คือสิ่งที่ช้างตั้งคำถามกับตัวเอง ระหว่างที่ยังอยู่ในช่วงแห่งความสับสนของชีวิต 

“งานและความสุข เป็นสองสิ่งที่มันต้องไปด้วยกันให้ได้ งานที่ทำแล้วมั่นคงแต่เราไม่ได้รักมัน ทำให้ตายยังไงก็เหนื่อยอยู่อย่างนั้น มันไม่มีความสุข งานมันก็จะออกมาได้ไม่ดี แต่การได้ทำงานที่เราชอบ เรารักมันจริงๆ เหนื่อยแค่ไหนเราก็มีความสุขไปกับมันได้ ทำให้มันออกมาดีได้ เหมือนที่เรามีความสุขกับการได้แปลหนังสือในมุมเงียบๆ ของเราตอนเช้า และได้สนุกกับการนั่งทำงานคราฟต์ในตอนบ่าย แบบนี้คืองานและความสุขมันไปด้วยกันได้จริงๆ”

นักแปลและคราฟต์แมน คือสองสิ่งที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของช้าง เขาเล่าว่าการทำงานด้วยความรัก และความสุข เป็นสิ่งที่เสริมให้การทำงานของเขานั้นออกมาดี แต่กว่าที่เขาจะรู้จักตัวเองจริงๆ ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมามากเหมือนกัน

กว่าจะมาเป็น Papacraft บ้านที่อบอุ่นของครอบครัวนักคราฟต์

“เริ่มจากลูกชายคนเล็กของเรา ขวัญ (ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล) มาชวนเราทำแบรนด์หนัง ตอนนั้นเขาเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยปีแรก ก็มาบอกเราว่า มาทำงานหนังไปขายกันเถอะ ให้ป๊าเป็นคนทำ แล้วเขาจะเป็นคนขาย เราก็เลยทำเข็มขัดหนังให้เขาไปขาย ทำไปประมาณ 20 เส้น มันก็ไม่ได้ขายได้ง่ายๆ หรอก ก็ลองผิดลองถูกอยู่อย่างนั้น  เราก็ทำอย่างจริงจังมากขึ้น จนกลายมาเป็น Papacraft ในที่สุด”

Papacraft เป็นแบรนด์เครื่องหนังที่สองพ่อลูกร่วมสร้างมาด้วยกัน ช้างเล่าว่าการทำงานคราฟต์เป็นอาชีพของเขา มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว จากการเย็บสมุดหุ้มปกจากเศษหนังไปขายให้กับร้านขายงานฝีมือแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ครั้งแรกที่ขายได้เขาดีใจมาก และได้พัฒนาผลงานส่งไปขายอยู่เรื่อยๆ เมื่อเห็นหนทางในการสร้างรายได้ ก็เลยอยากลองออกมาทำร้านเป็นของตัวเอง ประกอบกับช่วงที่ลูกชายของเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แล้วเกิดความคิดที่อยากจะลองทำแบรนด์เครื่องหนังพอดี จึงได้เริ่มต้นอาชีพนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง

“เราก็หอบของไปขายตามอีเว้นท์ต่างๆ ขายเรื่อยๆ ช่วงนั้นเราก็ไปขายที่เชียงใหม่แถวนิมมาน เดินทางจากอุตรดิตถ์ไปเชียงใหม่ทุกวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน ทำอยู่อย่างนั้น จนเราไม่ไหวแล้ว เราอยากมีร้านของตัวเองด้วย เลยย้ายมาอยู่ที่ลำปาง ตอนปี 2561 เพราะเราเป็นเขยลำปาง เราชอบที่ตรงนี้มาก เลยตัดสินใจแล้วว่าอยากทำร้านตรงนี้ ก็เลยค่อยๆ มาปรับปรุง จากนั้น Papacraft เลยไม่ใช่แค่ความฝันของเรา แต่มันได้กลายเป็นความฝันของครอบครัวไปเลย”

ภาพจาก Papacraft

ช้างยังเล่าอีกว่าในช่วงแรกของการทำแบรนด์เครื่องหนัง เขาได้หอบผลงานไปขายตามอีเว้นท์ต่างๆ จนเริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นมา แต่การเดินทางไปกลับ อุตรดิตถ์-เชียงใหม่ ทุกๆ วันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน เป็นเรื่องที่ทำให้เขาล้าเกินไป เลยย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ลำปาง เป็นจุดเปลี่ยนของ Papacraft จากธุรกิจที่เป็นความฝันของสองพ่อลูก กลายเป็นความฝันร่วมกันของครอบครัว

“หลังจากนั้นเราก็เติบโตมาเรื่อยๆ จากทำกันเองในครอบครัวก็เริ่มมีลูกจ้าง มีทีมของเรา จากเมื่อก่อนเรานั่งทำคนเดียวบนโต๊ะเล็กๆ ตอนนี้เราได้ขยายเป็นสตูดิโอ มันเติบโตมาเยอะมากจริงๆ ถ้าให้เรานิยามสถานที่แห่งนี้ สำหรับเรามันก็จะเป็นเพียงบ้าน Papacraft ส่วนคนที่มาเยี่ยมชมพื้นที่ตรงนี้เขาก็จะเป็นเหมือนเพื่อนที่มาเยี่ยมบ้านของเรา”

คาเฟ่เป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาเติมเต็มบ้านแห่งนี้ในตอนหลัง ช้างเล่าว่าจริงๆ ในตอนแรกร้านกาแฟไม่ได้อยู่ในความคิดของเขามาก่อน แต่ที่เลือกทำเพราะว่าเขาอยากให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่แห่งนี้มีเครื่องดื่มให้ได้เลือกชิม ได้พักผ่อนไปกับบ้านของเขา 

งานคราฟต์กับลำปางในมุมของช้าง

ช้างเป็นคนกรุงเทพฯ ที่มาเรียนต่อในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเคยได้ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนจะย้ายมาใช้ชีวิตในบ้าน Papacraft ที่จังหวัดลำปางและตั้งใจลงหลักปักฐานกับที่นี่ เราเลยอยากรู้ว่าสำหรับช้างแล้ว เขามีมุมมองเกี่ยวกับงานคราฟต์ในจังหวัดลำปางยังไงบ้าง

“งานคราฟต์มันคืออาชีพโบราณมากเลยนะ มันอยู่มาตั้งนานแล้ว เครื่องจักสาน งานปั้น งานแกะสลัก ต่างก็เป็นงานที่คนเราทำมากันตั้งแต่โบราณมาแล้ว เพียงแต่มันไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร รายได้จากงานคราฟต์สำหรับหลายคนมันไม่ได้มากพอที่จะเลี้ยงชีพได้ขนาดนั้น”

“เรามองว่าลำปางมันเป็นเมืองที่โรแมนติกนะ ยิ่งที่กาดกองต้าตรงนี้ ที่ริมน้ำวัง ถ้าพัฒนาให้ดีๆ ทำการสื่อสารเชิญชวนคนมาเที่ยวดีๆ มันจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โรแมนติกมากเลย นักท่องเที่ยวเขาก็จะมาเยอะ เขาก็จะมาเห็นงานเราได้เยอะขึ้น 

ช้างเล่ามุมมองเกี่ยวกับงานคราฟต์ในลำปางว่าเป็นสาขางานที่มีมาตั้งนานแล้ว และเป็นเหมือนงานที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำปางเลย เขาเล่าอีกว่า คนลำปางมีฝีมือด้านการสร้างสรรค์งานคราฟต์กันเยอะ แต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุด นอกจากนั้น สำหรับช้างแล้วเขามองว่าลำปางเป็นเมืองที่โรแมนติก หากได้รับการพัฒนาที่ดีก็อาจทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับคราฟต์และการท่องเที่ยวเติบโตอย่างเข้มแข็งมากกว่าเดิม

Papacraft กับการแบ่งปันพื้นที่แสดงสินค้าให้เหล่าคราฟต์แมนในชุมชน

ช้างเล่าเสริมอีกว่างานคราฟต์ใน Papacraft ไม่ได้มีแค่ผลงานของช้างเท่านั้น เขาได้จัดสรรค์ที่แห่งนี้ไว้เพื่อให้คราฟต์แมนชาวลำปางคนอื่นๆ ได้มีพื้นที่สำหรับแสดงฝีมือของพวกเขา โดยช้างมองว่า ในเมืองลำปางยังมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับคราฟต์แมนรุ่นใหม่มากนัก เขาจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยผลักดันให้คนรักงานฝีมือในลำปาง  ได้ทำงานที่รักอย่างมีความสุขเหมือนกับที่เขาได้สัมผัส

“นอกจากของเราเองเราก็เปิดพื้นที่ให้ช่างคนอื่นเขาได้มีพื้นที่ขายงานของเขา เราจัดพื้นที่ให้พวกเขา ให้ผลงานพวกเขาได้ตั้งโชว์ เพราะต้องยอมรับก่อนเลยว่ามันไม่ใช่ว่าคนทำงานฝีมือทุกคนจะมีโอกาสตรงนี้”

“งานคราฟต์มันต้องมีพื้นที่นะ แต่ว่าสำหรับพวกเราแล้วมันไม่ได้มีพื้นที่ขายให้คนที่เพิ่งเริ่มขนาดนั้น ถ้าไม่มีเครือข่ายก็เรียกว่าแทบไม่มีที่ให้ขายเลย เอาง่ายๆ ไทยเราเขายังไม่สามารถขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ในแขนงนี้ให้มันทำเงินได้มากไปกว่านี้ ไม่มีกลยุทธ์ ไม่มีวิธีในการทำให้งานนี้มันสามารถไปตีตลาดได้ขนาดนั้น งานฝีมือมันทำยากมากเลยนะ”

ก่อนแยกย้ายกันในวันนั้น เราได้พูดคุยกันต่ออีกเล็กน้อย เพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่ช้างเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะอยู่รอดไปกับงานคราฟต์ได้ยังไง แล้วจะช่วยให้คนทำงานคราฟต์เขาอยู่รอดได้ยังไง” ในตอนนี้เขาได้คำตอบหรือยัง ช้างส่งยิ้มให้และบอกเราว่า 

“ก็แค่ทำในสิ่งที่เรารักและใช้ความพยายามกับมันให้เต็มที่ ทำด้วยหัวใจ สิ่งสำคัญคือการสร้างคุณค่าให้กับผลงานของเราให้มากๆ เพื่อสร้างพื้นฐานงานคราฟต์ให้มีมูลค่าที่ดี เมื่อตรงนี้มันดี งานคราฟต์ก็จะเติบโต”

นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง