เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง
หลังการประกาศเผยแพร่คริสต์ศาสนาของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่นครเชียงใหม่เพียง 7 เดือน ทำให้มีผู้เปลี่ยนศาสนาถึง 7 คน และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มมาขึ้นอีก เนื่องจากคนที่รับเชื่อนั้นส่วนหนึ่งเป็นบุคคลที่สังคมให้การยอมรับและนับถือ ยกตัวอย่างเช่น ‘หนานอินต๊ะ’ กับ ‘หนานชัย’ ที่ถือว่าเป็นผู้มีสถานะสำคัญในสังคมล้านนา เพราะเป็น “หนาน” หรือ ผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนเป็นพระสงฆ์มาแล้ว โดยคำว่าหนานในภาษาเหนือมีความหมายเหมือนกันกับคำว่า “ทิด” หรือ “บัณฑิต” ในภาคกลางนั่นเอง
นอกจากนี้ คนที่รับเชื่อในพระเยซูคริสต์บางคนยังเป็นข้าราชการในตำแหน่งแสนยาวิไชยอีกด้วย ความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้แก่พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงค์เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้เป็นอย่างมาก
การประหารผู้รับเชื่อในพระคริสต์: ขวากหนามเมื่อแรกก้าวของมิชชันนารีในล้านนาเชียงใหม่
การที่คนในท้องถิ่นรับเชื่อในศาสนาคริสต์มากขึ้น ส่งผลกระทบต่ออำนาจการบริหารบ้านเมืองของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงค์เป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่รับเชื่อในศาสนาคริสต์นั้น ก็จะถูกนับว่าได้กลายเป็นคนใต้ปกครองของต่างชาติ ไม่ใช่ของพระองค์อีกต่อไป ความวิตกกังวลจากกรณีนี้ ทำให้พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงค์ต้องหาวิธีในการยับยั้งการเปลี่ยนศาสนาของชาวบ้าน โดยได้รับสั่งให้มีการจับ ‘น้อยสุนยะ’ กับ ‘หนานชัย’ ที่เป็นคริสเตียน ไปประหารชีวิต ในวันที่ 14 กันยายน ปีพ.ศ. 2412 โดยอ้างว่าทำไปเพื่อขจัดต้นเหตุของภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เชียงใหม่เกิดภัยพิบัติติดต่อกันถึง 2 ปี การทำนาประสบความเสียหาย เจ้านายเชียงใหม่จึงมองว่าชาวคริสต์เป็นผู้ที่นำเพทภัยมาสู่บ้านเมือง
การประหารชีวิตคริสเตียนในครั้งนั้นไม่มีการแจ้งให้มิชชันนารีทราบล่วงหน้า และคณะมิชชันนารีเองก็มองว่าไม่สมเหตุสมผล จึงสร้างความตึงเครียดต่อความสัมพันธ์ระหว่างมิชชันนารีกับเจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้ส่งผลให้คนรับใช้ของเหล่ามิชชันนารีในเชียงใหม่ต่างพากันหลบซ่อนตัวเพราะกลัวจะมีภัย คนป่วยก็ไม่กล้าที่จะมาขอยารักษาโรคเพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคริสเตียน เมื่อมิชชันนารีเห็นท่าไม่ค่อยดีจึงได้ร้องเรียนไปยังราชสำนักของรัชกาลที่ 5 และได้มีการส่งข้าหลวงขึ้นมายังเชียงใหม่เพื่อไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะในตอนนั้นนครเชียงใหม่ยังอยู่ในสถานะหัวเมืองประเทศราช ที่เจ้าหลวงมีอำนาจในการปกครองอย่างเด็ดขาด
มิชชันนารียังคงร้องเรียนไปยังราชสานักที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง จนในที่สุดก็ได้มีการออกประกาศเรื่องการอนุญาตให้ชาวบ้านมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาตามใจชอบได้ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ประกาศฉบับนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “พระบรมราชโองการเสรีภาพทางศาสนา” ซึ่งคำประกาศพระบรมราชโองการมีใจความสำคัญคือการให้เสรีภาพแก่ผู้คนในการที่จะเชื่อ และนับถือในศาสนาใดก็ได้ด้วยจิตศรัทธา เมื่อเห็นว่าศาสนานั้นๆ เที่ยงแท้ และเหมาะที่จะนับถือได้ โดยที่ความรับผิดชอบที่เกิดจากการเลือกในการรับเชื่อศาสนานั้นจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นเอง และไม่มีกฎหมายใดหรือสนธิสัญญาฉบับใดที่จะกีดกันการนับถือศาสนาและพิธีกรรมของผู้หนึ่งผู้ใด ตลอดจนการห้ามบรรดาเจ้าเมืองบังคับบุคคลประกอบพิธีกรรมที่เป็นเรื่องต้องห้ามในศาสนาของเขา เช่น การเซ่นไหว้ผี ทรงผี ต่างๆ เป็นต้น
ด้วยอำนาจแห่งพระคริสต์และเดชฤทธิ์ที่มีเหนือ “ผีก๊ะ”
ผู้คนในภาคเหนือมักจะให้ความสำคัญกับการนับถือผี โดยมีความเชื่อกันว่าถ้าผีโกรธจะนำพาโรคร้ายและความเดือดร้อนต่างๆ มายังผู้คน และผีที่คนเหนือรู้จักกันดีในตอนนั้นคือ ผีก๊ะ หรือ ผีกละ (ผีปอบ) ที่เชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่ลูกหลานไม่เลี้ยงดู ปล่อยให้หิวโหยจนกลายเป็นผีชั่วร้ายเข้าไปสิงสู่ในตัวคน ทำให้เจ็บป่วยและตายในที่สุด คนที่เป็นผีก๊ะจะถูกชาวบ้านต่อต้านถือว่าเป็นคนที่ไม่บริสุทธิ์หรือ “คนไม่หมด” ไปพบกับใครก็รังเกียจเกรงจะทำให้เกิดเภทภัย ความเชื่อนี้ทำให้ชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีก๊ะ ถูกต่อต้าน ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน และมักไม่มีใครให้ความช่วยเหลือหรือยอมให้อยู่ในบ้านเมืองเลย
ความเชื่อเรื่องผีก๊ะนี้ ดาเนียล แมคกิลวารี ได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นวิธีกล่าวหาเพื่อกำจัดศัตรูหรือคนไม่พึงปรารถนาให้ออกไปจากสังคม ในงานเขียนเรื่อง “A Half Century among the Siamese and the Laos” ของดาเนียล แมคกิลวารีได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์เรื่องผีก๊ะของครอบครัวป้าแสงบุญ ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2421 โดยป้าแสงบุญและครอบครัวซึ่งเคยเป็นนางกำนัลของบิดาเจ้านายองค์หนึ่งได้ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านอ้างว่าครอบครัวนี้เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยที่เกิดจากวิญญาณชั่วร้ายที่สิงอยู่ แม้ว่าป้าแสงบุญจะเป็นนางกำนัลใกล้ชิด แต่เจ้านายองค์นั้นไม่สามารถช่วยเหลือได้ ป้าแสงบุญจึงได้ร้องขอต่อมิชชันนารีให้เป็นผู้อุปการะแทน ภายหลังเจ้านายองค์นั้นได้ถูกกดดันจากความเชื่อเรื่องภูติผีปีศาจจึงขอให้มิชชันนารียุติบทบาทในการเป็นผู้อุปการะและขู่จะเอาเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องศาล ดาเนียล แมคกิลวารียังคงปฏิเสธการยกเลิกอุปการะ และยินดีที่จะขึ้นศาลต่างประเทศต่อหน้าข้าหลวงใหญ่ เพราะเขาเชื่อว่าข้าหลวงใหญ่เองก็คงไม่เห็นด้วยกับความไม่สมเหตุสมผลดังกล่าว อีกทั้งยังได้ขู่กลับไปว่า หากฝ่ายใดแพ้ความต้องถูกขับไล่ออกไปด้วยเรื่องดังกล่าวจึงยุติลง ดาเนียลถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่มีต่อความเชื่อเรื่องภูติผีปีศาจของคนพื้นเมือง และท้ายที่สุด ครอบครัวที่ถูกกล่าวหาก็ได้เปลี่ยนศาสนา จนกลายเป็นกำลังสำคัญในการขยายงานของมิชชันนารี
ในงานของ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นผีก๊ะในช่วงเวลาที่สยามขยายอำนาจเข้ามาปกครองหัวเมืองล้านนานั้น ทำให้เจ้านายเริ่มสูญเสียผลประโยชน์ และหารายได้ชดเชยด้วยการเข้ายึดครองที่ดินของชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีก๊ะ การถูกกล่าวหาว่าเป็นผีก๊ะนอกจากจะสูญเสียที่ดินทำกิน ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านแล้วยังสูญเสียพื้นที่ทางสังคมอีกด้วย มิชชันนารีจึงเห็นช่องทางที่จะเผยแพร่ศาสนา โดยเสนอพื้นที่ทางสังคมให้คนกลุ่มนี้ และทำให้คนเหล่านี้เป็นที่ยอมรับในสังคมผ่านการเป็นคริสเตียน ชาวบ้านหรือเจ้านายคนไหนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีก๊ะ จึงมักจะเข้ามาขอความช่วยเหลือจากมิชชันนารี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพระบรมราชโองการเสรีภาพทางศาสนา ที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เป็นคริสเตียน อีกส่วนมาจากความเชื่อที่ว่า “พระเจ้าของศาสนาคริสต์นั้นจะป้องกันผีร้ายได้” เพราะความสามารถของมิชชันนารีในการรักษาโรค ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อคนที่เป็นผีก๊ะรับนับถือศาสนาคริสเตียน ผีก๊ะก็จะสิ้นฤทธิ์ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และสามารถอยู่อย่างปกติสุข ในหมู่บ้านเช่นเดิม
โรคเรื้อน โรคขี้ตู้ดล้านนา กับการสังคมสงเคราะห์และการรักษาของมิชชันนารี
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มิชชันนารีได้เข้าไปช่วยเปิดพื้นที่ทางสังคมให้คือ ‘ผู้ป่วยโรคเรื้อน’ หรือ ‘โรคขี้ตู้ด’ ซึ่งถือว่าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ คนที่เป็นโรคเรื้อนจะถูกขับไล่ออกจากสังคม มิชชันนารีจึงแลเห็นโอกาสที่จะเผยแพร่ศาสนาให้กับคนกลุ่มนี้ โดยพยายามร้องขอที่ดินจากเจ้าเมืองเชียงใหม่และรัฐบาลสยาม จนได้รับการ อนุญาตให้ใช้ที่ดินซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำปิงเพื่อจัดตั้งนิคมโรคเรื้อน โดยที่ดินผืนดังกล่าวเหมาะแก่การเพาะปลูกและจัดตั้งนิคมอย่างมาก เนื่องจากห่างไกลผู้คน เดิมทีที่ดินผืนนี้เป็นที่เลี้ยงช้างของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ภายหลังช้างตัวดังกล่าวได้ฆ่าคนตายหลายคนจึงไม่มีใครกล้ามาอาศัยอยู่ใกล้ๆ ถือเป็นผลดีต่อการสร้างนิคมที่ต้องนำเอาคนที่เป็นโรคเรื้อนมาอาศัยอยู่ร่วมกัน และรักษาโดยใช้ความศรัทธาในคริสต์ศาสนาเป็นตัวนำ
อาคารถาวรหลังแรกของนิคมโรคเรื้อนถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2455 ภายใต้การสนับสนุนของพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ ภายในมีการจัดตั้งหัวหน้าโดยคัดเลือกจากผู้ที่เป็นโรคเรื้อนดูแลกันเองอย่างเป็นระบบ มีการสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีผู้ปกครองเป็นโรคเรื้อน ถนนหนทาง และสวน ในปี พ.ศ. 2470 นิคมกลางแม่น้ำปิงแห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคเรื้อนที่ดีที่สุดในสยาม เนื่องจากสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนได้กว่า 226 คน ซึ่งมากที่สุดที่เคยมีมา นอกจากนั้นยังมีข้าราชการและเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเสด็จมาเยี่ยมชมผลงานของโรงพยาบาลแห่งนี้อีกด้วย
การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีได้สร้างความเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม ในล้านนาหลายประการ โดยเฉพาะความเชื่อพื้นฐานของคนทั่วไปที่มีต่อโรคภัยไข้เจ็บและภูติผีปีศาจ ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับกลไกการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม อีกทั้งการจัดการศึกษาแบบใหม่ที่ริเริ่ม โดยมิชชันนารีนี้ทำให้เกิด “ชนชั้นกลางขึ้นในสังคมล้านนา” ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของรัฐบาลสยามในการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลสยามตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของมิชันนารี แต่รัฐบาลไม่มีเงินทุนเพียงพอในการสนับสนุนและใช้วิธีให้การสนับสนุนด้านนโยบาย โดยประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยเสรี ซึ่งก็เพียงพอที่จะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาลสยามได้สลายความเป็นสังคมจารีตในล้านนา ในขณะที่วิธีจัดการปกครองด้านอื่นๆ ยังไม่สามารถทำได้
งานทางด้านสังคมสงเคราะห์ของมิชชันนารีได้เข้ามาแทนที่ความช่วยเหลือ ของเจ้านายในวัฒนธรรมศักดินา เมื่อประชาชนเดือดร้อนจากภาวะข้าวยากหมากแพง ในปี พ.ศ. 2435 มิชชันนารีก็เตรียมพร้อมที่จะช่วยผ่อนคลายปัญหามากกว่าทางราชการ ประสบการณ์ในอดีตทำให้มิชชันนารีสามารถคาดการณ์ได้ และได้ตระเตรียมที่จะรับมือกับปัญหา การขาดแคลนข้าวด้วยการขอบริจาคเงินจากต่างประเทศ เพื่อซื้อข้าวสำรองไว้แจกจ่ายแก่ ประชาชน สภาพการขาดแคลนข้าวนั้นรุนแรงอย่างเหลือเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในดินแดนล้านนา มิชชันนารีได้บรรยายไว้ว่า
“…..กลุ่มคนจากหมู่บ้านที่ขาดแคลนต่างคลุ้มคลั่งด้วยความหิวและไม่ สามารถจะหาอาหารได้ เริ่มตระเวณไปตามหมู่บ้านตอนกลางคืน หรือบางครั้งตอนกลางวัน ไปหยิบฉวยเอาข้าวตามที่ต่าง ๆ เท่า ที่จะหาได้แม้น้อยนิด ทางราชการไม่มีอำนาจพอที่จะควบคุม คนเหล่านี้หรือทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้…..”
การจัดวางบทบาทของมิชชันนารีในช่วงรอยต่อและรอยแตกทางสังคมการเมืองระหว่างสยามกับล้านนา
หลังจากการปฏิรูปการปกครองของพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) มิชชันนารีถือเป็นผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญและพึ่งได้มากที่สุด ต่างจากรัฐบาลที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการเมืองโดยไม่ได้ใส่ใจที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมของล้านนา มิชชันนารีได้เข้ามาช่วยคุ้มครองชาวบ้านจากความวุ่นวายจากการเมือง การกดขี่ขูดรีดของสยามหรือพวกเจ้านายในล้านนา และยังสร้างสมดุลทางการเมืองด้วยการตรวจสอบอำนาจของเจ้านายและข้าราชการไทยเมื่อเกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง เช่น กรณีที่บ้านพักของมิชชันนารีกลายเป็นที่หลบภัยของชาวบ้านในกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ โดยที่ฝ่ายกบฏไม่ได้ทำร้ายและโจมตีสถานที่ของมิชชันนารี เพราะมองว่ามิชชันนารีได้ช่วยเหลือชาวบ้านมาโดยตลอด อีกทั้งฝ่ายกบฏยังได้เชิญให้มิชชันนารีร่วมปรึกษาหารือเพื่อคลี่คลายปัญหาและหยุดยั้งการนองเลือด โดยมิชชันนารีได้โน้มน้าวให้ฝ่ายกบฏยอมรอฟังคำแนะนำจากกงสุลอังกฤษ แทนที่จะขยายการสู้รบออกไปจนทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
ระหว่างเหตุวิกฤตรัฐบาลสยามก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยได้ส่งข้าวจำนวนมากมาทางเรือเพื่อมาแจกจ่ายแก่ชาวบ้านที่กำลังหิวโหย แต่การจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้เรือบรรทุกข้าวมาถึงล่าช้ามาก ส่วนใหญ่มาถึงหลังจากภาวะข้าวขาดแคลนยุติลงไปแล้ว เนื่องจากการขนส่งที่ในหลายพื้นที่ยังใช้ระบบการเกณฑ์แรงงานในท้องถิ่นและระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ข้าวส่งมาช้าและเสียหายจนบริโภคไม่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการช่วยเหลือของรัฐแล้ว มิชชันนารีให้ความช่วยเหลือชาวบ้านได้รวดเร็วและใส่ใจมากกว่ามาก เพราะมิชชันนารีอยู่ในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านและเข้าใจปัญหารวมทั้งวิธีรับมือกับปัญหาดีกว่าข้าราชการสยาม อีกทั้งมิชชันนารียังถือว่ามีหน้าที่สำคัญที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เพื่อการแสดงถึงความรักของพระเจ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ศาสนา ทำให้คนเลื่อมใสศรัทธาจนเปลี่ยนมานับถือคริสเตียน
บทสรุปทิ้งท้าย
สิ่งที่มิชชันนารีต้องประสบในภารกิจเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่คือ ‘ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับบรรดาเจ้านายเชียงใหม่’ จากการปะทะกันระหว่างความเชื่อสองแบบคือ ความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่น ที่เป็นเหมือนเสาคอยค้ำจุนอำนาจของบรรดาเจ้าเมืองในท้องถิ่นเอาไว้ กับความเชื่อสมัยใหม่ของคริสต์ศาสนา นอกจากนั้นชาวตะวันตกที่เข้ามาทาสัมปทานป่าไม้ในประเทศไทย มักจะมีข้อขัดแย้งกับเจ้านายเชียงใหม่อยู่เสมอ ทำให้ทัศนคติของบรรดาเจ้านายเหล่านี้ที่มีต่อชาวตะวันตกและมิชชันนารีเป็นไปในทางที่ไม่ค่อยดีนัก ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนศาสนาของคนท้องถิ่นของมิชชันนารี จึงถือเป็นการพยายามบ่อนเซาะฐานอำนาจของเจ้าเมืองไปด้วยในคราวเดียวกัน
นอกจากบทบาททางการเมืองแล้ว มิชชันนารียังมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ และสังคมสงเคราะห์ การเปิดสถานีเผยแพร่ศาสนาที่เมืองต่างๆ ในแอ่งเชียงใหม่ลำพูน ทำให้มิชชันนารีต้องการแรงงานพื้นเมืองมาทำงานในบ้านเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาล จนกลายเป็นผู้ว่าจ้างแรงงานรายใหญ่ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่คริสต์ศาสนา
มิชชันนารีช่วยรักษาผู้เจ็บป่วย เลี้ยงดูคนที่อดอยากยากจน และให้ที่พักแก่คนเร่ร่อน ความรู้ความสามารถทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ของมิชชันนารีได้ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งทนทุกข์ทรมานกับโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ไข้มาเลเรีย โรคฝีดาษ ไทฟอยด์ โรคเรื้อน และโรคอื่นๆ ที่ไม่อาจเยียวยาได้ง่ายๆ ความสำเร็จทางด้านการแพทย์ของมิชชันนารีเป็นที่ยอมรับทั่วไป และมิชชันนารีเองก็ตระหนักในผลสำเร็จของภารกิจด้านนี้ว่า
“ไม่มีสิ่งใดที่จะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีงามและทำให้ ได้รับความรักใคร่จากชาวลาวในระหว่างเวลาที่เราอยู่ที่นี่ มากไปกว่าหีบยาใบเล็กของเรา”
ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า