17 มกราคม 2567 เวลา 15:27 น. ณ อาคารรัฐสภา ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ รับหลักการ พรบ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับ ด้วยคะแนนเอกฉันท์ท่วมท้น 443 ต่อ 0 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจำนวน 39 คนมาพิจารณาในวาระ 2 ด้าน พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล พบข้อกฎหมายที่เหมือนจะเป็นการเอื้อให้มีการปิดปากประชาชน และสื่อมวลชน ในร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดของ ครม. (มาตรา 81)
พุธิตา ชัยอนันต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึง ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ฉบับครม. หมวดที่ 9 มาตรา 81 ซึ่งมีความว่า
‘ผู้ใดแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตรายจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศใดโดยมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณะชนต่อการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย ของแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ’
และ มาตรา 81 วรรค 2 ความว่า
‘หากการแพร่หรือไขข่าวตามวรรคหนึ่งกระทำโดยการประกาศโฆษณาหรือออกข่าวทางหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อสารมวลชนอย่างอื่น ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ’
โดย พุธิตา ได้อภิปรายว่า “โทษจำคุก 1 ปี 5 ปี มาจากไหนคะ? มีไว้ทำไม ต้องถามผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาเพื่ออะไร กฎหมายฉบับนี้โดยเฉพาะมาตรา 81 ดูผิวเผินเหมือนจะให้ความเป็นธรรมแก่ฝั่งผู้ประกอบการ แต่ในความเป็นจริงเรายังมีกฎหมายอื่นที่จะคุ้มครองผู้ประกอบการในกรณีที่ถูกข้อมูลเท็จโจมตีอยู่ ไม่ว่าเป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายหมิ่นประมาท หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”
พุธิตา ยังกล่าวต่อว่า การเปิดโปง การตั้งคำถามต่อการกระทำความผิดของผู้ประกอบการ หรือการตั้งข้อสังเกตโดยประชาชนหรือสื่อมวลชนเมื่อได้รับเบาะแสหรือข้อเท็จจริงเบื้องต้น แล้วสื่อสารออกไปเพื่อเฝ้าระวังจับตา ควรเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงกระทำได้ ไม่ควรสร้างกฎหมายในลักษณะนี้ขึ้นมาเพื่อขู่ประชาชนและสื่อมวลชน
พุธิตา ได้ยกตัวอย่างประกอบการอภิปรายว่า “สมมติว่าบริษัท A เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาล ข้าราชการท้องถิ่นและผู้มีอำนาจในสังคม แต่บริษัทนี้มีการปล่อยมลพิษทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างมาก พวกเขาจะหันหน้าไปพึ่งใคร ความหวังของพวกเขาคือคนธรรมดาที่กล้าออกมาพูดหรือตั้งคำถาม และสื่อมวลชนที่กล้าออกมาขุดคุ้ย ตีแผ่ เผยแพร่ข้อมูล และความหวังสุดท้ายคือ กฎหมายที่คุ้มครอง รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกฎหมายที่เอื้อต่อการตรวจสอบ เพื่อเพิ่มโทษทางอาญาหรือโทษทางสังคมให้กับผู้ประกอบการที่กระทำความผิด เพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบต่อสังคม”
ในตอนท้าย พุธิตา ชัยอนันต์ ได้ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับของครม.ที่เป็นผู้เสนอ มีปัญหาที่ มาตรา 81 ที่เขียนในลักษณะที่คลุมเคลือ ตีความได้กว้าง เอื้อให้มีการฟ้องร้องปิดปากประชาชนและสื่อมวลชน ข่มขู่ด้วยระวางโทษจำคุก ซึ่งเป็นการตัดตอน ระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนและสาธารณะชน
ทั้งนี้ พุธิตายังคงสนับสนุนและโหวตเห็นชอบ ทุกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ และปิดท้ายด้วยข้อเสนอแนะว่า แม้ว่าที่ประชุมจะมีมติเห็นชอบให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านในวาระแรก แต่ต้องมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ โดยต้องตัดมาตรา 81 ออกไป
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...