ตัวแทนฟ้องคดีฝุ่นภาคเหนือแถลงความคืบหน้า เตรียมยื่นอุทธรณ์ ย้ำศาลปกครองรับฟ้อง ก.ล.ต. และกลุ่มทุนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

17 พฤษภาคม 2566 ปารณ บุญช่วย วัชลาวลี คำบุญเรือง และสมชาย ปรีชาศิลปกุล ตัวแทนผู้ฟ้องคดีฝุ่น 2.5 ที่เชียงใหม่ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ อัพเดทคดีฝุ่นเชียงใหม่ และการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเนื้อหาดังนี้

นับแต่ที่ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 ต่อนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 2 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ 3 และ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ 4 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ในฐานเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ 

และเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งรับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 แต่ในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 นั้นศาลไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าเป็นหน่วยงานผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จึงมิใช่เป็นผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 รวมถึงประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องกำหนดมาตรการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศโดยทั่วไปฯ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ 4 จึงไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 คน จึงได้ร่วมกันตัดสินใจ “ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้อง” ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 โดยมีเหตุผลโต้แย้งคำสั่งของศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่คือ

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการประกอบธุรกิจเกษตรกรรมอ้อยและข้าวโพดที่เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญ เนื่องจากมีการเผาในกระบวนการผลิต จากข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือการผลิตน้ำตาลจากการปลูกอ้อย ล้วนแต่เป็น “แหล่งกำเนิดมลพิษฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน” ที่เกิดในประเทศและข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยตรง

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ ที่ 4 เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลภาคธุรกิจที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมาตรา 14 และ มาตรา 16/6 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไม่ว่า บริษัทจดทะเบียนฯ นั้นจะกระทำเอง หรือโดยบริษัทลูก บริษัทร่วมกิจการร่วมค้า ห่วงโซ่อุปทาน เมื่อดำเนินการ ณ ที่ใด บริษัทจดทะเบียนฯ จะต้องดำเนินกิจการโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชน 

และต้องประกอบธุรกิจตามหลัก “มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม มีการบริหารกิจการอย่างมีธรรมาภิบาล” (Environment, Social and Corporate Governance: ESG) เพื่อให้เกิด “ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน” (Sustainable Supply Chain) รวมถึงมีบทบาทอย่างสำคัญตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) และตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 กลับละเลย ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงาน การเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในแบบ 56-1 One Report หรือกำหนดแบบหรือวิธีการรายงานในลักษณะอื่น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียน รวมถึงการดำเนินกิจการต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านถึงผลกระทบ ความเสี่ยงต่อด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนทั้งที่เกิดจากการดำเนินกิจการในประเทศ ต่างประเทศ หรือการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนกลับมายังประเทศไทย 

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องเผา อันถือเป็นแหล่งกำเนิดมลภาวะฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยและข้ามพรมแดนที่กลับมายังประเทศไทย การไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่อาศัยทางภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศสะอาด โดยสิทธิเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการคุ้มครองและรองรับตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ คดีนี้เป็นคดีปกครองทางสิ่งแวดล้อมที่ศาลปกครองควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. 2554 ที่ว่า “ศาลพึงวินิจฉัยและให้เหตุผลในทุกข้อหา ทุกประเด็น หรือข้อโต้เถียงที่คู่กรณีกล่าวอ้างทั้งหมด การตีความอย่างกว้างและพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งควรวินิจฉัยเพื่อวางบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการที่ดี การสร้างปทัสถานของสังคมและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ” ทั้งศาลยังสามารถยึดหลักการป้องกันไว้ก่อน ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบจึงขออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ให้มีคำสั่งรับฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และที่ 4 ไว้พิจารณาพิพากษาตามกระบวนการขั้นตอนแห่งกฎหมายต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและประโยชน์สาธารณะ

ตัวแทนผู้ฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 เชียงใหม่

17 พฤษภาคม 2566

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง