สวัสดีค่ะ
ในวัยเด็กมีโอกาสได้ไปเที่ยวทะเลระยองตามพี่มัธยมศึกษาตอนต้น เป็นการพาพี่ ๆ เที่ยวก่อนจบจากการศึกษาภาคบังคับ มีโอกาสได้ไปด้วยเพราะคุณครูชวน เรียกได้ว่าเป็นการสัมผัสทะเลครั้งแรกในชีวิตตอนอายุสิบสองปี และความทรงจำในการไปทะเลครั้งแรกในชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความสุขและความสวยงามและมีความตั้งใจที่จะหาโอกาสไปเยือนอีกครั้ง
ปัจจุบันทะเลยังเป็นที่ชอบและเป็นสถานที่ฮีลใจของใครหลายคน รวมทั้งการพาตัวเองไปเที่ยวทะเลคือเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดเพื่อชาร์จแบตให้ร่างกายแล้วกลับไปลุยงานต่อ
ในวัยยี่สิบสี่ปีเราได้มีโอกาสไปเยือนทะเลระยองอีกครั้งในบทบาทการลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับชุมชนที่รวมตัวการเป็นเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม แม้จะเปลี่ยนไปจากการเป็นนักเรียนในวันนั้น แต่วันนี้ก็ยังคงต้องเรียนรู้อีกหลาย ๆ เรื่องอีกเยอะ เราจึงได้รับรู้และเข้าใจปัญหาของพี่น้องระยองที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานอย่างลึกซึ้ง และเพิ่งทราบว่าน้ำทะเลที่เราเคยเล่นในตอนนั้นไม่สามารถลงเล่นได้แล้วในตอนนี้ เนื่องจากน้ำทะเลมีสารพิษที่เกิดจากการปล่อยของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก
จังหวัดระยองเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นพื้นที่นำร่องของการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” หรือเรียกกันว่า ระยองโมเดล ถูกวางให้เป็นแม่แบบของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านการลงทุนภายใต้หลักการ “อุตสาหกรรมที่ดีมีคุณภาพ” แต่จากการที่มีโรงงานเข้ามาทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเฉพาะวิถีชีวิตชาวประมงที่ได้รับผลกระทบขั้นรุนแรง ระบบนิเวศสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเริ่มสูญพันธุ์ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในอดีตเริ่มสูญหายไปอย่างเห็นได้ชัด
“เมื่อก่อนไปหาปลาหนึ่งวัน ได้มาหลายพัน ตอนนี้เหลือเก้าร้อยบาท แล้วแต่ปลาที่ได้แต่ละวัน หักค่าน้ำมัน ค่าอาหารเครื่องดื่มที่เอาไปรับประทานก็หมดแล้ว” เสียงสะท้อนจากสมควร จัทร์พิทักษ์ กลุ่มประมงพื้นบ้านศาลาเขียว
เมื่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยความเห็นชอบของ คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” ขึ้น โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการบัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายในภาพรวม ตลอดจนเสนอแนะในการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนากฎหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)
กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงที่ผิดกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากลนั้น ส่งผลให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนเรื่องการใช้พื้นที่ทะลในการหาปลาตามวิถีดั้งเดิมและเอื้อให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การยกเลิกผังเมือง ไม่มีการจัดทำรายงาน EHIA:Environmental and Health Impact Assessment คือ “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับ โครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง” ส่งผลให้เกิดโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลายแห่ง
อีกทั้งชาวบ้านที่อยู่ละแวกโรงงานต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อหลีกหนีปัญหาต่างๆที่กระทบต่อชุมชน อาทิเช่น ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวน สถิติโรคภูมิแพ้ โรคมะเร็ง และโรคผิวหนังจากผื่นคัน
30 ปีมานี้ คนระยองต้องสูญเสียวิถีทำกินทั้งการประมงและการเกษตรซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของพื้นที่ทั้งยังต้องเห็นบ้านเกิดเรือนนอนถิ่นฐานที่ปู่ย่าตายายได้อยู่อาศัยกันมาค่อย ๆ กลายเป็นเมืองแห่งความแปลกแยก ผู้คนต่างถิ่นย้ายเข้ามาหากินกับโรงงานทั้งคนไทย ชาวต่างชาติ เกิดผับ บาร์ คาราโอเกะแหล่งบันเทิงมากมาย
อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดและไม่พูดถึงไม่ได้คือ กลุ่มผู้หญิง จากอดีตมีอาชีพออกเรือคู่กับสามีช่วยกันหาปลา มีบทบาทในการคอยถือหางเสือ ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิม การทำอาชีพประมงถือเป็นช่องทางหลักในการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพของกลุ่มผู้หญิงอีกด้วยเช่นกัน
“ปัจจุบันไม่สามารถออกเรือกับสามีได้แล้วเพราะการไปแต่ละครั้งต้องลุ้นว่าจะได้ปลามาไหม และไม่ค่อยคุ้มทุน จึงต้องออกมาขายน้ำสมุนไพรเพื่อหารายได้ อย่างน้อยก็มีรายได้อีกช่องทางเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว” เสียงสะท้อนจาก เสาวลักษณ์ สมานสินธุ์ กลุ่มปากน้ำบ้านเรา
ถ้าจังหวัดระยอง หรือทะเลระยองเป็นสถานที่ที่รองรับนักท่องเที่ยวจากไทยหรือต่างประเทศในการพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นทะเลที่สามารถลงเล่นได้เหมือนอดีตที่เป็นความทรงจำการได้สัมผัสทะเลครั้งแรกของชีวิตเราคงจะดีไม่น้อย
ส่งความเรียงกึ่งจดหมายนี้มาเผื่อ บก.นุ๊ก จะคิดถึงบ้านบ้าง
ดวง
21 มิถุนายน 2567
ดวง พรชิตา ฟ้าประทานไพร สนใจและรักการเขียนเรื่องราวที่ตัวเองได้ไปสัมผัส สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมและชอบตั้งคำถามเพื่อหาข้อเท็จจริง มีความเชื่อว่าคนเท่ากัน
‘กล่องไปรษณีย์สีแดง’ คอลัมน์เล็ก ๆ ที่หยิบยืมมาจากชื่อนวนิยายขนาดสั้นของอภิชาติ เพชรลีลา ที่ต่อมาได้โลดแล่นเป็นหนังใหญ่ ‘เพื่อนสนิท’ ชวนทุกคนที่สนใจสามารถส่งจดหมายมาพูดคุยกับ Lanner หรือบรรณาธิการ โดยจะเผยแพร่ในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ร่อนจดหมายมาที่ lanner.editor@gmail.com จ่าหน้าซอง ‘กล่องไปรษณีย์สีแดง’
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...