‘ข้าราชการ’ อาจเป็นไม่กี่ทาง ความเจริญที่ทิ้งห่างของคนไกลบ้าน

เรื่อง: ธันยชนก อินทะรังษี

แม้ว่าคุณจะเติบโตมาจากที่แห่งหนใด ชีวิตก็มักพัดพาให้คุณเข้ามาในเมืองใหญ่เสมอ ดั่งเพลงลูกทุ่งที่พ่วงมาด้วยคำว่า เพื่อชีวิต อย่างเพลง ‘ละครชีวิต’ ของขวัญใจคนใช้แรงงาน ‘ไมค์ ภิรมย์พร’ ที่บอกเล่าถึงการจากอีสานบ้านเกิดเมืองนอนดั้นด้นมาหางานทำในกรุงเทพฯ บทเพลงได้สะท้อนความหนักหน่วงถึงการทำงานหาเงิน ที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย ความมุมานะ ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อคนข้างหลัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็เพราะ ‘กรุงเทพฯ’  มันมีโอกาสมากกว่าต่างจังหวัดมากโข และเรื่องน่าเศร้าที่สุด คือ หากคุณอยากกลับมาทำงานที่บ้านต่างจังหวัด “ต้องสอบเป็นข้าราชการเท่านั้น” แม้อาจดูเหมือนตัดสินจนเกินไป และหลายพื้นที่ต่างก็มีศักยภาพ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่ามันอาจจะจริงหากอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เผยผลสำรวจประชากรแฝงมากที่สุดในไทยปี 2566 คือ กรุงเทพมหานคร ผนวกกับสถิติของผู้เข้าสมัครสอบ ก.พ. ในทุก ๆ ปีก็พบจำนวนผู้สมัครสอบตั้งแต่ ปี 2561-2566 มีผู้สมัครมากกว่า 3 แสนคน 

เหลือเพียงแค่ข้าของแผ่นดิน

ปัจจุบันการทำงานประกอบอาชีพในต่างจังหวัดยังคงมีตัวเลือกไม่มากนัก นอกจากภาคการเกษตร เจ้าของธุรกิจ รับจ้างทั่วไปแล้ว ก็มีเพียงอาชีพข้าราชการเท่านั้นที่ทำให้ไม่ต้องใช้ชีวิตระหกระเหินในเมืองหลวง จากค่านิยมของคนไทย ที่เชื่อว่าการทำงานข้าราชการเป็นงานที่มั่นคงสูง และมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นงานที่น่ายกย่อง ได้รับการเชิดหน้าชูตา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนประกอบอาชีพดังกล่าว  แต่ก็พบว่ามีจำนวนคนไม่น้อยที่ไม่ได้อยากรับราชการ แต่ต้องจำใจสอบแข่งขันเพื่อที่จะได้กลับมาทำงานที่บ้านต่างจังหวัด ตั้งแต่ระดับพนักงานราชการ ข้าราชการประจำ หรือข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะแม้อาชีพนี้จะมีรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็มีสวัสดิการพอสมควร อีกทั้งยังไม่ต้องอยู่ในเมืองใหญ่ที่แออัดและเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ได้อยู่บ้านกับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา

จากสถิติของผู้เข้าสมัครสอบ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ซึ่งเป็นการสอบเพื่อคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสม สำหรับการเข้ารับราชการในหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ จัดสอบโดยสำนักงานก.พ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โดยจะเห็นว่ามีจำนวนผู้ให้ความสนใจและสมัครสอบมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี เช่น ปี พ.ศ.2561 จำนวนผู้สมัคร 499,718 คน, ปี พ.ศ.2562 จำนวนผู้สมัคร 580,000 คน, ปี 2563 จำนวนผู้สมัคร 500,000 คน และสถิติคนสมัครสอบ ก.พ. ในปี พ.ศ 2564 มีจำนวนผู้สมัครสูงสุดถึง 719,805 คน ถึงแม้ในปี พ.ศ.2566 จะเหลือเพียง 333,500 คน ลดลงจากปีที่ผ่าน ๆ มา แต่ก็เป็นจำนวนที่มากทีเดียว จนทำให้เว็บไซต์สมัครสอบล่ม แสดงให้เห็นว่ามีผู้สนใจต้องการเข้ารับราชการจำนวนมากทุกปี

ธนาศาน สุภาษี หรือที่รู้จักกันในวงการติวเตอร์สอบข้าราชการในชื่อ “ติวเตอร์นอร์ท” ช่วยสะท้อนถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งมีที่มาจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน ไล่เรียงตั้งแต่ จากมติ ครม.ที่ประกาศเรื่องสวัสดิการข้าราชการ อัตราเงินเดือนที่ 18,000 บาท รวมถึงเวลาการทำงานที่ยังคงได้หยุดเสาร์ – อาทิตย์ โดยเข้างานเวลา 8 โมงเช้า เลิกงาน 4 โมงเย็น ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ถือว่าเป็นสวัสดิการที่ตอบโจทย์คนทำงาน จนทำให้หลายคนเลือกที่จะมาสอบเข้ารับราชการอย่างที่เห็น 

เดิมทีงานข้าราชการมีคนสนใจสอบเข้าเยอะอยู่แล้วทุกปี แต่ปีนี้ที่คนเข้าสอบมากขึ้น มาจากปัจจัยหลายด้าน โดยคนเข้าสอบข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด งานราชการจึงตอบโจทย์มากกว่าเอกชน ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีบริษัทใหญ่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเดือนที่มีการปรับขึ้นมา รวมถึงเวลาการทำงานที่ไม่ต้องทำวันเสาร์

นอกจากนี้ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีหลายคนต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงจากการออกจากงานในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา จึงมองหาความมั่นคงของงานราชการมากขึ้น พร้อมกันนั้นในปีนี้ หลายหน่วยงานมีการเปิดรับบรรจุคนกันเยอะ จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในหลายรอบปีที่จะสอบเข้ารับราชการ ก่อนที่ตำแหน่งจะหมดไป แล้วต้องรออีกหลายปี ถึงจะมีตำแหน่งว่างรับบรรจุ

อาชีพข้าราชการ ยังเป็นอาชีพยอดฮิต ตราบใดที่การจ้างงานยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯ แต่ถ้าการจ้างงานกระจายตัวไปอยู่ในต่างจังหวัดมากขึ้น คนอาจจะอยากไปอยู่กับเอกชนก็ได้ ถึงตอนนี้สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งสิทธิการกู้เงิน สิทธิรักษาพยาบาล รวมถึงเงินเดือนเริ่มต้นที่ 18,000 บาท สำหรับเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานเลยในต่างจังหวัด แทบไม่มีเอกชนแห่งไหนจะสามารถให้ได้ 

ต่างจังหวัดน่าอยู่ แต่ไม่มีงานดี ๆ ให้ทำ

ภาพ: ธนัท จันไตรรัตน์

“ส่วนตัวก็ไม่เห็นเหมือนกันว่าจะมีหนทางไหนที่ทำให้ระบบนี้ดีขึ้น”

ถึงแม้จะมีนักศึกษาจบใหม่มากมาย ที่พอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง แต่ก็พบเงื่อนไขข้อจำกัดข้อใหญ่คือ รายได้กับภาระงานที่ไม่คุ้มค่าแรงที่เสียไป ธนัท จันไตรรัตน์ ได้เล่าผ่านสื่อออนไลน์ของตัวเองว่า ผมเรียนจบที่เชียงใหม่ เมืองที่แสนน่าอยู่ แต่สุดท้ายก็ต้องหนีลงมาหางานที่กรุงเทพฯ  เพราะงานในต่างจังหวัดมันโหดเกินกว่าจะรับได้จริง ๆ ซึ่งเขาได้เล่าผ่านประสบการณ์ของตัวเอง และเพื่อน ๆ รอบตัว โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้

ข้อแรก จบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 12,000 บาท อาจจะมีบางงานที่เงินเดือนเริ่มต้นเพียง 8,000 บาท ไปจนถึงน้อยสุด 6,000 บาท หากไม่เชื่อสามารถเปิดดูในเว็บไซต์หางานได้เลย แน่นอนว่ามันไม่ได้ครึ่งของค่าเทอมเราด้วยซ้ำ แม้ค่าครองชีพของต่างจังหวัดมันจะต่ำกว่า แต่มันก็ไม่ได้ต่ำแบบก๋วยเตี๋ยวชามละ 10 บาท ข้าว 5 บาท คือมันก็ไม่พอใช้อยู่ดี

ข้อสอง มีวันหยุดแค่ 1 วัน จากสถิติร้อยละ 90 ที่ต่างจังหวัดมักให้ทำงานถึง 6 วัน บางทีวันอาทิตย์อาจต้องทำงานอีกครึ่งวัน คำถามคือมันอยู่ได้ยังไง แค่ซักผ้าก็หมดไปแล้ววันนึง เอาเวลาไหนไปพักผ่อน หรือไปเจอเพื่อนเจอฝูง แล้วจะเอาเวลาไหนไปทำงานเสริมอีก ใครมันจะไปทำได้

ข้อสุดท้าย เราจะได้ทำงานที่จับฉ่ายมาก คือทำทุกอย่างในออฟฟิศ แม้ว่างานนั้นจะอธิบายชัดเจนว่าทำตำแหน่งอะไร แต่พอเข้าไปทำงานจริง กลับได้ทำหมดทุกอย่าง หลายคนก็ยอมแพ้ลงมาหางานในกรุงเทพฯ แต่ก็ยังมีหลายคนที่พยายามต่อสู้กับระบบจะเอามันชนะให้ได้ ส่วนบางคนก็ต้องก้มหน้าก้มตาให้กับเงื่อนไขเหล่านี้ ไม่มีทางเลือก เพราะมันจำเป็นที่ต้องทำ ซึ่งมันก็เหนื่อยอยู่เนอะ ถ้าไม่รวมคนที่บ้านรวยอยู่แล้ว โดยท้ายที่สุดแล้ว ธนัท หวังว่าในอนาคตโครงสร้างเหล่านี้มันจะเปลี่ยนไปให้ทุก ๆ ที่ มีงานดี ๆ ทำเหมือนกัน และ ไม่อยากให้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติที่คนในสังคมทั่วไปเคยชิน

ความเจริญที่ทิ้งห่างของคนไกลบ้าน

เมื่อความเจริญที่กระจุกตัวเฉพาะเมืองโตเดี่ยวอย่างกรุงเทพฯ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดผลสำรวจประชากรแฝงในประเทศไทย ปี 2566 พบว่า อัตราจำนวนประชากรแฝงมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะประชากรแฝงที่เข้ามาเรียนและเข้ามาทำงานมีมากถึงร้อยละ 55.3 และประชากรกลุ่มที่มาอาศัยอยู่ประจำแต่ไม่มีการย้ายทะเบียนบ้าน หรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนพักอาศัย หรือแฝงกลางคืนร้อยละ 32.8 ข้อมูลเหล่านี้ได้สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านการศึกษา ด้านการทำงาน ทำให้เกิดปัญหาการจ้างงาน ปัญหาความแออัดตามมา

มีหลายเหตุผลที่ต่างจังหวัดไม่มีงานให้ทำนอกจากภาคการเกษตร และข้าราชการ เพราะที่ผ่านมา เรายังไม่มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง แต่กลับแฝงระเบียบกลไกที่ทำให้ส่วนกลางยังสามารถควบคุมสั่งการส่วนท้องถิ่นได้ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ สั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่งได้ หรือ การกำหนดสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้ของประเทศ จากเดิมร้อยละ 35 พร้อมกำหนดระยะเวลาเป้าหมายชัดเจน แต่ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายโดยนำระยะเวลาเป้าหมายออกไป

ทางด้าน รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยใหม่ ได้พูดถึงการย้ายถิ่นฐานว่าเป็นเรื่องของชนชั้นทางสังคมที่ชนชั้นแรงงานถูกแบ่งแยกและจัดลำดับชั้น ในวิดีโอ อะไรนะ… “สมองไหล?” 

เก่งกิจ กล่าวว่า ว่ามันคือกระบวนการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหางานทำ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติมาก การที่เชื่อว่ามนุษย์ไม่มีการย้ายถิ่นฐาน เพื่อไปหากินที่อื่นต่างหากที่เป็นความเข้าใจผิด โดยประเด็นสำคัญคือเรื่องที่ว่าด้วยชนชั้น (Class) คือชนชั้นแรงงานประเทศนี้ มันถูกแบ่งแยก ถูกจัดลำดับชั้นเยอะมาก ทำไมคนทำความสะอาด ถึงถูกมองว่าค่าแรงน้อยกว่าคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทั้งที่เราทำงานในชั่วโมงเท่ากัน หรือเขาอาจจะทำงานชั่วโมงมากกว่าเราด้วยซ้ำ

เก่งกิจ เพิ่มเติมว่า ส่วนสำคัญเลยคือการต่อสู้เรื่องค่าแรง และระบบสวัสดิการในการทำงาน เงื่อนไขการจ้างที่มีมาตรฐานเดียวกัน และการที่ค่าแรงมันเท่ากัน ทุกที่มีมาตราฐานการทำงานที่คุ้มครองสิทธิของแรงงานทุกคนอย่างเสมอภาคกันในทุก ๆ พื้นที่ ในทุกอาชีพ มันคือโครงสร้างของระบบทุนนิยม อย่างการที่ผู้คนเรียกร้องให้เกิด UBI (Unconditional Basic Income) เพราะมันคือหลักการเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะเชื่อชาติอะไร เพศอะไร จะเป็นใครก็ตาม แต่ต้องรายได้การันตีเท่านี้ เพราะมันเป็นกระบวนการที่ทำให้คุณอยู่ในเกณฑ์เดียวกัน การที่คุณอยู่ในเกณฑ์เดียวกัน มันทำให้อำนาจต่อรองขยับขึ้น เพราะฉะนั้นต่อไปจะสู้เรื่องค่าแรง เขาไม่ได้สู้เรื่องค่าแรงของจังหวัดนี้แล้ว  ถ้าเราทำ UBI ได้สำเร็จ สิ่งที่คนจะสู้คือ สู้เพื่อขยับเพดาน UBI ขึ้นมา ซึ่งทุกคนอยู่ในเวทีการต่อสู้เป้าหมายเดียวกัน เพราะมันคือการทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานเพิ่มที่สูงขึ้น

เมื่อส่วนกลางยังหวงอำนาจ ไม่ยอมให้ท้องถิ่นได้บริหารจัดการพื้นที่ของตัวเองอย่างเป็นอิสระ ไม่ยอมให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เพียงพอและตัดสินใจได้เองว่าต้องการนำเงินไปลงทุนเรื่องอะไร จึงไม่แปลกที่ศูนย์รวมความเจริญของประเทศไทยตลอดหลายสิบปี ยังคงเป็นกรุงเทพมหานครที่มีส่วนกลางอยู่ในเมืองมหานครแห่งนี้ จึงไม่แปลกที่เศรษฐกิจในต่างจังหวัดจะถูกกดไม่ให้เติบโตได้ทัดเทียมกับเมืองหลวง เมื่อการจ้างงานมีน้อย หรือแม้มีงานก็ไม่หลากหลาย ค่าตอบแทนไม่สูง คนในจังหวัดอื่น ๆ ยุคแล้วยุคเล่า จึงต้องจากบ้านห่างครอบครัวเข้ามาขายแรงงานในเมืองมหานครใหญ่

อย่างไรก็ตาม มิใช่เพียงแค่เพียงอำนาจและงบประมาณในการผลักดันเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมไปถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่คนต่างจังหวัดควรได้รับ เช่น ระบบขนส่งมวลชน ระบบสาธารณสุข ระบบสาธารณสูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา อีกด้วย  ถ้าสิ่งเหล่านี้ได้รับการพัฒนาจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ มีอาชีพที่หลากหลายเพื่อรองรับทุกความแตกต่าง และไม่ต้องหอบความฝัน ไปหางานทำเฉพาะแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น ถึงแม้ปัจจุบันปัญหาโครงสร้างเหล่านี้ยังคงซุกไว้ใต้พรม และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ในอนาคตหากทั้งภาครัฐบาล และภาคประชาชนร่วมมือลดความเลื่อมล้ำนี้ คนต่างจังหวัดไม่ต้องหนีมาทำงานในเมืองใหญ่ ไม่ต้องแข่งขันสอบ ก.พ. เพื่อเป็นข้าราชการจนหัวหมุน บางที ไมค์ ภิรมย์พร อาจจะปล่อยซิงเกิลใหม่ที่บอกเล่าชีวิตการทำงานบ้านต่างจังหวัดที่ไม่ต้องพบเจอกับคำว่า “ทุ่มเทเท่าไรได้มาแค่ความว่างเปล่า กลับมาบ้านเรายังมีพ่อแม่เฝ้ารอ”

ที่มา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง