เปิดกรณีพิพาทคนกับป่าอุทยานฯ และนโยบายการจัดการป่าไม้ที่ดิน ประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการ?  

ข้อมูลจากสำนักอุทยานแห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติ ทั้งหมด 156 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประกาศแล้ว 133 แห่ง และอุทยานแห่งชาติที่อยู่ระหว่างเตรียมประกาศ 23 แห่ง โดยในจำนวนนี้เป็นอุทยานแห่งชาติทางบก 130 แห่ง และอุทยานแห่งชาติทางทะเล 26 แห่ง

จากการสำรวจกรณีพิพาทคนกับป่าอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย พบว่า มีอุทยานแห่งชาติที่มีกรณีพิพาทคนกับป่าอุทยานฯ อย่างชัดเจน 20 จาก 133 แห่ง คิดเป็น 15.04% ของอุทยานแห่งชาติที่ประกาศแล้ว โดยภาคเหนือมีจำนวนอุทยานแห่งชาติที่มีกรณีพิพาทมากที่สุด 10 (7.52%) แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติขุนแจ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อุทยานแห่งชาติผาแดง อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา อุทยานแห่งชาติสาละวิน อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง และอุทยานแห่งชาติออบหลวง รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง (3.76%) ได้แก่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติไทรทอง อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน และอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ภาคใต้มี 3 แห่ง (2.26%) ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี และอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด สุดท้ายคือ ภาคตะวันตกและภาคกลางที่มีอย่างละ 1 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (0.75%) และอุทยานแห่งชาติพุเตย (0.75%) ตามลำดับ

โดยสาเหตุหลักของปัญหาพิพาทคนกับป่าในอุทยานแห่งชาติ เกิดจากการประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนกับพื้นที่เดิมของชุมชน ภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักใน 17 จาก 20 แห่ง (85%) ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติขุนแจ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี อุทยานแห่งชาติไทรทอง อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อุทยานแห่งชาติผาแดง อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติพุเตย อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติศรีลานนา อุทยานแห่งชาติสาละวิน อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง และอุทยานแห่งชาติออบหลวง

ขณะเดียวกัน สาเหตุรองลงมาคือ การทับซ้อนพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 1 จาก 20 แห่ง (5%) ในอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และการทับซ้อนพื้นที่แนวเขตป่าชุมชน 1 จาก 20 แห่ง (5%) ในอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีพิเศษคือ อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีการทับซ้อนพื้นที่หลากหลายรูปแบบ ทั้ง สปก. พื้นที่จัดสรรเพื่อความมั่นคง และพื้นที่อยู่อาศัย/ทำกินของราษฎร (5%)

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ  นโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ภายใต้คำสั่งฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการรัฐประการ ในปี 2557 มีส่วนทำให้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงขึ้น และคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบันในหลายพื้นที่ โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ อย่างชัดเจนมีจำนวนถึง 13 จาก 20  แห่ง (65%) ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี อุทยานแห่งชาติไทรทอง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อุทยานแห่งชาติผาแดง อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติศรีลานนา และอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง

ส่องนโยบายจัดการพื้นที่ป่าและที่ดิน: จาก ‘ทวงคืนผืนป่า’ ยุค คสช. สู่นโยบายยุค ‘รัฐบาลเศรษฐา’ 

นโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ นโยบายที่เกิดขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2557 ภายใต้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยจำนวน 40% ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี โดยแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25% และป่าเศรษฐกิจ 15% ตามแผนแม่บทป่าไม้ปี 2528 ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่จำนวนทั้งสิ้น 31% จึงต้องการอีก 9% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดำเนินการทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น

การดำเนินการทวงคืนผืนป่าแม้จะมีเจตนาดีในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ในทางตรงกันข้ามกลับส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผ่านความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 8 ปีหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งมีคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณี ‘ทวงคืนผืนป่า’ เกิดขึ้นมากกว่า 46,000 คดี ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและที่ดินถูกประกาศทับที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินและแหล่งรายได้ไป

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง ‘ความเชื่อมโยง’ ระหว่างการรัฐประหารกับนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดิน ตัวอย่างกรณีของ รสช. และ คสช. ที่มีนโยบายคล้ายคลึงกันในการจัดการพื้นที่ป่า ในสมัย รสช. มีการดำเนินนโยบายเพื่อนำคนออกจากป่า พร้อมกับโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งมีเป้าหมายที่แท้จริงในการเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ป่า แนวคิดดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับนโยบายในยุค คสช. ที่เน้นการทวงคืนผืนป่าและการจัดการที่ดินในเขตป่า

การที่รัฐบาลทหารทั้งสองยุคมีนโยบายที่คล้ายคลึงกันในการจัดการพื้นที่ป่า อาจแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการควบคุมและรักษาความมั่นคงของรัฐในพื้นที่ป่า ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายอำนาจนิยมมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อฝ่ายอำนาจนิยมอย่าง คสช. ขึ้นมามีอำนาจ จึงนำประเด็นนี้มาใช้จัดการกับคนที่อยู่ในป่า เสมือนเป็นการสานต่อภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น มาตรการที่ใช้กับคนในพื้นที่ป่าจึงมีลักษณะของแนวคิดแบบทหาร คือการใช้อำนาจทหารเข้ามาจัดการ

ขณะเดียวกัน นโยบายการจัดการที่ดินและป่าไม้ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อาทิ นโยบายแก้ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน นโยบายด้านเกษตรของรัฐบาลซึ่งควบคู่กับนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรทุกครัวเรือนมีที่ดินทำกินอย่างเพียงพอด้วยการออกโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยที่ดินในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นับเป็นเป้าหมายในนโยบายของรัฐบาล การสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality หรือการขายคาร์บอนเครดิต และแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2567 ในส่วนภารกิจสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเศรษฐาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. ได้แก่ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเป็นกลุ่มหรือชุมชน  One Map หรือการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 ดำเนินการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐ ด้วยกระบวนการพิสูจน์ให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินของรัฐ การสร้างข้อกำหนดการใช้ที่ดินของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดิน ให้การปลูกไม้ยืนต้น หรือไม้อื่น ๆ ตามลักษณะของแต่ละพื้นที่ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและส่งเสริมการเกษตรได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากตั้งข้อสังเกตต่อนโยบายการจัดการพื้นที่ป่าไม้และที่ดินในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อาจกล่าวได้ว่า นโยบายเหล่านี้ก็อาจมีความเชื่อมโยงและสานต่อแนวทางการจัดการป่าไม้ของ คสช. และรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในหลากหลายประเด็น เช่น ประเด็นนโยบายคาร์บอนเครดิต นโยบายการปลูกป่า การบังคับปลูกป่าในที่ดินทำกินบนพื้นที่สูง และนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% เป็นต้น

อีกทั้ง การแต่งตั้ง ‘พัชรวาท วงษ์สุวรรณ’ ซึ่งเป็นเครือญาติกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มีบทบาทสำคัญในนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ขึ้นเป็น รมต.ว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลเศรษฐาอาจให้ความสำคัญกับการจัดการป่าไม้ในแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของ คสช.

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด (8 กรกฎาคม 2567) ของกระทรวงทรัพยากรฯ (ทส.) ภายใต้รัฐบาลเศรษฐาในขณะนี้อยู่ในระหว่างช่วงการเร่งพัฒนากฎหมายป่าไม้ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายและแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ รวมถึงการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 64 และมาตรา 65 ภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 121 ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติพิจารณา ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่าการดำเนินการเหล่านี้จะเกิดผลอะไรต่อประชาชนบ้าง โดยเฉพาะคนที่กำลังเผชิญปัญหาที่ดินและป่าไม้ในขณะนี้

นโยบายการจัดการที่ดินและป่าไม้ของรัฐบาลเศรษฐา มีทั้งประเด็นที่น่าสนใจและข้อกังวล ดังนั้นเราจึงควรติดตามและประเมินผลกระทบของนโยบายเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินนโยบายจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับข้อเสนอด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย ซึ่งภาคประชาชนในนาม ‘P-move’ หรือกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เสนอต่อพรรคการเมืองในเวทีเลือกตั้งปี 2566 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทายาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ทั้งด้านการปฏิรูปนโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ด้านการทบทวนแนวทางและมาตรการในโครงการจัดที่ดินชุมชนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยยกระดับนโยบายโฉนดชุมชนเป็นนโยบายหลัก ด้านการปรับปรุง แก้ไข พ.ร.บ. กฎ ระเบียบ และวิธีการบริหารป่าไม้ ด้านการจำกัดการถือครองที่ดิน มาตรการทางภาษีแบบขั้นบันได และด้านการยกเลิกนโยบายให้นายทุนเอกชนเช่าสัมปทานที่ดินของรัฐ

อ่านข้อมูลกรณีพิพาทคนกับป่าอุทยานแห่งชาติในประเทศไทยได้ที่ https://www.lannernews.com/16072567-02/

อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง