‘เครือข่ายยุติโรงโม่หินเขาเตาปูน’ คัดค้านประทานบัตรเหมืองแร่เขาเตาปูน กำแพงเพชร หวั่นกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม

เรื่อง: เทวชาติ วิเศษนาเรียง

16 กันยายน 2567 ณ ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร ตัวแทนชาวบ้านจากตำบลห้วยยั้งและตำบลหนองหัววัว อำเภอพรานกระต่าย ในนาม ‘เครือข่ายยุติโรงโม่หินเขาเตาปูน’ ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านและให้ยกเลิกการออกประทานบัตรเหมืองแร่เขาเตาปูน บ้านท่ามะเฟือง ตำบลห้วยยั้ง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ให้แก่ อุทัย สอนเทศ อุตสาหกรรมจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งในด้านของสุขภาพ  แหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดินที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจสังคม และอื่น ๆ ในอนาคต หากมีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าว

โดยปัญหานี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการเชิญสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยั้ง หมู่ 7 บ้านท่ามะเฟือง พร้อมกับชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง ไปประชุมที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยั้ง โดยมีทีมงานจากห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พร้อมกับทีมผู้บริหารตำบลห้วยยั้ง ลงมาชี้แจงว่า จะมีการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทำโรงโม่หินในพื้นที่บริเวณเขาเตาปูน (อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเขียว ป่าเขาสว่าง และป่าคลองห้วยทราย) ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนต่าง ๆ และเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ไร่นา สวน ของชาวบ้าน 5 พื้นที่ ได้แก่ บ้านท่ามะเฟือง บ้านลานช้างท่าว ตำบลห้วยยั้ง และบ้านบางลาด ตำบลหนองหัววัว อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยได้ชี้แจ้งว่า จะมีการขอประทานบัตรทำโรงโม่หินในพื้นที่ จึงจะขอความคิดเห็นจากชุมชนและขอความร่วมมือในการทำประชาคมเห็นชอบของคนในชุมชน

แต่เมื่อชาวบ้านได้ขอข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ และถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อนำไปสื่อสารกับชุมชน ทางห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ กับทีมผู้บริหารที่อยู่ในห้องประชุม กลับไม่ให้ข้อมูลชาวบ้านพร้อมกับห้ามถ่ายภาพเก็บไว้ หลังจากนั้นก็ได้มีการติดต่อประสานงานมายังผู้นำชุมชนให้เร่งดำเนินการประชาคมหมู่บ้านเพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตประทานบัตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านในชุมชนบ้านท่ามะเฟืองได้รับรู้ จึงได้ติดป้ายคัดค้านโรงโม่หินในพื้นที่ชุมชน และเริ่มสื่อสารไปยังชุมชนรอบข้างให้รับรู้ว่าจะมีการทำโรงโม่หินที่เขาเตาปูน เพราะชาวบ้านเริ่มมีความกลัววิตกกังวลถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะตามมา หากมีการทำโรงโม่หิน ทั้งผลกระทบด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดินที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจสังคม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกมากมาย ชาวจึงรวมตัวกันคัดค้านการทำโรงโม่หินดังกล่าว

หลังจากนั้นได้มีการสืบค้นข้อมูลที่มาที่ไป พบว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ออกประกาศ เรื่อง อนุญาตอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ 17/2565 ให้กับทางห้างหุ้นส่วนจำกัด ทำการสำรวจแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในท้องที่บ้านท่ามะเฟือง ตำบลห้วยยั้ง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเนื้อที่ 1,004 ไร่ โดยมีอายุ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2567 โดยให้มีสิทธิสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าว 

แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยรับรู้ว่าเลยจะมีการลงมาสำรวจแร่ในพื้นที่ โดยไม่ได้มีการปิดประกาศชี้แจงรายละเอียดแผนการดำเนินงานให้กับชุมชนได้รับรู้รับทราบเลย มีเพียงแค่ผู้นำชุมชนบางท่านเท่านั้นที่รับรู้  การกระทำในลักษณะนี้ทำให้ชาวบ้านยิ่งเป็นกังวลมากขึ้น เพราะกระบวนการทำงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นไม่ได้ทำให้ชุมชนได้รับทราบถึงข้อมูล และดำเนินการชี้แจงรายละเอียดตามกระบวนของที่กฎหมายพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้

จากสถานการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 5 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการทำโรงโม่หินเขาเตาปูน จึงได้รวมตัวกันในนามเครือข่ายยุติโรงโม่หินเขาเตาปูน  ดำเนินการคัดค้านการขอประทานบัตรแร่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพบริเวณพื้นที่ที่มีออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่ 17/2565 จำนวน 1,004 ไร่
ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการลงรายมือชื่อในการคัดค้านการทำโรงโม่หินดังกล่าวแล้ว  พร้อมกับติดป้ายคัดค้านในพื้นที่ต่าง ๆ ของชุมชน

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในพื้นที่เขาเตาปูน

ในพื้นที่บริเวณเขาเตาปูนมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้เป็นอย่างดี โดยชาวบ้านได้ร่วมกันดูแล รักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนาน มีกิจกรรมที่ร่วมกันทำ เช่น การปลูกป่าทดแทน การป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า การบวชป่า การเลี้ยงเจ้าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการออกกฎกติกาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน โดยในแต่ละช่วงเวลาในรอบ 1 ปี ชุมชนจะมีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เกิดขึ้นอย่างจำเป็น เพียงพอ โดยจะเน้นเก็บเอามาเพื่อบริโภค ถ้าเหลือก็จะนำไปขาย ซึ่งบริวเณเขาเตาปูนนี้เป็นพื้นที่แหล่งความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชนตลอดทั้งปี สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี และเป็นพื้นที่การใช้ประโยชน์จากไม้ใช้สอยที่ชุมชนนำไปสร้างที่พักที่อยู่อาศัย โดยชุมชนมีกติกาการใช้ไม้ร่วมกันของชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดเล็กอีกมากมาย เช่น นก หนู กระรอก กระต่าย งู เต่า ฯลฯ 

อีกทั้งในพื้นที่เขาเตาปูนนั้นได้ถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญทางจิตวิญญาณ เพราะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพ เช่น โรงพ่อปูเจ้าพ่อวงฆ้อง ถ้ำเขาเตาปูน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญที่ชาวบ้านอนุรักษ์ดูและรักษามาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน

ภาพหน่อไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในเขาเตาปูน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชนและสร้างรายได้ให้        กับชุมชนบ้านท่ามะเฟืองและชุมชนใกล้เคียง โดยจะมีผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน
ภาพเห็ดนานาชนิดที่เกิดในบริเวณเขาเตาปูน เช่น เห็ดโคน เห็ดไข่ห่าน เห็ดลม เห็ดถอบ (หรือเห็ดหอบ) ที่ชาวบ้านเก็บมาบริโภคหากเหลือก็จะนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

ผลกระทบที่จะเกิดกับทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนในอนาคตหากมีการทำโรงโม่หิน

เมื่อปล่อยให้การประทานบัตรทำโรงโม่หินเขาเตาปูน จะส่งผลกระทบหลายด้านต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และชุมชนในพื้นที่อย่างมากมาย เนื่องจากบริเวณที่จะมีการขอประทานบัตรนั้นเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชุมชนอย่างมาก มีชุมชมล้อมรอบอย่างน้อย 3 หมู่บ้าน นอกจากนี้พื้นที่เขาเตาปูนยังเป็นแหล่งอาหารที่สร้างเศรษฐกิจรายได้ พื้นที่ทำมาหากินของชุมชน และเป็นพื้นที่สำคัญทางความเชื่อ จิตวิญญาณของชุมชน โดยมีรายละเอียดของผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านสุขภาพ ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงทั้ง 5 หมู่บ้านจะได้รับผลกระทบมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กและเสียงที่เกิดจากกระบวนการขุด เจาะ โม่ หิน และการขนส่ง ที่จะกระจายตัวไปปกคลุมพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจตามมา โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง และอาจมีโรคที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น โรคตาแดง โรคตาอักเสบ โรคผดผื่นคัน โรคปอดอักเสบ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีมลพิษทางเสียงที่ชุมชนต้องพบเจอ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ สร้างความเครียด ให้กับคนในชุมชน

ด้านการคมนาคมขนส่ง ชาวบ้านในชุมชนที่สัญจรไปมาบนถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 1331                  พรานกระต่าย – ลานไผ่ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ถนนจะมีความชำรุดเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อ ขรุขระ ไม่สามารถใช้เส้นทางได้สะดวกสบาย เพราะจะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งตลอดเส้นทาง อีกทั้งชุมชนที่อยู่ตลอดเส้นทางจะต้องพบเจอกับปัญหาฝุ่นละออง หากรถบรรทุกไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการขนส่งอย่างเคร่งครัด

ด้านแหล่งที่ที่ดินทำกินและอาหารของชุมชน จะส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณประทานบัตรได้ ทั้งการเก็บหาของป่า เห็ด หน่อไม้ ไผ่ ไข่มดแดง ผักหวาน สมุนไพร พืชพันธุ์ต่าง ๆ การเลี้ยงสัตว์ การใช้ประโยชน์จากไม้ และพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนี้จะถูกห้ามเข้าไปดำเนินการใด ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านสูญเสียแหล่งพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร และขาดรายได้อันสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 30,000 บาท/ปี/ครัวเรือน มากไปกว่านั้นชาวบ้านบางรายอาจจะต้องสูญเสียที่ดินทำกินของตนเองไป 

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติอันสำคัญของชุมชน เพราะจะทำให้เกิดการตัดไม้ ทำลายป่า การขุดเอาหิน ดินปูน ซึ่งจะทำให้แหล่งต้นน้ำ แหล่งอาหาร พื้นที่กักเก็บคาร์บอน พื้นที่การท่องเที่ยว สัตว์ป่าต่าง ๆ จะหายไป ซึ่งพื้นที่นี้เป็นสถานที่สร้างระบบนิเวศ สร้างอาการบริสุทธิ์ให้กับพื้นที่ อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างอ่างเก็บน้ำห้วยบง ถ้ำประกายเพชร 

ด้านเศรษฐกิจ สังคม การประกอบอาชีพ จะส่งผลทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านปรับเปลี่ยนไป จากเดิมที่ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ด้วยการพึ่งพิงอาศัยป่าในการทำมาหากิน เช่น การเก็บหาของป่า การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ การใช้ประโยชน์จากไม้ การเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้สร้างระบบเศรษฐกิจ สังคมให้คนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน การประกอบอาชีพจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไป รายได้ของคนในชุมชนจะหายไป การทำเกษตรก็จะลำบากมากขึ้นเพราะมีแต่มลพิษทางฝุ่นที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนในอนาคต

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง