เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
หลังผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เขต 1 บู้ จเด็ศ จันทรา จากพรรคเพื่อไทยสามารถปักธงชัยเหนือ โฟล์ค ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ จากพรรคประชาชนไปได้ ด้วยคะแนนที่ห่างกันมากกว่า 6 พันคะแนน (37,209 คะแนน ต่อ 30,640 คะแนน) ซึ่งเป็นการชนะการเลือกตั้งของเพื่อไทยครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ในเขตการเลือกตั้งนี้ วันนี้ผมจึงชวนทุกคนลองมาถอดรหัสปัจจัยที่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถเอาชนะพรรคประชาชนในพื้นที่ที่พรรคก้าวไกลเคยปักธงชัยไว้ก่อนหน้า พร้อมกับอยากชวนทุกคนลองมาทำนายความไปได้ของการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าในปี 2570
เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยสามารถคว้าชัยชนะได้
เริ่มแรกผมอยากชวนทุกคนมาสำรวจปัจจัยที่อาจทำให้ บู้ จเด็ศ จากพรรคเพื่อไทยสามารถคว้าชัยเหนือพรรคประชาชนได้ โดยอาจแบ่งเป็น 2 ปัจจัยเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
1. การระดมสรรพกำลังจากบ้านใหญ่ทั้งในและรอบพิษณุโลก
การระดมสรรพกำลังของพรรคเพื่อไทยในรอบนี้ นับได้ว่าเป็นการระดมสรรพกำลังจากบ้านใหญ่ทั้งในและรอบพื้นที่โดยแท้ เริ่มต้นด้วยสมศักดิ์ เทพสุทิน บ้านใหญ่จากจังหวัดสุโขทัยอันเป็นเขตที่ติดต่อกับพิษณุโลก ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เขาก็ถูกส่งให้มาเป็นแม่ทัพนำการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย
ต่อมาก็มีการสนับสนุนเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีเมืองพิษณุโลกและเป็นภรรยาของ สุชน ชามพูนท อดีต สส.พิษณุโลกหลายสมัย รวมถึงเคยส่งลูกสาวของตนลงแข่งเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยมาแล้ว
ยังมีคลื่นสนับสนุนจากมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก และอดีต สส.พิษณุโลกร่วมสนับสนุนบู้อีกแรง ส่งผลให้บ้านใหญ่ทั้งสามต่าง “ร่วมมือกัน” ผลักดันบู้ให้ลงสู่สนามการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จนได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด
เปรมฤดี ชามพูนท และมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ทั้งคู่ต่างนั่งอยู่ในตำแหน่งบริหารขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดพิษณุโลก ให้คำมั่นว่าจะสามารถทำงานร่วมมือกับบู้ จเด็ศได้แน่นอน จึงเป็นแรงหนุนที่สร้างความได้เปรียบแก่บู้ ยิ่งในวาระที่ผู้คนในพิษณุโลกกำลังเผชิญกับปัญหาในตัวเมืองมากมาย โดยเฉพาะปัญหาขยะล้นเมืองที่บู้กล่าวว่าจะทำงานร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่นและหน่วยงานของส่วนกลาง เป็นอาวุธสำคัญของบู้ในการหาเสียงที่ผ่านมา
อาจต้องกล่าวว่าชัยชนะของการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เกิดจากความสำเร็จของการระดมพลังทางการเมืองของบ้านใหญ่ทั้งในและรอบพื้นที่ มากกว่าจะเป็นความสำเร็จของการระดมสรรพกำลังของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากในช่วงหาเสียงไม่มีการส่งแกนนำของพรรคเพื่อไทยมาเป็นแรงสนับสนุนในการหาเสียงแต่อย่างใด อาจมีการส่ง ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ (อาจารย์หญิง) รองเลขาธิการพรรคลงมาช่วยในการหาเสียง แต่ก็ต้องกล่าวด้วยว่าแต่เดิมพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกจะอยู่ในความรับผิดชอบของอาจารย์หญิงอยู่แล้ว นับว่าไม่ใช่การส่งแกนนำ “ระดับแนวหน้า” มาช่วยแต่อย่างใด
สุดท้ายเราจึงอาจอนุมานได้เลยว่าการเลือกตั้งรอบนี้เป็น “ความสำเร็จของบ้านใหญ่” มากกว่าความสำเร็จของพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่เคยได้รับชัยชนะเลยในรอบเกือบ 20 ปี
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เปรมฤดีและมนต์ชัยต่างเป็นคู่แข่งในทางการเมืองของกันและกัน เปรมฤดีเลือกส่งลูกสาวของตนอย่าง ณัฐทรัชต์ ชามพูนท ลงเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย ขณะที่มนต์ชัยเลือกส่ง อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ ลูกชายของตนลงเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าแม้ครั้งนี้ทั้งคู่จะร่วมมือกันผลักดันบู้จนชนะการเลือกตั้ง แต่สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ในรอบถัดไป ทั้งคู่จะยังร่วมมือกันอยู่หรือไม่ หรือทั้งคู่จะกลับมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองของกันและกันดังเดิม
กระทั่งบู้ จเด็ศจะกลับมาลงเลือกตั้งในพิษณุโลกเขต 1 อีกหรือไม่ หรือจะกลับไปลงสมัครในเขต 3 ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งเดิมของตน เหล่านี้ยังเป็นความเป็นไปได้ที่น่าจับตามอง
2. การไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขต
ปัจจัยข้อนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การระดมสรรพกำลังของบ้านใหญ่ทั้งสามประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อมรอบนี้ โดยจากการประเมินของผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนพร ศรียากูล และผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระ หวังสัจจะโชค ทั้งคู่ให้สัมภาษณ์กับทางมติชนทีวีไปในทิศทางเดียวกันว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกลในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดมาจากคะแนนการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขตถึง 1 ใน 3 หรือมากกว่า 10,000 คะแนน ส่งผลให้การเลือกตั้งซ่อมในรอบนี้พรรคประชาชนที่รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกลจึงอาจสูญเสียคะแนนไป เห็นได้จากคะแนนการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้พรรคประชาชนได้คะแนนรวม 30,640 คะแนน จากเดิมที่เคยได้สูงถึง 40,842 คะแนน ซึ่งคะแนนหายไปเกือบ 1 หมื่นคะแนน ใกล้เคียงกับตัวเลขการประเมินของอาจารย์ทั้งสองในส่วนของคะแนนที่พรรคก้าวไกลเคยได้จากการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขตเมื่อคราวก่อน
ขณะที่จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็มีจำนวนลดลง จากเดิมที่มีผู้มาใช้สิทธิ์กว่า 104,852 คนหรือกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์มีเพียง 71,827 คน หรือร้อยละ 54.95 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าการเลือกตั้งรอบที่แล้วกว่า 3 หมื่นคน
เหล่านี้จึงส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงว่าคะแนนของพรรคประชาชนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จะเป็นผลมาจากการไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขต เนื่องจากตัวเลขคะแนนเกือบ 1 หมื่นคะแนนที่หายไปมีความไปได้ว่าจะอยู่ในจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 3 หมื่นคนที่ลดลงจากครั้งที่แล้ว
ทั้งนี้เราก็ไม่อาจละเลยคุณสมบัติของผู้สมัครว่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คะแนนจากพรรคก้าวไกลไม่ส่งต่อมาถึงพรรคประชาชน หรือกระทั่งอาจถูกเปลี่ยนมาเป็นคะแนนของผู้มัครจากพรรคเพื่อไทย แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้สูงว่าคะแนนของพรรคประชาชนอาจล่นหายไปจากเหตุที่ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกเขต
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้กำลังบอกอะไรเรา
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้อาจกำลังบอกทิศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหลังจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ที่พรรคก้าวไกลคว้าอันดับหนึ่งมาได้ มีแนวการวิเคราะห์ หรือ “ความหวัง” มากมายที่เชื่อว่าการเมืองกำลังก้าวไปสู่ “การเมืองใหม่” การเมืองที่เน้นนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมากกว่าความนิยมในตัวบุคคลหรือนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ
ไม่ว่าอย่างไรต้องกล่าวก่อนเลยว่าบ้านใหญ่ในการเมืองไม่เคยหายไปไหน และการเมืองไทยไม่ใช่การเมืองที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคลแบบโดด ๆ แต่บุคคลผู้ที่ถูกยกขึ้นมาเสนอเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้เงาหรือเป็นตัวแทนของเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งเสมอ หรือจะให้พูดอย่างง่ายคือบุคคลเหล่านี้มักสังกัดหรือมีเครือข่ายกับ “บ้านใหญ่” บางบ้านเสมอ
สำหรับการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกเขต 1 ครั้งนี้ช่วยตอกย้ำถึงพลังของบ้านใหญ่ที่ยังไม่ได้หายไปไหนหรืออาจกำลังมีพลังมากขึ้นด้วยซ้ำ
ฉะนั้น ความพยายามในการรวบรวมบ้านใหญ่เข้ามาอยู่ในสังกัดจึงเป็นภารกิจสำคัญของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่หวังจะครองความเป็นใหญ่ในสภา และเอาชนะพรรคประชาชนที่เคยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่เราจะเห็นความพยายามในการดำเนินภารกิจในการรวมบ้านใหญ่เข้ามาอยู่ในสังกัด ทั้งการเดินสายของนายใหญ่พรรคเพื่อไทยที่ช่วงหนึ่งเดินสายเข้าพบบ้านใหญ่ในพื้นที่ต่าง ๆ ถึงขั้นที่ไปรวมงานแต่ง/งานบวชเพื่อรวบรวมบรรดาบ้านใหญ่ทั้งหลายให้มาสังกัดพรรคเพื่อไทย เหตุการณ์ล่าสุดที่มีความพยายามดึงบ้านใหญ่พะเยามาอยู่ในสังกัด พร้อมกับส่งตัวแทนจากบ้านใหญ่พะเยาลงสมัครนายก อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทยมาแล้ว
นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว พรรคการเมืองอื่น ๆ ก็มีความพยายามในการรวบรวมบ้านใหญ่มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้บ้านใหญ่ทางการเมืองบ้านต่าง ๆ เริ่มเป็นที่พูดถึงในข่าวการเมืองมากขึ้น พร้อมกับผลักดันให้บ้านใหญ่กลายมาเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่หวังเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้บ้านใหญ่จะเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญของพรรคการเมือง บ้านใหญ่ก็ยังมีความไม่แน่นอนบางอย่างที่อาจจะต้องเตรียมรับมือเช่นกัน อาทิ กระแสการเมืองที่อาจพลิกมาเสริมคะแนนให้พรรคประชาชน หรือพลังแฝงในกระบวนการกฎหมายที่อาจสกัดบ้านใหญ่บางบ้านได้ เป็นต้น
นอกจากนี้สำหรับพรรคการเมือง บ้านใหญ่ก็มีความเสี่ยงที่พรรคอาจต้องแบกรับหากเลือกจะดึงให้พวกเขาเข้ามาสังกัดพรรค เพราะเราต้องคำนึงเสมอว่าพื้นที่หนึ่ง ๆ ไม่ได้มีบ้านใหญ่เพียงบ้านเดียว และบ้านใหญ่ยังต้องพึ่งพาเครือข่ายทางการเมืองมากมายที่อาจจะซ้อนทับกันอยู่กับบ้านใหญ่อีกหลัง ซึ่งหากบ้านใหญ่และเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่สามารถรวมกันได้ก็อาจนำมาสู่ชัยชนะเช่นเดียวกับกรณีของบู้ จเด็ศ
“ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของบ้านใหญ่” ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่พรรคจะต้องแบกรับเช่นกัน ตัวอย่างสำคัญคือ ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่สร้างความปั่นปวนให้กับรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐต้นสังกัดของตน กรณีที่เขากระโดดกลับไปกลับมาระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเศรษฐกิจใหม่ในวาระของรัฐบาลชุดที่แล้ว หรือในกรณีล่าสุดที่เขาจับปลาสองมือระหว่างพรรคพลังประชารัฐต้นสังกัดกับพรรคเพื่อไทย พร้อมกับมีข่าวว่าธรรมนัสส่งตัวแทนไปตั้งพรรคกล้าธรรม เพื่อเป็นพรรคสำรองในกรณีที่เขาถูกขับจากพรรคพลังประชารัฐ จึงทำให้เขาเป็นตัวอย่างของความเอาแน่เอานอนไม่ได้บ้านใหญ่ที่จะไปสังกัดพรรคการเมือง ยิ่งหากใกล้ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งถัดไปเราอาจจะได้เห็นปรากฎการณ์ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของบ้านใหญ่บ้านต่าง ๆ มากขึ้นอีกก็เป็นได้
ขณะที่พรรคประชาชนที่สานต่ออุดมการณ์ของพรรคก้าวไกลก็อาจจะต้องเผชิญกับความท้าทาย (เก่า ๆ) อย่างบ้านใหญ่ ที่กำลังเพิ่มความสำคัญในทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์สำคัญในทางการเมืองหากพรรคประชาชนต้องการกลับมาเป็นแชมป์ในการเลือกตั้งสมัยหน้า และยิ่งท้าทายอุดมการณ์ของพรรคมากขึ้นไปอีกหากหวังจะเพิ่มที่นั่งในสภาในสมัยหน้า พรรคประชาชนจะเลือกเดินเกมการเมืองอย่างไรในวาระที่บ้านใหญ่กำลังขยายอำนาจในทางการเมืองเช่นนี้ ยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกเขต 1 อาจเป็นบทเรียนสำคัญที่พรรคประชาชนต้องนำไปถอดรหัสและหาวิธีเอาชนะในการเลือกตั้งรอบหน้า ทั้งในพิษณุโลกเขต 1 และในทุกเขตการเลือกตั้งทั่วประเทศ
สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่กำลังมาถึงจะเป็นอย่างไร คงต้องให้ประชาชนทุกคนเป็นคนตัดสินใจกำหนดอนาคตทางการเมืองด้วยมือพวกเขา และหวังว่าจะไม่มี “พลังแฝง” ในทางการเมืองหรือทางกฎหมายมาสกัดกั้นผลการตัดสินใจของประชนชน เพราะเราก็ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งซ่อมที่พิษณุโลกเขต 1 ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำตัดสินยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญ
“หวังว่าอนาคตจะตัดสินด้วยมือของพวกเรา และหวังว่าจะไม่มีใครหรือองค์กรใดมาทำลายอนาคตที่เราเลือก”
รายการอ้างอิง
ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 – https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_cms_1/5468
อัพเดท 100% ผลเลือกตั้งสส.พิษณุโลก “เพื่อไทย” ทิ้งห่าง “ประชาชน” 6,569 คะแนน – https://www.thansettakij.com/politics/606743
ผลการเลือกตั้ง 2566 พิษณุโลก ทั้ง 5 เขต ‘ก้าวไกล’ มาแรงคว้า 2 เขต – เพื่อไทย 2 – https://www.bangkokbiznews.com/politics/1068354
เพื่อไทยส่ง “จเด็ศ จันทรา” สู้ศึกเลือกตั้งซ่อมสส.พิษณุโลก – https://www.posttoday.com/politics/712613
‘บู้ จเด็ศ’ ลุยหาเสียงโค้งสุดท้าย เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก ชาวบ้านต้อนรับโบกธงแดงพรึ่บ – https://www.thaipost.net/politics-news/656342/
‘พท.’ ลุยหาเสียง ช่วย ‘บู้ จเด็ศ’ เลือกซ่อม ควง ผู้บริหารท้องถิ่น ขึ้นรถแห่ – https://www.bangkokbiznews.com/politics/1144755
เปิดสาเหตุ ‘พรรคประชาชน’ แพ้เลือกตั้งซ่อมเขต 1 พิษณุโลกจากนี้ทุกสนามเลือกตั้งไม่มีง่าย : Matichon TV – https://www.youtube.com/watch?v=hNBjYN4TXGA
ดั่งพรรคการเมืองไร้ค่าในสายตา ‘ธรรมนัส’ เป็นแค่เพียงยานพาหนะในเกมชิงอำนาจ – https://www.youtube.com/watch?v=3plq5-wqoYg
“นฤมล” นั่งหัวหน้า “พรรคกล้าธรรม” คนใหม่ ย้ำนโยบาย “คนไทยอยู่ดี มีสุขฯ” – https://www.thairath.co.th/news/politic/2805976
เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ