‘ราษฎรเชียงราย’ จี้ ‘เศรษฐา’ เร่งคืนสิทธิประกันตัว ด้านเชียงใหม่ยื่นหนังสือถึงสถาบันตุลาการ 19 กรกฎานี้

ภาพ: We, The People

‘ราษฎรเชียงราย’ ยื่นหนังสือถึง ‘เศรษฐา’ ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย สะกิดรัฐบาลแก้ไขปัญหาสิทธิประกันตัวและคดีทางการเมืองตามที่ได้กล่าวไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เชื่อสามารถดำเนินไปพร้อมกับเรื่องเศรษฐกิจได้

16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เว็บไซต์เชียงใหม่นิวส์ รายงานว่า เมื่อ 14 กรกฎาคม 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนที่ถนนคนเดินเชียงราย ถนนธนาลัย เทศบาลนครเชียงราย ระหว่างนั้น สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ หรือ ‘เอ เซียนแว่น’ ตัวแทนจากกลุ่ม ‘ราษฎรเชียงราย’ อายุ 40 ปี ได้เข้าพบเพื่อมอบหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันการนิรโทษกรรมให้กับนักโทษทางการเมืองที่ยังคงถูกคุมขัง โดยเฉพาะกรณีของ ‘ทนายอานนท์ นำภา’ ซึ่งถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่าหากสามารถผลักดันในส่วนใดส่วนหนึ่งได้ก็ควรจะดำเนินการก่อน เพราะเชื่อว่าสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยนายเศรษฐา ได้รับหนังสือดังกล่าวก่อนที่สราวุทธิ์และสมาชิกจะแยกย้ายกลับ

สราวุทธิ์ กล่าวถึงที่มาที่ไปของการยื่นหนังสือครั้งนี้ โดยระบุว่า ต้องการเตือนความทรงจำของพรรครัฐบาลให้ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องคดีทางการเมืองโดยเร็ว ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงเรื่องนี้ไว้ ทว่าปัจจุบันยังไม่เห็นมาตรการหรือท่าทีที่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด

โดย สราวุทธิ์ กล่าวว่า สาเหตุหรือเหตุผลที่อยากเรียกร้องสิทธิการประกันตัวกับรัฐบาล เนื่องจากมองว่าเหตุผลของศาลในปฏิเสธการประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองในปัจจุบัน อาทิ การระบุว่า กลัวผู้ถูกกล่าวหาจะกระทำผิดซ้ำ หลักเกณฑ์ของ และอาจเป็นเพราะศาลมีความกังวลว่าหากให้ประกันตัวแล้วผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดซ้ำจะส่งผลเสียต่อศาลเอง อาจทำให้ศาลรู้สึกผิด ดังนั้น สราวุทธิ์จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการประกันตัว โดยอาจเป็นในลักษณะของการรับประกัน เพื่อลดภาระของศาล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ตามที่ได้กล่าวข้างต้น

“ผมคิดว่าสิทธิการประกันตัวเป็นเรื่องง่ายที่สุดเลยนะ ในที่คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด อย่างน้อย ๆ รัฐบาลไปค้ำประกันให้เขาหน่อยได้ไหม หรือพูดอะไรหน่อยได้ไหม หรือมีแอ็กชันอะไรหน่อยได้ไหม ที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลทำแล้วนะ แต่ว่านี่มันไม่มีเลย และทำให้ผมต้องไปยื่นหนังสือว่าช่วยเหลือนักโทษการเมืองหน่อย” สราวุทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ สมาชิกราษฎรเชียงราย ก็ได้ระบุเช่นกันว่า อยากให้รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง โดยรวมมาตรา 112 ไว้ด้วย แม้ช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีความการวิจารณ์ว่ามาตรา 112 เป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีทางการเมืองก็ตาม

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า 112 เป็นเรื่องของเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่ได้เป็นเรื่องคดีอาญา” สมาชิกราษฎรเชียงรายกล่าว และระบุต่อว่า “90-99 เปอร์เซ็นมันคือเหตุจูงใจทางการเมือง และมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และหลาย ๆ คดีสืบเนื่องมาจากรัฐประหารยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการที่ได้กระทำอะไรบางอย่างที่มีความสอดคล้องกับทางสถาบันพระมหากษัตริย์ และพอเราพูดอะไรที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทางรัฐก็ใช้มาตรา 112 เข้ามาเล่นงานคนที่พูดถึง ดังนั้น มันปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง”

สำหรับบรรยากาศการยื่นหนังสือ สราวุทธิ์ กล่าวว่า รู้สึกดีกว่ายุครัฐบาลที่แล้วมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่สราวุทธิ์ชื่นชม เนื่องจากการยื่นหนังสือในยุครัฐบาลประยุทธ์นั้นมักจะเจอการเข้ามาของตำรวจที่ปฏิบัติเหมือนพวกเขาไม่ได้เป็นประชาชน แต่เป็นอาชญากร ซึ่งการมายื่นหนังสือในครั้งนี้แตกต่างกัน สราวุทธิ์สามารถเดินเข้าไปหาตำรวจประจำตัวนายกฯ เพื่อขอแจ้งความประสงค์ในการยื่นหนังสือ และก็ไม่ได้มีการคุกคามจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด

สมาชิกราษฎรเชียงราย กล่าวทิ้งท้ายโดยย้ำว่า ต้องการให้รัฐบาลทำตามที่เคยสัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และมองว่าการแก้ไขปัญหาคดีการเมืองสามารถดำเนินการไปพร้อมกับเรื่องเศรษฐกิจได้

“อยากบอกว่าอะไรที่สัญญาไว้ก่อนเลือกตั้ง อยากให้นายกฯ ทำให้ได้ตามที่พูด และทำควบคู่กับแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็ได้ เพราะว่าอันนี้เป็นเรื่องทางสังคม ฉะนั้น รัฐบาลไม่มีข้ออ้างใด ๆ เลยที่จะลืมคำพูดตัวเอง”

“ผมก็คือตัวแทนคนไทยที่ออกมาบอกเขาว่ามันมีปัญหาเรื่องการเมืองอยู่ด้วย ถ้าคุณลืมไปแล้ว ผมมาเตือน และขอให้แสดงความจริงใจ ไม่ใช่พูดไปทีขอไปที ขอให้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้พอ ๆ กับเรื่องเศรษฐกิจ” สราวุทธิ์ กล่าว

ภาคประชาชนเชียงใหม่ยื่นหนังสือทวงถามสิทธิประกันตัวนักโทษการเมืองถึงสถาบันตุลาการ

ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00-11.00 น. ที่จังหวัดเชียงใหม่เองก็จะมีการร่วมกันยื่นหนังสือถึงสถาบันตุลาการในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทวงถามถึงสิทธิประกันตัวของนักโทษการเมืองในประเทศไทย มีกำหนดการคือ เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ และเวลา 11.00 น. ณ สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ถนนโชตนา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เปิดเผยข้อมูลสถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในเรือนจำ โดยเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2567 ยังคงมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในเรือนจำอย่างน้อย 43 คน โดยเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 มากกว่าครึ่งถึง 25 คน นอกจากนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม มีผู้ถูกคุมขังเพิ่มขึ้นอีก 6 คน โดยในเดือนมิถุนายนมีผู้ถูกคุมขังเพิ่ม 2 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112

ที่น่าเป็นห่วงคือมีผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีเป็นเวลานาน โดยมีผู้ถูกคุมขังนานกว่า 500 วันถึง 2 คน นานกว่า 450 วัน 1 คน และนานกว่า 300 วันอีก 7 คน นอกจากนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา ยังมีผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดเพิ่มขึ้นอีก 2 คน เนื่องจากศาลฎีกายืนยันคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง