“รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นของประชาชน” ‘สมัชชาคนจน’ จัดเวที ‘สสร. คนจน’ สร้างกลไกร่าง รธน. ปักธงอนาคต

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

12 – 13 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ‘สมัชชาคนจน’ และองค์กรในเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน ร่วมจัดเวทีอบรม สสร. คนจน (รุ่นที่ 5) เพื่อพัฒนาศักยภาพสมาชิกในเครือข่ายในการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มุ่งเน้นความข้าใจกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วมของประชาชน ณ โรงแรมท็อปแลนด์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

‘หลักสัญญาประชาคม’ กับ ‘การร่างรัฐธรรมนูญใหม่’

“หลักสัญญาประชาคมเป็นหลักการพื้นฐานในการที่จะบอกว่า ทำไมประชาชนจึงควรเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่”

กิตติชัย งามชัยพิสิษฐ์ จากโครงการห้องทดลองของนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย (Activist Laboratory Thailand: ActLab) เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการอธิบายถึงแนวคิดว่าด้วย ‘หลักสัญญาประชาคม’ (Social Contract) ซึ่งตรงข้ามกันกับ ‘หลักเทวสิทธิ์’ (Divine Right) ที่เชื่อว่าผู้ปกครองได้รับอำนาจจากพระเจ้าในการปกครองรัฐ

ในทางตรงกันข้าม ‘หลักสัญญาประชาคม’ เชื่อว่ารัฐเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของประชาชนที่ยอมสละทรัพยากร สิทธิ และเสรีภาพบางส่วน เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ รัฐเกิดจากประชาชน ไม่ใช่พระเจ้า ดังนั้นรัฐจึงเป็นของประชาชน และประชาชนมีสิทธิในการกำหนดทิศทางของรัฐ ว่าจะดำเนินไปในทางไหน และมีเป้าหมายอย่างไร ผ่านกระบวนการโหวต (vote) ด้วยเหตุนี้ หลักสัญญาประชาคมจึงเป็นรากฐานของ ‘รัฐธรรมนูญ’ ซึ่งเกิดจากการตกลงร่วมกันของประชาชนในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายของรัฐ

แต่เมื่อหันมองย้อนมา น่าเสียดายที่ประเทศไทยในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า ประชาชนไม่แม้แต่มีสิทธิมีเสียงในการร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมาย การแสดงความคิดเห็น หรือการกำหนดทิศทางและเป้าหมายของรัฐบาล แม้จะไม่มีคำพูดโดยตรงออกมาว่า ประชาชนไม่มีสิทธิ แต่การกระทำต่างๆ ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง การที่รัฐพยายามจำกัดการแก้ไขกฎหมายในบางส่วน (เช่น หมวด 1 และหมวด 2) ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ‘รัฐไม่ใช่ของประชาชน’ อำนาจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน ดังนั้น เราจึงต้องยืนหยัดตามหลักสัญญาประชาคม เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเอง

“ถ้าบอกว่ารัฐเป็นของประชาชน ประชาชนก็ต้องแก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา สมาชิกทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะจ่ายมาก จ่ายน้อย คนจน คนรวย ก็มีสิทธิที่จะเสนอว่าประเทศนี้ควรเป็นอย่างไร รัฐบาลควรทำหน้าที่เป็นให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น ถ้าหากไม่ทำก็ถือว่าหมดความชอบธรรม”

บทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทำไม ‘ประชาชน’ ควรเป็นคนร่าง ‘รัฐธรรมนูญ’

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงลำดับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ ตั้งแต่ คำกราบบังคมทูล รศ. 103 (พ.ศ. 2428) การปฏิรูประบบราชการ 2435 กบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในปี 2475 ทว่า ‘แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ’ นั้นได้หยั่งรากลงในสังคมไทยมานานแล้ว โดยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในกลุ่มชนชั้นนำตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงปี 2475 แต่อย่างใด

ต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ที่มักจบลงด้วยการรัฐประหาร และการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ดังเช่นในกรณีของการรัฐประหารปี 2490 ซึ่งฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ทิ้ง และเริ่มต้น ‘วงจรอุบาทว์ทางการเมือง’ ที่วนเวียนระหว่างการยึดอำนาจและร่างรัฐธรรมนูญใหม่เรื่อยมา

บัณฑิตชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหลักของการเมืองไทยคือ การวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ของความขัดแย้งและการช่วงชิงอำนาจ ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ประเทศขาดเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการหาทางฝ่าวงจรอุบาทว์นี้ แต่ก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ

“ดังนั้น นี่จึงเป็นที่มาของความจำเป็นในการคิดถึงโอกาสในการฝ่าวงจรอุบาทว์ใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญซ้ำซากที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด” บัณฑิตกล่าว

รู้จักโครงสร้างรัฐธรรมนูญ วิพากษ์ได้ เขียนใหม่เป็น

สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า หากจะตั้งต้นทำเรื่อง ‘สสร.คนจน’ เพื่อหาทางออก คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่ ‘หลักสัญญาประชาคม’ ที่ยืนยันว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ และ ‘รัฐธรรมนูญ’ ก็คือ ‘กติกา’ ที่จะใช้อยู่ร่วมกัน ถ้าเทียบง่ายๆ ก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนการออกแบบบ้าน ประชาชนก็เปรียบได้กับเจ้าของบ้าน ที่อาจไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างในทางเทคนิควิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรม แต่รู้ว่าอยากได้บ้านแบบไหน เช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เราไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดทางกฎหมาย แต่ในฐานะเจ้าของประเทศ เราสามารถบอกได้ว่าเราอยากให้ประเทศมีระบบปกครองแบบใด มีองค์กรอะไรบ้าง และใช้วิธีการเลือกตั้งแบบไหน

จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญยากขนาดนั้นเลยหรือ? สุทธิชัยกล่าวต่อว่า จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิดและเข้าใจ ความซับซ้อนของรัฐธรรมนูญที่เราพูดถึง โครงสร้างของมันมีเพียงแค่ 2 ส่วนสำคัญเท่านั้น ส่วนแรกคือ ‘โครงสร้างของสถาบันทางการเมือง’ เช่น รัฐสภา ศาล ฝ่ายบริหาร และองค์กรของรัฐต่างๆ และส่วนที่สองคือ ‘สิทธิเสรีภาพของประชาชน’ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่รัฐมอบให้เราอย่างเมตตา สิทธิเหล่านี้ไม่ใช่ของขวัญที่รัฐมอบให้ แต่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของเราทุกคนในฐานะมนุษย์ที่สามารถเรียกร้องต่อรัฐได้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี

ทำไมเราถึงต้องการให้บัญญัติหลักการสำคัญไว้ในรัฐธรรมนูญ? สุทธิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลก็คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การบัญญัติหลักการสำคัญไว้ในรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับระบบกฎหมาย กฎหมายทุกฉบับที่ออกตามมาจึงต้องสอดคล้องและไม่ขัดแย้งกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าหลักการที่เขียนในรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจนเพียงพอ กฎหมายที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญก็จะขัดหรือแย้งกับหลักการเหล่านั้นได้ หากขัดหรือแย้งก็จะไม่สามารถบังคับใช้ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญตรงที่ หากเราเขียนหลักการให้ชัดเจน กฎหมายที่ต้องออกตามมาก็จะไม่สามารถขัดหรือแย้งกับหลักการนี้ นั่นคือวิธีที่จะทำให้มันตอบสนองต่อประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

ถัดมาที่ ‘หลักการอ่านรัฐธรรมนูญ’  สุทธิชัยอธิบายว่า การอ่านรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องซับซ้อน เพียงแค่เข้าใจหลักการพื้นฐานสำคัญ ได้แก่ หลักเรื่องสัญญาประชาคม ประชาธิปไตย หลักเรื่องการกระจายอำนาจ หลักความเสมอภาคเท่าเทียม หลักสิทธิเสรีภาพ ก็เพียงพอ ซึ่งหลักการเหล่านี้จะเป็นเหมือน ‘หางเสือ’ ที่จะนำทางเราในการอ่านและทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญ

“ไม่ต้องอ่านรัฐธรรมนูญในฐานะนักกฎหมาย แต่อ่านในฐานะประชาชนที่ทุกคนควรที่จะสามารถอ่านมันได้”

ทั้งนี้ การอ่าน ‘คำปรารภ’ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะ คำปรารภ เปรียบเสมือนการย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ เราจะได้เห็นบริบททางการเมืองในขณะนั้นว่าประเทศกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ สภาวะการณ์ในตอนนั้นเป็นปกติหรือต้องเผชิญกับความไม่ปกติอย่างไร เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สิ่งที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ และปัญหาทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญต้องการเข้ามาแก้ไข นอกจากนี้ การศึกษาคำปรารภยังช่วยให้เราเข้าใจถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นหลัก

สสร. คืออะไร มีที่มาจากไหนบ้าง?

กล่าวมาจนถึงตรงนี้ สรุปแล้ว ‘สสร.’ คืออะไร?  สุทธิชัยอธิบายว่า ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ หรือ สสร. นั้นมีบทบาทแตกต่างจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการร่างฯ ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบในการร่างเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ขณะที่ สสร. จะทำหน้าที่หลักในการพิจารณาตัดสินใจให้การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนเล็กกว่าเสนอมา โดย สสร. จะไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง ดังนั้น หน้าที่ของ ‘สสร.คนจน’ ในที่นี้คือการอ่านและพิจารณาเนื้อหา ไม่จำเป็นต้องเขียนรัฐธรรมนูญเอง แต่ต้องอ่านได้และเข้าใจในสิ่งที่เสนอมา

ที่ผ่านมาเราเคยมี สสร. หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนหรือไม่? สุทธิชัยกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมี สสร. มาแล้วทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ สสร. ปี 2491, 2502, 2539 และ 2550 แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้จะมีการจัดตั้ง สสร. มาแล้วถึง 4 ชุด แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีชุดไหนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเลยสักครั้ง สสร. ทั้ง 4 ชุดนั้นถูกแต่งตั้งโดยรัฐสภา 2 ชุด (2491, 2539) และโดยกษัตริย์ 2 ชุด (2502, 2550) จนกระทั่งในปี 2539 จึงเริ่มมีการรวมสตรีเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะสมาชิก สสร.

และในปี 2560 ประเทศไทยก็ไม่มีการตั้ง สสร. แต่มีการจัดตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทน โดยคณะกรรมการชุดแรกอยู่ภายใต้การนำของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งใช้เวลากว่า 9 เดือนในการร่าง แต่สุดท้าย สปช. ก็มีมติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญของชุดนี้ จึงทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยตรงของ คสช. ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการร่างรัฐธรรมนูญแบบไม่ต้องผ่านการให้ความเห็นในที่ประชุมสภา

นอกเหนือจาก สสร. 4 ชุดข้างต้น ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหลังจากนั้น หลายภาคส่วนก็มีความพยายามในการเสนอรูปแบบ สสร. ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

1. ข้อเสนอปี 2555 โดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเสนอให้มี สสร. 99 คน โดย 76 คนมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ส่วนอีก 23 คนมาจากการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิโดยรัฐสภา (ไม่ได้ใช้) 

2. ข้อเสนอปี 2555 โดย นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เสนอให้มี สสร. 100 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (ไม่ได้ใช้)

3. ข้อเสนอปี 2562 พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ (ไม่ได้ใช้)

4. ข้อเสนอปี 2563 พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้มี สสร. 200 คน โดย 150 คนมาจากการเลือกตั้งตามสัดส่วนจังหวัด ส่วนอีก 50 คนมาจาก 3 กลุ่ม คือ 20 คนจากรัฐสภา 20 คนจากที่ประชุมอธิการบดี และ 10 คนจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา (ไม่ได้ใช้)

5. ข้อเสนอโดย iLaw เสนอให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน โดยใช้ระบบคล้ายบัญชีรายชื่อ (Party-list) ไม่มีการแบ่งตามเขตจังหวัด ไม่จำกัดอายุหรือวุฒิการศึกษา และไม่มีโควตาสำหรับผู้เชี่ยวชาญหรือนักกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

เสียงของคนจนถึง ‘รัฐธรรมนูญคนจน’

ทำไมเราต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับคนจน? ทำไมประชาชนต้องช่วยกันผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับนี้? คำตอบจะชัดเจนขึ้นเมื่อเราได้ฟังเสียงจาก ‘ประชาชน’ ที่จะมาบอกเล่าถึงปัญหาที่พวกเขาเผชิญ และความหวังที่พวกเขามีต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

กาญจนาณัฐ อู่ทรัพย์ สมัชชาคนจนจังหวัดนครสวรรค์ อธิบายถึง ความจำเป็นของการมี ‘รัฐธรรมนูญคนจน’ ว่า หากรัฐธรรมนูญมาจากการเขียนโดยประชาชน ก็จะสามารถสะท้อนปัญหาที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญอยู่ได้ ทั้งความเดือดร้อน วิถีชีวิต วิถีชุมชน รวมไปถึงบริบทในพื้นที่ เพราะในฐานะ ‘คนจน’ นั้นย่อมรู้ดีว่าปัญหาอยู่ตรงไหน

“รัฐธรรมนูญของเรา เราก็ต้องร่างได้ เพราะมันเป็นเรื่องของพวกเรา เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของพวกเรา”

กาญจนาณัฐเสริมว่า รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยผู้มีอำนาจนั้นส่วนใหญ่มักจะถูกออกแบบมาเพื่อใช้ปกป้องกลุ่มของตนเอง แต่ในฐานะประชาชนคนธรรมดาตนต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับคนที่ต้องเผชิญการถูกกดขี่เหมือนกัน

ทางด้าน โชคดี สายนำพามีลาภ ที่ปรึกษาสหกรณ์นิคมพันชาลี จำกัด ในฐานะคนที่ได้รับผลกระทบในที่ดินจากอำนาจรัฐ กล่าวถึงความสำคัญของการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินของตนเอง โดยระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินของตนเอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้ระบุถึงสิทธินี้ เพราะการถูกปิดกั้นด้วยกฎหมายหลายฉบับ 

“ถ้ารัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งคนจนเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็ควรจะเกิดขึ้นจากคนจนเพื่อแก้ไขปัญหาของคนจน”

โชคดีมองว่า ประเทศจะสงบสุขได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน การออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่มาจากคนกลุ่มหนึ่ง จะนำไปสู่ความวุ่นวาย การร่างรัฐธรรมนูญคนจนจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะลดปัญหาเหล่านี้

กิตติพศ บำรุงพงษ์ นักกิจกรรมกลุ่ม NU-Movement กล่าวถึงรัฐธรรมนูญคนจนนั้นมีความจำเป็น เนื่องจากสังคมไทยมีความแตกต่างหลากหลายทางด้านชนชั้น ต้รัฐธรรมนูญจึงต้องครอบคลุมและเป็นธรรมเท่าเทียมต่อคนทุกกลุ่ม ไม่เพียงแต่ให้สิทธิประโยชน์แก่กลุ่มคนจำนวนน้อย ต้องมองถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ

“ประชาชนไม่เท่ากันทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะช่วยให้คนเท่ากันก็คือรัฐธรรมนูญ”

เส้นทางรัฐธรรมนูญของประชาชนและบทบาทของประชาชนในการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญ

กิตติชัย ปิดท้ายเวทีไว้ด้วยการสรุปแนวทางการเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญออกเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้

1.การผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด โดยไม่ยกเว้นหมวดใด และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพื่อเปิดทางให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงให้มีการเลือกตั้ง สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100%

2.การปักธงเนื้อหา ปักธงทางความคิดร่วมกัน เน้นการกำหนดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าควรจะเป็นอย่างไร

3.การร่วมกันเข้าไปเป็นกลไกในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้

บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอของประชาชนคือ ‘การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่’ ไม่ใช่เพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมองว่ากลไกในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ควรใช้ ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ (สสร.) ซึ่งจะเป็นตัวแทนของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างกระแสรัฐธรรมนูญของประชาชน เพื่อผลักดันให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถือเป็นฉันทามติของประชาชนว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ของสังคมไทยในขณะนั้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีฉันทามติในลักษณะเดียวกัน สุดท้ายบารมีเน้นย้ำว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่แตะต้องไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเรื่องของ ‘ประชาชน’ (We, The People)

อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂

ข่าวที่เกี่ยวข้อง