7 ธันวาคม พ.ศ.2497 ประมวล กุลมาตย์ ปลัดอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ริเริ่มการเดินขบวนแห่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ขึ้นภายในงานเฉลิมพระชนมพรรษาและทอดผ้าป่า ระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม พ.ศ. 2497 โดยมี ประหยัด สุกแสงเปล่ง นายอำเภอสันทรายเป็นประธาน โดยขบวนแห่ดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครูโรงเรียน รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งการเดินขบวนครั้งนี้ยังมีกงสุลอเมริกาและคณะเข้าร่วมในฐานะแขกอีกด้วย
แม้จะเป็นการเดินขบวนในงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่มีกงสุลอเมริกาและคณะร่วมงาน แต่รัฐบาลก็ไม่เคยทราบถึงกำหนดการใด ๆ โดยที่ต่อมาหลัง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดินได้ทราบเรื่อง ก็ได้มีการส่งหนังสือชมเชยไปยังผู้ที่จัดการเดินขบวนดังกล่าว
การเดินขบวนแห่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ครั้งดังกล่าวเป็นหนึ่งในการเดินขบวนต่อต้านคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยการเดินขบวนครั้งอื่น ๆ มักมีขบวนเกวียนถูกแต่งเติมภาพลักษณ์ให้มีความเกี่ยวโยงกับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ หรือภาพลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ามาบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา
แนวคิดความเป็นชาติที่ผูกโยงเข้ากับพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นกลยุทธ์ในการสร้างเอกภาพของรัชกาลที่ 6 ซึ่งริเริ่มมาจากการที่ในช่วงเวลาดังกล่าว การล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกถือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ อีกทั้งระบอบราชาธิปไตยรวมไปถึงอำนาจของตัวพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารย์มากขึ้นในสื่อหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ในแวดวงข้าราชการทหารเองก็ไม่พอใจต่อระบอบการปกครองดังกล่าวนัก ภายใต้สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการล้มระบอบการปกครอง แนวคิดชาตินิยมจึงกลายเป็นเครื่องสร้างเอกภาพ ปกป้องระบอบการปกครองแบบเก่าและพระราชอำนาจให้คงอยู่ต่อไป
แม้แนวคิดชาตินิยมจะยึดถือสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก แต่ภายใต้กลยุทธ์นี้ พระพุทธศาสนาก็ทำหน้าที่เป็นอุดมการณ์ของชาติ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยที่ไม่สามารถแยกออกจากความเป็นชาติได้ เป็นสัญลักษณ์และหน้าที่ของความเป็นคนไทยที่ต้องรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา รวมถึงต่อสู้กับศัตรูที่ไม่ได้นับถือศีลและคำสอนของศาสนาพุทธ
นโยบายอเมริกาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ได้มีการเคลื่อนไหวของ “ขบวนการสันติภาพ” ในช่วงปี 2493-2494 เพื่อคัดค้านการเข้าร่วมสงครามเกาหลีของรัฐบาลไทย โดยมีขบวนการสังคมนิยมเป็นแกนนำ ทำให้รัฐบาลมองว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวที่สืบเนื่องมาจากขบวนการสันติภาพสากลของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) และสหภาพโซเวียต
ช่วงต้นของการต่อต้านการก่อความไม่สงบในช่วงทศวรรษ 2490 สหรัฐอเมริกาในฐานะของการเป็นตัวแทนแนวคิดเสรีนิยมซึ่งกำลังทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียตในฐานะตัวแทนแนวคิดคอมมิวนิสต์ มีบทบาทอย่างสำคัญต่อกรมตำรวจไทยผ่านบริษัทซีซัพพลาย (SEA Supply) อันเป็นหน่วยงานตัวแทนขององค์กรข่าวกรองกลาง (CIA) แต่หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 และเมื่อพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ สูญเสียอำนาจ สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนไปให้การสนับสนุนกองทัพไทยแทน
ช่วงทศวรรษ 2490 สหรัฐฯ มองว่าตำรวจเป็นหน่วยปฏิบัติการที่ดีที่สุดสำหรับต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงทศวรรษ 2500 สหรัฐฯ กลับยอมรับว่ากองทัพคือหน่วยงานที่มีความพร้อมรับมือการก่อความไม่สงบของฝ่ายคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้สหรัฐฯ พยายามจำกัดบทบาทของตนในนโยบายการปราบปรามการก่อความไม่สงบ
วิลเลี่ยม เจ.โดโนแวน (William J.Donovan) ผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัคราชฑูตสหัรัฐฯ ประจำประเทศไทย (พ.ศ.2496-2497) เสนอนโยบายการใช้ประเด็นการคุกคามสถาบันกษัตริย์ และขนบประเพณีของไทยโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยแสดงให้ประชาชนเห็นที่การคุกคามของคอมมิวนิสต์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และภาพยนตร์ แต่จากที่ จอมพล ป. ไม่ได้ให้การสนับสนุนสถาบันกษัตริย์มาอย่างยาวนาน จนทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ผลลัพธ์ของนโยบายดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
ศาสนาในฐานะเครื่องมือต่อต้านคอมมิวนิสต์
หนึ่งในเครื่องมือของแนวคิดชาตินิยมที่ จอมพล ป. ใช้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ คือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่มีความผูกพันฝังลึกในสังคมไทย รวมถึงการสร้างมโนทัศน์ “ชนบทนี้ดี” โดย พระยาอนุมานราชธน หรือ ยง เสฐียรโกเศศ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำให้ภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนากลายเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐไทยเป็นรัฐที่สมบูรณ์ รวมถึงยังเป็นปราการต่อต้านคอมมิวนิสต์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
พ.ศ. 2493 พระยาอนุมานราชธนตีพิมพ์เรื่อง “ชีวิตชาววัด” ในสถานการณ์ที่ประเทศจีนตกอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเกิดสงครามเกาหลี และ “ฝ่ายซ้าย” ในประเทศไทยอยู่ในช่วงเคลื่อนไหว โดยได้ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของพุทธศาสนาและพระสงฆ์ และแสดงปฏิกิริยาต่อความคิดของฝ่ายต่างๆ ที่โจมตีพุทธศาสนาและพระสงฆ์ว่าเอาเปรียบสังคม โดยแสดงให้เห็นว่าวัดและพระสงฆ์มีคุณค่าอย่างสูงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน
หนังสือ “ชีวิตชาววัด” ชี้ให้เห็นโดยละเอียดว่าวัดทำให้คนชนบทมีชีวิตที่ดีงามและทำให้ชนบทเป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองไทยนี้ดี” เพราะวัดมีความสำคัญและ “มีคุณ” แก่ชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตาย และยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสืบทอดศิลปะของชาติ ทำให้พระพุทธศาสนายิ่งฝังลึกในแนวคิดชาตินิยมของ จอมพลป.
นอกจากนั้น การที่ขบวนการสันติภาพมีสมาชิกจำนวนหนึ่งเป็นพระสงฆ์ รวมถึงการจับกุมพระสงฆ์บางรูปด้วยข้อหา “ฝักใฝ่ในลัทธิแดง” ก็ทำให้รัฐบาลสรุปว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เข้าแทรกซึมพระพุทธศาสนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อออกเทศนา สั่งสอนให้ประชาชนฝักใฝ่ในฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแบบบรรพชาอุปสมบท ในปี 2497 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ได้เข้าไปสู่สถาบันศาสนา หลังจากนั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาก็กลายเป็นเครื่องมือที่ จอมพล ป. ใช้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ไปในที่สุด
อ้างอิง
- ความเชื่อแบบพุทธไทยในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ช่วง พ.ศ.2508-2519 วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556
- บทบาทสหรัฐอเมริกา ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของไทย https://www.silpa-mag.com/history/article_76519
- พระยาอนุมานราชธน สร้างมโนทัศน์ “ชนบทไทยนี้ดี” ฤๅเป็นเครื่องมือต้านคอมมิวนิสต์? https://www.silpa-mag.com/history/article_74761#google_vignette
บัณฑิตการพัฒนาระหว่างประเทศช่างฝันที่อยากทำงานเขียน เฝ้าหาโอกาสที่จะสื่อสารส่งผ่านความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของสังคมในทางที่ดีขึ้น