“ลำปางเป็นจังหวัดเดียวในเหนือบนที่ตลอด 20 กว่าปีมานี้ ไทยรักไทยเดิมไม่เคยเสียแม้แต่ที่นั่งเดียว หากไม่นับเลือกตั้งซ่อม” คอมเม้นต์หนึ่งของมิตรสหาย ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของจังหวัดลำปาง ของพรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งในเขตการเลือกตั้งที่ 1, 3, 4 ส่วนของพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งในเขตการเลือกตั้งที่ 2 เพียงเขตเดียว ขณะที่คะแนนแบบบัญชีรายชื่อรวมทั้งจังหวัด พรรคก้าวไกลมีผลรวมคะแนนเป็นอันดับหนึ่งกว่า 192,547 คะแนน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยตามมาเป็นอันดับที่สอง ด้วยคะแนนเสียง 166,192 คะแนน de Lampang ขอชวนทุกคนมาร่วมรับรู้ปรากฎการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
พรรคไทยรักไทยเริ่มสถาปนาพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกผ่านการจดทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ด้วยการก่อตั้งโดยคุณทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับสมาชิกผู้ก่อตั้ง เช่น คุณพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นต้น หลังจากนั้นมีการขยายการเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อปี 2544 อย่างถล่มทลาย ด้วยจำนวน สส. กว่า 248 ที่นั่ง และปี 2548 เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้ง สส. ในไทยด้วย จำนวน สส. มากถึง 376 ที่นั่ง ท้ายที่สุดพรรคไทยรักไทยถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ต่อมาจึงมีการรวมตัวของ สส. จากพรรคไทยรักไทยเดิม สู่พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ตามลำดับ
สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดลำปาง เมื่อปี 2544 เกิดปรากฎการณ์เลือกผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ยกจังหวัดครั้งแรก การเลือกตั้งในครั้งนั้น ส่ง สส. จากพรรคไทยรักไทย จำนวน 5 คน จาก 5 เขต เข้าสภา ฯ ประกอบด้วย เขต 1 คุณไพโรจน์ โล่ห์สุนทร, เขต 2 คุณจินดา วงศ์สวัสดิ์, เขต 3 คุณวาสิต พยัคฆบุตร, เขต 4 คุณพินิจ จันทรสุรินทร์, เขต 5 คุณอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดลำปาง ปี 2548 ประชาชนคนลำปาง เลือก สส. ชุดเดิมส่งเข้าสภาอีกครั้งด้วยเช่นเดียวกัน
ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดลำปาง ปี 2550 เหลือการเลือกตั้งเป็นจำนวน 2 เขต โดย เขต 1 มีจำนวน สส. 3 คน และ เขต 2 มีจำนวน สส. 2 คน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังสะท้อนความนิยมของคนลำปางผ่านปรากฎการณ์ พลังประชาชนยกจังหวัด โดย เขต 1 คุณกิตติกร โล่ห์สุนทร, คุณธนาธร โล่ห์สุนทร และคุณวาสิต พยัคฆบุตร ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอำเภอเมืองลำปาง, ห้างฉัตร, แจ้ห่ม, วังเหนือ, งาว และเมืองปาน เข้าสู่สภา ฯ ส่วนเขต 2 ประชาชนชาวอำเภอแม่ทะ, เกาะคา, สบปราบ, เถิน, แม่พริก, เสริมงาม และแม่เมาะ ส่งคุณอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ และคุณจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ เข้า สภา ฯ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ปรากฎชื่อนักการเมืองคนสำคัญของลำปางอย่างคุณไพโรจน์ โล่ห์สุนทร และคุณพินิจ จันทรสุรินทร์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งหมด 111 คน รวมทั้งสองคนดังกล่าวด้วย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดลำปาง ปี 2554 และ 2562 จังหวัดลำปาง มีเขตการเลือกตั้งทั้งหมด 4 เขต ปรากฎการณ์เลือกเพื่อไทยยกจังหวัดเกิดขึ้นทั้งสองครั้ง ปี 2554 ส่ง คุณสมโภช สายเทพ, คุณวาสิต พยัคฆบุตร, คุณจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ และคุณอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ เข้าสภา ฯ ส่วนในปี 2562 ส่งคุณกิตติกร โล่ห์สุนทร, คุณไพโรจน์ โล่ห์สุนทร, คุณจริสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ และคุณอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ เข้าสภา ฯ
2544 – 2566 ระยะเวลาสองทศวรรษของลำปาง ภายใต้ผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคไทยรักไทย – พลังประชาชน – เพื่อไทย ชนิดที่เรียกว่ายกจังหวัด หนึ่งในบทความของ คุณสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่อยู่ในเว็ปไซต์ประชาไท ระบุว่า มีปัจจัยอยู่สามประการที่ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มถลายในปี 2544 คือ 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 สร้างระบบ สส. บัญชีรายชื่อ 100 ขึ้นมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองเป็นครั้งแรก ทุกพรรคการเมืองใช้เพียงเบอร์เดียวในการหาเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ ทำให้ง่ายต่อการจดจำของประชาชนผู้มาเลือกตั้ง พร้อมทั้งการทำงานของ กกต. ที่ทำให้คืนหมาหอนหายคลายมนต์ขลัง 2. พรรคไทยรักไทยตั้งเป้าเป็นพรรคการเมืองแนวทางใหม่ สร้างสรรค์ชูนโยบายคิดใหม่ทำใหม่ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ และมีกิจกรรมเผยแพร่นโยบายหลากหลายรูปแบบ 3. ใช้การบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ในการวางแผนเลือกตั้ง และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่อายุ 30 – 40 ปี เข้ามาทำงานการเมือง จากหลากหลายกลุ่มอาชีพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นแรงเกื้อหนุนที่ทำให้พรรคไทยรักไทย – พลังประชาชน – เพื่อไทย ประสบความสำเร็จต่อการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชน และแล้วกระแสการเปลี่ยนแปลงจึงกำเนิด
ปฎิเสธไม่ได้ว่าระบบพรรคการเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิิปไตยที่ประชาชนต้องส่งผู้แทนราษฎรเข้าไปเป็นกระบอกเสียงในรัฐสภา ปัญหาความเดือดร้อน – โอกาสการพัฒนาพื้นที่ – การตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล ถือเป็นภารกิจสำคัญ ช่วงการเลือกตั้งภายหลังจากการตกอยู่ในช่วงเวลาอันเลวของร้ายของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กฎหมายและยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นมรดกสืบทอดของคณะรัฐประหารได้สร้างกลไก, ความบอบช้ำและความอ่อนแอต่อทุกกระบวนการที่ประเทศซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยควรจะเป็น หนึ่งในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ประชาชนต้องการแสวงหาพรรคการเมืองรูปแบบใหม่ที่มีความตรงไปตรงมามากขึ้นและหนึ่งในพรรคการเมืองดังกล่าวที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก คือ “พรรคอนาคตใหม่”
พรรคอนาคตใหม่ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 โดยคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, คุณปิยบุตร แสงกนกกุล คณะกรรมการบริหารพรรค มีบุคคลที่น่าสนใจ เช่น คุณพรรณิการ์ วานิช, คุณชำนาญ จันทร์เรือง, คุณเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ เป็นต้น ด้วยจุดยืนผ่านนโยบายของพรรคการเมืองที่มีความชัดเจน ตัวอย่างเช่น การล้างมรดกรัฐประหาร, สร้างการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและปฎิรูปกองทัพ, ผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 สามารถส่งผู้แทนราษฎรเข้าสภา ฯ กว่า 81 ที่นั่ง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดลำปาง ปี 2562 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ สส. ลำปางยกทั้งจังหวัดอีกครั้ง แต่กลับพบว่า พรรคอนาคตใหม่ในฐานะพรรคการเมืองอายุเพียงแค่หนึ่งปีเศษ สามารถสร้างความนิยมผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนด้วยคะแนนที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พิจารณาจากคะแนนรวมทั้งจังหวัดแล้วพบว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคเพื่อไทยได้คะแนนรวมทั้ง 4 เขตการเลือกตั้งเป็นคะแนนกว่า 165,835 คะแนน ตามมาด้วยพรรคพลังประชารัฐ 114,245 คะแนน และพรรคอนาคตใหม่ 112,713 คะแนน หากมองอย่างลงลึกไปกว่านั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดลำปาง ของพรรคเพื่อไทย ชนะ ผู้สมัคร ฯ จากพรรคอนาคตใหม่เพียง 2,300 กว่าคะแนน สิ่งนี้สะท้อนถึงความต้องการและความรู้สึกบางประการของประชาชนได้เป็นอย่างดี
หลังจากนั้นพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยอายุของพรรคที่ไม่ถึง 2 ปี แต่กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการทำงานที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น หลังจากนั้นประชาชนที่ร่วมสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ได้มาร่วมกันทำงานในนามของพรรคก้าวไกล โดยมี คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลและ คุณชัยธวัช ตุลาธน เป็นเลขาธิการพรรค การทำงานของพรรคก้าวไกลในจังหวัดลำปาง มีกระบวนการที่น่าสนใจมากขึ้น
พรรคก้าวไกล มองจังหวัดลำปางเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ผ่านการจัดงานจัดงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส. ของจังหวัด ลำปาง – แพร่ – น่าน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ข่วงนครห้าแยกหอนาฬิกาลำปาง หนึ่งในคำปราศรัยของ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น คือ “ 25 % ของชาวลำปางเป็นผู้สูงอายุ เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ คือ สิ่งที่เราพยายามผลักดันตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะบำนาญประชาชน 3,000 บาท เราเกือบทำได้แล้วเหมือนกัน หาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช้อำนาจปัดตก ไม่ให้แม้แต่โอกาสนำเข้าสู่การพิจารณาในสภา ฯ … การปราศรัยวันนี้ที่ห้าแยกหอนาฬิกา เป็นการบ่งบอกว่าทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าเวลา เวลาเป็นสิ่งมีค่า เวลาเดินไปข้างหน้าไม่รอใคร”
13 กันายน 2565 คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น กล่าวว่า “แม้การเลือกตั้งที่ผ่านมาในนามพรรคอนาคตใหม่ จะไม่มี สส. เขต จังหวัดลำปาง ทว่าคะแนนเสียงในจังหวัดลำปางเราได้ความไว้วางใจจากประชาชนกว่า 25% ของคะแนนเสียงทั้งจังหวัด ซึ่งทุกคนอยู่ในใจเราตลอดเวลา และอยากที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับที่นี่ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชื่อ ‘เศรษฐกิจสีขาว’ คือเปลี่ยนเศรษฐกิจสีเทาที่เป็นควันพิษจากโรงไฟฟ้า ซึ่งทำลายสุขภาพของพี่น้อง ให้เป็นเศรษฐกิจสีขาวเรื่องการเป็นเมืองที่ดูแลสังคมผู้สูงวัยของประเทศไทยและของโลกนี้ เพราะ จังหวัดลำปาง มีผู้สูงอายุสูงที่สุดในประเทศไทย สังคม ไม่มีจังหวัดไหนที่เหมาะสมที่จะทุ่มงบประมาณ ทุ่มทรัพยากรมาดูแลพ่อแก่แม่เฒ่าเท่าที่ลำปาง สร้างอุตสาหกรรมดูแลผู้สูงอายุ ทำให้จังหวัดลำปางเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย และเมื่อเราดูแลผู้สูงวัยที่ลำปางได้ ก็จะดูแลผู้สูงวัยในประเทศไทยได้ ดูแลผู้สูงวัยในเอเชียได้ และดูแลผู้สูงวัยในโลกนี้ได้ เราจะเปลี่ยนสิ่งที่คนคิดว่าเป็นวิกฤตให้เป็นโอกาสคือบำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาทที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลหน้าของพรรคก้าวไกล”
“วิสัยทัศน์ของเราที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจสีเทาให้เป็นเศรษฐกิจสีขาว และถ้าเราสามารถทำที่ลำปางสำเร็จ ก็จะขยายไปสู่ระดับโลก ให้คนสูงวัยที่มีเงินมากมายมหาศาลในโลกใบนี้มาอยู่ที่จังหวัดลำปาง สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดแห่งนี้ และเมื่อรวมกับเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การนำศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่มีมาใช้ ก็จะทำให้ก้าวไปได้อีกไกลมาก ๆ ” พิธา กล่าว
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดลำปาง ปี 2566 ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนจังหวัดลำปางจึงให้โอกาสส่งผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคก้าวไกล คว้าชัยในเขตการเลือกตั้งที่ 1 (คุณทิพา ปวีณาเสถียร), 3 (คุณชลธานี เชื้อน้อย), 4 (คุณรภัสสรณ์ นิยะโมสถ) และคะแนนบัตรพรรคการเมืองด้วยการสนับสนุนกว่า 192,547 คะแนน นับเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของสนามการเมืองในจังหวัดลำปางอย่างแท้จริง เพราะตั้งแต่ปี 2544 – 2566 ที่ผ่านมา ลำปางอยู่ภายใต้พรรคไทยรักไทย – พลังประชาชน – เพื่อไทย มาอย่างยาวนาน
คุณกนกรัตน์ เลิศชูสกุล ได้อธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านบทความ “อนาคตใหม่ – ม็อบคนรุ่นใหม่ – ปรากฎการณ์ก้าวไกล” ในเว็ปไซต์ The101.word ไว้ว่า “การเลือกตั้งปี 2566 ยิ่งเป็นหลักฐานที่เด่นชัดถึงการปรับเปลี่ยนการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่… ผู้สนับสนุนมวลชนคนรุ่นใหม่มีบทบาทอย่างมากในการช่วยสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของพรรค ทั้งบนพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ในฐานะหัวคะแนนธรรมชาติ (organic political canvasser)… พรรคก้าวไกลเลือกที่จะใช้วิธีการที่มีต้นทุนและงบประมาณต่ำ ใช้เงินไปกับโปสเตอร์หาเสียงน้อยกว่าและสรรพกำลังไปกับการหาหัวคะแนนในพื้นที่ต่าง ๆ คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยพรรคทำแคมเปญออนไลน์และชักชวนให้สมาชิกในครอบครัวเลือกพรรคก้าวไกลด้วย”
ความคาดหวังถูกกำเนิดขึ้นด้วยโอกาสครั้งใหม่ การเปลี่ยนแปลงอาจนำพาสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม เท่าเดิม หรือแย่กว่าเดิม ช่วงระยะเวลาอันสั้นคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า “โอกาสครั้งใหม่ของลำปาง” จะมาในรูปแบบใด สามารถลบความผิดหวังในการเข้าถึงโอกาสการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็นได้หรือไม่ ลำปางถือเป็นเมืองที่เรียกได้ว่า “เสียโอกาส” มาอย่างยาวนาน แต่คงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
อ้างอิง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...