“ใหญ่ชนใหญ่” สมรภูมิเลือกตั้ง อบจ.เชียงราย รวมกำลังตระกูลใหญ่ชี้ชะตาผู้ชนะสนามท้องถิ่น

บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดเชียงรายภายหลังการมาเยือนของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568 เพื่อช่วยหาเสียงให้กับนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงรายจากพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางความเข้มข้นของการแข่งขันที่กำลังเตรียมพร้อมก่อนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

‘Lanner’ สัมภาษณ์ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงพื้นที่การเลือกตั้งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษเนื่องจากพื้นที่การเมืองในจังหวัดเชียงรายนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อำนาจทางการเมืองไม่รวมศูนย์ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แต่กระจายไปใน 4 ตระกูลใหญ่ ได้แก่ ตระกูลจงสุทธานามณี, ตระกูลติยะไพรัช, ตระกูลวันไชยธนวงศ์, และตระกูลเตชะธีราวัฒน์ ซึ่งแต่ละตระกูลต่างมีอิทธิพลในพื้นที่ของตนเอง การรวมกำลังหรือการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“บ้านใหญ่” การเมืองท้องถิ่นเชียงราย

ณัฐกร กล่าวว่า การเมืองในจังหวัดเชียงรายมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากจังหวัดในภาคกลางหรือภาคตะวันออกอย่างชัดเจน เนื่องจากลักษณะของ “บ้านใหญ่” ในเชียงรายไม่ได้รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตระกูลใดตระกูลหนึ่งอย่างเด็ดขาด หากแต่กระจายตัวออกไปในลักษณะของ “บ้านหลายหลัง” ที่มีอิทธิพลในพื้นที่เฉพาะตัว เชียงรายมี 4 ตระกูลสำคัญ ซึ่งครอบครองพื้นที่ทางการเมืองตามภูมิศาสตร์ที่ชัดเจน คือ

1.ตระกูลจงสุทธานามณี มีฐานที่มั่นอยู่ใจกลางเมืองเชียงราย โดยมี วันชัย จงสุทธานามณี เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงราย และเคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ขณะที่ รัตนา จงสุทธานามณี ก็เป็นบุคคลสำคัญของตระกูลในพื้นที่นี้ วันชัย เขาไม่มี สส. ในพื้นที่นี้ แต่เขาก็ได้นายกเทศมนตรีผูกขาด เขาก็ชนะตลอดไม่เคยแพ้ใคร

วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย (ภาพจาก Facebook วันชัย จงสุทธานามณี)

2.ตระกูลติยะไพรัช ครองพื้นที่ตอนเหนือ เช่น อำเภอแม่จันและแม่สาย ซึ่งผู้ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยคือ สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ในพื้นที่นี้มีบุคคลสำคัญอย่าง นางละออง ติยะไพรัช อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย และ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ซึ่งเป็น ส.ส.เชียงราย เขต 2 ในปัจจุบัน รวมถึง ติยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้ก่อตั้งเครือข่ายของตระกูล  

สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้ลงสมัครนายก อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทย (ภาพจาก Facebook สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ด้วยจิตอาสาพัฒนาเชียงราย)

3.ตระกูลวันไชยธนวงศ์ ครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันออกของจังหวัด โดยปัจจุบันมี อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครนายก อบจ. และดำรงตำแหน่งนายก  อบจ. เชียงรายคนปัจจุบัน และได้รับการขนานนามว่า “นายกนก”

อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก  อบจ. เชียงรายคนปัจจุบัน (ภาพจาก Facebook อทิตาธร วันไชยธนวงศ์)

4.ตระกูลเตชะธีราวัฒน์ มีอิทธิพลในพื้นที่ทางใต้ของจังหวัด โดยมี วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เป็นบุคคลสำคัญในรุ่นใหม่ ส่วนในรุ่นก่อนหน้านั้น วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. ปัจจุบัน ต่างก็มีบทบาทในฐานะผู้นำของตระกูล ในการเลือกตั้งระดับ อบจ.

การรวมกำลังของตระกูลและเครือข่ายในการเลือกตั้งนายก อบจ.

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเชียงรายครั้งนี้ไม่ได้แบ่งตามเขตเล็กเหมือนการเลือกตั้ง ส.ส. แต่เป็นการเลือกตั้งในเขตใหญ่ทั้งจังหวัด ทำให้ปัจจัยสำคัญในการคว้าชัยชนะคือความสามารถในการผนึกกำลังของเครือข่ายการเมืองและตระกูลต่างๆ ในพื้นที่

“เชียงรายมี “บ้าน” หรือกลุ่มการเมืองหลัก 4 กลุ่ม ซึ่งในบริบทนี้ หมายถึงกลุ่มตระกูลการเมืองที่มีอิทธิพลในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นไปได้ที่บ้านทั้ง 4 หลังจะอยู่ข้างเดียวกัน ผู้สมัครที่มีโอกาสชนะคือผู้ที่สามารถรวบรวมการสนับสนุนจากบ้านทั้ง 4 กลุ่มได้มากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ในการเมืองที่ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร บางครั้งกลุ่มตระกูลเหล่านี้อาจขัดแย้งกัน และบางครั้งก็อาจร่วมมือกัน ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จะขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถเจรจาและสร้างความร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ได้ดีกว่า และผู้ที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งกว่าในการรวมบ้านทั้ง 4 หลังเข้าด้วยกัน อาจจะเป็นปัจจัยที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้”

ความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งนายก อบจ. เชียงราย 2563 ที่สะท้อนถึงการแตกแยก

ย้อนกลับไปในปี 2563 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบเดิมที่เคยทำมาก่อนหน้า โดยปล่อยให้การแข่งขันดำเนินไปตามปกติ สมาชิกพรรคที่ต้องการลงสมัครสามารถใช้ชื่อพรรคได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในปี 2563 เป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะส่งผู้สมัครนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ และเชียงรายก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่พรรคเลือกส่งผู้สมัคร

การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยในการส่งผู้สมัครนายก อบจ. เป็นที่สนใจเมื่อพรรคเลือกส่งตระกูลเตชะธีราวัฒน์ โดยเฉพาะวิสาระดี หรือ คุณยิ้ม ทำให้เกิดการแข่งขันภายในพรรค เนื่องจากผู้ที่เคยตั้งใจจะลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยอีกคนหนึ่ง คือ อธิตาธร วันชัยธนวงศ์ หรือ คุณนก ถูกตัดสินใจไม่ให้เป็นตัวแทนพรรค ส่งผลให้เขาตัดสินใจลงสมัครในนามอิสระ แม้จะมีบางส่วนมองว่าเขาถูกมองว่าเป็นตัวแทนของภูมิใจไทย”

ในทางกลับกัน คุณยิ้ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้สมัครนายก อบจ. กลับพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้สมัครจากฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยกลับชนะ การแข่งขันในครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยในช่วงเวลานั้น ซึ่งแม้จะเคยร่วมมือกันมาก่อน แต่กลับเกิดความแตกแยกในช่วงเลือกตั้งปี 2563 เหตุการณ์นี้จึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในทิศทางการเลือกตั้งและความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยในช่วงปี 2563

นโยบายท้องถิ่น ความสำคัญที่ยังคงถูกมองข้ามในยุคที่บุคคลมีอิทธิพลเหนือการเลือกตั้ง

ในประเด็นความสำคัญของนโยบายต่อผู้เลือกตั้งท้องถิ่น ยังคงเป็นเรื่องที่ยังถูกมองข้ามเนื่องจากในหลายกรณี ตัวบุคคลมักมีน้ำหนักมากกว่า โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมักจะตัดสินใจเลือกจากการรู้จักตัวบุคคล หรือจากผลงานที่เคยทำในอดีต อย่างไรก็ตาม นโยบายยังคงมีบทบาทที่สำคัญแม้ว่าจะไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของชาวบ้านอย่างชัดเจน การออกแบบนโยบายจึงยังคงได้รับความสำคัญจากนักการเมืองทั้งรุ่นเก่าและใหม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกรณีของจังหวัดเชียงราย ที่คุณสลักจฤฎดิ์ได้นำเอานโยบายการสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยใช้ชื่อ “แบรนด์ โทนี่ วุ้ด ซัม” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจากทักษิณ ชินวัตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน อันนี้คือตัวอย่างว่าเขาพยายามจะให้ค่ากับเรื่องนโยบายมากกว่ายุคก่อนหน้านี้ซึ่งเขาไม่เคยคิดว่านโยบายมันมีผล

การรวมตัวของพันธมิตรสำคัญในงานเปิดตัวผู้สมัครสลักจฤฎดิ์

ในการเปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้ง สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการแสดง Lineup ที่คล้ายกับคอนเสิร์ต โดยมีบุคคลสำคัญจากหลายตระกูลมาแสดงการสนับสนุน รวมถึงตระกูลใหญ่จากเชียงรายและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชื่อดัง เช่น พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร , เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ สส.จังหวัดตาก, และกลุ่มตระกูลต่างๆ อย่าง เตชะธีราวัฒน์ และ จงสุทธานามณี ที่ปรากฏในโปรแกรมการสนับสนุนงานนี้

แต่ในขณะที่ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปตามแผน การที่คุณต้นน้ำ ลูกของวันชัยและรัตนา จงสุทธานามณี ซึ่งมีกำหนดขึ้นกล่าวสนับสนุนผู้สมัครกลับไม่ได้มาในงาน กลับส่งตัวแทนที่เป็นนายกเทศมนตรีมาแทน ทำให้เกิดคำถามในสื่อเชียงรายเกี่ยวกับความจริงใจในการสนับสนุนของตระกูลจงสุทธานามณี

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ตระกูลจงสจงสุทธานามณี จริงๆ แล้วจะสนับสนุนผู้สมัครอย่าง สลักจิต ติยะไพรัช หรือไม่ เนื่องจากชื่อของพวกเขาปรากฏในโปรแกรม แต่ว่าตัวจริงไม่ได้มาปรากฏตัวตามที่กำหนด การขาดการมาของบุคคลสำคัญในงานนี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่า อาจจะมีผลกระทบต่อโอกาสในการเลือกตั้ง เพราะการสนับสนุนจากตระกูลจงสุทธานามณีถือเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถกำหนดชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง