“ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน

ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี

“เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต มีเงินมีอำนาจ ที่เขาพูดมามันจริงหมดเลย แต่เราก็เป็นคนที่มีสิทธิ์เหมือนกัน ถึงแม้เราไม่มีอะไร เราก็เป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่พื้นที่นี้ตั้งแต่เกิด ถ้าเราสามารถปกป้องพื้นที่ตรงนี้ได้ เราก็จะทำ”

พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ ดวง เยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงโปว์และการจัดการทรัพยากร จากหมู่บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและซ่อนเร้นไปด้วยความแข็งแกร่ง เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงการเหมืองถ่านหิน ซึ่งกำลังคุกคามบ้านของเธอ ชุมชนอันเงียบสงบที่ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาของภาคเหนือ ประเทศไทย กระทั่งศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวกรณีการทำเหมืองถ่านหินอมก๋อย จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา นับเป็นชัยชนะแรกของชาวกะเบอะดิน

ทว่าการต่อสู้ของชาวกะเบอะดินไม่ได้ถูกโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องด้วยปัญหาและอุปสรรคในการเคลื่อนไหว ทั้งด้านภาษา การศึกษา ข้อจำกัดทางการเมืองและกฎหมาย รวมถึงการกดขี่จากผู้มีอำนาจ

“มันเป็นเรื่องใหม่ของชุมชน เพราะชุมชนไม่เคยต่อสู้กับอะไรแบบนี้มาก่อน ทุกคนไม่มีความรู้เรื่องการต่อสู้เลย แต่พอมาเจอเรื่องนี้ชุมชนต้องทำความเข้าใจ มันเลยเป็นเรื่องยากสำหรับเรา พอมีเหตุการณ์เราต้องเดินทางไปหลายที่ การเดินทางค่อนข้างลำบาก แล้วก็มีข้อจำกัดด้านภาษา มันต้องสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษากะเหรี่ยง ชาวบ้านบางคนไม่สามารถพูดภาษาไทยได้และไม่เข้าใจภาษาไทย เวลามีกิจกรรมเราต้องฟังและแปลให้กับคนที่ไม่เข้าใจอีกที ซึ่งทำให้ใช้เวลามากขึ้น บางครั้งมีภาษาทางการหรือภาษากฎหมาย อาจจะทำให้ไม่เข้าใจเท่าไหร่เพราะขาดความรู้”

4 ปีแห่งการต่อสู้ของชาวกะเบอะดิน

ย้อนไปในปี 2530 ชาวบ้านได้รับการติดต่อจากบริษัทเอกชนพร้อมกับนายหน้าเข้ามาขอซื้อที่ดินในหมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จากคำบอกเล่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องขายที่ดินให้ไปอย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากถูกข่มขู่หากไม่ยอมขายให้ และถูกยึดที่ดินโดยชาวบ้านจะไม่ได้อะไรตอบแทน ฉะนั้นการเลือกที่จะขายเลย จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ปี 2543 บริษัทขอจดทะเบียนทำเหมืองถ่านหินจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 กระทั่งสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในปี 2553

ต่อมาในปี 2562 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ปิดประกาศของขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งเหลือเพียงกระบวนการเดียวเท่านั้น ขั้นตอนการขอสัมปทานก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

หลังจากชาวบ้านในพื้นที่ทราบข่าวการทำเหมืองแร่ผ่าน Facebook ในเดือนพฤษภาคม 2562 ชาวบ้านอมก๋อยและกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ในอําเภออมก๋อยก็ออกมารวมตัวกันเดินรณรงค์คัดค้านและยุติการทําเหมืองแร่อมก๋อย ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย ในวันสิ่งแวดล้อมโลก

การรวมตัวของชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ในอำเภออมก๋อยที่คัดค้านโครงการดังกล่าว นำไปสู่ ‘การล้มเวทีรับฟังความคิดเห็น’ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 ที่ชาวอมก๋อยและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จำนวน 2,000 กว่าคน ได้แสดงพลังไม่เอาเหมืองและไม่ต้องการให้เกิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ณ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 

(รูปจาก เพจ “กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์”)

แม้การขอประทานบัตรจะเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย แต่รายงาน EIA กลับพบข้อพิรุธมากมาย โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านชุมชนกะเบอะดิน ที่จะได้รับผลกระทบรวม 6 หมู่บ้าน จำนวน 50 คน จึงร่วมกันยื่นฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 เนื่องจากชาวบ้านมีความกังวลว่าเหมืองถ่านหินจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่

จนในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องในคดี ซึ่งถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของศาลปกครอง เชียงใหม่ ในปี 2565 และในวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีเหมืองแร่อมก๋อย จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ การต่อสู้ของชุมชนในการคัดค้านโครงการเมืองแร่ถ่านหิน มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 

ขั้นตอนที่ 1 การเก็บข้อมูลชุมชน ในช่วงแรกจะเป็นการเก็บข้อมูลแบบเครื่องมือ 7 ชิ้น และตัดสินใจจัดทำข้อมูล CHIA:Community Health lmpact Assessment ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงจากชุมชนโดยชุมชนเป็นผู้จัดทำขึ้น ลงพื้นที่ บันทึกข้อมูล และรวบรวมข้อมูลเพื่อเผยแพร่และเป็นหลักฐานในการต่อสู้ขั้นตอนต่อไป 

ขั้นตอนที่ 2 การต่อสู้เชิงขบวนหรือการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างการรับรู้และแสดงพลังของคนในพื้นที่ 

ขั้นตอนที่ 3 งานสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ทุกมิติและเล่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน โดยชุมชนกะเบอะดินใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านเพจ “กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” ในการอธิบายตัวตน เอกลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชน และสิ่งที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่

ขั้นตอนที่ 4 การใช้กระบวนการยุติธรรม เป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อคืนสิทธิให้กับชุมชนท้องถิ่นหลังจากการต่อสู้ทุกรูปแบบ ชุมชนกะเบอะดินใช้กลไกการฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ (EIA) 

การเมืองกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้ว่าทรัพยากรต่าง ๆ จะมีอยู่มากมาย แต่ประชาชนบางกลุ่มกลับถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึง กลุ่มคนที่ต้องอาศัยป่าเป็นแหล่งพักพิงเริ่มถูกไล่ที่ให้ย้ายออกมาอยู่ด้านนอก จากคำประกาศที่เกิดขึ้นภายหลังการตั้งรกรากของคนในพื้นที่ที่อยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กลายเป็นการสร้างอำนาจต่อรองระหว่างรัฐและประชาชนผู้ถูกปกครองภายใต้รัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข 

ประชากรในพื้นที่ภาคเหนือจำนวนไม่น้อยยังคงถูกมองข้าม เพราะนโยบายและกฎหมายที่ออกมามีความขัดแย้งต่อการดำรงชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเพิกเฉยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาใช้พื้นที่ของกลุ่มทุน ซึ่งผูกโยงกับการให้พื้นที่สัมปทานโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โครงการที่ว่านี้ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ไร้การรับรู้จากผู้คน กระทั่งเมื่อชุมชนรับรู้เรื่องราวก็แทบจะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายแล้ว 

“เราว่าการเมืองและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการเมืองมันเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และการต่อสู้ของเรา การเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสัมปทานที่ดินหรือการใช้พื้นที่ ถ้าการเมืองดี เห็นคุณค่าและความสำคัญของชุมชน มันจะไม่มีการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในห่างไกลได้ แต่พอมีช่องโหว่ เขาเลยสามารถเข้ามาสัมปทานในพื้นที่เราได้”

(ภาพ: วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร)

พ.ร.บ.ชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา

“จริง ๆ เราผลักดันเรื่องการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญเพราะเป็นกฎหมายสูงสุด เพื่อให้ชาติพันธุ์เข้าถึงการศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยไม่เป็นพลเมืองชั้นสอง อยากให้กลุ่มชาติพันธุ์มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่คนชาติพันธุ์ได้มีโอกาสร่วมกันเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

ที่ผ่านมารัฐจะมีมาตรการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ยังขาดกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการอันเหมาะสมในการปฏิบัติ ทำให้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบางประการ เช่น การกำหนดสถานะบุคคล สิทธิอาศัยในที่ดินที่ทับซ้อนพื้นที่อนุรักษ์ทางราชการ ขาดการเข้าถึงการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่อาจกระทบต่อวีถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงควรมีกฎหมายส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้มีกฎหมายชาติพันธุ์ ไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดของการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย หากแต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สังคมไทยหันมายอมรับการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ และเคารพในความแตกต่างหลากหลายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

ปัจจุบันขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม มีความก้าวหน้าจนสามารถผลักให้มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับชาติพันธุ์ถึง 5 ฉบับ แต่ในความเป็นจริงแล้วการขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ยังมีสถานการณ์ความท้าทายจากนโยบายของรัฐ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในการผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์

ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ แต่กลับมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ Carbon Neutrality โดยมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่โดยส่วนใหญ่มีวิถีวัฒนธรรมสัมพันธ์การอยู่ในป่า เมื่อเป็นไปดังนี้จึงเป็นสถานการณ์ความท้าทายที่กลุ่มชาติพันธุ์มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับถูกคุกคามเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินมากขึ้น 

“พื้นที่ที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เป็นพื้นที่เปราะบาง จะเห็นว่ารัฐยึดไปเป็นพื้นที่เวนคืนของนโยบายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้กับกลุ่มทุน และอีกรูปแบบหนึ่งคือการเข้าโครงการนโยบายต่าง ๆ ที่คนได้ประโยชน์คือทุนกับรัฐ ทำให้ทุนสามารถปล่อยคาร์บอนได้” — ลิขิต พิมานพนา Free Indigenous People (FIP) ชาติพันธุ์ปลดแอก กล่าวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ความฝันกะเบอะดิน

“จริง ๆ ถ้าชุมชนพัฒนา เราก็ยินดี แต่เราไม่เห็นด้วยถ้าต้องแลกกับโครงการพัฒนาของรัฐที่จะส่งผลต่อชีวิตของเรา เพราะมันเป็นสิทธิ์ที่ชุมชนควรจะได้รับอยู่แล้ว”

ชุมชนชาติพันธุ์หลายพื้นที่ยังเผชิญปัญหาและนโยบายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการจำกัดสิทธิด้านต่าง ๆ เช่น ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเรื่องสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียม แต่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ และยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่พึงมี จนนำไปสู่การเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่อ้างว่าจะทำให้ชุมชนเจริญขึ้น

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ไม่ได้ปฏิเสธ ‘ความเจริญ’ หรือไม่อยากได้ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทางลาดยาง หรือโรงเรียนดี ๆ ที่จะทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยก่อรูปให้ฝันของคนในพื้นที่เป็นจริง ซึ่งรัฐควรเป็นผู้เข้ามาจัดสรรให้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเป็นภาพที่หลายคนฝันไว้ ประเทศไทยดำเนินชีวิตภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มาเป็นระยะเวลา 7 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญจากผลพวงของรัฐประหาร แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและกระบวนการแก้ไขนั้นอาจจะไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่ควรจะเป็น 

“เราอยากเห็นชุมชนชาติพันธุ์มีพื้นที่เป็นของตัวเอง มีทุกอย่างรองรับ โดยที่ไม่ต้องมีปัญหาหรือมีกฎระเบียบมากดทับ ความฝันสูงสุดของเราอยากเห็นชาติพันธุ์ไม่เป็นพลเมืองชั้นสอง ชาติพันธุ์ก็คือคน ซึ่งคนก็ต้องพัฒนาและควรได้รับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาเหมือนคนทั่วไป”

อ้างอิง:

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง