เรื่องและภาพ: ณัฐชลี สิงสาวแห
“คณะก่อการล้านนาใหม่” ก่อกำเนิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ซึ่งถูกเรียกว่าภาคเหนือ ผืนดินที่อยู่ทาง “ทิศเหนือของกรุงเทพฯ” เมืองหลวงแห่งประเทศไทย พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และชนเผ่าพื้นเมืองที่ถูกกีดกันจากทรัพยากรพื้นฐานในการดำรงชีพซึ่งถูกครอบครองโดยกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ พวกเขารวมกลุ่มกันเพื่อบอกว่าการรวมอำนาจตัดสินใจทางนโยบายหรือการออกกฎหมายจากชนชั้นนำได้ลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพวกเขาและพวกเขาไม่ปรารถนาการลิดรอนสิทธิเช่นนั้น
ทรัพยากรอันอุดม เมื่ออยู่ในมือของผู้มีอำนาจจากส่วนกลางทำให้อำนาจในการจัดการตนเองหลุดออกจากมือของพวกเขาทีละน้อย แม้จะลุกขึ้นประท้วงแสดงออกว่าไม่สยบยอมต่อชะตากรรมที่ถูกหยิบยื่นให้ แม้จะลุกขึ้นสู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อผู้ฉกฉวย ในท้ายที่สุดมีแต่จะได้รับความขมขื่นเป็นการตอบแทน
ย้อนไปปลายปี 2564 สมาชิกคณะก่อการฯ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงชีพในป่า นักศึกษา เกษตรกร นักวิชาการ เยาวชน คนรุ่นใหม่ สื่อมวลชน และคนทำงานภาคประชาสังคม มีหมุดหมายร่วมกันว่าอำนาจในการดูแลตัวเองควรกระจายไปทั่วชุมชนและไม่ควรกระจุกตัวอยู่ในมือของรัฐศูนย์กลาง การกระจายอำนาจจะเป็นวิธีที่จะรับประกันสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิการจัดสรรทรัพยากรของตัวเอง และอาจจะเป็นวิธีที่จะสร้างสังคมที่ยุติธรรมเท่าเทียมกัน
พวกเขาอธิบายถึงชื่อคณะก่อการล้านนา “ใหม่” ว่าเป็นกิจกรรมรูปแบบใหม่ เป็นกริยาที่เคลื่อนไปด้วยกัน เป็นการสร้างเครือข่ายให้เกิดสิ่งใหม่ด้วยกัน สิ่งใหม่นั้นพวกเขาจะมาร่วมกันออกแบบ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ต้องการทำลายสิ่งเก่าที่มีอยู่ แต่กำลังทบทวนสิ่งเก่าที่มีปัญหาทำให้ล้านนาไม่เติบโตจัดการตัวเองไม่ได้ ดังนั้นการตั้งชื่อด้วยคำว่า “ใหม่” จึงนำมาใช้อธิบายพลวัตรของคนที่มารวมกัน มีการต่อสู้ใหม่ มีคนใหม่ มีความคิดแบบใหม่ เป็นพื้นที่แบ่งปันขบวนการต่อสู้เพื่อขยับไปสู่ประชาธิปไตยด้วยกัน
ถึงแม้พวกเขาจะใช้ว่าคณะก่อการล้านนาใหม่ แต่ก็ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์หรือต้องการแบ่งแยกกับประชาชนภูมิภาคอื่นใดหรือกลุ่มชาติพันธุ์ไหน พวกเขาจะเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจที่แย่งชิงสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนไปเท่านั้น
การจัดการชาติพันธุ์ ที่ดิน ป่าไม้ ภูเขา ด้วยการผูกขาดอำนาจตัดสินใจโดยรัฐ
“รัฐจับคนลงกล่องและมีวิธีคิดว่าการตัดเสื้อแบบเดียวทุกคนต้องใส่ได้” วิศรุต ศรีจันทร์ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือเปิดประเด็นในบทสนทนา เขาเข้ามาร่วมฝึกงานกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน.ตั้งแต่ปี 2557 จนได้มาทำงานเต็มตัวในปี 2560 และพบว่านโยบายจากรัฐส่วนกลางไม่สอดคล้องกับคนที่ดำรงชีพอยู่ในป่า
วิศรุตกล่าวว่ากฎหมายที่เกิดขึ้นจากการปิดป่า การสัมปทานป่า, กฎหมายการฟื้นฟูความเขียว,
พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ , พ.ร.บ.อุทยานฯ, พ.ร.บ คุ้มครองสงวนสัตว์ป่าต่างๆ มันเป็นการฟื้นฟูเพื่อให้คนที่อยู่กับป่ากลายเป็นคนผิดกฎหมาย แนวคิดการจัดการป่านั้นถูกหยิบมาจากตะวันตกในยุคหลังสงครามเย็นและถูกเอามาใช้ในไทย ซึ่งป่าไม่สามารถมีคนได้ ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้ถูกกันออกจากเขตป่า กลายเป็นคนที่ผิดกฎหมายทั้งหมด เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นมายาคติ บวกกับเงื่อนไขรัฐธรรมที่มันไม่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และการผูกขาดอำนาจในการจัดการทรัพยากรที่ต้องขึ้นกับกฎหมาย ขึ้นกับเงื่อนไขของรัฐ ของกรมต่างๆ เขาคิดว่ามันกระจุกตัวเกินไป
“เรื่องที่ดินและทรัพยากร หากสู้ในเชิงกฎหมายและนโยบายยังไม่พอ ยังไงก็ต้องคุยกันถึงเรื่องอำนาจและการกระจายอำนาจด้วย พื้นที่เหล่านี้มันควรมีบริบทในการจัดการแบบไหน ตอนนี้มันไปผูกขาดอยู่กระทรวงเดียวคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การตัดเสื้อตัวเดียวทุกคนอาจไม่สามารถใส่ได้ นโยบายแบบสำเร็จรูปไม่สอดคล้องกับพื้นที่ ควรมีรูปแบบการจัดการที่หลากหลาย อำนาจควรลงไปที่ท้องถิ่นเพราะมันสามารถเข้าถึงชาวบ้านได้มากกว่า” วิศรุต กล่าว
สำหรับเรื่องให้คนอยู่กับป่าชาวบ้านต้องพิสูจน์สิทธิภายใต้เงื่อนไขของรัฐ ผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งเป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล อาศัยมาตรา 16 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยไม่ให้กรรมสิทธ์แต่เป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในลักษณะแปลงรวม ในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม ซึ่งดำเนินการภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
วิศรุตเล่าว่า รัฐพิสูจน์สิทธิการใช้ที่ดินด้วยการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ คนที่ใช้ชีวิตในป่าจะกลายเป็นผู้บุกรุกทันทีเมื่อเข้าสู่เงื่อนไขการพิสูจน์สิทธิแบบนั้น เนื่องจากภาพถ่ายทางอากาศอาจตรวจไม่พบร่องรอยการทำไร่หมุนเวียนที่ในระยะเวลาหนึ่งจะต้องมีการพักหน้าดิน บางครั้งมีการทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน แต่เมื่อกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินต้องอยู่ก่อนวันที่กฎหมายที่ดินใช้บังคับทำให้สิทธิการครอบครองที่ดินหลุดไป ขั้นตอนการพิสูจน์เช่นนี้สะท้อนว่ารัฐไม่เข้าใจวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีพของผู้คนที่อาศัยอยู่กับป่า
นอกจากนั้นยังมีการใช้ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำในเขตภูเขามาเป็นเงื่อนไขพิสูจน์สิทธิและเป็นปัญหา เมื่อรัฐใช้การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ (Watershed classification, WSC) ออกเป็นชั้น 1 เอ, 1 บี, 2, 3, 4 และ 5 เป็นการจำแนกชั้นความสำคัญของพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินของแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับกิจกรรมใดมากที่สุด และพื้นที่ใดสามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสม รัฐไม่ได้พูดถึงชาวบ้านที่อยู่มาก่อนมีกฎหมาย หมายความว่าชาวบ้านต้องเข้าไปพิสูจน์สิทธิเพื่อที่จะได้รับอนุญาตจากรัฐ สิทธิที่เขาควรจะได้รับจากที่เขาอยู่ก่อนกฎหมาย กลายเป็นว่าเขาต้องผิดกฎหมาย กลายเป็นผู้บุกรุก และรัฐต้องมาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ สำหรับ สกน. พวกเขาไม่รับเงื่อนไขการต่อสู้แบบนี้
ด้าน ‘ชาติชาย ธรรมโม’ จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) เสนอ “จัดสรรความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่”
ชาติชายเล่าว่าที่ผ่านมามีคนจากตรงกลางมากำหนดว่าท้องถิ่นต้องปลูกอะไร จำนวนกี่ต้น มีคนจากตรงกลางมากำหนดว่าพื้นที่ไหนควรเป็นอะไรโดยที่คนท้องถิ่นแทบไม่ได้มีโอกาสได้แสดงความความเห็น ตัวอย่างเช่น การมีพื้นที่อย่างคลองแม่ข่า พืชสวนโลก หรือไนท์ซาฟารี คนท้องถิ่นเชียงใหม่ไม่ได้เป็นคนกำหนด เขาตั้งคำถามต่อว่าทำไมชุมชนบางชุมชนไม่มีท่อระบายน้ำ ไม่มีไฟส่องสว่างเพียงพอ หรือไม่มีรถสาธารณะที่ดีเพียงพอ แต่ทำไมที่กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า มีทุกอย่าง แต่ในต่างจังหวัดทำไม่ได้
“เราต้องจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้าง โครงสร้างรัฐที่แข็งตัว ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีของโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในเขตภาคเหนือ รัฐใช้อำนาจจัดการน้ำผ่านกรมชลประทานเพียงแค่กรมเดียว ซึ่งควรจะเปลี่ยนเป็นการให้สิทธิคนในท้องถิ่นได้ร่วมออกแบบและสำรวจอย่างรอบด้านว่าประชาชนต้องการอะไร” ชาติชายกล่าว
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่านอกจากชาวจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิจิตร และจังหวัดภาคเหนือตอนบนจะมีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากชลประที่เพิ่มขึ้นแล้ว มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องสูญเสียที่อยู่ ที่ดินและแหล่งทำมาหากินเนื่องจากอยู่ในเขตน้ำท่วม หากว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถูกสร้างขึ้นก็จะมีหมู่บ้าน 12 แห่งที่ต้องอพยพ
จากรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น จะพบว่ามีข้อกังวลเรื่องการรวมศูนย์อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ การปฏิบัติหน้าที่อาจจะมีความล่าช้าตามลักษณะบังคับบัญชาเป็นชั้นลดหลั่นกันไป การแก้ปัญหาและการปฏิบัติงานต้องทำตามกฎระเบียบที่เคร่งครัดไม่ยืดหยุ่นตามพื้นที่ การรั้งรอการตัดสินใจจากส่วนกลางย่อมทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและไม่ทั่วถึง รวมไปถึงอำนาจในการตัดสินไม่ได้เป็นของคนในพื้นที่นั้นๆ หากมีการก่อสร้างเขื่อนอาจมีหมู่บ้านอย่างน้อย 12 แห่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“ปัญหาโครงสร้างของอำนาจรัฐเป็นการกระจุกอำนาจการตัดสินใจต้องจัดสรรความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่” ชาติชายเสนอทางออก
ด้านวิศรุตเสนอ “ผมคิดว่ามันขยับไปสู่สังคมใหม่ไม่ได้ถ้าไม่ชำระประวัติศาสตร์ เราควรพูดถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสามัญชน เช่น สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมหรือการกดขี่ ฉายข้อเท็จจริงว่าการต่อสู้เหล่านี้มันไม่ถูกจารึกทางประวัติศาสตร์ เป็นการเอาคุณูปการการต่อสู้เหล่านั้นมาพูดคุยกันใหม่ ให้เห็นขบวนการต่อการต่อสู้ทางสังคมใหม่ๆ ซึ่งในยุคนั้นอาจจะมีข้อเสนอและรูปแบบการต่อสู้แบบหนึ่ง ในสถานการณ์ปัจจุบันก็อาจมีข้อเสนออีกรูปแบบหนึ่ง ที่มันสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่ต้องชำระด้วยเพื่อถอดบทเรียนการต่อสู้
เราต้องมีข้อเสนอใหม่ เมื่อมีเงื่อนไขทางอำนาจใหม่ ต้องมีอะไรที่ใหม่กว่าเดิม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของคนในชุมชน ความเป็นรัฐไทยละเลยวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือความเป็นล้านนา แต่ละภูมิภาคมีวัฒนธรรมประเพณีที่ไม่เหมือนกัน บริบทไม่เหมือนกัน ล้านนาใหม่ควรที่จะมีการออกแบบการจัดการแบบต่างๆ ที่มันเข้ากับบริบทของจังหวัดเชียงใหม่หรือภาคเหนือเอง”
ความฝัน ความหวังคนรุ่นใหม่ในบ้านเมืองที่อำนาจกระจุกความเหลื่อมล้ำกระจาย
นันทัชพร ศรีจันทร์ บัณฑิตกฎหมาย ม.เชียงใหม่ หอบหิ้วความฝันของคนรุ่นใหม่จากพะเยาสู่เชียงใหม่ เธอต้องเดินทางมาเรียนผ่านภูเขา เส้นทางคดเคี้ยว โดยมีทางเลือกในการเดินทางอยู่ไม่กี่ทาง รถโดยสารสาธารณะระหว่างจังหวัดมีอยู่อย่างจำกัด เธอสะท้อนว่ามันยากไปหมดที่คนรุ่นใหม่จะเติบโต ได้รับโอกาสในการศึกษาที่มีคุณภาพดี การรักษาพยาบาลที่ดี การมีโอกาสในตลาดแรงงานหลากหลาย ซึ่งจะมีเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น
จากประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนรู้ในฐานะอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกับสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) เธอพบว่าชาวบ้านถูกฟ้องในคดีเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินทำกินกว่า 40,000 คดี พบเจอการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมของคนรวยกับคนจน “คุกมีไว้ขังคนจนแล้วคนรวยที่ทำแบบเดียวกันเขาไปไหน เขาได้ติดคุกเหมือนกันไหม” เป็นคำถามที่ตัวเธอเองยังคงสงสัยเรื่อยมา
สำหรับสหพันธ์เกษตรภาคใต้เป็นขบวนการของแรงงานไร้ที่ดิน ที่ดินจำนวนมากในภาคใต้อยู่ในมือของบริษัทน้ำมันปาล์ม ในจังหวัดกระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ข้อมูลจากประชาไทระบุว่าพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในจังหวัดดังกล่าวมีอยู่จังหวัดละแสนกว่าไร่ หลายส่วนเป็นที่ดินที่หมดสัญญาเช่าแล้ว แต่กลับไม่มีการจัดสรรให้เกษตรกรตามที่ระบุในกฎหมาย
ช่วงปี 2560 รัฐบาลเตรียมจัดสรรที่ดินให้คนจนประมาณ 6 ไร่ต่อครอบครัว รวมแล้ว 300,000 ไร่ ขณะที่ได้มีการเตรียมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นกินพื้นที่ 3.7 ล้านไร่ บ่งบอกถึงช่องว่าง ความไม่เท่าเทียมทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประชาชนที่ทำการผลิตกับนายทุนนักธุรกิจ
“ประเทศถูกบันทึกว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อไรจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วสักที” นันทัชพรเล่าความอัดอั้น เธอเล่าอีกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแต่ถูกฉีกไปสิบกว่าครั้ง ซึ่งมันเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดทรัพยากร การศึกษา การรักษาพยาบาลและอื่นๆ ในการมีชีวิตที่ดี
เธอบอกว่าประชาชนถูกทำให้ชินในสภาวะที่ไม่ปกติแต่ถูกทำให้ปกติ ทั้งการฉีกรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นและการใช้ความรุนแรงของเจ้าที่รัฐในการสลายชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องสิทธิ
“เราตายได้นะแต่เรายังไม่ตาย” นันทัชพรอธิบายเรื่องคุณภาพด้านการรักษาพยาบาลที่แตกต่าง
หากอยากได้รับการรักษาที่ดีกว่าต้องมาเชียงใหม่ สถานพยาบาลในชุมชนหลายแห่งขาดแคลนทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากเจ็บป่วยขั้นรุนแรงทางเลือกในการรักษาชีวิตอาจมีไม่มาก
สิ่งที่กระเทือนต่อความรู้สึกมากที่สุดเป็นเรื่องคุณภาพการศึกษา โดยแม่ของเธอที่เป็นคุณครูสอนในโรงเรียนขนาดเล็กของหมู่บ้าน ได้แนะนำให้เธอไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง แม่บอกกับเธอว่าเป็นเรื่องคุณภาพการศึกษา เธอจึงตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ว่าคนที่เรียนใกล้บ้านเขาไม่ควรได้รับคุณภาพการศึกษาที่เหมือนกันหรือ
มันทำให้นันทัชพรนึกถึงถึงภาพฝันในการเลือกคนมาบริหารท้องถิ่นเพื่อบีบรัดความเหลื่อมล้ำให้แคบน้อยถอยลง “เราเห็นกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มันเห็นการแอคทีฟของผู้ว่าว่าจะจัดการกับปัญหายังไง แต่ในจังหวัดอื่นไม่มีสิทธิเลือก บางทีมันอาจจะมาจากการที่ส่วนกลางมอบให้ คนในจังหวัดอาจจะรู้จักจังหวัดของตนเองได้ดีกว่าไหม เราตั้งข้อสังเกตว่าพะเยาเป็นจังหวัดทางผ่าน ทำไมมันผ่านไปเลย นั่นเพราะไม่มีรถสำหรับท่องเที่ยว เศรษฐกิจในจังหวัดไม่เกิดการหมุนเวียน ช่วงโควิดก็ไม่ได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากมองเรื่องการพัฒนาทำไมพะเยากับกรุงเทพฯ ถึงแตกต่างกันเหลือเกิน” เธอจึงเสนอว่าสิ่งเหล่านี้ควรแก้ไขด้วยการให้อำนาจในการพัฒนาท้องถิ่นและใช้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกสำคัญสำหรับการจัดการสิทธิและทรัพยากรเพื่อที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีสิทธิได้เติบโตรวมถึงจังหวัดทางผ่านได้มีสิทธิเลือกในการพัฒนา
เรามีสิทธิที่จะหายใจและมีสิทธิเลือกว่าจะหายใจอย่างไร
ความตอนหนึ่งจากคำประกาศคณะก่อการล้านนาในกิจกรรม “แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ในวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ได้กล่าวถึงการผูกขาดอำนาจโดยรัฐและข้อเรียกร้องให้กระจายอำนาจ กระจายความเป็นธรรมสู่ราษฏร
“…รัฐปกครองเราโดยถือว่าเราเป็นเพียงคนชายขอบที่อาศัยในพื้นที่ของรัฐ ไม่ได้มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของอำนานาจการตัดสินใจ รีดเอาภาษีจากราษฎร เพื่อสร้างการพัฒนาที่เราไม่ได้มีส่วนร่วม ยัดเยียดเจ้าหน้าที่เราไม่ได้เลือก ไม่เปิดโอกาสตัดสินใจในการบริหารท้องถิ่น ยึดนโยบายจากส่วนกลางที่ออกโดยอำนาจรัฐ พวกเราทั้งหลายพึงรู้ไว้เถิดว่าอำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นของราษฎรรากหญ้าทุกคน อำนาจการตรวจสอบที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อำนาจที่ไม่เห็นหัวของประชาชนรากหญ้า อำนาจที่คอยชี้นิ้วสั่งว่าเรามีสิทธิกินเท่าที่กิน อำนาจรวมศูนย์แบบนี้มันต้องหมดไป เราเป็นคนเท่ากัน มีชีวิตมีจิตใจ มีสิทธิที่จะหายใจ และมีสิทธิเลือกว่าจะหายใจอย่างไร อำนาจที่เราต้องการคือ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง 2.การกระจายอำนาจต้องเกิดขึ้นและมุ่งเน้นส่งเสริมอำนาจประชาชนให้จัดการตนเอง 3.ต้องมีรัฐสวัสดิการที่มีใจความหลักคือคนเท่ากัน”
คำประกาศนี้อธิบายจุดยืนของพวกเขาเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเรียกร้องสนับสนุนเรียกคืนสิทธิในการจัดสรรอย่างเป็นธรรม แต่ทว่าตอนนี้การเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาวาดหวังนั้นก็ยังห่างไกล
วิศรุตให้ความเห็นว่า “หากย้อนไปดูรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่สามารถลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังพบว่ามีการพูดถึงเรื่องที่ดินและสิทธิชุมชนบ้าง ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นเผด็จการที่สุดแล้ว คืออำนาจถูกผูกขาดโดยรัฐ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนกลายเป็นหน้าที่ของรัฐที่รัฐต้องมอบสิทธิให้ คำถามคือทำไมต้องรอให้รัฐอนุญาตและมอบสิทธิให้ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิของเราตั้งแต่แรก”
การรวมศูนย์มาอย่างยาวนาน อำนาจส่วนใหญ่อยู่ในมือของรัฐบาลกลางในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของตนเองน้อยเหลือทน จนต้องเปรียบเปรยว่าแม้แต่สิทธิที่จะหายใจหรือว่าต้องหายใจอย่างไรนั้นรัฐแทบเป็นผู้กำหนดทั้งหมด และต่อไปนี้พวกเขาจะปลดเปลื้องพันธนาการคำสั่งชี้ขาดที่มาครอบชีวิตความเป็นอยู่ ควบคุมอำนาจตัดสินใจ และจะปฏิเสธการลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมในการกำหนดอนาคตของตนเอง
ปลุกผี ‘วาทกรรมแบ่งแยกดินแดน’ เครื่องมือทางการเมืองสำหรับกำจัดและปราบปรามผู้เห็นต่าง
ก่อนอื่นพวกเขาปฏิเสธความพยายามใดๆ ที่จะลดทอนความชอบธรรมโดยการกล่าวหาว่า
เรียกร้องกระจายอำนาจเท่ากับ “เป็นพวกแบ่งแยกดินแดน”
คณะก่อการล้านนาใหม่ไม่ได้เรียกร้องการแยกตัวออกจากภูมิภาคหรือจากรัฐใด แต่ให้น้ำหนักไปในแนวทางที่จะจัดสรรตนเองเสียมากกว่า โดยการเรียกร้องว่าทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกดึงเอาไปจากท้องถิ่นต้องเป็นประโยชน์ก้บผู้คนท้องถิ่นด้วย การลุกขึ้นเรียกร้องคือสิทธิอันชอบธรรมของความเป็นมนุษย์นั้น พวกเขาต้องการเพียงที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยที่พึงมี อาหารที่เพียงพอ งานที่ยุติธรรม สุขอนามัยที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ สิทธิในการจัดการตนเองและชุมชน
“ข้อกล่าวหาเรื่องแบ่งแยกดินแดนไม่ได้เพิ่งมี แต่มีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังปี 1945
เราควรทำความเข้าใจร่วมกันว่าได้ว่า แบ่งแยกดินแดน กระจายอำนาจหรือว่าการปกครองตนเอง มันหมายความว่าอย่างไรบ้าง การกระจายอำนาจมันจะไปคล้องกับอำนาจอธิปไตยที่มันแบ่งแยกไม่ได้ของรัฐไทย แต่เราคิดว่าการกระจายอำนาจมันเป็นการ Decentralize มันไม่ใช่การแบ่งแยก มันเป็นการแบ่งปันอำนาจในการตัดสินใจให้ท้องถิ่น ให้มาจัดการกิจการสาธารณะในท้องถิ่น เหมือนเป็นการให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ท้องถิ่น ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยของชาติ” นันทัชพรให้ความเห็น
“เรื่องกระจายอำนาจมันเป็นมายาคติที่สังคมไทยยังหวาดกลัวเหมือนเช่นกลัวคอมมิวนิสต์” ชาติชายอธิบาย
ชาติชายเล่าต่อว่า “เรื่องกระจายอำนาจถูกสร้างความกลัวว่ามันจะเป็นการแบ่งแยกดินแดน รัฐที่มาจากรัฐประหารยิ่งไม่ให้พูดเรื่องกระจายอำนาจ เขามองว่าเปรียบเสมือนการสูญเสียอำนาจ ประชาชนที่เคยพูดเรื่องกระจายอำนาจหรือจังหวัดจัดการตัวเองก็เคยถูกจับ เขาใช้ผีเรื่องแบ่งแยกดินแดนมาเป็นข้ออ้าง ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการกระจายอำนาจคือ
1) คิดว่าจะไปยุบตำแหน่งนั่นนี่ ว่ากันว่าพรรคที่ใหญ่ที่สุดคือพรรคราชการ ราชการหลายตำแหน่งยังกังวลว่าตัวเองจะถูกปลด สังคมไทยไปให้ความหมายเรื่องรัฐต้องขึ้นตรงกับรัฐชาติแต่ไม่ได้ให้คุณค่ากับชุมชน เราต้องแลกเปลี่ยนกับคนทำงานชี้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการกระจายอำนาจ
2) การมองภาพรวมเศรษฐกิจว่าต้องดีแล้วชูพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในการพัฒนาก็เป็นปัญหา เพราะว่ากรุงเทพฯ ต้องพัฒนาก่อน กรุงเทพฯ ต้องมาก่อน พื้นที่อื่นก็จะลำบาก เราต้องพัฒนากรุงเทพ ก่อน จังหวัดอื่นเอาไว้ก่อนต้องเน้นเมืองเศรษฐกิจไปก่อนแบบนี้
3) มายาคติว่ารัฐต้องรวมศูนย์อย่างเดียว เป็นเรื่องความมั่นคง รวมถึงการเกิดรัฐประหารบ่อยก็เป็นการตัดตอนการต่อสู้ การกระจายอำนาจที่แท้จริงมีบทเรียนในหลายประเทศซึ่งมันทำให้ประเทศดีขึ้นเราควรนำมาเป็นบทเรียน ถ้าทำพร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้อาจมีพื้นที่นำร่องก่อน โดยเริ่มจากออก พ.ร.บกระจายอำนาจ และเรียนรู้ไปพร้อมกัน”
ความเท่าเทียมไม่ใช่สิ่งที่มอบลงมาจากเบื้องบน
ความเท่าเทียมไม่ใช่สิ่งที่มอบลงมาจากเบื้องบนมันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพึงมี หากมองไปข้างหน้า เป้าหมายใหญ่ของคณะก่อการล้านนาใหม่คือการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกได้ว่าจะเอาการพัฒนาไหน
เมื่อชวนจินตนาการถึงสังคมที่สามารถจัดการตนเอง ชาติชายมองเห็นสังคมใหม่ที่คนมองคนเท่ากัน อยู่กับคนที่หลากหลายได้ บ้านเมืองจะไม่มีรั้วเพราะผู้คนไม่ต้องยื้อแย่งปล้นชิง ไปรักษาพยาบาลฟรี ไม่ต้องต่อคิวยาว โรงพยาบาลมาตรฐานเดียวกัน ไปไหนก็ยิ้มได้ มีสิ่งที่วาดฝันร่วมกันภายใต้กติกาเดียวกันคือรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน
นันทัชพรบอกว่าอยากให้ช่วยกันร่วมออกแบบประเทศ ภายใต้กติการ่วมกัน ออกมายืนยันสิทธิที่พึงมี จนกว่าหน้าประวัติศาสตร์จะเปลี่ยน จนกว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และคงเป็นเวลาอนันต์จนถึงวันที่เราจะล้มเลิก
วิศรุตก็คาดหวังถึงสังคมที่มีความหวังไม่ต่างกัน เขาเห็นบทเรียนการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ยาวนานราว 30 ปี และตั้งคำถามว่าทำไมถึงทนต่อสู้ได้ยาวนานขนาดนั้น ตัวเขาเองไม่อยากให้มันยืดเยื้อและหวังว่าจะมีการต่อสู้รูปแบบใหม่ที่จะพาเข้าใกล้ผลสำเร็จโดยเร็ว “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ยังเป็นวลีเติมไฟฝันที่ยังกระตุ้นและท้าทายการต่อสู้อยู่เสมอ เขายังเคารพและเชื่อมั่นในพลังต่อสู้ของประชาชนที่จะพากันเดินทางไปสู่สังคมที่เท่าเทียมกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องวิงวอนร้องขอการอนุญาตจากรัฐ
เส้นทางที่พวกเขาเลือกเป็นเพียงวิถีทางหนึ่งไม่ใช่วิถีทางเดียว และอาจไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่พวกเขาก็อยากเชื้อเชิญให้ลองทำมันโดยไม่ลุกขึ้นจับอาวุธ ไม่เสียเลือดเนื้อ และไม่ต้องการผูกขาดอำนาจไว้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องยากที่รัฐจะหยิบยื่นสิทธิที่ประชาชนพึงมี แต่กลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะก่อการล้านนาใหม่” ยังยืนหยัดต่อสู้อย่างถึงที่สุดจนกว่าจะได้สิทธิการจัดการตนเองมาจากรัฐผู้ฉกฉวย
อ้างอิง :
- เกษม จันทร์แก้ว. 2551. หลักการจัดการลุ่มน้ำ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
- สำนักการจัดการที่ดินป่าไม้. 2566. “ข้อมูลการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)”.
- [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.forest.go.th/land/ข้อมูลการอนุญาต-คทช/
(26 กรกฎาคม 2566).
- สำนักข่าวประชาไท. 2560. “แถลงผลกระทบ 3 ปี (หลังรัฐประหาร) ของประชาชนเหนือจรดใต้.”
- [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2017/07/72521
(22 กรกฎาคม 2566).