อย่างที่ทุกคนทราบว่าในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และรัฐบาลไทยก็พยายามชูว่า APEC ในครั้งนี้จะต้องเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เพื่อเชื่อมโยงสู่สมดุล พร้อมกับสารพัดความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ อีกเพียบ ในขณะเดียวกันก่อนที่จะถึงสัปดาห์ APEC นี้ รัฐบาลไทย ได้จับตาการไหวของประชาชนชนิดที่ว่าทำยังไงก็ได้แต่เสียหน้าไม่ได้ ผ่านสารพัดวิธีการที่จะทำให้ประชาชนอยู่เงียบๆ ไป ทั้งๆที่ประชาชนก็น่าจะมีสิทธิ์ตั้งคำถามหรือออกมาแสดงออกต่อ APEC ได้
Lanner เลยหยิบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พยายามจับตาการเคลื่อนไหวของประชาชนในภาคเหนือก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC
สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ Countdown ก่อนการประชุม APEC เจ้าหน้าที่ตำรวจจับตากลุ่ม NU-Movement ทั้งโทรเช็ค-ไปหาที่หอพัก
ช่วงระหว่างวันที่ 25 – 31 ตุลาคมที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.พิษณุโลก ได้ทำการโทรหาสมาชิกกลุ่ม NU-Movement โดยถามถึงการประชุม APEC ว่าทางกลุ่มจะมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ จากการที่ Lanner ได้พูดคุยกับสมาชิก NU-Movement ได้ความว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาถามเรื่องกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ APEC ว่าทางกลุ่มจะเคลื่อนไหม ถ้าเป็นไปได้ขอความร่วมมือว่าอย่าเคลื่อนไหว เพราะการประชุมครั้งนี้ถือเป็นหน้าตาของประเทศไทย
ในขณะที่สมาชิกอีกคนบอกว่า กรณีของตนนั้นมีเจ้าหน้าที่ไปหาที่หอพักทั้งหมด 3 รอบด้วยกัน โดยรอบแรกมาในช่วงเช้า แต่อีกสองรอบที่เหลือมายามวิกาล ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามกับถามแม่บ้านที่ดูแลหอพักเนื่องจากไม่สามารถเข้าหอพักได้ และอ้างว่าตนเป็นเพื่อนที่แวะมาหา
อีกกรณี เจ้าหน้าที่ได้มาถามกับเพื่อนของเพื่อนในเรื่องของการฝึกงานว่าไปฝึกงานที่ไหน เมื่อไหร่ เซ้าซี้ไม่หยุด ซึ่งปกติไม่มีใครถามแบบนี้
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามและคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตา APEC 2022 ประชาชนอยู่ตรงไหนในความร่วมมือนี้? เพราะเกรงว่ากลุ่ม NU-Movement จะเคลื่อนไหวเรื่อง APEC
โทรจิกจนได้เรื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรหาผู้ปกครอง – ที่ทำงาน 2 นักกิจกรรมจังหวัดลำปาง
ขึ้นมาที่ภาคเหนือตอนบน เจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดลำปาง ได้ทำการติดตามนักกิจกรรมภายในจังหวัดที่เคยเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่ได้โทรหาเจ้าตัวโดยตรง กลับโทรหาผู้ปกครอง และโทรหาไปตามที่ทำงานทั้งที่ทำงานเก่าและที่ทำงานปัจจุบัน โดย 2 นักกิจกรรมได้บอกเล่ากับ Lanner ว่า ที่ผ่านมาตนนั้นห่างหายจากการเคลื่อนไหวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการติดตามโทรเช็คกับผู้ปกครองของตนอยู่ ซึ่งผู้ปกครองของตนได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดลำปางว่าตอนนี้ทำงานอะไร ที่ไหน และยังเคลื่อนไหวอยู่ไหม
ในขณะที่นักกิจกรรมอีกคนกล่าวว่า ตนถูกติดตามทั้งหมด 3 ครั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ครั้งแรกเจ้าหน้าที่โทรหาและสอบถามว่า ทำอะไร ที่ไหนอย่างไรบ้าง แต่ปฏิเสธที่จะตอบและวางสายทันที ครั้งที่สองเป็นการโทรไปหาผู้ใหญ่บ้านว่าตอนนี้ตนเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นไม่นานก็โทรหาที่ทำงานเก่าว่าช่วงนี้ตนได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวไหม และยังโทรไปถามที่ทำงานปัจจุบันด้วยว่า ตนยังได้ทำการเคลื่อนไหวไหม และหลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐได้โทรหาที่ทำงานปัจจุบัน ทางที่ทำงานของจนก็บอกว่าให้ลดเรื่องการเคลื่อนไหวลง รวมไปถึงลดการแชร์ข่าวบนโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ที่น่าสงสัยคือทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงทราบข้อมูล ทั้งทำงานเก่ากับใหม่ และบ้าน โดยนักกิจกรรมทั้งสองคนเชื่อว่าการโทรติดตามในครั้งนี้เป็นการติดตามเพื่อสอบถามก่อนที่จะมีการประชุม APEC เนื่องจากช่วงนี้ไม่ได้การเคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่ได้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลก็คงหวาดระแวงว่าการประชุม APEC ในครั้งนี้จะมีการชุมนุมเกิดขึ้น
ถ้วนหน้าทั่วถึง ภาคประชาชนโดนหมด!
มาดูที่ฝั่งของภาคประชาชนกันบ้าง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สันติบาลเข้ามาสอบถามตามหา ชาติชาย ธรรมโม เลขาธิการ กป.อพช ภาคเหนือ ที่สำนักงาน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สันติบาลไม่พบเจ้าตัวจึงได้ขอเบอร์โทรศัพท์จากคนที่อยู่ในสำนักงาน แต่คนที่อยู่ในสำนักงานยืนยันไม่ให้เบอร์โทรศัพท์ เจ้าหน้าที่สันติบาลจึงให้เบอร์โทรศัพท์ของตนไว้แทน
และอีกกรณีหนึ่งคือเจ้าหน้าที่รัฐ ติดตามแกนนำชาวบ้านสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ประกอบไปด้วยจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน ตาก และแม่ฮ่องสอน ถูกคุกคาม ติดตามเกือบทุกวัน โดย ล่าสุดแกนนำชาวบ้านจังหวัดลำพูนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 นาย ตามไปหาที่บ้าน และวันที่ 31 ตุลาที่ผ่านมา แกนนำชาวบ้านจังหวัดลำพูน 2 คน ก็ถูกสันติบาลตามไปหาที่บ้านเช่นกัน
โดย พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบข้อมูลการเดินทางหลังจากตนเดินไปดำเนินกิจกรรมตามปกติ แต่ก็ยังถูกติดตามการเดินทางโดยการตรวจเที่ยวบินของตน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาสอบถามกับทางมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือว่า ตนทำไมถึงเดินทางบ่อย และคาดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะทราบว่าเพื่อนร่วมเดินทางของตนคือใครบ้างเช่นกัน
ต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน ทางเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจังหวัดลำปาง ได้ไปติดตามสอบถาม ผู้ใหญ่บ้านท่าสามัคคี ม.11 ต.แม่ถอน อ.เถิน จ.ลำปางถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่รายหนึ่งว่าอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้หรือไม่
และล่าสุด วันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจโทรติดตามและเช็คกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง ส่วนในพื้นที่บ้านแห่ง ฝ่ายปกครองท้องถิ่นได้มาข่มขู่และกดดันชาวบ้านว่าหากไปร่วมชุมนุม APEC จะมีการจับกุมเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการประสานผ่านทางองค์กรท้องถิ่นว่าไม่ให้ชาวบ้านไปร่วมชุมนุม APEC หากต้องการไปร่วมชุมนุมต้องมีการแจ้งชื่อให้ฝ่ายปกครองได้รับทราบ
ราชกิจจาฯ เคาะแล้วการชุมนุมต้องไม่กีดขวางทางเข้า-ออก
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ความว่า โดยที่การชุมนุมสาธารณะ ต้องไม่กีดขวางทางเข้า-ออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หารือการใช้บริการสถานที่ ตามนัยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
จึงสมควรกำหนดสถานที่ในการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และสถานที่พำนัก ของผู้แทนประเทศในการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน สำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2561 เป็นสถานที่ตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศให้สถานที่และถนนบริเวณอาณา โดยรอบสถานที่ตามแนบท้ายประกาศนี้ให้เป็นสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) ตั้งแต่วันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565
ทั้งนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางระเบียบหรือคำสั่งกำหนดหลักเกณฑ์และพื้นที่ถนน และบริเวณอาณาโดยรอบของสถานที่ตามประกาศ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565)
สำหรับแนบท้ายประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ดังนี้
1. สถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
2. สถานที่พำนักผู้แทนประเทศในการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ ได้แก่
2.1 โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ
2.2 โรงแรมอนันตรา สยาม
2.3 โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพ
2.4 โรงแรมโรสวูด กรุงเทพ
2.5 โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพ
2.6 โรงแรมดิ แอทธินี
2.7 โรงแรมคอนราด กรุงเทพ
2.8 โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพ
2.9 โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพ
2.10 โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
2.11 โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
2.12 โรงแรมโซ แบงคอก
2.13 โรงแรมวอลดอร์ฟแอสโทเรีย
2.14 โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส
2.15 โรงแรมแบงคอก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ ปาร์ค
2.16 โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ
2.17 โรงแรมบันยันทรี
2.18 โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ
2.19 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
เห็นได้ว่ารัฐพยายามสกัดกั้นทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือต้องร่วมกันติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนประชาชนร่วมจับตาสถานการณ์การคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐช่วงเอเปค
มาถึงตรงนี้แล้ว คงเห็นว่าการคุกคามประชาชนในช่วงของการประชุม APEC เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมกันจับตา โดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ทำฝุดแคมเปญ ติดแฮซแท็ก #จับตาละเมิดสิทธิAPEC2022 #KeepAnEyeOnAPEC2022 เพื่อร่วมกันชวนจับตาสถานการณ์การคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐช่วงการประชุม APEC โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกลุ่มนักกิจกรรมหรือนักศึกษาที่เคยมีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งโดยการไปถึงที่พักส่วนตัว ที่ทำงาน หรือโทรศัพท์ติดต่อ เพื่อพยายามตรวจเช็คความเคลื่อนไหวหรือสอบถามข้อมูลในช่วงก่อนการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ เอเปค) ครั้งที่ 29 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเป็นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน นี้
ขณะเดียวกันภาคประชาชนหลายส่วนในนาม #ราษฎรหยุดAPEC2022 ยังร่วมกันคัดค้านการประชุมเอเปค ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาด และส่งผลกระทบต่อการแย่งยึดทรัพยาการจากประชาชน รวมถึงเหตุผลด้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล โดยเตรียมการจัดเวทีคู่ขนานและร่วมกันรณรงค์ถึงปัญหาการประชุมเอเปคต่อไป
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนติดตามจับตาสถานการณ์ ในช่วงสัปดาห์การประชุมเอเปคที่จะมาถึง หากประชาชนคนใดถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคาม ถูกข่มขู่-ปิดกั้นการแสดงออกหรือการชุมนุมโดยสงบ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนมาที่เพจหรือทางเบอร์สายด่วนของ #ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งร่วมกันโพสต์บอกเล่าเรื่องราวการถูกคุกคามของตนเอง โดยการติดแฮซแท็ก #จับตาละเมิดสิทธิAPEC2022 #KeepAnEyeOnAPEC2022 ประกอบการติดตามสถานการณ์
จับตา APEC 2022 ประชาชนอยู่ตรงไหนในความร่วมมือนี้?
มาถึงตรงนี้แล้ว เราอาจจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วเราจะสามารถทำอะไรกับการประชุม APEC ในครั้งนี้ได้บ้าง? เอาแบบง่ายที่สุด และทำได้ง่ายเลยคือ การร่วมจับตาการประชุมในครั้งนี้ไปด้วยกัน ผ่าน
1.อย่าเพิ่งฟังแค่คำโฆษณาของรัฐบาลเพียงด้านเดียว ตอนนี้ไปที่ไหนก็น่าจะเห็นว่ามีการโปรโมทประชุม APEC หนักมาก! อยากให้ลองติดตามเนื้อหาในการประชุมด้วยว่าจะมีวาระในการประชุมกันในเรื่องอะไรบ้าง ที่สำคัญคือลองย้อนกลับมาที่ตัวเองว่าเนื้อหาการประชุมในเรื่องไหนบ้างที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรา
2.ติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชน ลองไปดูกันหน่อยว่าภาคประชาชน มีท่าทีต่อ APEC ครั้งนี้ยังไง อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่ามันห่างไกลตัวเรา ลองฟังสิ่งที่แต่ละเครือข่ายพูด ก็น่าจะดีไม่น้อย
ร่วมจับตา APEC 2022 ไปด้วยกัน!!!
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...