ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อความเป็นเมืองได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” จึงเป็นสิ่งที่รัฐพยายามจะพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ และต้องการไล่รื้อพื้นที่ของประชาชน รวมถึงชุมชนริมทางรถไฟ บุญร่มไทรแห่งนี้ โดยไม่สนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแม้แต่น้อย และพร้อมผลักให้พวกเขากลายเป็นคนจนเมืองในที่สุด

เมืองสร้างชุมชนบุญร่มไทร

“บ้านคืออาชีพและชีวิต

คนจนขอสิทธิอยู่ในเมือง”

ชุมชนบุญร่มไทร 1 ใน 3 ชุมชนริมทางรถไฟเขตพญาไท ที่มีคนอยู่อาศัยกว่า 300 ครัวเรือน (ชุมชนแดงบุหงา 120 ครัวเรือน ชุมชนบุญร่มไทร 150 ครัวเรือน และชุมชนหลังทางหลวง 30 ครัวเรือน) ที่กำลังต้องออกจากพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการสร้างแนวเดินรถไฟส่วนต่อขยาย เส้นสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง ในโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน  โดยถึงแม้รฟท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ทางปฏิบัติชาวบ้านในชุมชนที่อาศัยมาอย่างยาวนาน และเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่มิใช่ผู้บุกรุกอย่างที่ใครกล่าวไว้

เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร เล่าว่า ชาวบ้านในชุมชน ได้อาศัยอยู่พื้นที่แห่งนี้มานานราว 50 – 60 ปี ต่างคนต่างพื้นที่ บ้างอพยพจากบ้านนอกเข้ามาอยู่ในเมือง บ้างมาทำงานโรงงาน ก่อสร้าง หรือค้าขาย ในฐานะคนใช้แรงนั้น เราต่างไม่มีเงินทอง พอเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้ว่าง จึงแผ้วถาง สร้างบ้านเป็นเพิงอย่างง่าย ๆ พอที่จะสามารถหลบแดดหลบฝนได้ จากอดีตที่เป็นพื้นที่รกร้าง มีเหตุอาชญากรรมมากมาย พอเกิดเป็นชุมชนที่มีจำนวนคนชุกชุม เหตุการณ์เหล่านี้จึงหายไป เราจึงถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในเขตพื้นที่ของการรถไฟ จนเรื่องราวมาเกิดขึ้นเมื่อปี 2563 ที่เราได้เจอโครงการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน การรถไฟให้เราย้ายไปอยู่ที่อื่น กลับภูมิลำเนา ชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก่อนหน้านี้ทางการรถไฟก็บอกเราว่า

“เดี๋ยวจะมีค่ารื้อถอนให้นะ อยากได้เท่าไหร่ก็เขียนมาเลย 

แต่ต้องมอบบัตรประชาชนให้นะ”

ด้วยความที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันจึงกลับมาเป็นหมายศาลชาวบ้านทั้งชุมชน พวกเราจึงต้องออกมาช่วยกันต่อสู้เพื่อความยุติธรรม นี่จึงเป็นอีกเหตุผลนึงที่เขายังสงสัยในกระบวนการการทำหน้าที่ของรัฐ ที่ไม่ได้ร่วมกันพูดคุยเพื่อหาทางออกจากที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของคนในชุมชนบุญร่มไทร ในฐานะผู้อยู่อาศัยในเมืองในการกล่าวถึงหนทางแก้ไขของปัญหานี้

โดยแต่เดิมที่พื้นที่แห่งนี้ยังคงเป็นป่าทึบ วรรณศิริ อำไพสมสิงห์ เป็นชาวโคราชโดยกำเนิด ปัจจุบันอายุ 60 ปี เล่าว่า เมื่อปี 2521 ได้ย้ายเข้ามาหางานทำอยู่กรุงเทพตั้งแต่วัย 14 ปี รวมถึงครอบครัว พ่อก็ทำงานรับจ้างก่อสร้าง พอเห็นที่ว่างก็เลยมาปลูกบ้านเป็นหลังแรก จากนั้นก็เริ่มมีคนทยอยสร้างบ้านต่อกันเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นชุมชน  แต่หลังจากทางรัฐเอาบัตรประชาชนเราไป แล้วเราโดยหมายศาลทีละคน ๆ ทำให้คนในชุมชนเริ่มกลัว

“แต่ก่อน รู้สึกว่าบ้านเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย มั่นคงมาโดยตลอด”

บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงความหมายของแนวคิด The Right to the City ว่าคือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง เพราะสื่อถึงการให้ผู้อยู่อาศัยในเมือง (urban inhabitants) ต้องมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจการใช้พื้นที่ของเมือง เพราะผู้อยู่อาศัยในเมือง ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ไม่ว่าจะมีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นเจ้าของที่ดินตรงนั้นหรือไม่ หากพวกเขาเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง พวกเขาล้วนมีส่วนในการสร้างสรรค์ชีวิตเมือง ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงเมืองเกิดขึ้น ชีวิตของพวกเขาก็ย่อมได้รับผลกระทบ จึงควรให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดการใช้พื้นที่และการเปลี่ยนแปลงเมือง นอกจากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแล้ว คำว่า The Right to the City ยังมีความหมายอีกนัยว่า ให้คนแต่ละคนได้มีส่วนร่วมในการใช้ชีวิตในเมือง

เมืองสร้างโอกาส

จากข้อมูล โครงการ EEC เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น ระบุว่า รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความพยายามคิดค้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึง ‘โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก’ หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ที่มุ่งเน้นไปยังการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และเพื่อผลักดันโครงการขนาดใหญ่ชุดนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติโครงการส่วนต่อขยายอย่าง ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ เพื่อพัฒนาและเชื่อมเส้นทางการขนส่งของโครงการ EEC อีกด้วย

นอกจากจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักเชื่อมการเดินทางระบบรางกับทางอากาศระหว่าง 3 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักใน EEC และเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิเอชีย-แปซิฟิก แล้ว รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อนี้ จะมาพร้อมกับโครงการพัฒนาพื้นที่ตลอดสองข้างทางรถไฟฯ ให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือSmart City โดยเฉพาะในเขตEEC ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง อันจะนำมาซึ่งความเจริญของพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ลดปัญหาความแออัดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งยังเป็นการสร้างงานใหม่ และรายได้ให้กับประชาชน

จากบทความดังกล่าวจะเห็นได้ว่าความเป็นเมือง หรือการขยายตัวของเมือง ได้สร้างโอกาสมากมายในแง่ของธุกิจ และเศรษฐกิจ ด้วยจำนวนประชากรที่มากขึ้น ที่จะนำไปสู่ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น แน่นอนว่ารัฐบาลต้องเริ่มวางแผนลงทุนโครงการงานสาธารณะขนาดใหญ่ ตั้งแต่ทางหลวงไปจนถึงสนามบิน และระบบขนส่งมวลชน ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่นี้ ทําให้ประชากรเคลื่อนที่ได้มากขึ้น และช่วยให้ธุรกิจใหม่ สามารถวางตําแหน่งตัวเองตามเส้นทางการขนส่งที่จัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย เช่นเดียวกับ ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมา

เมืองสร้างความเลื่อมล้ำ

แน่นอนว่าความเป็นเมือง (Urbanization) กระบวนการกลายชุมชนเป็นเมือง เกิดการเคลื่อนย้ายคนหรือการดำเนินงานเข้าสู่บริเวณเมืองหรือการขยายตัวของพื้นที่เมืองออกไปเกิดการเพิ่มจำนวนประชากรอยู่รวมกันหนาแน่น อันเป็นผลมาจากการที่ประชาชนเคลื่อนย้ายถิ่นจากชนบทมาสู่เมืองใหญ่ 

ความเป็นเมืองนี้ ได้สร้างโอกาสให้กับเราในการประกอบอาชีพ เป็นแหล่งรายได้ รวมถึงการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคมากกว่าพื้นที่ห่างไกล จะเห็นได้ว่าคนในชุมชนชนบุญร่มไทร มีโอกาสการทำงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะค้าขาย ขับวินมอเตอร์ไซค์ ทำงานโรงงาน เย็บผ้า รับจ้างทั่วไป และขายข้าวปลาอาหาร และยังสร้างโอกาสให้กับผู้บริโภคอีกด้วย ยกตัวอย่าง หากเราเป็นพนักงานออฟฟิศที่รายได้ไม่มากนัก การได้รับประทานอาหาร จาำร้านไก่ทอดรถเข็น ราคาไม่แพง ก็ทำให้เราลดค่าครองชีพที่เราต้องใช้จ่ายอีกด้วย

“เรื่องมูลค่าอาจจะตีค่าไม่ได้ แต่แน่นอนว่าสูญเสียโอกาส”

ในทางกลับกัน ชุมชนแออัดตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่ตั้งอยู่ริมทางรถไฟแห่งนี้ ความเป็นเมือง ได้สร้างความเลื่อมล้ำตามมา เชาว์ เกิดอารีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าถามถึงมูลค่าบ้าน มันก็ไม่กี่บาทหรอก แต่ชีวิตของเขาที่ได้รับผลกระทบนั้นลำบากมาก เพราะชาวบ้านส่วนมากไม่มีความรู้มาก อาชีพก็ไม่ได้ดีเด่นมาก การยึดพื้นที่ หรือว่าบ้านของเรา ให้เราย้ายไปอยู่ที่อื่น เราก็ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพเดิมได้

“จากบทความเรื่อง แสงสุดท้ายที่ชุมชนบุญร่มไทร การต่อสู้ของคนจนเมืองริมทางรถไฟ เมื่อถูกขับไล่จากภาครัฐ ของ Plus Seven Plus Seven ได้ให้ข้อมูลว่า พื้นที่บริเวณชุมชนบุญร่มไทร เป็นชุมชนแออัดตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่ไม่อาจมองเห็นได้จากการใช้รถใช้ถนน หากเราเดินสำรวจพื้นที่จะพบว่าชุมชนที่ทอดยาวประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรนี้อยู่ติดกับพื้นที่สำคัญหลายแห่ง

• ทิศเหนือติดกับถนนศรีอยุธยา อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ส่วนงานราชการ อาคารสำนักงานของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง

• ทิศตะวันออกติดกับถนนพญาไท มีสถานีรถไฟ รถไฟฟ้าบีทีเอส แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ คอนโดหรู และอาคารสำนักงาน

• ทิศตะวันตกติดกับถนนพระรามที่ 6 บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางอุรุพงษ์และกรมทางหลวง

• ทิศใต้ติดกับเพชรบุรีซอย 5 และซอย 7 อันเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของผู้คน ที่ตั้งหอพักของนักเรียน-นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ

ปกติแล้วตลอดทั้งวันจะมีผู้คนจากหลายหลายสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการ พนักงาน นิสิตนักศึกษา ใช้พื้นที่นี้เป็นทางลัดเลาะเดินผ่านจากที่พักไปที่ทำงาน จากหอพักไปสถานศึกษา ทุกคนล้วนเดินผ่าน หยุดพัก แวะรับประทานอาหาร จับจ่ายใช้สอยบริเวณดังกล่าวอยู่เสมอ บ้างหยุดรอที่หน้าทางเข้าชุมชนซึ่งเป็นจุดจอดรถไฟ ก่อนกระโดดขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางต่อไปสู่ปลายทางของตน”

จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชุมชนแออัดริมรถไฟ แม้จะอยู่ใจกลางเมืองที่เต็มไปตึกสูง และสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายมากมาย ความกระจุกตัวของประชากรทำให้พวกเขามีอาชีพ รายได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ทางรฟท. ได้ปฏิบัติการขับไล่และรื้อถอนที่พักอาศัยผ่านการฟ้องคดีทางกฎหมาย โดยไม่มีความเที่ยงตรง และทำให้พวกเขารู้สึก “เป็นอื่น”

เมืองเทพสร้าง สร้างให้ใคร

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้บริหารการรถไฟฯ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่เขตก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงยมราช – พญาไท บริเวณชุมชนบุญร่มไทรครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมเป็นประธาน ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนภาครัฐ ควบคู่กับการบริหารจัดการนำทรัพย์สินที่ดินมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ระหว่างการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ การรถไฟ ฯ ได้มีการพบปะพูดคุยกับชุมชน ฯ  เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก และหาทางออกร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของชุมชนบุญร่มไทร การรถไฟ ฯ ได้มีความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ จัดสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาด 315 ยูนิต บริเวณพื้นที่ริมบึงมักกะสัน เขตราชเทวี สำหรับรองรับการย้ายของชุมชนให้ไปเช่าอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โครงการอยู่ระหว่างการขออนุมัติของหน่วยงานรัฐ และการออกแบบเพื่อก่อสร้าง ประกอบด้วย ห้องพักขนาด 28.5 ตารางเมตร ขนาด 1 ห้องนอน และขนาด 34.6 ตารางเมตร ขนาด 2 ห้องนอน และมีพื้นที่รองรับศูนย์ดูแลเด็ก ศูนย์สุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง ห้องประชุม พื้นที่ส่วนกลางสำหรับประกอบอาหาร พื้นที่เก็บรถเข็นสำหรับประกอบอาชีพ รวมถึงมีตลาดสดภายในชุมชน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างในปี 67 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี 

ในตอนท้าย เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร กล่าวว่า ในเรื่องของนโยบายของภาครัฐ แน่นอนว่าเราอยากให้เขามองเห็นว่า เรื่องที่อยู่อาศัยมันมีความสำคัญ “หากรัฐจะคิดนโยบายในการพัฒนาประเทศมันต้องมีพื้นที่รองรับเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบตรงนั้น ไม่ใช่ให้พวกเราไปเรียกร้องตลอด” รัฐต้องมีนโยบายแบบชัดเจน และเข้าใจสิ่งที่เราต้องการ เพราะถ้ารัฐไม่นึกถึงประชาชน เราก็ต้องมีขบวนการให้เกิดเป็นนโยบายขึ้นมาด้วยตัวเอง

ด้วยกระบวนการต่อสู้ที่ยาวนาน และความเข้มแข็งของคนในชุมชนบุญร่มไทร ไม่ว่าจะเป็นออกมาประท้วงรวมตัวกัน เพื่อไม่ให้ถูกรัฐเอาเปรียบ หรือการพูดคุยเจรจากับทางรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำให้เร็ว ๆ นี้ พวกเขาจะได้ย้ายไปยัง “โครงการบ้านมั่นคง” ในพื้นที่ใหม่ อย่างไรก็ตามประเด็นการยึดพื้นที่คืนจากรัฐยังคงเป็นประเด็นที่สร้างปัญหาในอีกหลาย ๆ ชุมชน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม 

โดยท้ายที่สุดอาจกล่าวได้ว่าความเป็นเมืองได้สร้างโอกาส และนำมาซึ่งความเจริญมากมาย อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่รัฐพยายามขยายฐานเศรษฐกิจ แต่ในฐานะผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง พวกเขาควรที่จะมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมืองเช่นเดียวกัน มิฉะนั้น เมืองที่เดียวกันนี้ จะสร้างแต่ความเลื่อมล้ำ และถูกผลักให้ประชาชนกลายเป็นคนจน (ใน) เมืองในที่สุด

อ้างอิง

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง