เรื่องและภาพ : ปรัชญา ไชยแก้ว
“เราโดนมาตลอด บอกว่าคนปกาเกอะญอ บุกรุกป่า เผาป่า ทั้งที่เราอยู่กับป่ารักษาป่าทำแนวกันไฟทุกปี แต่ก็ยังโดนว่า บางครั้งก็ใจอ่อน เราเจ็บใจมาก ตอนเด็กเรายังไม่รู้ภาษาไทย ก็จะโดนดูถูกว่าเราไม่รู้อะไร มองเราว่าไม่ใช่คนไทย จะตอบกลับเขาเราก็พูดไม่เป็น”
เสียงของ แววดาว หยดวิไพกุล ชาวบ้านในชุมชนปกาเกอะญอ บ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน บอกเล่าถึงความเจ็บปวดที่เธอต้องเผชิญ
‘ชาวเขาเผาป่า’ วาทกรรมที่เหมารวมคนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่กับป่าว่าเป็นสาเหตุของการทำลายป่า และเป็นต้นตอของปัญหาไฟป่าที่สร้าง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ วาทกรรมนี้ถูกผลิตซ้ำ วนเวียน หลอกหลอนในสังคมไทยมานานนับทศวรรษ ผ่านนโยบาย แบบเรียน อาทิ นโยบายห้ามเผา รวมไปถึงกฎหมายป่าไม้หลายฉบับที่ผลักไสคนออกจากป่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากอคติต่อคนอยู่กับป่า เป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมดังกล่าวให้ยังคงอยู่ในสังคมไทย
ร้านค้ากลางป่าไพร ‘ไร่หมุนเวียน’ ทุกอย่างของชีวิต
“ไร่หมุนเวียนมันคือวิถีชีวิตเราสืบทอดกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ถ้าไม่เผาก็ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าไม่ทำไร่หมุนเวียนก็ไม่มีข้าวกิน” แววดาว กล่าวด้วยน้ำเสียงอันเข้มแข็ง
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันไปว่าคนชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่ามีรูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบ ‘ไร่เลื่อนลอย’ ที่เป็นการปลูกพืชแบบเคลื่อนย้ายแปลงไปเรื่อยๆ มีการถางป่าและเผาพื้นที่เพื่อเตรียมดิน แต่ไม่มีการเวียนกลับมาใช้พื้นที่เดิมในการทำการเกษตร เป็นการป่าไม้ถูกทำลายโดยถาวร
มายาคตินี้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นภาพจำต่อการทำการเกษตรของคนชาติพันธุ์ว่าเป็นการทำลายป่า แต่ความเป็นจริงแล้ว กระบวนการในการทำไร่ของของคนชาติพันธุ์นั้นคือการทำ ‘ไร่หมุนเวียน’ ซึ่งมีกระบวนการแตกต่างจากการทำไร่เลื่อนลอยโดยสิ้นเชิง
ไร่หมุนเวียน เป็นระบบการเกษตรที่อาศัยหลักการปลูกพืชหมุนเวียนจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง โดยจะเลือกตั้งพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์มาทำการเพาะปลูกประมาณ 1-2 ปี จากนั้นจะปล่อยพื้นที่ดังกล่าวฟื้นตัวตามธรรมชาติประมาณ 7-12 ปี โดยพื้นที่ที่มีการฟื้นตัวตามธรรมชาตินี้จะเรียกว่า ‘ไร่เหล่า’ กระบวนการนี้เป็นการปล่อยให้พื้นที่ตรงนั้นได้พักและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ อีกทั้งยังส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและป้องกันดินเสื่อมสภาพ
ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ได้มีการสำรวจพื้นที่ไร่หมุนเวียนภายในชุมชนและพบว่ามีไร่หมุนเวียนทั้งหมด 2,324 ไร่ คิดเป็น 10.91 ของพื้นที่รวมทั้งหมด
“ไร่หมุนเวียนก็คือร้านค้า มีพืชผักทุกอย่างเลย อยู่ตรงนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย น้ำก็มี อาหารก็มี เราถึงต้องดูแลรักษาป่าเอาไว้”
เกรียงไกร บุญทา ชาวบ้านในชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ กล่าวถึงความสำคัญของไร่หมุนเวียนว่า ไร่หมุนเวียนเป็นการทำไร่เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต และพืชที่ได้จากไร่ก็ใช้กินในหมู่บ้าน เป็นเหมือนร้านสะดวกซื้อที่มีทั้ง พริก มะเขือ มัน เผือก และแตงไทย ที่สามารถกินได้ตลอดทั้งปี เกรียงไกรยังเล่าอีกว่า ตนเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ถึงแม้จะหาเงินมาได้มากแต่ก็มีค่าใช้จ่ายมากตามไปด้วย ต่างจากการใช้ชีวิตในป่าที่สามารถอยู่โดยไม่ใช้เงินซักบาท เพียงแค่อาศัยไร่หมุนเวียนในการหาพืชพรรณมาเป็นอาหารก็อยู่ได้ตลอดทั้งปี
ไร่หมุนเวียนกับการเผาอย่างมีขอบเขต
“เมื่อปี 49 ผมและเครือข่ายสมัชชาคนจน เข้าไปเจรจาเรื่องไร่หมุนเวียน ตอนนั้นมีการจัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เสนอให้มีการเก็บภาษีสารเคมีที่มีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมที่เกิน 5% แต่รัฐกลับบอกว่าเก็บไม่ได้ ถ้าเก็บรัฐบาลจะเสียรายได้กว่า 4 หมื่นกว่าล้าน เรามองว่าสุดท้ายต้องแก้ที่โครงสร้างจะมาโทษชาติพันธุ์คนอยู่กับป่าไม่ได้”
ปฏิภาณ วิริยะวนา ชาวบ้านชุมชนสันดินแดง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่มองว่า การกล่าวโทษว่าการใช้ไฟในไร่หมุนเวียนนั้นสร้าง PM2.5 นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากเทียบกับในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มีการเผาในไร่หมุนเวียน ก็ยังพบว่ามีค่า PM2.5 เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้คนก็ไม่เคยกล่าวโทษหรือพูดถึงต้นกำเนิดฝุ่นควันอื่นๆ อย่าง โรงงาน และฝุ่นควันจากรถยนต์เลย
‘การเผาในพื้นที่ไร่หมุนเวียน’ เป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การเผาจะช่วยกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช และช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดิน แต่การเผาเพื่อการเกษตรนี้ ไม่ได้แปลว่าใครอยากจะเผาที่ไหนก็เผาแบบที่หลายคนคิด เพราะก่อนจะมีการเผาเกิดขึ้นในไร่หมุนเวียน ชาวบ้านจะทำแนวกันไฟรอบตัวไร่เพื่อกำหนดเขตพื้นที่ที่ต้องการเผาและป้องกันไฟลุกลามไปในพื้นที่ป่า นอกจากนั้นยังกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการเผานั่นคือ ช่วงปลายฤดูแล้งก่อนเข้าฤดูฝน โดยใช้เสียงของจั๊กจั่นเพื่อดูว่าต้นไม้สามารถดูดซับน้ำได้เพียงพอหรือไม่
ในการเผาแต่ละครั้งใช้ระยะเวลาเพียง 10-30 นาทีเท่านั้น ซึ่งในระยะสั้นการเผาไร่หมุนเวียนช่วงปีแรกจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนหนึ่ง แต่ในระยะยาวพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่มีการฟื้นตัวแล้วจะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าที่ปล่อยออกมาหลายเท่า
ข้อมูลจากงานวิจัยโดย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือที่ศึกษาการเผาในไร่หมุนเวียนของชุมชนหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เผยว่า ไร่หมุนเวียนในชุมชนห้วยหินลาดบริเวณที่เป็นไร่เหล่าที่พักไว้ 1-10 ปี ทั้งหมด 1,590 ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 17,643 ตัน ในขณะที่ทำให้เกิดการสูญเสียคาร์บอนจากการเผาไร่หมุนเวียนเพียง 476 ตัน จากการเผาในพื้นที่ 114 ไร่
นอกจากนี้ข้อมูลของ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA ที่รวบรวมและคำนวณข้อมูลโดย Rocket Media Lab ได้เผยข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ในปี 2567 เรียบเรียงจากพื้นที่เผาไหม้ทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 เผยว่ามีพื้นที่เผาไหม้ทั้งประเทศจำนวน 19,523,233 ไร่ โดย ‘ข้าว’ เป็นพืชที่มีพื้นที่เผาไหม้มากที่สุด ทั้งหมด 6,054,743 ไร่ รองลงมาคือ พื้นที่เกษตรอื่นๆ ทั้งหมด 4,883,726 ไร่ (พื้นที่ที่มีการทำประโยชน์จากที่ดินเป็นเกษตรกรรมทั้งหมดไม่รวม นาข้าว อ้อย ข้าวโพด และไร่หมุนเวียน) และ ข้าวโพดทั้งหมด 4,434,357 ไร่
“แนวกันไฟ” รักษาป่า
“ป่าตรงนี้ที่มันสวยอยู่ได้เพราะแนวกันไฟชาวบ้านช่วยกันทำ ค่าแรงที่เราทำไม่ได้ซักบาท แต่ผลประโยชน์ที่ได้มันไม่ใช่แค่ในชุมชนแต่มันได้รับกันหมด เพราะป่าช่วยดูดซับคาร์บอนฯ” เกรียงไกร กล่าว
นอกจากการทำแนวกันไฟรอบไร่หมุนเวียนเพื่อป้องกันการเผาไหม้ลามของชาวบ้านในชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ ยังมีการทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าเพื่อป้องกันไฟป่า ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2538 เนื่องจากชาวบ้านต้องอาศัยป่าที่เป็นเหมือนร้านค้า ที่มีทั้งของป่าที่เป็นอาหาร ต้นไม้ใหญ่ที่เปรียบเป็นความร่มเย็นจากธรรมชาติ รวมไปถึงยารักษาโรคจากสมุนไพรในป่า
ชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมแรงและกำลังเงินในสร้างแนวกันไฟไว้รอบตัวชุมชนทั้งหมด 9 แนว ความยาว 30 กิโลเมตรรอบชุมชน โดยแนวกันไฟแต่ละแห่งถูกติดตั้งห่างจากตัวชุมชนกว่า 15 กิโลเมตร และแนวกันไฟบางแนวอยู่ในเขตต.บ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ หากเริ่มต้นเดินทางจากตัวหมู่บ้านไปยังแนวกันไฟต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ด้วยมอเตอร์ไซค์ล้อวิบาก
แนวกันไฟทั้งหมด 9 แนวแบ่งเป็น 2 แนว คือแนวกันไฟแบบปกติที่ใช้แรงคนในทำให้พื้นที่โล่งปราศจากเชื้อเพลิงอย่างใบไม้แห้งหรือหญ้าแห้ง และ แนวกันไฟระบบ IOT (Internet of Things) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าแนวกันไฟสีเขียว โดยมีการติดตั้งถังน้ำและสร้างสระน้ำสำรองไว้สำหรับดับไฟไว้ครับทั้ง 9 จุด ที่สามารถบรรจุน้ำสำรองได้มากกว่า 569,000 ลิตร ซึ่งแหล่งน้ำสำรองแบ่งเป็นแท้งค์น้ำ 8 จุด และ บ่อน้ำ 1 แห่ง โดยชาวบ้านช่วยกันขนแท้งค์น้ำและขุดบ่อด้วยมือเปล่าทั้ง 9 จุด เนื่องจากแนวกันไฟทุกสีเขียวทุกแห่งไม่สามารถนำรถขนาดใหญ่ขึ้นไปได้

“เราใช้ระบบ IoT ในการควบคุมสปริงเกอร์เพื่อดับไฟป่า เรียกว่า แนวกันไฟสีเขียว โดยจะติดตั้งในพื้นที่ตาน้ำมีความยาวทั้งหมด 700 เมตร สามารถสั่งการที่ไหนก็ได้ของโลกที่มีอินเตอร์เน็ต” บัญชา มุแฮ หรือ ‘ดีปูนุ’ คนรุ่นใหม่ในชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
แนวกันไฟสีเขียว เป็นการนำสปริงเกอร์ที่เชื่อมต่อกับมือถือที่สามารถมอนิเตอร์ไฟป่าได้ผ่านหน้าจอโทรศัพท์ โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดอยู่บนยอดดอยช้างที่สามารถดูได้ว่าจุดไหนกำลังมีไฟก็สามารถสั่งการให้สปริงเกอร์ทำงานในพื้นที่ดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีระบบการตั้งเวลาให้น้ำสามารถพ่นออกมาตามความเหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยแนวกันไฟสีเขียวนั้นถูกติดตั้งรอบชุมชมทั้งหมด 700 เมตร โดยเลือกตั้งติดตั้งในจุดที่ไฟป่ารุนแรงหรือพื้นที่ตาน้ำ
“การทำแนวกันไฟมันเป็นการรักษาป่าดูแลป่า ดูแลสัตว์ตัวเล็กๆ ที่อยู่ในป่า” เกรียงไกร ย้ำอย่างหนักแน่น
คุกคาม ยึดที่ ยัดคดี ปัญหาจากอคติทางชาติพันธุ์
อคติทางชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบกับวิถีชีวิตและที่อยู่อาศัยของคนที่อยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน ทั้งนโยบายรัฐที่มองว่าการใช้ไฟในการทำไร่หมุนเวียนถือเป็นการทำลายป่า ทำให้คนชาติพันธุ์ถูกตีตราและเหมารวมว่าเป็น ‘ผู้ทำลายป่า’ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ความขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐทำให้คนชาติพันธุ์ถูกจับกุม มีคดีความ และถูกใช้กำลังเพื่อขับไล่ออกจากป่า ความรุนแรงที่เกิดจากอคติเหล่านี้ ได้สร้างกรอบกฎหมายที่ครอบคลุมชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่กับอย่างเห็นได้ชัด และยังสร้างแผลใจที่ยากจะลืม
“ย้อนไปประมาณ 40 ปีที่แล้ว ตอนเรายังเด็กพ่อเราโดนไล่ออกจากหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่บอกว่าห้ามอยู่ที่นี่เพราะตรงนี้เป็นเขตป่าต้นน้ำและเขตป่าสงวน พ่อเราก็ถามกลับว่าถ้าไม่อยู่ที่นี่แล้วจะให้ทำยังไง ลงจากดอยไปจะทำอะไร ทั้งหมู่บ้าน 300 กว่าคนจะอยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่รู้เอาแต่ไล่อย่างเดียว”
แววดาว พูดถึงความกลัวในอดีตของเธอ จากเหตุการณ์ที่พ่อของเธอถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ ที่แม้ว่าจะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว เธอก็ยังไม่รู้สึกปลอดภัย เพราะการคุกคามนั้นยังคงมีอยู่เป็นระยะ
ข้อมูลจาก สถิติการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เผยว่า ตั้งแต่ปี 2561-2565 มีคดีพื้นที่บุกรุกทั้งหมด 9,098 คดี ซึ่งจำนวนนี้เป็นเพียงข้อมูลจากหน่วยงานเดียวยังไม่รวมหน่วยงานอื่นๆ อย่าง กรมอุทยานฯ
“เมื่อปี 62 เจ้าหน้าที่มายึดและทำลายไร่ของผมทั้ง 2 แปลง ไม่ให้ผมทำไร่หมุนเวียน ปีนั้นผมไม่มีข้าวกินเลย ต้องออกไปรับจ้างข้างนอก”
เกรียงไกร ก็เป็นชาวบ้านอีกหนึ่งคนที่ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามโดยการเข้ามายึดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน เมื่อปี 2562 เขาถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามทำไร่หมุนเวียน ถูกยึดไร่ไปทั้งหมด 2 แปลง และเข้ามาทำลายไร่ ส่งผลให้ครอบครัวของเขาในปีนั้นไม่มีข้าวกินตลอดทั้งปี จนต้องออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน
“เราผิดตั้งแต่เกิดเลยเหรอ เราอยู่มาก่อนกฎหมายอีก กฎหมายเพิ่งออกมาไม่กี่ปี”
เกรียงไกรกล่าวอย่างน้อยใจ เขายังพูดถึงมุมมองของภาครัฐที่ไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่า ทำให้นโยบายต่างๆ นั้นถูกออกแบบมาอย่างไม่เข้าใจบริบทพื้นที่ไปด้วย เกรียงไร ย้ำว่าชาติพันธุ์สามารถจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้ดีอยู่แล้ว เพราะอาศัยอยู่กับป่ามาแล้วกว่า 200 ปี แต่ผืนป่าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ก็ยังสวยงาม ดังนั้น การที่ภาครัฐบอกว่าคนชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่าเป็นคนที่ผิดกฎหมาย สำหรับเขานัันถือเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล
นอกจากเรื่องที่ดินทำกินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่คนชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ต้องเผชิญ อคติทางชาติพันธุ์ยังแทรกซึมไปถึงนโยบายการศึกษาและหนังสือเรียน ที่มักสร้างภาพจำว่า ‘คนอยู่กับป่าเป็นคนทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และสร้างมลพิษ’ เป็นการส่งต่ออคติทางชาติพันธุ์ และภาพจำในแง่ลบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“เราเจออคติว่าชาวเขาทำลายป่าเป็น 100 ปีละมั้ง ตอนนั้นผมเรียนอยู่ ป.3 เคยเจอคำถามในหนังสือว่า ใครเป็นคนทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย? และคำตอบคือ ชาวเขา ตอนนั้นผมรู้สึกไม่โอเคเลย เหมือนเป็นการทรยศตัวเอง”
ปฏิภาณ มองว่าการศึกษามีผลต่อการสร้างภาพจำหรืออคติต่อคนที่อยู่กับป่า เขายังบอกอีกว่าระบบการศึกษาและการพัฒนาที่รวดเร็ว อาจทำให้เกิดการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยการที่คนชาติพันธุ์ต้องส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนนอกชุมชน ส่งผลให้การสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาการรักษาป่าในพื้นที่น้อยลงไปด้วย
อคติทางชาติพันธุ์มากจากไหน ใครกำหนด?
อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เผยว่า อคติทางชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่สมัยการสร้างชาติไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต้องมีการสร้างขอบเขตของรัฐที่ชัดเจน เป็นยุคที่เริ่มมีการจัดการสํามะโนประชากรที่มีการนับคนไทยและมองว่าคนที่อยู่ในป่า เป็นคนป่า คนที่อยู่บนภูเขาเป็นชาวเขา เริ่มมีการตั้งชื่อมลฑล ที่พยายามสร้างความแตกต่างทางชาติพันธุ์
อภินันท์ กล่าวอีกว่าอคติทางชาติพันธุ์รุนแรงขึ้นในช่วงสงครามเย็นหลังจากรัฐมองว่าความแตกต่างเป็นภัยต่อความมั่นคง จึงลดคุณค่าของคนชาติพันธุ์ที่ไม่สามารถพูดภาษาไทย มองว่าเป็นคนนอกที่ต้องถูกควบคุมหรือละทิ้ง แนวคิดชาตินิยมทำให้เกิดการสร้าง ‘ศัตรูของชาติ’ กล่าวหาว่าคนชาติพันธุ์แย่งทรัพยากรและเป็นภัยคุกคาม
นอกจากนั้นรัฐยังใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคงเข้าแทรกแซงพื้นที่ โดยกล่าวหาว่าชาติพันธุ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือทำลายป่า เพื่อเข้าครอบครองพื้นที่เหล่านั้น ระบบการศึกษาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ กำหนดภาพลักษณ์คนชาติพันธุ์ว่าไร้ระเบียบ ล้าหลัง และบังคับให้กลมกลืนกับสังคมไทย
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมองความแตกต่างเป็นอุปสรรคต่อการควบคุม จึงพยายามทำให้ทุกคนในชาติมีอัตลักษณ์เหมือนกัน แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือ แต่กลับไม่ส่งเสริมศักดิ์ศรีของคนชาติพันธุ์อย่างแท้จริง ส่งผลให้ในปัจจุบันนั้นแม้ประเทศไทยจะอ้างว่าตนเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แต่รัฐยังคงยอมรับคนชาติพันธุ์เพียงในเชิงวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ขณะที่สิทธิขั้นพื้นฐานกลับไม่ได้รับการรับรองอย่างเท่าเทียม
พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ประตูบานแรกแก้อคติคนอยู่กับป่า
ด้วยอคติทางชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่าศตวรรษ ภาคประชาสังคมหลายฝ่ายจึงมีการผลักดันให้มี ‘พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….’ หรือที่รู้จักกันใน ‘พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ’ โดยมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ทั้งหมด 5 ฉบับได้แก่ 1. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 2.คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร 3.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์ 4.พรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) และ 5.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
โดยทั้ง 5 ฉบับ มีความแตกต่างกันในเชิงของรายละเอียดและกลไก โดยร่างของสภาชนเผ่าฯ เน้นกลไก โครงสร้าง กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาชนเผ่าฯ ประสานงานเครือข่ายชาติพันธุ์ องค์กรต่างๆ ส่วนอีก 4 ฉบับเน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์
อภินันท์ เผยว่าหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการทำให้คนชาติพันธุ์ได้รับการยอมรับในฐานะพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์ จริงอยู่ที่เขาเป็นคนไทยอยู่แล้ว แต่ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทำให้คนชาติพันธุ์มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนนอก ส่งผลให้ไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานหลายอย่าง เป้าหมายของกฎหมายนี้คือการทำให้สังคมไทยยอมรับการมีอยู่ของคนชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีกฎหมายหรือระบบใดที่ให้การรับรองว่าประเทศไทยประกอบไปด้วยประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่มีการรับรองสถานะของชาติพันธุ์ในเชิงกฎหมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมไทย ถือเป็นประตูบานแรกเพราะอคติที่ฝังรากลึกในสังคมไทยแก้ได้ยาก หากมีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ นโยบายต่าง ๆ ก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลง และวิธีคิดของสังคมก็จะปรับตามไปเอง
อภินันท์ อธิบายอีกว่า หลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ คือเรื่อง ‘พื้นที่คุ้มครอง’ ที่เป็นการยอมรับว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีชุมชนชาติพันธุ์อยู่มานานแล้ว ก่อนที่รัฐจะประกาศพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวน ปัญหาคือเมื่อมีการประกาศพื้นที่เหล่านี้รัฐไม่ได้ถามความคิดเห็นของชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม แต่ทำให้กลายเป็น ‘ผู้บุกรุก’ ในบ้านของตัวเอง บางคนถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ โดยไม่มีแผนรองรับว่าจะไปอยู่ที่ไหน จนต้องไปเช่าที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ หรืออาศัยอยู่ในสลัม
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 สภาผู้แทนราษฎรมีการประชุมพิจารณา ‘ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …’ ในวาระ 2 และ 3 สภาผู้แทนราษฏร มีมติคว่ำ มาตรา 27 ไม่เห็นด้วยกับหลักการพื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์ ส่งผลให้หัวใจหลักของร่างถูกปัดตก
แต่อภินันท์ยังเชื่อว่าเรื่องนี้ยังมีโอกาสทำให้การทำงานและพื้นที่ของชาติพันธุ์ขยายมากขึ้นจากสองเงื่อนไขหลัก เงื่อนไขแรก คือ กฎหมายที่ถูกเขียนขึ้นมีหลักการคุ้มครองสิทธิของชาติพันธุ์ในหลายด้าน ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือให้ชุมชนอ้างอิงและผลักดันประเด็นต่างๆ ได้ ถึงแม้มาตรา 27 จะถูกตัดออกไปก็ตาม เงื่อนไขที่สอง คือ การมีกลไกระดับนโยบาย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้จะช่วยให้ปัญหาของชาติพันธุ์ได้รับการแก้ไขโดยตรง ต่างจากอดีตที่ต้องฝากไว้กับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ให้ความสำคัญเพียงพอ การที่ปัญหาได้รับการเน้นย้ำในระดับนโยบายสูงสุดจะช่วยให้สามารถผลักดันแนวทางแก้ไขได้ง่ายขึ้น
“แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจยังไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจนในเชิงปฏิบัติ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และสามารถใช้เป็นฐานในการพัฒนาแนวทางแก้ไขในอนาคต”
การทำไร่หมุนเวียน เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชิวิตที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของคนชาติพันธุ์ ผืนป่าที่เปรียบเสมือนบ้านและแหล่งอาหารสำคัญ คือสิ่งที่เหล่าพี่น้องชาติพันธุ์นั้นหวงแหนและตั้งใจรักษาเอาไว้เท่าชีวิต คนที่อาศัยอยู่กับป่า ย่อมเรียนรู้วิธีที่จะอาศัยอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสม สิ่งที่คนชาติพันธุ์ต้องการ จึงไม่ใช่สิ่งใหม่ หรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไรมากนัก ต้องการเพียงความเข้าใจ ความปลอดภัยในชีวิตและที่อยู่อาศัย อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรมี
คนชาติพันธุ์ กินอยู่กับป่า และรักษาป่า คนในเมืองเองก็มีจุดมุ่งหมายที่จะพยายามรักษาพื้นที่ป่าเช่นกัน เมื่อเราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน การรับฟังเหตุผลและเรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของกันและกันจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรานั้นเข้าใจกันมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนมุมมอง และลบล้างอคติทางชาติพันธุ์ที่สร้างบาดแผลทางใจให้คนชาติพันธุ์มายาวนานได้อย่างแท้จริง ดังนั้น การผลักดัน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ จึงเป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยเสริมความมั่นคงด้านสิทธิของคนชาติพันธุ์

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ