17 มีนาคม 2560 หรือวันนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ชัยภูมิ ป่าแส หรือจะอุ๊ เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่จากกลุ่ม ‘รักษ์ลาหู่’ ถูกทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรมระหว่างเรียกตรวจยาเสพติดในรถยนต์ที่เขาและเพื่อนขับมา โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าพบยาเสพติดจำนวนรวม 2,800 เม็ดซ่อนอยู่ภายในรถ ซึ่ง ‘ชัยภูมิ’ ที่นั่งข้างคนขับต่อสู้โดยหยิบมีดขึ้นมา วิ่งหนีไปทางป้อมตำรวจเก่า บ้านอรุโณทัย เมื่อเจ้าหน้าที่ติดตามไป ‘ชัยภูมิ’ มีการควักระเบิดมาจะขว้างใส่ เจ้าหน้าที่จึงยิงตอบโต้ โดยยิงเข้าที่ตัวผู้ตาย 1 นัด การเสียชีวิตของ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่การกระทำของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ โดยหลายฝ่ายทั้งครอบครัวและเครือข่ายนักกิจกรรมที่ไม่เชื่อว่าชัยภูมิจะขนยาเสพติดตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง เพราะ ชัยภูมิเป็นนักกิจกรรมทางสังคมและไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงได้พยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการวิสามัญฆาตกรรมของชัยภูมิ ป่าแส
‘จะอุ๊’ ชัยภูมิ ป่าแส
ชัยภูมิ ป่าแส หรือ จะอุ๊ เป็นชาวลาหู่ อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม
ตั้งแต่เด็กชัยภูมิได้เข้าร่วม กิจกรรมกับกลุ่มรักษ์ลาหู่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มเยาวชนในกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ และกิจกรรมวัฒนธรรมอื่น ๆ เพื่อให้ห่างไกลยาเสพติด ผลงานเพลงของชัยภูมิ ได้แก่เพลงเพื่อคนไร้สัญชาติ ชื่อ “จงภูมิใจ” ผลงานภาพยนตร์สั้นได้แก่การเป็นทีมงานภาพยนตร์เรื่อง “เข็มขัดกับหวี” ซึ่งได้รับรางวัลช้างเผือกพิเศษดีเด่น ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 ประจำปี พ.ศ. 2556 ที่จัดโดยมูลนิธิหนังไทย และ “ทางเลือกของจะดอ” ได้รางวัลชมเชยจากเวทีเดียวกัน รวมถึงยังร่วมเป็นทีมงานในสารคดีที่ผลิตโดยกลุ่ม ‘รักษ์ลาหู่’ เช่น รายการบ้านเธอก็บ้านฉัน ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส นอกจากนี้ ชัยภูมิยังได้เป็นผู้นำในการฟื้นฟูการเต้นแจโก่ของชาวลาหู่จนได้รับการยอมรับในหมู่บ้าน เป็นผู้นำคณะเด็กและเยาวชนกลุ่มรักษ์ลาหู่จากบ้านกองผักปิ้งออกแสดงในหลายพื้นที่ ล่าสุด ได้ร่วมกับศิลปินญี่ปุ่นจากเมืองโอซากาทำนิทานเพลงเรื่อง ขนมออฟุและตำนานภาษาลาหู่ มาจัดแสดงในงาน ดี ต่อ ใจ ณ แพร่งภูธร เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2560
ชัยภูมิเป็นหนึ่งในกำลังเยาวชนที่ร่วมรณรงค์เรียกร้องการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติของคนชาติพันธุ์ เป็นแกนนำในการจัดค่ายเยาวชนชนเผ่าและได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายต้นกล้าเยาวชนพื้นเมือง และเป็นตัวแทนเครือข่ายฯ เข้าร่วมในการประชุมสัมมนาในระดับประเทศมาหลายครั้ง ชัยภูมิเคยให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้งว่า ตนเติบโตมาในหมู่บ้านที่แวดล้อมด้วยปัญหายาเสพติดและเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน การร่วมกิจกรรมกับรักษ์ลาหู่ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ห่างไกลจากสิ่งชั่วร้าย ได้มีโอกาสเอาใจใส่เลี้ยงดูน้องชายและแม่มากขึ้น เขามีความฝันอยากให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านมีชีวิตที่ดี และตนเองอยากเรียนจบปริญญาตรีและกลับมาเป็นครูสอนหนังสือเด็กในหมู่บ้าน
ความเปลี่ยนแปลงหลังชัยภูมิเสียชีวิต
ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักกิจกรรมชาวลาหู่ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์ลาหู่และเป็นผู้ดูแลชัยภูมิมาตั้งแต่เด็ก กล่าวหลังจากที่ชัยภูมิเสียชีวิต ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดหลังจากนั้น คนใกล้ชิดของชัยภูมิ ถูกทางการเพ่งเล็งว่าอาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนรู้เห็นด้วย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนกับครอบครัวชัยภูมิลำบากมากขึ้น ทั้งการขึ้นศาลสู้คดีและการถูกคุกคามต่าง ๆ นา ๆ จากเจ้าหน้าที่
‘นาหวะ จะอื่อ’ ญาติของชัยภูมิถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเชื่อมโยงมาจากกรณีชัยภูมิ ป่าแส และถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำถึง 331 วัน จนได้รับการปล่อยตัว กลุ่มรักษ์ลาหู่เองก็ได้แยกย้ายและไม่มีกิจกรรมเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ได้มีความพยายามก่อตั้งกลุ่มด้วยใจรักษ์ เพื่อสนับสนุนศักยภาพของเยาวชนชาวลาหู่ในมิติต่าง ๆ เหมือนที่ชัยภูมิได้ทำขณะยังมีชีวิต
ความคืบหน้าของคดี
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงานว่า ศาลแพ่งอ่านคำสั่งศาลฎีกา กรณีนาปอย ป่าแส (โจทก์) แม่ของชัยภูมิ ป่าแส ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อกองทัพบก (จำเลย) เหตุเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน M16 ยิงชัยภูมิ ป่าแส จนเสียชีวิตเมื่อปี 2560 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น เป็นผลให้กองทัพบกไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายแก่นาปอย ป่าแส เหตุว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่า ทั้งนี้คำสั่งของศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกา และรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา การยื่นฎีกาในครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ ดังนี้ การพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ทหารป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรกต้องพิจารณาว่าการกระทำของผู้ตายเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงหรือไม่ หากศาลฎีกาพิจารณาฎีกาของโจทก์ที่ได้บรรยายไว้โดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า การกระทำของชัยภูมิตามที่เจ้าหน้าที่ทหารเบิกความถึงนั้นขัดแย้งกับพยานหลักฐาน ผลตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของผู้ตายจากวัตถุระเบิดอย่างชัดแจ้ง จึงไม่มีน้ำหนักให้ศาลฎีกาเชื่อถือรับฟังแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง เจ้าหน้าที่ทหารที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ เป็นเจ้าหน้าที่ทหารไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจอ้างความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปมาใช้วินิจฉัยกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารคนนี้วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ถืออาวุธและมีอำนาจตามกฎหมายอยู่ในมือ ย่อมจะต้องมีวิจารณญาณสูงกว่าวิญญูชนทั่วไป เพราะการปฏิบัติหน้าที่อาจก่อความเสียหายให้แก่ประชาชน
ภายใต้หลักการพิจารณาทั้งสองประการจะเห็นได้ว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธสงครามยิงชัยภูมิบริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งอยู่ระดับเดียวกับทรวงอกที่เป็นอวัยวะสำคัญ ย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาวุธปืนสงครามมีอำนาจทำลายล้างสูง และย่อมจะทำให้ชัยภูมิถึงแก่ความตายได้ เจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงย่อมมีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยเล็งเห็นผล ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ แม้จะยิงเพียงนัดเดียวก็ตาม
ด้วยเหตุผลพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายดังที่โจทก์ ร้องต่อศาลฎีกา ครอบครัวชัยภูมิจึงขอให้ศาลฏีกา มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและให้ครอบครัวได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่พึงได้รับ
โดยขั้นตอนต่อไปศาลจะพิจารณาทั้งคำฎีกาและคำแก้ฎีกาของกองทัพบก ถ้ามีนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาศาลก็จะมีหมายแจ้ง ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 6 เดือนขึ้นไป
อ้างอิงจาก
- https://waymagazine.org/maitree-jamroensuksakul-dreams-have-been-turned-to-dust/
- https://prachatai.com/journal/2023/01/102314
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...