รัฐบาลนำโดยฝ่ายก้าวหน้าในกรุงเทพฯ อาจใช้แนวทางใหม่เพื่อเผชิญวิกฤตในประเทศเพื่อนบ้าน
By Oren Samet, a Ph.D. candidate in the political science department at the University of California, Berkeley.
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการตอกหน้ารัฐบาลเก่าอย่างรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ทำการรัฐประหารและใช้กลโกงอยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี 2556 มาจนถึงปัจจุบัน หลังพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถล่มทลาย กระนั้นด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ร่างโดย ค.ส.ช.อาจจะทำให้พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งถ้าหากพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมสามารถตั้งรัฐบาลได้จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการชี้ขาดของบทบาททหารในการเมืองไทย รวมไปถึงการสร้างประชาธิปไตยในไทย
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทยมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ที่ปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับเผด็จการทหารสุดอำมหิตที่ทำการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 การยึดอำนาจของกองทัพในครั้งนี้ทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนต่อต้านการรัฐประหารเป็นวงกว้างทั่วประเทศ รวมไปถึงการเกิดกลุ่มต่อต้านติดอาวุธ ทำให้รัฐบาลทหารพม่าตอบกลับโดยการปราบปราบและใช้อำนาจควบคุมประชาชนที่ออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 3,600 คน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองส่งผลให้ประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนต้องหนีตายลี้ภัย และในวันที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งวันเดียวกันนั้นเองที่ประเทศเมียนมาเกิดพายุไซโคลนลูกใหญ่พัดเข้าชายฝั่ง ซึ่งสิ่งแรงที่รัฐบาลทหารพม่าทำก็คือการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ
แม้การประณามส่วนใหญ่เพื่อนำเมียนมากลับสู่ระบอบประชาธิปไตยจากนานาชาติจะล้มเหลว แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยซึ่งมีอิทธิพลต่อเมียนมาก็กำลังมุ่งไปสู่ความก้าวหน้า
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าอันดับต้นๆ ของประเทศเมียนมา โดยมีการลงทุนข้ามชายแดนจากผู้ประกอบการหลายเจ้า นอกจากนี้แรงงานชาวเมียนมากว่า 1 ล้านคนยังเข้ามาใช้ชีวิตและประกอบอาชีพในประเทศไทย อีกทั้งรัฐบาลไทยนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นโล่ที่คอยออกหน้าแทนนายพลเมียนมาทั้งหลาย ผ่านการปฏิเสธความรุนแรงต่างๆ และการขัดขวางความพยายามในการบรรเทาความขัดแย้ง โดยมีลักษณะร่วมเดียวกันคือ ‘ความเป็นเผด็จการ’
อย่างไรก็ตาม การร่วมมือการของสองเผด็จการก็มีความเป็นไปได้ที่จะถึงคราวยุติ ภายใต้รัฐบาลของ ‘พรรคก้าวไกล’ ซึ่งมีนโยบายการต่างประเทศก้าวหน้ากว่ารัฐบาลภายใต้พลเอกประยุทธ์ไปมาก อีกทั้งวิสัยทัศน์ดังกล่าวยังขยายไปไกลถึงเมียนมาด้วย โดยพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารมาโดยตลอด ถึงขั้นที่ว่าเคยมีการเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรกองทัพเมียนมามาแล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการประกาศพันธกิจในการเปลี่ยนแปลงนโยบายของไทยต่อเมียนมาโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้เข้ากับจุดยืนของประเทศต่าง ๆ ในฝั่งประชาธิปไตย
ซึ่งถ้าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นจริงเป็นไปได้ว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา และความทุกข์ทรมานของประชาชนจะลดลงไปได้
ท่าทีของพรรคก้าวไกลในฐานะรัฐบาลชุดใหม่ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีรักษาการของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลทหารเมียนมาก็ได้ออกมาแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ประกอบไปด้วยสมาชิกของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกรัฐประหารและกองกำลังที่สนับสนุนประชาธิปไตย ที่เสาะหาการเป็นที่ยอมรับทางการทูตเพื่อที่จะได้ยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมาได้ แต่การแสวงหาจุดยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐบาลชุดนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากนัก
การมาถึงของรัฐบาลชุดใหม่ของไทยอาจจะเป็นทางออกให้กับรัฐบาล NUG ได้ ผ่านการเปิดโอกาสพูดคุยกับพันธมิตรระดับภูมิภาค รวมไปถึงการประสานงานความร่วมมือกับเพื่อนบ้านของเมียนมา
แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ผู้สนับสนุนเผด็จการทหารเมียนมาโดยตรง แต่การตอบสนองต่อวิกฤตทางการเมืองในเมียนมาอย่างเชื่องช้าก็เป็นจุดที่ช่วยให้เหล่านายพลในเมียนมาได้ใช้อำนาจควบคุมประชาชนอย่างโหดเหี้ยม
กรุงเทพฯ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ผ่านการชะลอมาตรการจากประชาคมอาเซียน (ASEAN) โดยในเดือนเมษายน 2564 กลุ่มผู้นำประชาคมอาเซียนอนุมัติฉันทามติ 5 ข้อเกี่ยวกับเมียนมา ที่เรียกร้องให้หยุดความรุนแรงและสร้าง “การสนทนาเชิงบวกระหว่างทุกฝ่าย” แต่กลับมีการแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนเมื่อมีการพูดถึงมาตรการจัดการกับความไม่ร่วมมือของรัฐบาลทหารเมียนมา สมาชิกเช่น มาเลเซียและอินโดนีเซียต้องการให้มีการปรึกษาหารือโดยตรงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้นรวมถึงรัฐบาล NUG แต่สมาชิกที่เป็นรัฐบาลเผด็จการในกลุ่มรวมถึงประเทศไทยลังเลที่จะเพิ่มการกดดัน
ความไม่ลงรอยกันนี้ทำให้อาเซียนอยู่ในสถานะอัมพาต ผู้สนับสนุนรัฐบาล NUG จำนวนมากเรียกร้องให้สมาชิกเน้นการประชุมทวิภาคีหรือพหุภาคีกันนอกกรอบของประชาคมอาเซียน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความกังวลของประเทศสมาชิกที่กลัวว่าจะเป็นการล้ำเส้นโครงสร้างที่ใช้ฉันทามติในการตัดสินใจของประชาคมอาเซียน แต่รัฐบาลไทยในตอนนั้นกลับมีความกังวลน้อยกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆในประเด็นดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลทหารเมียนมาจากสถานการณ์นี้
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ได้เข้าพบกับพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้นำการรัฐประหารและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนม่า ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือในวิกฤตร่วมกับบางภูมิภาคที่ถูกเชิญ ซึ่งถือเป็นการตอกหน้าสถานะความเป็นกลางของประชาคมอาเซียน ที่ประเทศไทยยังคงต้อนรับเหล่านายพล แม้ว่าพวกเขาจะถูกกันออกจากการประชุมประชาคมอาเซียนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 แล้วก็ตาม
ทั้งการที่ไทยโอบรับรัฐบาลทหารเมียนมา และความพยายามในการขัดขวางการทำงานของประชาคมอาเซียนเพื่อปกป้องรัฐบาลเมียนมา เป็นผลผลิตของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของรัฐบาลทหารของทั้งสองประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้นำของไทยเชื่อว่าถ้าเปิดทางให้เหล่านายพลเมียนมามากพอ กองทัพเมียนมาก็น่าจะปราบปรามประชาชนจนเกิดเสถียรภาพขึ้นได้ประเทศเมียนมาได้
แรงต้านที่เกิดขึ้นต่อรัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับความเชื่อของกลุ่มผู้นำในไทย การควบคุมยังยากลำบากมากขึ้นแม้แต่ในส่วนกลางการปกครองของประเทศก็ตาม มีความเป็นไปได้มากว่าถ้าฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นมามีอำนาจ อาจจะสื่อความได้ว่าทางด่วนสู่อำนาจของเหล่านายพลและช่องโหว่ของการถูกคว่ำบาตรโดยประชาคมอาเซียนอาจมาถึงจุดจบ และแม้ว่ารัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังในกรุงเทพฯจะพยายามอย่างหนักในการต่อต้านฉันทามติ 5 ข้อ แต่ พิธา ลิ้้มเจริญรัตน์ ได้ให้สัตยาบันที่จะปฏิบัติตามฉันทามตินั้น
การมาถึงของรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล อาจเป็นความหวังสำหรับนโยบายประเด็นชายแดนใหม่ ๆ
ประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมาอยู่ถึง 2,400 กิโลเมตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมข้ามชาติ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่การรัฐประหาร มีการปะทะกันหลายครั้งในประเทศเมียนมา ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยไปเพียงกิโลเมตรกว่า ๆ เท่านั้น และด้วยเหตุนั้นหลายเมืองในฝั่งไทยกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับฝ่ายประชาธิปไตยเมียนมาที่ต้องหนีความรุนแรงจากการกระทำของกองทัพเมียนมา แต่ในช่วงเวลานั้นเองรัฐบาลไทยกลับปฏิเสธการช่วยเหลือข้ามพรมแดน และยังส่งนักกิจกรรมประชาธิปไตยให้กับเจ้าหน้าที่เมียนมา ซึ่งในประเด็นนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ได้เรียกร้องให้สร้าง ‘ระเบียงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม’ และพรรคก้าวไกลเองก็คงไม่ออกไปไล่ล่าฝ่ายประชาธิปไตยที่เข้ามาพักพิงพื้นที่ปลอดภัยในประเทศไทยแน่นอน
ยิ่งไปกว่านั้น พรรคก้าวไกลยังมีหลายสิ่งที่เหมือนกับฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมา กล่าวคือพรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายก้าวหน้าในไทยที่เป็นตัวแทนของการยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพที่พยายามเข้ามาครอบงำการเมือง ไม่ต่างจาก NUG และขบวนการอารยะขัดขืนในเมียนมา นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังประสบกับการกำจัดฝ่ายประชาธิปไตยผ่านปราบปรามและการรัฐประหารด้วย และสุดท้ายคือความเหมือนกันของยุทธวิธีและความสามัคคีกันภายในเครือข่ายนักกิจกรรม ในปี 2563 เกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นในประเทศไทย จากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ความตื่นรู้จากการประท้วงครั้งนั้นก็มีส่วนช่วยให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคการมีที่เป็นที่นิยมชมชอบจากประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย และในปีถัดมา การชู 3 นิ้วก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายประชาธิปไตย ในช่วงที่เมียนมาเกิดการลุกฮือขึ้้นของประชาชน
รัฐบาลชุดใหม่ของไทยอาจจะยังไม่สามารถยุติวิกฤตในเมียนมาได้ทันที แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ถือว่าสูง การลุกฮือขึ้้นของฝ่ายประชาธิปไตยในไทยก็ถือว่ายังทำให้ความหวังของฝ่ายประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่ตายลงไป
อย่างไรก็ตามการที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเหมือนกันรัฐธรรมนูญของเมียนมาในช่วงก่อนปี 2564 รัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบันยังคงรักษาอำนาจของเหล่านายพลไว้ สมาชิกวุฒิสภาที่ถูกแต่งตั้งโดยกองทัพยังคงมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นทำให้มีความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะถูกขัดขวาง
และถึงพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่านโยบายของพรรคเกี่ยวกับประเทศเมียนมาจะถูกนำไปปฏิบัติ พรรคก้าวไกลอาจให้ความสำคัญกับปัญหาอื่น ๆ ภายในประเทศก่อน อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่กองทัพไทยจะต่อต้านการให้การควบคุมพรมแดนทั้งหมดแก่รัฐบาล และประเทศไทยอาจเผชิญความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารอีกครั้งในเดือนที่จะถึง กองทัพอาจตัดสินใจว่าความนิยมของพรรคก้าวไกลเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่หลวง และแม้ว่าผลลัพธ์เช่นนี้อาจจะไม่นำไปสู่การทำลายล้างเช่นเดียวกับเมียนมา แต่ก็คงจะเป็นจุดจบของประชาธิปไตยของทั้งสองประเทศ
แม้อนาคตการเมืองไทยจะยังไม่แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือประชาชนเมียนมาก็คงมีความคาดหวังในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของกรุงเทพ ฯ ไม่แต่จากคนไทย
ที่มา: foreignpolicy.com
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...