“แม่ตาก” (เมืองตากของพระเจ้าตาก) ใครว่าเล็ก? “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน” ในลุ่มน้ำแม่ปิง กับ ความสัมพันธ์บนทางสามแพร่ง 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

บทนำและปัญหา: “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน” & การทบทวนองค์ความรู้ใหม่

ก่อนหน้าสมัยปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลในรัชกาลที่ 5 ปกติหัวเมืองด่านปลายแดนมักมีลักษณะเป็น “ศูนย์กลาง” ของย่านพื้นถิ่นข้างเคียง เพราะโดยระบบสังคมวัฒนธรรมและสภาพการคมนาคม  เป็นปัจจัยกำหนดโดยตรงทำให้เมื่ออยู่ห่างไกลจากส่วนกลาง  อำนาจของส่วนกลางจะเบาบางลงไป  ขณะเดียวกันหัวเมืองที่อยู่ถัดไปกว่านั้นคือ “ประเทศราช” เป็นอีกอำนาจที่เข้มแข็งในแบบของตนเอง   

หัวเมืองที่บทความนี้จะอภิปรายถึงคือ “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน” หรือก็คือบริเวณเมืองท่าตอนในก่อนที่เข้าสู่หัวเมืองประเทศราชในระยะทางต่อไป  หัวเมืองแบบนี้เป็นชุมทางของการติดต่อค้าขายและการคมนาคม  องค์ความรู้เดิมมักนิยามหัวเมืองบริเวณนี้ว่า “หัวเมืองชั้นนอก” ยังไม่เป็นอื่นถึงขนาดเป็น “ประเทศราช” แต่ขณะเดียวกันก็มีความต่างพอสมควรเมื่อเทียบกับ “หัวเมืองชั้นใน” นัยหนึ่งหัวเมืองแบบนี้ในอดีตก็เคยเป็นประเทศราชมาก่อน  เมื่อส่วนกลางขยายอำนาจออกไปไกลขึ้น  หรือไปตีได้เมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปกว่าเดิม  ทำให้เกิดประเทศราชใหม่และประเทศราชเดิมก็เปลี่ยนสถานะมาเป็นหัวเมืองชั้นนอก 

หัวเมืองแบบนี้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะคือ นครราชสีมา  ทิศตะวันตกคือกาญจนบุรี ทิศใต้คือนครศรีธรรมราชและพัทลุง ทิศตะวันออกทางชายฝั่งทะเลคือจันทบุรี และทิศตะวันออกตอนบนคือปราจีนบุรี ทิศเหนือฝั่งลุ่มแม่น้ำน่านคืออุตรดิตถ์กับเมืองฝาง (สวางคบุรี) ลุ่มแม่น้ำยมคือพิษณุโลก และทางฝั่งลุ่มแม่น้ำปิงหรือ “แม่ปิง” (ตามคำเรียกของคนท้องถิ่น) คือ “เมืองตาก” หรือ “แม่ตาก” (ในที่นี้ผู้เขียนใช้ครอบรวมทั้งตากที่บ้านตากและระแหง)  

ในที่นี้ผู้เขียนใช้ “แม่ปิง” ตามความนิยมเรียกของท้องถิ่น ซึ่งนิยมเรียกชื่อบ้านนามเมืองและแม่น้ำลำคลองนำหน้าด้วยคำว่า “แม่” เช่น “แม่ท้อ” “แม่ปะ” “แม่ทา” “แม่พริก” “แม่วัง” “แม่ละเมา” “แม่สอด” ฯลฯ คำว่า “แม่ตาก” ก็เคยเป็นทั้งชื่อแม่น้ำปิงบริเวณเมืองตากและเป็นชื่อเมืองในแง่นี้ด้วยเหมือนกัน  อนึ่งขนบความนิยมนี้ไม่ใช่ของใหม่หรือเพิ่งมานิยมในย่านเมืองตากมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังจะเห็นได้จากในจดหมายเหตุลาลูแบร์ มีคำเรียกเมืองตากว่า “แม่ตาก”[1] เป็นต้น  ที่มาของขนบนี้คืออิทธิพลของวัฒนธรรมผู้หญิงเป็นใหญ่ (Matriarchy) 

ที่ผ่านมาการศึกษาทางวิชาการมักมุ่งเน้นบทบาทความสำคัญของหัวเมืองประเทศราช ในลักษณะคู่ตรงข้ามกับ “เมืองหลวง” หรือ “ส่วนกลาง” (Central) โดยประเทศราชถูกจัดประเภทเป็น “ชายขอบ” (Marginal) ในทางสังคมการเมือง แต่สำหรับในงานวิชาการ  กล่าวได้ว่าหัวเมืองชายขอบได้รับความสนใจอย่างมาก ขณะที่หัวเมืองซึ่งอยู่บริเวณกึ่งระหว่าง “ส่วนกลาง” กับ “ชายขอบ” ถูกละเลย ไม่ได้ให้ความสำคัญกันเท่าไรนัก  

ทั้งที่ส่วนกลางจะขยายอำนาจไปยังชายขอบไม่ได้เลย ถ้าปราศจากความช่วยเหลือจากหัวเมืองชั้นนอก และชายขอบเองจะสัมพันธ์กับส่วนกลางในรูปแบบทั้ง “ปะทะ” หรือ “ประสาน” ก็มีเหตุปัจจัยที่ขึ้นกับหัวเมืองที่อยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองนี้ด้วยเหมือนกัน  ที่ผ่านมาหัวเมืองชั้นนอกมักถูกมองเหมารวมเป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลาง แต่หลายครั้งเราจะพบว่าการกบฏครั้งใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับหัวเมืองบริเวณดังกล่าวนี้มากกว่าชายขอบเสียอีก (ขอให้นึกถึงกรณีนครราชสีมากับนครศรีธรรมราช) เอาเข้าจริงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า หัวเมืองเหล่านี้มีลักษณะอิสระภายในของตนเอง (Autonomous) อยู่พอสมควร

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า ความรับรู้ต่อเมืองตาก  ดูจะผิดแผกแตกต่างไปกว่าหัวเมืองลักษณะเดียวกันในบริเวณย่านทิศอื่นๆ ในแง่ว่าหัวเมืองอื่นไม่ว่าจะเป็นนครราชสีมา พิษณุโลก กาญจนบุรี จันทบุรี ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช ล้วนแต่เป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นเมืองใหญ่  เนื่องจากสภาพปัจจุบันหัวเมืองเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเมืองใหญ่  แต่สำหรับตาก  ไม่ได้ถูกรับรู้เช่นนั้นด้วย  เพราะสภาพปัจจุบัน ตากกลายเป็นเมืองเล็ก ๆ แดนผ่านทางสำหรับจะขึ้นไปภาคเหนือและชายแดนพม่าด้านแม่สอด  เรื่องนี้มีประวัติศาสตร์ของมันเองที่ควรแก่การศึกษาและอภิปรายถึงอยู่เหมือนกัน  ดังที่ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นในบทความนี้     

การนำเอาสภาพในปัจจุบันไปเป็นมาตรฐานกระทั่งนำไปสู่การมองอย่างสรุปรวบว่าตากเป็นเมืองเล็ก  เกิดขึ้นอย่างน้อยก็สมัยรัชกาลที่ 4-5 ดังจะเห็นได้จากเอกสาร “อภินิหารบรรพบุรุษ” ที่เลื่อนตำแหน่งให้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เคยเป็น “พระยาวชิรปราการ” เจ้าเมืองกำแพงเพชร[2] เพราะกลุ่มผู้เล่ามุขปาฐะเรื่องนี้เห็นว่ากำแพงเพชรเป็นเมืองใหญ่ ควรแก่ความชอบของผู้ซึ่งต่อมาจะกลายเป็น “พระเจ้าอยู่หัวอันมีภินิหารนับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้า” (ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับก่อนชำระในต้นรัตนโกสินทร์)[3]

ต่อมาในการชำระพระราชพงศาวดารจนเกิด “พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา” รัชกาลที่ 4 ก็ทรงเห็นพ้องด้วยกับเอกสาร “อภินิหารบรรพบุรุษ” จึงออกนามสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในช่วงเหตุการณ์เสียกรุงจนถึงเดินทัพไปหัวเมืองตะวันออกว่า “พระยากำแพงเพชร”[4]  เรื่องจึงเกิดความน่าเชื่อถือขึ้นมาและถนำไปผลิตซ้ำผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย  แต่แท้ที่จริงแล้วหากว่าตามสภาพสังคมวัฒนธรรมที่พบเห็นได้จากหลักฐานประวัติศาสตร์ ก็จะต้องกล่าวอย่างตรงข้ามว่า เจ้าเมืองอย่างพระยากำแพงเพชรต่างหากที่อยากจะไปเป็นพระยาตาก 

ตากเป็นเมืองเล็กกระจ้อยร่อยลงไปอีกเมื่อมองกันตามทฤษฎี Mandala state ซึ่งอธิบายง่าย ๆ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับหัวเมืองดำเนินมาในลักษณะที่อำนาจของส่วนกลางเปรียบได้ดั่งแสงจากดวงเทียน  เมืองที่อยู่ใกล้ดวงเทียนก็จะกระทบอำนาจมากหน่อย  แล้วอำนาจที่ว่าจะค่อย ๆ จางลงอย่างลดหลั่นกันไปจนกว่าจะไปพบกับแสงจากอีกดวงเทียนที่อยู่ถัดไป[5] 

ตามแง่มุมข้างต้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน” ที่แม้จะอยู่ในลำดับชั้นภายนอกถัดไปกว่าเมืองชั้นในของราชอาณาจักร แต่กลับเป็นเมืองใหญ่และเจ้าเมืองก็มีอำนาจวาสนามากกว่าเมืองชั้นใน แต่ไม่ถึงขั้นเจ้าประเทศราช ถ้านึกภาพไม่ออกก็ขอให้เปรียบเทียบกันระหว่างสระบุรีกับนครราชสีมา หรืออย่างไชยากับนครศรีธรรมราชก็ได้  ทำไมหัวเมืองที่อยู่ห่างออกไปในระยะก่อนถึงประเทศราชถึงเป็นหัวเมืองใหญ่  ข้อเท็จจริงนี้ออกจะค้านกับทฤษฎีที่เชื่อถือกันในหมู่นักประวัติศาสตร์รุ่นเก่าอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎี Mandala state มีส่วนถูกอยู่อย่างตรงที่เมืองที่อยู่ใกล้ส่วนกลางย่อมถูกบีบคั้นจากอำนาจกษัตริย์ส่วนกลางมากกว่าเมืองที่อยู่ห่างไกล  แต่ขณะเดียวกันสำหรับกรณีเมืองที่อยู่ปลายพระราชอาณาเขต อำนาจเจ้าเมืองก็มีมากกว่าเจ้าเมืองหัวเมืองชั้นใน  เมืองแบบนี้นอกจากจะเป็นเมืองใหญ่แล้วยังมีความอิสระภายใน (Autonomous) จนเป็นที่หมายปองแก่เหล่าขุนนางรุ่นใหม่ เพราะตำแหน่งใหญ่ที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นออกญากลาโหม สมุหนายก เจ้าพระยาจักรี ล้วนเป็น “ตำแหน่งเสนียด” ใครเป็นมักจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะต้องพัวพันกับการแย่งชิงราชบัลลังก์

“โกษาธิบดี” หรือ “ออกญาพระคลัง” กลายเป็นอันดับสอง (ในทางปฏิบัติ) แทนที่จะเป็นอันดับสาม (ตามโครงสร้างที่ปรากฏในบทพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน) แต่ไม่ง่ายที่ใครจะเป็นออกญาพระคลัง เพราะต้องเป็นคนที่ไว้วางพระราชหฤทัยจริงๆ  ตำแหน่งเจ้าเมืองเลยเป็นที่หมายปอง แต่ครั้นเป็นเมืองชั้นในใกล้เมืองหลวงก็เป็นเสนียดอีก เพราะอยู่ใกล้อำนาจกษัตริย์ส่วนกลาง เป็นอันตรายไปอีก ครั้นจะเป็นเจ้าประเทศราชก็ไม่ได้ เพราะเป็นตำแหน่งที่ถูกล็อกไว้ให้เป็นของเชื้อพระวงศ์พื้นถิ่น ดังนั้นหัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลส่วนกลาง ไม่ใช่หัวเมืองชั้นใน จึงเป็นคำตอบ  

ในจำนวนนี้มีตัวอย่างของบุคคลในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาปลายที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ก็ได้แก่ นายสินแซ่แต้ ได้เป็นเจ้าเมืองตาก (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ), พระปลัดหนู ซึ่งต่อมาคือ “เจ้านคร” (หนู) ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช, เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นต้น ขอให้สังเกตด้วยว่าหัวเมืองที่ตั้งตัวเป็น “เจ้าก๊ก/นายชุมนุม” ในสมัยธนบุรี อย่างก๊กเจ้าพิมาย เจ้าพิษณุโลก เจ้าฝาง เจ้านครศรีธรรมราช  ล้วนแต่เป็นหัวเมืองแบบที่เรากำลังอภิปรายถึงอยู่นี้  และเมืองแบบนี้ก็ต้องเข้าใจอีกว่าล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากสถานะในสมัยอยุธยาทั้งสิ้น     

เป็น “พระเจ้าตาก” เพราะครอง “เมืองตาก”

ที่มาภาพ:wikipedia.org 

เมื่อเกิดเหตุการณ์เมืองหลวงเสียกรุงแก่พม่าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วนั้น  พระยาตาก (สิน) กับพวกได้เดินทางไปจนถึงระยองแล้วจึงได้ตั้ง “ก๊กเจ้าตาก” ขึ้นที่นั่น ยึดจันทบุรีได้แล้วก็ยังเป็น “ก๊กเจ้าตาก” ไม่ใช้ “ก๊กเจ้าระยอง” หรือ “ก๊กเจ้าจันทบุรี” คำถามคือเพราะเหตุใด ทำไม ถึงไม่อิงตามที่ตั้งก๊กเช่นก๊กอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นก๊กเจ้าพิมาย, ก๊กเจ้าพิษณุโลก, ก๊กเจ้าพระฝาง (สวางคบุรี), ก๊กเจ้านคร (ศรีธรรมราช) เป็นต้น   

แม้แต่เมื่อปราบสุกี้พระนายกอง ตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง และปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์แล้ว พระนามเป็นทางการที่กร่อนได้ว่าคือ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” ก็ยังแสดงนัยความหมายที่สื่อถึงความเป็น “พระเจ้าเมืองตาก” หรือ “พระเจ้าตาก”  ตามพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ส่งไปถึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจัน) เมื่อพ.ศ.2314 จดพระนามร่วมสมัยของพระองค์ว่า “สมเด็จพระมหาเอกาทุศรุทอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ตามด้วยพระราชสาส์นล้านช้าง พ.ศ. 2317 ที่ออกพระนามว่า “สมเด็จพระมหาเอก (า) ทศรธอิศวรบรมนารถบรมบพิตรฯ”[6]  

แท้ที่จริงแล้วตามหลักฐานชั้นต้น พระนามทางการของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ควรจะเป็น “สมเด็จพระเอกาทศรถที่ 2” ซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์หัวเมืองฝ่ายเหนือ (ราชวงศ์สุโขทัย) ส่วนพระนาม “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4” นั้นเป็นพระนามที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยสมัยหลังแต่งตั้งให้แก่พระองค์

ในที่นี้ควรจะกล่าวด้วยว่า เมื่อครั้งสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2497 ได้มีมติเห็นควรให้ออกพระนาม “สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี” แทน “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4” และ “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ไปแล้ว[7]  แต่ไม่เป็นที่นิยม อาจจะเกี่ยวกับการที่ภายหลังจากนั้นไม่นาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อพ.ศ.2500   

อนึ่ง สิทธิในการใช้พระนาม “สมเด็จพระเอกาทศรถที่ 2” นี้ไม่ใช่อะไรอื่นไกล  หากแต่คือการที่ทรงเคยครองเมืองตากและเป็นเครือญาติกับชนชั้นนำท้องถิ่นผ่านการสมรสกับสตรีผู้เป็น “แม่เมือง” ของตาก ดังนั้น แม้จะทรงมีเชื้อสายเป็นจีน ก็ไม่เป็นปัญหาในการสืบสิทธิอำนาจความชอบธรรมจากหัวเมืองท้องถิ่นที่ได้เป็นเจ้าเมือง 

ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับเจ้าเมืองและชนชั้นนำจากส่วนกลางที่อื่นเช่นกัน พระปลัดหนูก็แต่งงานกับลูกสาวคหบดีชาวจีนที่มั่งคั่งในเมืองนครศรีธรรมราช  ปลัดยกระบัตรทองด้วงที่แขวงราชบุรี ก็แต่งงานกับสตรีที่มีชาติตระกูลที่มั่งคั่งในท้องถิ่นเช่นกัน 

เนื่องจากอยุธยาเป็นสังคมที่เกณฑ์ผู้ชายไปเป็นไพร่ใช้แรงงานแก่สาธารณะและรับใช้เจ้าขุนมูลนายในต่างถิ่น  ผู้หญิงที่อยู่บ้านจึงได้รับสิทธิในการจัดการทรัพย์สินมรดก  ผู้ชายอาจตายในระหว่างขุดคลอง สร้างวัด สร้างเมือง ออกศึกทำสงคราม ถูกเจ้านายลงโทษหัวหลุดจากบ่า ฯลฯ ได้ทุกเมื่อ  ผู้หญิงที่อยู่กับเหย้าเฝ้าเรือนจึงอายุยืนมากกว่าผู้ชาย 

เมื่อเป็นดังนั้น สังคมท้องถิ่นจึงเปิดช่องอนุญาตไว้ให้สืบมรดกผ่านทางสตรี สตรีจึงเป็นใหญ่ในทางวัฒนธรรมไปด้วย  ประกอบกับสตรีมักประกอบอาชีพค้าขาย  เศรษฐกิจความมั่งคั่งในท้องถิ่นจึงมักตกเป็นของสตรีไปอีก  ขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีก็คืออำนาจการเมือง (แบบหน้าฉากหรือเป็นทางการ) ซึ่งถูกสงวนไว้เป็นพื้นที่ของผู้ชาย  ผู้ชายในระบบราชการจากส่วนกลางเมื่อไปปฏิบัติงานอยู่ในท้องถิ่นมักจะแต่งงานกับสตรีที่มั่งคั่ง เท่ากับอำนาจการเมือง (ของผู้ชาย) มาผนวกรวมกับเศรษฐกิจความมั่งคั่ง (ของผู้หญิง)  พูดให้เข้าใจง่ายๆ สมัยนั้นจะเป็นชายที่มั่งคั่งมากด้วยทรัพย์บริบูรณ์ด้วยบุญวาสนาแล้ว  ก็ต้องมี “เมียหลวง” ที่มั่งคั่งพร้อมด้วยสิ่งเหล่านี้อยู่ก่อนแล้วนั่นเอง       

สภาพดังที่กล่าวมาข้างต้น เริ่มจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญอีกครั้งเมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19  คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ ซึ่งได้เข้ามาสำรวจศึกษาภูมิศาสตร์สยามและได้เดินทางจากรุงเทพฯ จะขึ้นไปเชียงใหม่ แวะผ่านมาพบเห็นเมืองตาก เมื่อ ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424) ได้กล่าวถึงเมืองตากไว้ในบันทึกของเขาว่า “เป็นเมืองที่มีตำแหน่งเจ้าเมือง 2 ท่าน (หมายถึงเจ้าเมืองที่บ้านตากกับระแหง-ผู้อ้าง) และยิ่งกว่านั้นก็คือเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดทางภาคเหนือของประเทศไทย[8]  

นั่นคือสภาพก่อนหน้าที่จะเกิดการรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5 เพียงไม่นาน เชียงใหม่และล้านนายังคงมีอิสระภายในและปกครองตนเองอยู่  ตากจึงยังคงเป็นดินแดนเหนือสุดของสยามทางด้านลุ่มแม่ปิง  ภายหลัง พ.ศ.2435 เป็นต้นมา เชียงใหม่จะมีความสำคัญในส่วนนี้แทนที่ตาก และตากจะค่อย ๆ กลายเป็นเมืองเล็กและแดนผ่านทางสำหรับไปเชียงใหม่หลังจากนั้นมา  คาร์ล บอค ยังบอกเล่าถึงความสำคัญของเมืองตากให้เราได้คิดใหม่เพิ่มเติมอีกเช่นว่า:

“ถึงแม้ในเมืองนี้จะไม่มีสถานที่น่าสนใจมากนัก แต่สภาพทางธรรมชาติของระแหงนั้นมีความสำคัญทางการเมืองและได้เปรียบในทางการค้าอยู่มาก การที่อยู่ใกล้กับพรมแดนพม่ากับลาว (หมายถึงล้านนา-ผู้อ้าง) เมืองนี้จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และตำแหน่งเจ้าเมืองจึงเป็นตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบมาก”[9]   “แม่ตาก” (บ้านตาก-ระแหง) ในราชอาณาจักรอยุธยา

“ตาก” หรือ “แม่ตาก” คือบริเวณปลายสุดของราชอาณาจักรอยุธยาในลุ่มแม่น้ำปิง พ้นจากบริเวณนี้เหนือขึ้นไปเป็น “เมืองสร้อย” (ปัจจุบันเป็นเมืองบาดาลจมอยู่ใต้เขื่อนภูมิพล) และถัดนั้นไปอีกเป็น “เมืองเถิน” ถือเป็นเขตล้านนา  ทางทิศตะวันตกเป็นด่านชายแดนแม่สอดติดกับพม่าที่มะยะวดี (เมียวดี)  แม่ตากจึงเป็นชุมทางสามแพร่ง อยุธยา-ล้านนา-พม่ามอญ  จากหลักฐานบันทึกต่างชาติที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ระบุถึงความสำคัญของหัวเมืองนี้ว่าเป็น “เมืองเอก” ในลุ่มแม่น้ำปิงหรือแม่ปิงดังนี้:

“ตำบลสำคัญๆ ที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่าน (แม่น้ำปิงหรือแม่ปิง-ผู้อ้าง) คือ แม่ตาก (Me-Tak) อันเป็นเมืองเอกของราชอาณาจักรสยามที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือหนพายัพ”[10]

เมืองทุกเมืองไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว อย่างน้อยมีบริเวณย่านที่เป็น “ด่านขนอนหลวง” สำหรับจัดเก็บส่วยสาอากร  ด่านนี้มักตั้งอยู่ชุมทางคมนาคมเส้นหลักที่จะเข้าสู่ตัวเมือง  ด่านขนอนหลวงของเมืองใหญ่หลายเมืองมีพัฒนาการเกิดเป็น “เมืองคู่” อยู่ในเขตแขวงย่านเมือง เพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์เศรษฐกิจการค้า  จึงเป็นย่านที่มั่งคั่งรุ่งเรืองขึ้นควบคู่กับศูนย์ราชการของเมือง (คือบริเวณที่มีคูน้ำคันดิน กำแพงเมือง หรือป้อมปราการนั่นแหล่ะ)   

ภาพ:สถานภาพบ้านตาก-เมืองตากจากสมัยอยุธยาถึงสมัยพระจอมเกล้าฯ ที่มา:สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

สำหรับเมืองตาก,  บริเวณบ้านระแหงก็มีความสำคัญในแง่นี้ มีขุนนางท้องถิ่นกินเบี้ยหวัดเมืองตากคอยดูแลชื่อตำแหน่งคือ “ขุนอินทรคีรี” เมื่อเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมือง  ก็จะมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาอินทคีรี”[11] เจ้าเมืองที่ระแหงไม่ได้มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาตาก” แต่ทั้งนี้พระยาตากมีอำนาจควบคุมเมืองด่านระแหงอีกต่อหนึ่ง    

“ระแหง” มักปรากฏคำเรียกควบคู่กันว่า “ระแหงแขวงเมืองตาก” ดังเช่นในเอกสาร “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง” กล่าวถึงเรือจากบริเวณดังกล่าวนี้กับเรือจากเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งก็มี “บ้านนายม” เป็นชุมชนด่านทางใต้ดุจเดียวกับ “ระแหง” ของเมืองตาก ต่างก็บรรทุกสินค้าของป่าไปขายที่อยุธยาอยู่แถวปากคลองสวนพลู-หน้าวัดพนัญเชิง ดังความต่อไปนี้:  

“อนึ่ง เรือระแหงแขวงเมืองตาก แลเรือหางเหยี่ยวเมืองเพชรบูรณ์นายมบรรทุกครั่งกำยาน เหลกล่มเลยเหลกน้ำภี้ ใต้หวายชันน้ำมัน ยางยาสูบ เขาหนัง หน่องาสรรพสินค้าตามเพศบ้านเพศเมือง มาจอดเรือขายตามแถวปากคลองสวนพลู ตลอดจนน่าวัดเจ้าพระนางเชิง (วัดพนัญเชิง-ผู้อ้าง)”[12]

บริเวณปากคลองสวนพลูนั้นติดกับย่านวัดเกาะแก้ว ซึ่งเป็นถิ่นพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ  การมีเรือจากตากมาค้าขายในบริเวณดังกล่าวนี้อาจเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าเมืองตาก ในฐานะเจ้าเมืองและพ่อค้าจีนที่เชื่อมระหว่างเมืองในลุ่มแม่ปิงกับอยุธยา  เนื่องจากมีเมืองเก่าอยู่ 2 แห่ง คือที่บ้านตากกับระแหง  จึงเกิดปัญหาว่าที่ใดคือเมืองตากของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ  

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เสนอว่า เมืองตากของพระเจ้าตากอยู่ที่บ้านตาก คือ อ.บ้านตาก จ.ตาก ในปัจจุบัน[13]  สอดคล้องกับสภาพที่บ้านตากมีสิ่งอันเป็นศูนย์กลางประจำเมืองคือ “วัดพระบรมธาตุ” เดิมคือบริเวณเจดีย์ยุทธหัตถี ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดพระบรมธาตุรุ่นปัจจุบัน

อนึ่ง ชื่อ “เจดีย์ยุทธหัตถี” นั้นมีที่มาจากข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเชื่อว่าเมืองตากที่บ้านตากคือ “เมืองฉอด” ของขุนสามชน อริราชศัตรูของพ่อขุนรามคำแหง และเจดีย์ทรงดอกบัวตูมแบบสุโขทัยที่นี่ก็เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงสร้างไว้เป็นที่ระลึกในศึกที่พระองค์กระทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน   

แต่น่าสังเกตว่าเจดีย์นี้ตั้งอยู่ที่ดอนริมแม่น้ำ ไม่ใช่ที่เหมาะแก่การชนช้าง อีกทั้งเจดีย์ทรงดอกบัวตูมนี้ยังน่าจะเป็นเจดีย์แรกสร้างในรุ่นไม่เกินสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ดังที่ศรีศักร วัลลิโภดม เคยเสนอไว้[14]  เจดีย์ยุทธหัตถีจึงไม่ใช่เจดีย์สร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง  นักวิชาการรุ่นหลังจึงมีแนวโน้มไม่เชื่อข้อสันนิษฐานนี้ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ธีระวัฒน์ แสนคำ ได้โต้แย้งความเชื่อนี้โดยเสนอข้อมูลหลักฐานว่า บริเวณที่ตั้งของเจดีย์นี้คือวัดพระบรมธาตุเดิมก่อนย้ายไปยังพื้นที่ปัจจุบัน[15]       

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยุทธหัตถี ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอทางวิชาการที่ว่า เป็นการเขียนเล่าเรื่องวีรกรรมพระมหากษัตริย์ตามขนบ “มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีป” มากกว่าจะเป็นเรื่องจริงตามตัวบทอักษร[16]  และนักประวัติศาสตร์ไทยไม่ค่อยมองศิลาจารึกในฐานะประวัติศาสตร์นิพนธ์  ชอบมองในแง่ที่เป็นหลักฐานสะท้อนข้อเท็จจริงมากเกินไป 

นอกจากนี้บริเวณไม่ไกลจากวัดพระบรมธาตุบ้านตาก ยังมีร่องรอยที่แสดงถึงความเป็นเมืองเก่าสมัยอยุธยาอยู่ที่วัดโขงพระโหมด ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง  เมืองตากที่บ้านตากมีลักษณะเป็นชุมชนริมแม่น้ำ  หรืออาจเป็นเมืองอกแตก แม่น้ำผ่ากลาง เพราะพบร่องรอยชุมชนเก่าอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามกับบริเวณเจดีย์ยุทธหัตถี (อนุโลมเรียก), วัดพระบรมธาตุบ้านตาก, วัดโขงพระโหมด (ร้าง), วัดวิเศษวานิช, วัดเจดีย์เจ็ดยอด, วัดสันย่าผ้าขาว เป็นต้น

คำว่า “บ้านระแหงแขวงเมืองตาก” (ตามเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม) หรืออย่างคำเรียกตามพระราชพงศาวดารที่ระบุว่า “บ้านระแหงใต้เมืองตาก”[17] นั่นก็คือร่องรอยหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่ยืนยันได้ว่า เมืองตากในรุ่นอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มาเป็นเจ้าเมืองนั้นอยู่ที่บริเวณบ้านตาก  แม้แต่หลักฐานพม่าอย่าง “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” ก็ยังระบุชื่อ “บ้านระแหง” กับ “เมืองตาก” เป็นคนละแห่งกัน และบางครั้งก็ระบุถึงเมืองตากว่า “เมืองบ้านตาก”[18]

อย่างไรก็ตาม การที่ได้ข้อสรุปเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ระแหงไม่สำคัญ ตรงข้ามระแหงยังคงสำคัญมากสำหรับปริมณฑลของเมืองตาก ตลอดจนประวัติศาสตร์ของเมืองตาก จนกล่าวได้ว่าไม่สามารถจะกล่าวถึงเมืองตากที่บ้านตากอย่างลอยๆ โดยไม่กล่าวถึงบ้านระแหงได้เลย เพราะผู้คนจากทั้งสองแห่งต่างมีบทบาทควบคู่กันมา

เอกสารตำนานล้านนามักเรียกเจ้าเมืองบ้านตากกับระแหงว่า “พระยาตากระแหง” หรือ “เจ้าเมืองตากระแหง” หมายถึงเจ้าเมืองผู้เป็นอธิบดีเมืองที่มีอำนาจสูงสุดในย่าน ปกครองทั้งบ้านตากกับระแหง[19] และสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ทรงมีพระตำหนักที่ประทับในย่านนี้ทั้งสอง 2 แห่ง คือ “พระตำหนักสวนมะม่วง” ที่บ้านระแหง กับ “พระตำหนักบ้านตาก” ใกล้หาดทรายแม่ปิงที่บ้านตาก  

นอกจากคำว่า “ตากระแหง” แล้วคำว่า “แม่ตาก” ที่ผู้เขียนใช้ในที่นี้ ก็สามารถใช้ในความหมายที่สื่อความถึงบริเวณทั้งบ้านตากกับระแหง เพราะ “แม่ตาก” ในอีกนัยหนึ่งหมายถึง “แม่น้ำตาก” ซึ่งเป็นอีกชื่อของลำน้ำแม่ปิงบริเวณเมืองตาก ตามธรรมเนียมเก่าที่นิยมเรียกชื่อแม่น้ำลำคลองตามชื่อย่านชุมชนเมืองสำคัญที่แม่น้ำไหลผ่าน 

ส่วน “ระแหง” หมายถึงบริเวณลำน้ำแยก (แตกระแหง) ภาคกลางและตะวันตกจะมีอีกคำเรียกว่า “แพรก” เช่นเรียกบริเวณปากน้ำตอนใต้ของเมืองกาญจนบุรีเก่า (ที่ตำบลลาดหญ้า เชิงเขาชนไก่) อันเป็นจุดบรรจบกันระหว่างลำน้ำแควใหญ่กับแควน้อย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำแม่กลองว่า “ปากแพรก” ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2375 รัชกาลที่ 3 ได้ทรงตั้งเมืองกาญจนบุรีใหม่ขึ้นที่บริเวณดังกล่าว

น่าสังเกตว่า “ระแหง” ก็มีพัฒนาการเช่นนี้เหมือนกัน กล่าวคือเข้าใจว่าเดิมหมายถึงบริเวณจุดบรรจบกันระหว่างลำน้ำแม่ปิงกับห้วยแม่ท้อ ซึ่งเป็นบริเวณสำคัญเพราะห้วยแม่ท้อเป็นเส้นทางโบราณไปด่านแม่สอดและข้ามฝั่งไปพม่า “ระแหง” ในภายหลังต่อมากลายเป็นศูนย์กลางหลักของย่านแทนที่บ้านตาก เช่นเดียวกับที่ “ปากแพรก” กลายเป็นเมืองกาญจนบุรีแทนที่บริเวณตำบลลาดหญ้า    

อนึ่ง ถึงแม้ว่าอยุธยาจะมีกฎห้ามเจ้าเมืองติดต่อไปมาหาสู่กันเอง เช่น ใน “กฎมณเฑียรบาล” ระบุว่า “หนึ่งหัวเมืองหนึ่งกัน เจ้าเมืองหนึ่งกัน ไปหาเมืองหนึ่ง โทษถึงตาย”[20]  แต่เราก็จะเห็นว่าเจ้าเมืองตากกับเจ้าเมืองระแหงนั้นจะต้อง “ซี๊ย่ำปึก” กันแน่ ๆ ไม่งั้นอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน  ในเมื่อระแหงเป็นเมืองด่านของตาก นักศึกษาประวัติศาสตร์จะทราบกันดีถึงวิธีการอ่านหลักฐานที่ว่า สิ่งใดห้าม แปลว่าสิ่งนั้นมีอยู่  ถึงจะห้ามไม่ให้เจ้าเมืองหนึ่งติดต่อไปมาหาสู่กัน  แต่ในทางปฏิบัติคงห้ามได้ยาก  

เจตนาของกฎหมายข้อนี้คือส่วนกลางกลัวว่าเจ้าเมืองจะคิดการกบฏ แต่หากเป็นการติดต่อกันโดยไม่มีเจตนาดังกล่าวนี้แล้วไซร้  ก็ไม่มีกษัตริย์ส่วนกลางพระองค์ใดจะมากวดขันเข้มงวดในเรื่องจุกจิกอย่างนี้ได้ ยิ่งกับเมืองปลายแดนที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงด้วยแล้ว  ยิ่งไม่สามารถจะสอดส่องควบคุมได้ถ้วนทั่ว  นอกจากระแหง  ลูกน้องคนสนิทของพระยาตากสิน ชนิดร่วมหัวจมท้าย ติดตามไปทำศึกปกป้องอยุธยาจากพม่าด้วยกัน และในการเดินทัพไปหัวเมืองตะวันออก ก็ร่วมไปด้วย ยังได้แก่ “พระเชียงเงิน” เจ้าเมืองเชียงเงิน (คาดว่าเมืองนี้อยู่ที่ย่านวังเจ้าในปัจจุบัน)    

“เหนือก็ไม่ใช่ กลางก็ไม่เชิง” “แม่ตาก” ในฐานะ “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน”

ร่องรอยอดีตที่บ่งชี้ว่าแม่ตากเคยเป็นหัวเมืองประเทศราชมาก่อน  ก็คือเป็นเมืองที่มีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ท้องถิ่นปกครอง เรื่องนี้ลาลูแบร์ก็ไม่พลาดที่จะบันทึกไว้เช่นกัน  ดังที่มีเนื้อความระบุว่า “แม่ตากนั้นกล่าวกันว่า เป็นเมืองที่มีเจ้าสืบวงศ์ครอบครอง ขึ้นต่อพระเจ้ากรุงสยาม เรียกชื่อเจ้าผู้ครองว่า พญาตาก (Pa-ya-tac) อันหมายความว่าเจ้าแห่ง (เมือง) ตาก”[21]  

สอดคล้องกับที่ในตัวบท “กฎมณเฑียรบาล” “พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน” และ “พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง” ไม่ปรากฏชื่อเมืองตากหรือระแหง อยู่ในรายการหัวเมือง จะว่าเป็นเมืองขึ้นกับกำแพงเพชรก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีในรายนามขุนนางหัวเมืองกำแพงเพชรไปอีก  การไม่ปรากฏชื่อตำแหน่งในกฎหมายเก่านี้ที่จริงคำตอบก็อยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์นั่นแหล่ะ  เพราะในสมัยอยุธยาตอนต้น (ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 พ.ศ.2112 เป็นอย่างน้อย) ตาก-ระแหง ยังเป็นเมืองที่มีเจ้านายท้องถิ่นปกครองตนเองอยู่ ไม่ใช่หัวเมืองที่อยุธยาแต่งตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครอง จึงไม่จำเป็นต้องปรากฏนามตามตัวบทกฎหมายข้างต้น   

ในแง่นี้ก็เป็นร่องรอยหลักฐานที่บอกโดยไม่ได้บอกว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อาจจะคือเจ้าเมืองตากคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งไปจากอยุธยา  นั่นหมายความว่ากว่าอยุธยาจะสามารถเข้าแทรกแซงตำแหน่งเจ้าเมืองของตากได้ก็ล่วงมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว  คำถามแทรกในส่วนนี้ก็คือทำไมตากจึงมีอภิสิทธิ์ยาวนานมาขนาดนั้น? 

ที่มาภาพ: หอมรดกไทย

เช่นเดียวกับ พิษณุโลก นครราชสีมา จันทบุรี และนครศรีธรรมราช ซึ่งต่างก็เคยเป็นหัวเมืองประเทศราช  แต่ทั้งสี่หัวเมืองข้างต้นเมื่อเปลี่ยนเป็น “หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน” ไปเป็น “หัวเมืองชั้นใน” แล้วล้วนแต่ถูกยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเดิมที่เป็นเชื้อสายเจ้านายท้องถิ่น  ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากเมื่อครั้งยังเป็นประเทศราช  ภายหลังเปลี่ยนเป็นขุนนางที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางในสมัยราชวงศ์สุโขทัย คือในช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ.2112 

ขณะที่เนื้อความในจดหมายเหตุลาลูแบร์ สอดคล้องกับหลักฐานจากกฎหมายเก่าในส่วนนี้  ตากยังคงมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ท้องถิ่นปกครองอยู่จนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างน้อย  กรณีนี้อธิบายได้อย่างหนึ่งว่า ตากเป็นเมืองที่ชนชั้นนำท้องถิ่นเดิมยังคงมีอำนาจวาสนาและครองอยู่ต่อมาแม้กระทั่งหลังเปลี่ยนผ่านภายใต้ราชวงศ์สุโขทัย   

ดังจะเห็นได้ว่ารัชกาลสมเด็จพระนเรศวรได้มีการตั้งบ้านระแหงขึ้นเป็นเมืองด่านของพิษณุโลก  ภายหลังจากประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าที่เมืองแครงไปแล้ว  นั่นอาจเป็นสิ่งยืนยันว่าชนชั้นนำในเขตแม่ตาก มีบทบาทสนับสนุนสมเด็จพระนเรศวรในการต่อต้านพม่า จึงไม่มีความจำเป็นที่สมเด็จพระนเรศวรจะยกเลิกเจ้าครองเมืองเดิมที่เป็นเชื้อวงศ์ของท้องถิ่น  เพราะเจ้าเมืองบริเวณนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อนโยบายต่อต้านพม่าของพระองค์ 

ตรงข้ามกับบางเมืองที่เป็นอุปสรรค คือยังสมัครใจจะอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระเจ้านันทบุเรง ไม่ยอมรับการประกาศอิสรภาพของพระองค์ที่เมืองแครง  ยังคงเคยชินอยู่กับรัชกาลก่อนหน้าคือสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่สวามิภักดิ์ต่อพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง  สมเด็จพระนเรศวรถึงกับต้องนำทัพไปปราบปรามด้วยพระองค์เองในครั้งนั้นกลับเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตาก  เข้าใจว่าเจ้าเมืองตากเวลานั้นก็มีส่วนร่วมในการปราบเจ้าเมืองกำแพงเพชรอยู่ด้วย  กำแพงเพชรจึงแพ้ราบคาบในศึกนี้     

กล่าวในเชิงเปรียบเทียบ, ขณะที่หัวเมืองศูนย์กลางปลายแดนในที่อื่นต่างก็ถูกปรับเปลี่ยนโดยราชวงศ์สุโขทัยได้ปฏิรูปจากการแต่งตั้งขุนนางส่วนกลางหรือคนที่ไว้วางใจได้ให้เป็นเจ้าเมืองแทนชนชั้นนำเดิม บางเมืองที่ยังไม่สามารถแทรกแซงได้ก็จะส่ง “ปลัดยกกระบัตร” ไปเป็น “แคนดิเดต” รอวันเจ้าเมืองคนเก่าตายเมื่อไหร่ ก็พร้อมเลื่อนตำแหน่งให้ปลัดยกระบัตรนั้นไปเป็นเจ้าเมืองแทนทันที อย่างไรก็ตามนโยบายนี้ของราชวงศ์สุโขทัยนับเป็นการปฏิรูปภายในระบบราชการที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย  ที่สร้างอำนาจให้แก่สามัญชน  ทำให้คนธรรมดาสามัญชนที่มีความรู้ความสามารถหรือมีความชอบก็เป็นเจ้าเมืองได้ 

จากที่เป็นหัวเมืองศูนย์กลางปลายแดนที่ยังปกครองโดยเจ้านายพื้นถิ่นอยู่จนถึงพุทธศตวรรษที่ 23 นี้เอง  เมื่อนายสินแซ่แต้ได้มาเป็นเจ้าเมืองแต่ก็มีสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำท้องถิ่น  ขนบความนิยม อำนาจบารมี ความเป็นเครือญาติ จึงได้กลายเป็นฐานให้แก่พระยาตากสิน 

คำว่า “พระยาตาก” ที่เรียกสินแซ่แต้ เป็นคำที่มีความหมายมากกว่า “พระยา” ผู้ครองเมืองในที่อื่น  เพราะสถานะของเจ้าเมืองตากที่ยังคงเป็นเจ้าท้องถิ่นอยู่มาช้านาน  ทำให้พระยาตากสินเมื่อเดินทัพออกจากอยุธยาไปถึงจันทบุรี  เจรจาความเมืองกับพระยาจันทบุรี ก่อนจะเปิดศึกตีเมืองจันทบุรีนั้น  พระยาตากสินเป็นเจ้าเมืองในระดับชั้นที่สูงกว่าพระยาจันทบุรีแล้ว 

ดังจะเห็นได้จากที่พระราชพงศาวดารฉบับก่อนชำระได้ระบุถึงพระดำรัสตอบพระยาจันทบุรี เมื่อพระยาจันทบุรีวางอุบายจะเชิญเข้าเมืองแล้วจับประหารเสีย  พระยาตากสินตอบปฏิเสธคำเชิญชวนของพระยาจันทบุรีว่า:     

         “ซึ่งพระยาจันทรบูรให้มาเชิญเราเข้าไปนั้น เห็นไม่ต้องตามประเวณีธรรม ด้วยเหตุว่าผู้น้อยควรกระทำสัมมาคารวะแก่ผู้ใหญ่จึงจะเป็นมงคล แลจะให้ผู้ใหญ่เข้าไปหาผู้น้อยนั้นมิบังควร เป็นอัปมงคลแก่พระยาจันทบูร เรายังจะเข้าไปมิได้ ให้พระยาจันทบูรมาหาเราก่อน”[22]

ด้วยความที่พระยาจันทบุรีผู้นี้กับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ควรจะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน  แต่เพราะสถานะของเมืองที่ครอง ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ สามารถใช้ “มุข” ผู้ใหญ่-ผู้น้อย ในการเจรจาความเมืองกับพระยาจันทบุรี  ถึงแม้นว่าที่ไม่ยอมเข้าเมืองไปตามคำเชิญชวนจริง ๆ อาจเป็นเพราะทราบว่าเป็นกลอุบายของพระยาจันทบุรีก็ตาม แต่ที่สามารถ “เล่นมุข” แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อยเช่นดังกล่าวนี้ได้ ยังไงก็มีนัยถึงความสำคัญของเมืองตากที่ทรงครองมาก่อนหน้าในยุคสมัยนั้น 

ความสัมพันธ์แม่ตาก-ล้านนา

ที่มาภาพ: นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550)

นอกจากส่งเรือบรรทุกสินค้าของป่าลงมาขายที่อยุธยาแล้ว  คนตากยังส่งกองเกวียนออกไปค้าขายทางบกกันอีกด้วย  สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เมื่อครั้งก่อนเป็นเจ้าเมืองตากก็เคยเป็น “พ่อค้าเกวียน” มาก่อน  ดังปรากฏความแทรกในบนแพนกของ “พระราชพงศาวดารฉบับหมายเลข 2/ไฆ” ระบุถึงพระองค์ว่า “เดิมชื่อจีนเจ้ง ซึ่งเป็นพ่อค้าเกวียน มีความชอบในแผ่นดิน ได้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ณ เมืองตาก”[23]

เส้นทางลำน้ำแม่ปิงบางช่วงเวลาตื้นเขิน คดเคี้ยว มีโขดหิน และบางช่วงเป็นโคลนเลน ไม่เหมาะแก่การเดินเรือ ไม่เหมือนเส้นลำน้ำน่านที่ขึ้นเหนือผ่านทางอุตรดิตถ์จะสะดวกกว่า แต่สำหรับการเดินทางทางเกวียนเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา  บางท้องที่ที่ลำน้ำหลักไม่สามารถแล่นเรือได้ ก็อาศัยกองคาราวานเกวียนเข้าถึงแหล่งผลิตสินค้าตามหัวเมืองชายป่าดง 

การติดต่อระหว่างตากกับเมียวดีแต่ก่อนก็เช่นกัน  กองคาราวานเกวียนที่จัดการป้องกันตัวมีประสิทธิภาพผ่านเขตทุรกันดารและเฉียดไปใกล้ชุมโจรได้ไม่เป็นปัญหา  บ้างก็อาศัยการแบ่งปันผลประโยชน์แก่ชุมโจรในเส้นทางเป็นค่าผ่านทาง  ซึ่งปกติก็ต้องจ่ายส่วยให้แก่ด่านประจำเมืองที่ผ่านทางอยู่แล้ว  ในแง่นี้ดูเหมือนวิธีการเรียกเก็บผลประโยชน์จากกองคาราวานเกวียนระหว่างโจรผู้ร้ายกับทางการบ้านเมืองไม่ได้แตกต่างกันมากนัก   

ในการติดต่อค้าขายทางเกวียนกับล้านนา สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เวลานั้นย่อมจะเคยรับรู้ความเปลี่ยนแปลงในสังคมล้านนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ลำปาง ซึ่งไม่ไกลจากตาก มีเหตุการณ์ที่ “หนานทิพย์ช้าง” สามัญชนชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่ที่ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง) ได้เป็นผู้นำกอบกู้อิสรภาพให้กับลำปาง แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ครองนครลำปางอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2275-2302 มีทายาทสืบทอดต่อมาในล้านนาที่รู้จักกันในนามว่า “ราชวงศ์ทิพย์จักร”[24] หรือ “ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน” หรือ “ทิพวงศ์” (ตรงข้ามกับ “เมงวงศ์” ที่เป็นฝ่ายพม่า)[25] วงศ์นี้ครองอำนาจอยู่แถบเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง (และเป็นต้นตระกูล “ณ เชียงใหม่” ในปัจจุบัน)  

ด้วยระยะเวลาไม่ห่างกัน อีกทั้งยังพบร่องรอยหลักฐานถึงการติดต่อค้าขายระหว่างกัน  หนานทิพย์ช้างน่าจะเป็น “ไอดอล” ของเจ้าเมืองหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงในสมัยนั้นอย่างสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ  อย่างน้อยการเสี่ยงทายที่วัดดอยข่อยเขาแก้ว ก็ช่วยให้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มีแนวคิดที่ตระหนักว่าสามัญชนอาจสามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ได้  เพราะเป็นยุคที่ผู้นำที่มาจากระบบการสืบสายโลหิตต่างกำลังประสบปัญหาขาดความรู้ความสามารถ ปกครองกดขี่ ไม่อำนวยความยุติธรรม จนส่อว่าจะหมดความชอบธรรมกันถ้วนหน้า นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่าเป็นช่วง “ว่างระเบียบ” หรือ “ว่างแผ่นดิน” อันเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้กลุ่มอื่น ๆ สามารถสถาปนาอำนาจขึ้นแทนที่กลุ่มเดิมได้  แม้จะต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกันอย่างหนักก็ตาม[26]     

อีกอย่างกลุ่มสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มีสายสัมพันธ์แน่นเหนียวกับกลุ่มทายาทหนานทิพย์ช้างนำโดยเจ้ากาวิละ เมื่อต่างก็มีนโยบายเห็นพ้องกันในเรื่องการขับไล่พม่าออกจากล้านนา  หลังจากยกทัพไปตีเชียงใหม่ภายใต้พม่า (“สะโดเมงสอ” หรือ “โปสุพลา” ในหลักฐานไทย) จนได้รับชัยชนะแล้ว  ก็ได้ตั้งกลุ่มเจ้ากาวิละขึ้นไปครองเชียงใหม่[27]  และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นในการที่ล้านนาเข้ามาขึ้นกับสยาม หลังจากอยู่กับพม่ามากว่า 2 ศตวรรษ     

ในการเสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ.2314 ใช้เส้นทางเมืองพิชัย ตีไม่สำเร็จ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2317 ใช้เส้นทางเมืองตาก ให้รวบรวมกองทัพจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ 10 เมือง ไปตั้งรอทัพหลวงอยู่ที่บ้านระแหง จึงตีเชียงใหม่ได้สำเร็จ  มากกว่าเรื่องที่ทรงอ้างเมื่อคราวถอยทัพครั้งแรกว่าธรรมเนียมกษัตริย์เมื่อจะตีเมืองเชียงใหม่ จะต้องตี 2 ครั้งจึงจะสำเร็จ ก็คือเส้นทางเดินทัพมีส่วนอย่างมาก

เนื่องจากเส้นทางผ่านเมืองตาก ทรงคุ้นเคยมาแต่เดิม พระตำหนักสวนมะม่วงที่บ้านระแหง และพระตำหนักบ้านตากใกล้หาดทรายริมแม่ปิงที่บ้านตาก ใช้เป็นที่พักค้างแรมระหว่างเดินทัพไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ที่ตีได้สำเร็จ 

พ.ศ.2317 ปีเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ตีเมืองเชียงใหม่ภายใต้พม่าได้สำเร็จนั้น  ก็เป็นปีเดียวกับที่เป็นจุดเริ่มต้นนโยบาย “ฟื้นม่าน” ในประวัติศาสตร์ล้านนา  คำว่า “ฟื้นม่าน” ที่เปรียบเหมือนรหัสลับในหมู่ผู้นำล้านนาเวลานั้นหมายถึงการต่อต้านขับไล่พม่าออกจากล้านนาโดยตรง[28] 

ในยามปกติ ไม่มีศึกสงคราม พ่อค้าเมืองตากเป็นผู้รวบรวมสินค้าทั้งจากภายในเขตแขวงเมืองตากของตนเองและที่รวบรวมได้จากล้านนาและพม่า จัดส่งลงไปขายให้กับอยุธยา  และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้รับซื้อสินค้าจากอยุธยาบรรทุกเรือใส่เกวียนกลับมาขายให้แก่พ่อค้าล้านนาและพม่าที่เดินทางมาจัดหาสินค้าที่เมืองตากเช่นกัน 

ตามระบบสังคมอยุธยา-ล้านนา-พม่า มักจะไม่สักเลขคนจีน  คนจีนไม่ต้องถูกเกณฑ์ใช้แรงงานเป็นไพร่เหมือนอย่างกลุ่มชาติพันธุ์อื่น  คนจีนจึงสามารถเดินทางค้าขายไปมาระหว่างส่วนกลางกับหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร  คนจีนมีบทบาทเป็นพ่อค้าข้ามแดนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วนั่นเอง  ยิ่งกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอยุธยากับล้านนาด้วยแล้ว  คนจีนยิ่งมีความสำคัญดังจะเห็นได้จากที่มีบันทึกต่างชาติร่วมสมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ระบุไว้ดังนี้:

“พวกจีนดำเนินการค้าอย่างกว้างขวางกับลาว (ในที่นี้หมายถึง “ลาวล้านนา” -ผู้อ้าง) ก่อนที่พวกตาด (คือพม่า-ผู้อ้าง) จะมารุกราน พวกเขาซื้อกำมะหยี่ ไหม สิ่งของต่างๆ พรม ขนม้า ฝ้าย ทอง เงิน และเครื่องถ้วยขาม ซึ่งพวกเขานำไปแลกกับงาช้าง ฝิ่น และเครื่องยา”[29]     

นอกจากนี้ประสบการณ์เมื่อครั้งยังเป็น “จีนเจ้ง” พ่อค้าเกวียนหัวเมืองตาก ส่งกองคาราวานเกวียนออกเดินทางขึ้นเหนือใต้ออกตก ยังเป็นประโยชน์ต่อการกอบกู้ราชอาณาจักร เมื่อต้องเดินทัพออกจากอยุธยาไปหัวเมืองตะวันออกในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 เพราะเป็นการเดินทางทางบกเสียส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่า ณ เวลาเมื่อจวนจะเสียกรุงอยู่นั้น อยุธยาไม่มีกลุ่มไหนเลยที่ชำนาญการเดินทางทางบกที่ไกลถึงเพียงนั้น แถมยังต้องทำศึกกับชุมชนรายทางหลายแห่งกว่าจะถึงจันทบุรีอีก[30]   

ความสัมพันธ์แม่ตาก-พม่ารามัญ

นอกจากกรณีหนานทิพย์ช้าง บ้านปงยางคก เมืองลำปาง ที่พม่าก็มีเหตุการณ์หม่องไจยะ บ้านมุกโชโบ เมืองชเวโบ ตั้งตัวเป็นใหญ่นำไปสู่การสถาปนาราชวงศ์คองบอง หม่องไจยะ (พระเจ้าอลองพญา ในเวลาต่อมา) มีความคล้ายคลึงกับหนานทิพย์ช้างอยู่ประการหนึ่งคือต่างก็เป็นสามัญชน  หม่องไจยะนั้นภูมิหลังเป็นเพียง “ชาวบ้านธรรมดาที่ค่อนข้างมั่งคั่ง”[31]  ผู้นำตามธรรมชาติของพม่าผู้นี้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่อาจจะเป็น “ไอดอล” ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เช่นกัน เพราะสิ่งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทำในเวลาต่อมานั้น  ทั้งสองเคยทำมาก่อนแล้ว    

ทั้งนี้สถานการณ์ภายในของพม่าในช่วงหัวเลี้ยวก่อนที่หม่องไจยะจะตั้งตัวขึ้นมานั้น  ยังมีอะไรที่คล้ายคลึงกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ต้องเผชิญหลังการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์  เนื่องจากต้องทำศึกปราบปรามกลุ่มก๊กต่าง ๆ รอบทิศ ไม่ว่าจะเป็นก๊กพิมาย, ก๊กเจ้าพิษณุโลก, ก๊กเจ้าพระฝาง, ก๊กเจ้านครศรีธรรมราช เป็นต้น  ในพม่าก่อนหน้านั้นก็ได้เกิดกลุ่มก๊กต่างๆ เช่น ก๊กเจ้าคุณะอิน (Gwe-Gunna-Ein) ที่เมืองมะตะยา-อุ้กโผ เป็นก๊กที่มีเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์ตองอูเข้าร่วมด้วย, ก๊กเจ้าขินอู (Hkin-U) อยู่ตอนเหนือของเมืองชเวโบ, ก๊กเจ้าราชาธิราช เป็นกลุ่มขุนนางเก่าอังวะ อยู่เมืองมายดู และก๊กหม่องอองไจยะที่มุกโชโบ

กลุ่มหลังนี้ (หม่องอองไจยะที่มุกโชโบ) ตอนแรกดูอ่อนแอที่สุดแต่กลับกลายเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่งที่สุดจนสามารถรวบรวมก๊กอื่นมาเข้ากับตนได้  เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ถูกกองทัพมอญพะโคบุกเข้าโจมตีจนได้รับความเสียหายอย่างหนักเหมือนก๊กอื่น ๆ  ไม่เพียงเท่านั้น  ก๊กหม่องอองไจยะเมื่อเดินทัพลงใต้ยังเป็นกลุ่มเดียวที่เอาชนะกองทัพมอญและเข้ายึดหงสาวดีตั้งราชวงศ์ใหม่ได้สำเร็จ[32]     

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เมื่อครั้งเป็นเจ้าเมืองตาก นอกจากทำการค้ากับล้านนาและอยุธยาแล้ว  ยังมีการค้ากับพม่าและมอญในอีกฝั่งของแม่น้ำเมย (พม่าเรียก “แม่น้ำต่องยิน” เป็นเครือข่ายของแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำอิระวดี)  สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงล่วงรู้เหตุการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองอีกฝั่งของแม่น้ำเมยเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากเมื่อพ.ศ.2317 ระหว่างเดินทัพไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ทรงแวะพักค้างแรมที่พระตำหนักสวนมะม่วง บ้านระแหง ก็พอดีเป็นช่วงเดียวกับที่กองทัพพม่าอังวะได้ปราบปรามกบฏมอญที่เมืองเมาะตะมะอย่างรุนแรง ทำให้มอญเมาะตะมะได้หลบลี้ภัยเข้ามาทางด่านเมืองตาก (ที่แม่สอด) ทรงถามไถ่ถึงเหตุการณ์ในเมืองพม่าดังนี้:  

“จึงมีพระราชดำรัสให้ล่ามถามว่า พระเจดียฐานอันมีชื่อกลอมป้อม ณ เมืองเมาะตะมะนั้น ยังปรกติดีอยู่ฤา สมิงสุรายกลั่นกราบทูลว่า ยังปรกติดีอยู่ จึงดำรัสให้ถามว่า พระมหาเจดีย์เกศธาตุ ณ เมืองย่างกุ้ง ซึ่งว่าฉัตรยอดหักลงมานั้นยกขึ้นได้แล้วหรือ สมิงสุรายกลั่นกราบทูลว่า พระเจ้าอังวะให้ลงมาปฏิสังขรณ์สามปีแล้วยังหายกขึ้นได้ไม่ จึงตรัสให้ถามว่า ข่าวลือมาว่านางรามัญบุตรีคนเข็ญใจ อายุได้สิบสี่สิบหาปีรู้อรรถธรรมเกิดที่เมืองเมาะตะมะนั้นมีจริงหรือ สมิงสุรายกลั่นกราบทูลว่ามีจริงอยู่ แต่ยังหาได้ส่งขึ้นไปเมืองอังวะไม่”[33]

เมื่อตัดสินพระทัยรับมอญเข้ามาในพระบรมโพธิสมภารแล้ว  ก็ได้โปรดฯ ให้เจ้ารามลักษณ์ พระราชโอรสของพระองค์ ประทับอยู่ที่เมืองตากต่อ ยังไม่กลับธนบุรีพร้อมกับพระราชบิดา เพื่อคอยอำนวยความสะดวกและจัดส่งครัวมอญลงไปยังกรุงธนบุรีต่อไป[34]  ถึงแม้ว่าการช่วยเหลือมอญจะเป็นชนวนเหตุให้พม่าอ้างส่งกองทัพใหญ่มาตีธนบุรี ดังในศึกอะแซหวุ่นกี้ในอีก 2 ปีต่อมา  แต่การเปิดรับผู้ลี้ภัยก็เป็นธรรมเนียมเดิมที่พระมหากษัตริย์สยามปฏิบัติกันสืบมา นั่นคือสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ทรงแสดงพระองค์ในฐานะกษัตริย์ผู้มีบุญบารมีแบบ “พญาจักรพรรดิราช” ในอดีต   

แอนโทนี รีด (Anthony Reid) ได้ใช้หลักฐานจำนวนหนึ่งสรุปว่า สยามกับหงสาวดีมีเส้นทางทางบกติดต่อกันไปมาช้านานแล้ว  และพ่อค้าจีนซึ่งเป็นมุสลิมจากยุนนาน จะนำของใช้ที่ทำจากโลหะและผ้าไหมลงมาตามแม่น้ำอิระวดีกับแม่น้ำโขง  ในทำนองเดียวกัน การค้าเสบียงอาหารที่คึกคักในท้องถิ่นตอนใน ทำให้ต้องขนข้าว, เกลือ, ปลา, น้ำตาล และสินค้าอื่น ๆ จากพื้นที่ลุ่มไปยังเขตที่สูง[35]     

แม่น้ำอิระวดีซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในพม่า-มอญ มีความพิเศษตรงที่เป็นแม่น้ำที่ทั้งกว้าง ลึก และมีความยาวกว่า 2,288 กม. ทอดยาวตั้งเขตภูเขาตอนบนจนถึงทะเลทางใต้  ทำให้พ่อค้าจากตากและล้านนาสามารถส่งสินค้าไปมีส่วนร่วมกับการค้าทางทะเลผ่านทางลุ่มแม่น้ำอิระวดีอีกทางหนึ่ง  ทั้งนี้เมื่อเทียบกันแล้วระยะทางเกวียนจากเชียงใหม่ไปยังแม่น้ำอิระวดี  มีความใกล้และสะดวกกว่าระยะทางจากเชียงใหม่ลงมาแม่น้ำเจ้าพระยา 

เส้นทางการค้ากับเส้นทางเดินทัพมักจะเป็นเส้นทางเดียวกัน  กลุ่มพ่อค้าทางไกลได้บุกเบิกสร้างเส้นทาง  ต่อมาถูกใช้ด้วยวัตถุประสงค์การศึกสงคราม  ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 เมืองตากที่บ้านตากและระแหงต่างถูกกองทัพพม่าภายใต้การนำของเนเมียวสีหบดี (พม่าเรียก “สีหะปะเต๊ะ”) รุกราน เพราะอยู่ในเส้นทางเดินทัพจากเชียงใหม่ลงไปอยุธยา  “มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า” ได้กล่าวถึงเหตุการณ์พม่าตีบ้านตากและระแหงเอาไว้ดังนี้:  

“ฝ่ายสีหะปะเต๊ะแม่ทัพก็ยกทัพตามระยะทางมา ครั้นถึงเมืองบ้านตาก ฝ่ายผู้รักษาเมืองบ้านตากเห็นว่าสีหะปะเต๊ะยกทัพมาช้างม้ารี้พลมากก็ไม่อาจออกจากเมืองไปต่อสู้รบเปนแต่รักษาเมืองตั้งมั่นอยู่

ฝ่ายสีหะปะเต๊ะแม่ทัพเห็นว่า ผู้รักษาเมืองบ้านตากรักษาเมืองอยู่ดังนั้น ก็ขับให้พลทหารเข้าตีเมืองบ้านตาก พวกพลทหารทั้งหลายก็มิได้ย่อท้อกลัวเกรงสาตราอาวุธต่างคนต่างจะเอาความชอบ บ้างขุดกำแพง บ้างเอาบันไดพาดปีนกำแพง ตั้งใจพร้อมกันทำสักครู่หนึ่งก็เข้าเมืองได้ เมื่อเข้าเมืองได้พวกพลทหารก็เก็บริบเอาเงินทองและจับผู้รักษาเมืองพลทหารพลเมืองราษฎรชายหญิงแลเก็บริบสาสตราวุธทั้งปวง แต่เครื่องสาสตราวุธทั้งปวงนั้นส่งไปให้กับสีหะปะเต๊ะแม่ทัพที่ค่าย สีหะปะเต๊ะแม่ทัพก็จัดตั้งหัวหน้าที่ยอมอ่อนน้อมไม่กระด้างกระเดื่องนั้น ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาและให้รักษาเมืองบ้านตากต่อไป…

ครั้นยกจากเมืองบ้านตากก็พักแรมตามรายทางมาตามระยะ ก็ถึงเมืองระแหง ผู้รักษาเมืองระแหงเห็นว่าเมืองบ้านตากก็ไม่อาจจะต่อสู้รบ หัวหน้าจึงพาผู้รักษาเมืองระแหงออกมายอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์กับสีหะปะเต๊ะ ๆ ก็ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แล้วตั้งให้ผู้รักษาเมืองกับหัวหน้านั้นรักษาเมืองระแหงต่อไป”[36]

อนึ่ง “ผู้รักษาเมืองบ้านตาก” ตามหลักฐานข้างต้นไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้รับคำสั่งให้ลงไปปกป้องกรุงศรีอยุธยา  ตามนโยบายการรับศึกครั้งนี้โดยการอาศัยชัยภูมิเกาะเมืองของอยุธยา  ประวิงเวลาเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก อยุธยาจึงไม่ได้สนใจจะปกป้องหัวเมืองท้องถิ่นที่อยู่ตามเส้นทางเดินทัพ ทำให้เกิดจุดอ่อนในการป้องกันศึกพม่าครั้งนี้มาก[37]   

อย่างไรก็ตาม นอกจากเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางบุกอยุธยา  ซึ่งพม่าจะต้องเข้าตีก่อนจะเดินทัพไปถึงอยุธยาแล้ว  ยังพบการใช้ตากเป็นแหล่งทำนาปลูกข้าวเสบียงไว้รอกองทัพ  ดังจะเห็นเมื่อพ.ศ.2317 ภายหลังจากเสร็จศึกตีเชียงใหม่ ระหว่างเดินทัพกลับกรุงธนบุรี เมื่อถึงบ้านระแหง พบนาข้าวผืนใหญ่ที่พม่าส่งคนมาปลูกไว้เพื่อเตรียมการสงครามอยู่ไม่ไกลจากระแหง (คาดว่าในแถบห้วยแม่ท้อ ซึ่งเป็นเส้นทางระแหง-แม่สอด) สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองแล้วดำรัสสั่งให้ถอนทำลายต้นกล้าทิ้งเสียให้หมด[38]  

จะเห็นได้ว่า พม่าเองก็ให้ความสำคัญแก่บ้านตาก-ระแหง ถึงจะไม่พบหลักฐานมากนัก  แต่ก็คาดได้ว่าพ่อค้าพม่าเองก็เคยส่งกองคาราวานเกวียนเข้ามาทำการค้ากับชุมชนที่ตาก  จึงรู้เส้นทางเป็นอย่างดี เมื่อต้องแปรเปลี่ยนเส้นทางนี้จาก “เส้นทางการค้า” ไปเป็น “เส้นทางเดินทัพ” ก็ส่งคนมาทำนาปลูกข้าวเสบียง  และเมื่อพม่ายกทัพมาประชิดสู้ไม่ไหว ผู้รักษาเมืองก็พาคนของตนเองสวามิภักดิ์ แล้วพม่าก็ให้อยู่รักษาเมืองต่อไป 

นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางลี้ภัยสงคราม ดังจะเห็นได้จากกรณีมอญจากเมาะตะมะที่เข้ามาเมื่อ พ.ศ.2317  ก็ได้อาศัยเส้นทางดังกล่าวนี้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ถึงแม้ว่าบ้านตาก-ระแหงจะได้รับผลกระทบจากสงคราม แต่วัดร้างที่มีอยู่หลายแห่งในย่าน  ก็ไม่ใช่ว่าถูกพม่าเผา หากแต่ร้างเพราะกาลเวลา ไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ บ้างก็ถูกบุกรุกทำลายเอาที่ดินไปทำเกษตรกรรม สร้างสถานที่ราชการ สรุปคือเป็นฝีมือคนไทยเองนั่นแหล่ะ หาใช่ใครอื่นไม่…         

เสมือนบทสรุปและส่งท้าย: ไม่มี “เมืองตาก” (ก็) ไม่มี “พระเจ้าตาก”

“ตาก” ไม่เล็กเป็นหัวเมืองใหญ่ และเป็น “ศูนย์กลางปลายแดน” ของอยุธยาในลุ่มแม่ปิง เฉกเช่นเดียวกันเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางปลายแดนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กาญจนบุรีทางทิศตะวันตก ปราจีนบุรีและจันทบุรีทางทิศตะวันออก นครศรีธรรมราชและพัทลุงทางทิศใต้ และก็เป็นธรรมดาสำหรับหัวเมืองที่อยู่ในเขตบริเวณรอยต่อและทางแพร่งแบบนี้จะได้รับอิทธิพลภายนอกเข้ามาผสมปนเปอยู่มาก  คนตากเองก็ดูเหมือน “เหนือก็ไม่ใช่ กลางไม่เชิง” และก็มีอะไรที่ไม่ไทย เนื่องจากมีชายแดนติดกับพม่า 

“ตาก” เป็นหัวเมืองที่มีเจ้านายฝ่ายเหนือปกครองอยู่ยาวนานกว่าหัวเมืองศูนย์กลางปลายแดนที่อื่น  จนทำให้ผู้ครองเมืองที่มีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติและการแต่งงานกับสตรีพื้นเมืองมีลักษณะเป็น “ผู้มีบุญบารมี” และมั่งคั่ง  ซึ่งการสะสมความมั่งคั่งและบุญบารมีที่ว่านี้เป็นสิ่งที่หัวเมืองชั้นในได้แต่ “เหลือบตามองบน” เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำได้  ขืนทำก็หัวหลุดจากบ่าด้วยข้อหาคิดการก่อกบฏเท่านั้น ต่างกันลิบกับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันแค่ไหน ไม่จำเป็นต้องพูดถึง          

การสูญเสียหัวเมืองศูนย์กลางปลายแดน ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติราบรื่นระหว่างส่วนกลางกับหัวเมืองตลอดช่วงสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นปัจจัยสำคัญที่ “ส่อ” ให้เห็น “สัญญาณ” ว่ากรุงจะแตกในเวลาไม่ช้านานหลังจากนั้น เพราะเท่ากับอยุธยาสูญเสียบ้านเมืองที่เป็นกำลังของตนให้แก่พม่า ขณะเดียวกันอยุธยาก็ก่อศัตรูภายในขึ้นในความสัมพันธ์ที่มีกับหัวเมืองเหล่านี้มาตลอดในช่วงก่อนหน้านั้น ทำให้ชนชั้นนำหัวเมืองเกิดคิดอ่านที่จะตั้งตัวเป็นอิสระหลังจาก “กรุง” ถูกพม่าถล่มแล้ว “ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ” ในส่วนนี้มีมากกว่าการต้องพาตนเองและลูกน้องไปเสี่ยงตายในสงครามสู้รบกับพม่า    

ในแง่นี้การไม่ช่วยเมืองหลวงปล่อยให้ข้าศึกทำลาย กลายเป็นทางออกของหัวเมืองที่มีศักยภาพพร้อมจะแยกตัวเป็นอิสระ  แต่กลุ่มของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แตกต่างจากกลุ่มก๊กอื่นๆ ตรงที่เป็นกลุ่มที่มีนโยบายฟื้นราชอาณาจักร  ไม่ได้คิดตั้งตนเป็นอิสระหรือเป็นใหญ่เพียงลำพังในท้องถิ่นของตนเท่านั้น  ในการกอบกู้ราชอาณาจักร หม่องอองไจยะต้องยกทัพลงใต้ไปปราบมอญ ขณะที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ต้องยกทัพไปหัวเมืองตะวันออก ก่อนจะย้อนกลับมาขับไล่พม่าและผู้นำท้องถิ่นที่พม่าตั้งไว้อย่าง “เจ้าทองอิน” ที่ธนบุรี กับ “สุกี้พระนายกอง” ที่ค่ายโพธิ์สามต้น           

กล่าวได้ว่า ถ้าไม่มี “เมืองตาก” ก็ไม่มี “พระเจ้าตาก” และถ้านายสินแซ่แต้ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองตาก ก็อาจไม่มีพื้นฐานมากพอที่จะเดินทัพไปตีเมืองจันทบุรี  หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไม่เคยเป็นเจ้าเมืองตากมาก่อน ก็อาจไม่เป็น “พระเจ้าตาก” อย่างที่เรารู้จัก  แต่เมื่อพูดถึงการกอบกู้บ้านเมืองจากการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 พูดถึงแต่บทบาทของจันทบุรีและหัวเมืองตะวันออกไม่ได้  เมืองตากก็มีบทบาทจากการเป็นฐานให้แก่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไม่น้อย

นอกจากเป็นพื้นฐานที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าเมืองตาก มีความมั่งคั่งเพราะความรุ่งเรืองของการค้าที่ตากมีกับอยุธยา ล้านนา และพม่าแล้ว  การเป็นเมืองที่มีปฏิสัมพันธ์กับล้านนาและพม่าสูง  ยังทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในล้านนาและพม่า กลายเป็นโลกทัศน์ความรับรู้ที่จะสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการฟื้นราชอาณาจักรขึ้นใหม่ภายหลังจากการเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีและเป้าหมายเดียวกัน แต่ความที่ต่างบริบท ผลลัพธ์ก็ต่างกันตามมา หนานทิพย์ช้างกับหม่องอองไจยะต่างก็ประสบความสำเร็จ มีราชวงศ์ทายาทได้สืบทอดต่อมา  แต่สยามกลับต้องเปลี่ยนผ่านอีกครั้งใน พ.ศ.2325 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และกรุงธนบุรีไม่ได้ไปต่อ ปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการอธิบายจากแง่มุมที่มากกว่า “คอนเซ็ปต์” ที่ว่า สยาม/ไทยมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากเพื่อนบ้าน       

มุมมองที่ไม่พ้นไปกว่ายุคปฏิรูปรัชกาลที่ 5 ประกอบกับการชำระพระราชพงศาวดารที่มีการนำเอาเรื่องเล่ามุขปาฐะมาเป็นข้อเท็จจริง นอกจากทำให้พระเจ้าตากเคยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรแล้ว ยังทำให้มองความสำคัญของเมืองตากคลาดเคลื่อนไปอย่างน่าเสียดาย  ยังมีเมืองอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาในลักษณะนี้ เป็นปัญหาของ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” และมุมมองของนักประวัติศาสตร์ในรุ่นหลังมากกว่าจะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์     

อย่างไรก็ตาม ที่ผู้เขียนเสนอข้อมูลหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่าเมืองหนึ่งซึ่งมีบทบาทต่อการสถาปนาอาณาจักรธนบุรี ในที่นี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์มุ่งหมายให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในท้องถิ่น (ท้องถิ่นนิยมก็เป็นหลุมพรางพอกันกับชาตินิยม) หากแต่การอภิปรายตามหัวข้อคำถามนี้เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดแง่มุมที่ใช้มองพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมในเรื่องแวดล้อมได้ดีขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตาก ธนบุรี และหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ล้วนแต่มีมิติที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก  สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อย่างที่เรารู้จักก็เพราะทรงเรียนรู้จากเพื่อนบ้านข้างเคียงมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเจ้าเมืองตาก  ทั้งเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรอย่างล้านนาและศัตรูอย่างพม่า เป็นต้น     

เชิงอรรถ


  • [1] จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2552), หน้า 28.  
  • [2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และ สุจิตต์ วงษ์เทศ (บก.). อภินิหารบรรพบุรุษ. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2545), หน้า 1-2.
  • [3] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2551), หน้า 35.
  • [4] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2564), หน้า 653.
  • [5] ต้นทางแนวคิดนี้มาจากการบุกเบิกของโอลิเวอร์ ดับบลิว. โวลเทอร์ส ขอให้ดู Oliver W. Wolters. History, Culture, and Region in Southeast Asian Perspectives.  Ithaca: Institute of Southeast Asian Studies Cornell University, 1982; ตัวอย่างการอภิปรายถึงแนวคิดนี้ในภาษาไทยกรณีอยุธยากับหัวเมืองดู อาคม พัฒิยะ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์. ศรีรามเทพนคร: รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2545), หน้า 45-64; กรณีประวัติศาสตร์ภูเก็ตและนครศรีธรรมราช ขอให้ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์. กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย: ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2540; กรณีพม่า ขอให้ดู โรเบิร์ต เอช. เทเลอร์ (Robert H. Taylor). รัฐในพม่า (The State in Burma). แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550), บทที่ 1.   
  • [6] สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. “พระนามทางการที่ปลาสนาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 32 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม, 2553), หน้า 84-97.
  • [7] ดูเอกสารมติครม.นี้ในภาคผนวกของเล่ม ประชุมหมายรับสั่งภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี. (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการพิจารณาจัดพิมพ์เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2523), หน้า 59.
  • [8] คาร์ล บอค (Carl Bock). ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (Temple and Elephant). แปลโดย เสถียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะละ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550), หน้า 118.
  • [9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 121.
  • [10] จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, หน้า 28.  
  • [11] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. รวบรวมโดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ, (เชียงใหม่: ตรัสวิน, 2543), หน้า 163.
  • [12] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง. (นนทบุรี: มสธ., 2555), หน้า 8.
  • [13] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “เมืองตากของพระเจ้าตาก คือ บ้านตาก” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 ฉบับที่ 11 (กันยายน, 2561), หน้า 104-120.
  • [14] ดูรายละเอียดใน ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2552; ส่วนประเด็นความสำคัญของรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ขอให้ดู พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ศาสนาและการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2545), บทที่ 6.   
  • [15] ธีระวัฒน์ แสนคำ. “เจดีย์ยุทธหัตถีหรือพระมหาธาตุเจดีย์แห่งเมืองตาก? บทวิพากษ์ปัญหาจากการศึกษาประวัติศาสตร์แบบรัฐชาตินิยม” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 32 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2554), หน้า 132-145.
  • [16] ดูการอภิปรายประเด็นปัญหานี้ใน กำพล จำปาพันธ์. คชายุทธ์-พุทธ์ชาติ์: ยุทธหัตถีและสงครามบนหลังช้าง/พุทธศาสนากับความเป็นชาติในประวัติศาสตร์ศรีลังกา อุษาคเนย์ และสยาม. พิษณุโลก: สถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2558.
  • [17] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเล. (กรุงเทพฯ: โฆสิต, 2551), หน้า 76.
  • [18] มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า นายต่อแปล. (กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2562), หน้า 319-320.
  • [19] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 163, 164.
  • [20] ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามต้นฉบับหลวงตรา 3 ดวง เล่ม 1. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529), หน้า 84.
  • [21] จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, หน้า 28.  
  • [22] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 49.
  • [23] เรื่องเดียวกัน, หน้า 35.
  • [24] ตำนานสิบห้าราชวงศ์. ปริวรรตโดย สมหมาย เปรมจิตต์, (เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2540), หน้า 118-119.
  • [25] ที่วงศ์นี้ได้รับการกล่าวถึงมากในภายหลัง ส่วนหนึ่งก็เพราะสร้างความชอบธรรมให้แก่สยามเมื่อจัดการปฏิรูปรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวอย่างงานบุกเบิกในส่วนนี้ก็เช่น พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค). พงศาวดารโยนก (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ). (พระนคร: กรมศิลปากร, 2504), ภาค 5-6.  
  • [26] นิธิ เอียวศรีวงศ์. ว่างแผ่นดิน: ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ “กรุงแตก” ในสามราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2562.
  • [27] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 147.
  • [28] สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา (ฉบับสมบูรณ์). (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์, 2561), หน้า 237.
  • [29] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (François-Henri Turpin). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปง. แปลโดย สมศรี เอี่ยมธรรม, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2522), หน้า 234.
  • [30] ดูรายละเอียดการเดินทัพไปหัวเมืองตะวันออกใน กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.  
  • [31] หม่องทินอ่อง (Maung Htin Aung). ประวัติศาสตร์พม่า. แปลโดย เพ็ชรี สุมิต, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2556), หน้า 162.  
  • [32] ภมรี สุรเกียรติ. เมียนมาร์-สยามยุทธ์. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2553), หน้า 164-165.
  • [33] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเล, หน้า 71.
  • [34] พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม 2. แปลโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, (พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2505), หน้า 171.  
  • [35] แอนโทนี รีด (Anthony Reid). เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ.1450-1680 เล่มสอง การขยายตัวและวิกฤติการณ์. แปลโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ, (กรุงเทพฯ: สกว., 2548), หน้า 56.
  • [36] มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า นายต่อแปล, หน้า 319-320.
  • [37] อย่างไรก็ตาม จากมุมมองพม่า การตีอยุธยาก็ยังเป็นศึกที่ “โหดหิน” กว่าศึกใดๆ ของพวกเขาดู สุเนตร ชุตินธรานนท์. สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2552.
  • [38] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเล, หน้า 115.

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง