ความท้าทายของบรรณาธิการหญิงในกระแสสื่อไทย ช่องว่างระหว่างวัย และภัยคุกคามจากรัฐที่ต้องรับมือ

3 พฤศจิกายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนจัดโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB): วารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน เสียงของคนชายขอบเพื่อเชื่อมสัมพันธ์สื่อนอกกระแส มีเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายของบรรณาธิการหญิงในกระแสธารสื่อไทย” โดยมีบรรณาธิการหญิงที่มีประสบการณ์ในงานข่าว และผู้เข้าร่วมโครงการ JBB ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการหญิง/LGBTQI+ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

กุลธิดา สามะพุทธิ อดีตบรรณาธิการกรุงเทพ เว็บไซต์บีบีซี ไทย ซึ่งมีประสบการณ์ในงานข่าว 25 ปี เป็นบรรณาธิการ 14 ปี ตนเห็นว่าความท้าทายต่อการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนไม่ใช่เป็นเรื่องความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย แต่เป็นความท้าทายอย่างน้อย 4 ประการ ที่พบเจอตลอดการทำงานที่ผ่านมา ประการแรกคือ การหน้าที่สื่อมวลชนในสถานการณ์วิกฤติ เช่น การชุมนุมทางการเมือง การรัฐประหาร การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 

“แม้เป็นความท้าทายที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาตลอด แต่ความยากลำบากที่นักข่าวหรือบรรณาธิการต้องเจอ คือ ความเร่งรีบ ความละเอียดอ่อน ความสุ่มเสี่ยงในการนำเสนอ การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงการแข่งขันกับสื่ออื่นๆ ทั้งความเร็วและตัวเลข engagement”

กุลธิดา กล่าวถึงความท้าทายประการที่ 2 ว่า เป็นปัญหาเรื่องการเกิดคดีความอันเนื่องมาจากการรายงานข่าว แม้ว่าที่ผ่านมาตนไม่เคยถูกฟ้องโดยตรง แต่การที่สื่ออยู่ในสังคมที่นิยมการทำนิติสงคราม นิยมการฟ้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAPP suit) ทำให้ความกังวลต่อการเกิดคดีความเป็นความท้าทายในการทำงาน กระนั้นสิ่งที่ตนไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย คือ การเซ็นเซอร์ตัวเอง อย่างไรก็ตามเรื่องคดีความที่เกิดขึ้นกับสื่อก็นับว่าปลอดภัยกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ เช่น ประชาชน หรือนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหว 

ความท้าทาย ประการที่ 3 คือ การผลิตเนื้อหาที่ดีและน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นที่คนไม่ค่อยสนใจ เช่น สิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน และประการสุดท้าย คือการบริหารจัดการความเครียดของตัวเอง รวมถึงการรักษาความมั่นคงทางจิตใจ สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น 

“การเป็นบรรณาธิการมันยากและหนัก เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ย้ำอีกว่าไม่ใช่สำหรับบรรณาธิการหญิงเท่านั้น แต่บรรณาธิการชาย หรือใครที่กำลังจะก้าวขึ้นมาสู่อาชีพก็อาจจะเจอเหมือนกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมและอคติทางเพศ ในองค์กรสื่อเองไม่ได้ปราศจากความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ มันยังมีอยู่ แต่การหยิบยกขึ้นมาพูดคุยก็เชื่อว่าจะสามารถทำให้เราก้าวข้าม ลดอคติ และปรับเปลี่ยนวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ได้” กุลธิดา กล่าว 



ช่องว่างระหว่างวัยเป็นสิ่งท้าทายในกองบรรณาธิการ

นอกจากประเด็นเรื่องหญิงหรือชายในองค์กรสื่อแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือช่องว่างระหว่างวัยในกองบรรณาธิการ กุลธิดา ยกตัวอย่างการทำงานกับรุ่นน้องที่อายุน้อยกว่า 20 ปีว่า ต้องใช้พลังงานในการทำความเข้าใจ และหาวิธีเพื่อทำงานร่วมกันอย่างมาก อย่างไรก็ตามตนสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนให้ผู้หญิงรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นบรรณาธิการ เพื่อเพิ่มสัดส่วนบรรณาธิการหญิงในสื่อไทยในอนาคต

กุลธิดา กล่าวอีกว่าแม้ที่ผ่านมาตนไม่เคยถูกคุกคามจากรัฐโดยตรง แต่หากมีการนำเสนอข่าวที่ไปพาดพิงหรือแม้แต่สัมภาษณ์บุคคลหนึ่งแล้วไปวิจารณ์บุคคลที่สาม ก็จะมีสำนักงานกฎหมายของบุคคลนั้นๆ ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้อาจยังไม่ได้เป็นคดีความโดยตรง แต่หากข่าวที่นำเสนอไปแล้วเกิดเป็นคดีความระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ตำรวจหรือศาลก็อาจจะเรียกเราไปเป็นพยานเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการรบกวนการทำงานพอสมควร 

หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการบริหาร The Isaan Record กล่าวว่า ตนทำงานบรรณาธิการมา 4-5 ปี นอกจากทำหน้าที่คิดประเด็นแล้วยังดูแลสมาชิกในกองบรรณาธิการด้วย ตนเห็นเช่นกันว่าการอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่ใช่เรื่องของหญิงหรือชาย แต่เป็นบทบาทและประสบการณ์มากกว่า เช่นเดียวกัน หากมีการมอบหมายนักข่าวในกองบรรณาธิการไปทำงาน นั่นก็เพราะความสามารถที่สอดคล้องกับงาน ไม่ใช่เพราะความเป็นหญิงหรือชาย 

หทัยรัตน์ ยังกล่าวถึงประเด็นการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐว่า เหตุการณ์เริ่มต้นตั้งแต่เป็นนักข่าว ขณะทำข่าวเกี่ยวกับคนหายชายแดนใต้ จ.นราธิวาส ตนถูกข่มขู่จากนายอำเภอคนหนึ่ง บอกว่า “ถ้าคุณยังทำข่าวเกี่ยวกับคนถูกอุ้มหายอยู่ คุณจะเป็นรายถัดไป” ตอนที่เราไปสัมภาษณ์เขาก็พูดคุยดี แต่มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายมานั่งประกบและให้ทีมงานเราออกจากห้อง ซึ่งเขาไม่ได้ใช้กำลังในการคุกคาม แต่เป็นการพูด ทั้งยังกล่าวว่าสถานีข่าวสร้างความแตกแยกใน 3 จังหวัด 

“นั่นเป็นการคุกคามครั้งแรก หลังจากนั้นก็มีการคุกคามอีกครั้งที่ จ.สงขลา ในการลงพื้นที่เตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ มีนายหน้าถือปืนเข้ามาข่มขู่ระหว่างเตรียมบันทึกภาพขณะอยู่ในพื้นที่”



เดอะอีสานเรคคอร์ดถูกคุกคามจากรัฐ

หทัยรัตน์ กล่าวว่า การคุกคามครั้งล่าสุดเกิดในช่วงที่เป็นบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ดแล้ว สาเหตุเกิดจากการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในพื้นที่ มีการส่งสันติบาลเข้ามาปรับทัศนคติและถูกผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติข่มขู่ว่า หากยังนำเสนอข่าวมาตรา 112 อยู่ ก็จะเป็นศัตรูกัน และประกาศว่าจะทำลายทุกวิถีทางไม่ให้มีพื้นที่ยืนในสังคม เรื่องนี้ตนยอมรับว่าทำให้รู้สึกกลัว 

“ประเด็นมาตรา 112 สำนักข่าวอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ก็นำเสนออย่างกว้างขวาง แต่ในต่างจังหวัดมีการนำเสนอค่อนข้างน้อย จึงคิดว่าการที่เรานำเสนอประเด็นที่คนอื่นไม่แตะและอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด จึงทำให้การคุกคามทำได้ง่ายขึ้น”

แม้จะให้ความสำคัญกับความสามารถเป็นหลัก แต่หทัยรัตน์ ยืนยันว่า  ตนอยากเห็นผู้หญิงและ LGBTQI+ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะมีส่วนต่อการคิดประเด็นผ่านมุมมองที่หลากหลาย โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางเพศ หากกองบรรณาธิการมีสัดส่วนของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากพอ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และเลือกแหล่งข่าวในบางประเด็นก็จะเป็นไปอย่างสมดุล 

“ถ้าในระดับบริหารหรือบรรณาธิการมีการสร้างความเท่าเทียมกัน ก็จะทำให้ห้องข่าวมีบรรยากาศที่ดี หรือมีมิติใหม่ในการกำหนดทิศทางของการนำเสนอข่าวตามมา”



บทบาทผู้หญิงชายแดนใต้

นาซีฮะฮ์ มะโซะ ผู้เข้าร่วมอบรมผู้ช่วยบรรณาธิการหญิง/LGBTQI+ กล่าวว่า ความท้าทายในการทำงานคือ ตนเป็นผู้หญิงที่ทำงานสื่อใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเห็นผู้สื่อข่าวที่เป็นผู้หญิงน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสำนักข่าววาร์ตานีเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมและเปิดพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ตนรู้สึกว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ๆ มีความขัดแย้ง มีความรุนแรง การที่ส่วนใหญ่ผู้ชายทำงานในองค์กรสื่อ คนภายนอกก็จะมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงหรือไม่ แต่เท่าที่ได้ไปมีส่วนร่วม ตนรู้สึกว่าในพื้นที่ให้โอกาสผู้หญิงได้มีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในองค์กรสื่อเท่านั้น แต่ในองค์กรภาคประชาสังคม หรือนักเคลื่อนไหวก็มีผู้หญิงอยู่ด้วย 

นาซีฮะฮ์ กล่าวถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า การเป็นนักข่าวผู้หญิงทำให้เมื่อต้องคุยกับแหล่งข่าวที่เป็นผู้หญิงที่มีสามีถูกกระทำหรือถูกจับติดคุกในคดีความมั่นคง ก็ทำให้ตนเข้าใจความรู้สึกของแหล่งข่าวได้ดี เพราะผู้หญิงมีความอ่อนไหวและความอ่อนโยนเป็นพื้นฐาน นอกจากนี้ การทำประเด็นอื่นผ่านมุมมองของผู้หญิงก็มีความหลากหลายเช่นกัน 

สำหรับการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ตนไม่เคยมีคดีความโดยตรง แต่เคยถูกหมายเรียกให้เป็นพยาน กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากไปทำข่าวในกิจกรรมหนึ่ง ผ่านไป 2 เดือนตนถูกหมายเรียกให้ไปเป็นพยานและถูกสอบปากคำ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน และเป็นกังวลว่าตนจะถูกคนติดตามหรือไม่ในระหว่างลงพื้นที่ไปหาแหล่งข่าว เมื่อไปทำข่าวชาวบ้านก็จะกังวลว่าจะนำปัญหาไปให้ชาวบ้านด้วยหรือเปล่า 

“แท้ที่จริงแล้วเราพยายามจะนำเสนอสิ่งที่เป็นความจริง สิ่งที่เป็นฐานข้อมูลในพื้นที่ให้คนนอกได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เสียงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างไร แต่การที่เราจะไปถึงตรงนั้น เรารู้สึกว่าเรามีข้อจำกัดมากกว่าพื้นที่อื่น  อีกทั้งยังมีในเรื่องความห่วงกังวลของครอบครัวด้วย นอกจากนี้ พื้นที่ 3 จังหวัดยังถูกปกครองด้วยกฎหมายพิเศษที่ยังไม่ได้ยกเลิก จึงทำให้เรามีข้อจำกัดในการทำงานมากขึ้นไปอีก” นาซีฮะฮ์ กล่าว



ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง