เวทีช่วงค่ำวันที่ 2 ราษฎรหยุด APEC 2022 หยุดฟอกเขียวกลุ่มทุนผูกขาด เอื้อรัฐแย่งยึดทรัพยากรประชาชน

ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 เวลา 17.20 น. กลุ่มราษฎรหยุด APEC ได้จัดกิจกรรม ราษฎรหยุด APEC 2022 หยุดฟอกเขียวกลุ่มทุนผูกขาด เอื้อรัฐแย่งยึดทรัพยากรประชาชน โดยในเวลา 17.25 น. การแสดงดนตรีจากวงสามัญชน ที่มาสร้างสีสันและปลุกพลังของประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม


เวลา 17. 55 น. คณะก่อการล้านนาใหม่ ได้จัดกิจกรรมรำลึก 48 ปีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย สืบทอดเจตนารมณ์ที่ดินเป็นของราษฎร  เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้กับกลุ่มชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยทั้ง 46 คน โดยพชร คำชำนาญ ได้การอ่านรายชื่อของผู้นำสหพันธุ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงระหว่างปี 2517-2522

1. นายสนิท ศรีเดช ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2517 

2. นายเมตตา (ล้วน) เหล่าอุดม ผู้แทนชาวนา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2517 

3. นายบุญทิ้ง ศรีรัตน์ ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2517 

4. นายบุญมา สมประสิทธิ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ จ.อ่างทอง ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2518 

5. นายเฮี้ยง ลิ้นมาก ผู้แทนชาวนาจังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2518 

6. นายอาจ ธงโท สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ต.ต้นธง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2518 

7. นายประเสริฐ โฉมอมฤต ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2518 

8. นายโหง่น ลาววงษ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ถูกรัดคอและทุบตีจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2518 

9. นายเจริญ ดังนอก สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บในเดือนเมษายน 2518 

10. นายถวิล ไม่ทราบนามสกุล ผู้นำชาวนา อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนเมษายน 2518 

11. นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนา จ.นครสวรรค์ ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2518 

12. นายบุญสม จันแดง สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ส่วนกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2518 

13. นายผัด เมืองมาหล้า ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2518 

14. นายถวิล มุ่งธัญญา ผู้แทนชาวนา จ.นครราชสีมา ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2518 

15. นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518 

16. นายแก้ว ปงซาคำ ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518 

17. นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518 

18.  นายบุญช่วย ดิเรกชัย ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518 

19. นายประสาท สิริม่วง ผู้แทนชาวนา จังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518 

20. นายบุญทา โยทา สมาชิกคณะกรรมกาสหพันธ์ฯ อ.เมือง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518 

21. นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2518 

22. นายอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ และประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อ 31 กรกฎาคม 2518 

23. นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2518 

24. นายมี สวนพลู สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518 

25. นายตา แก้วประเสริฐ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518 

26. นายตา อินต๊ะคำ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518 

27. นายนวล สิทธิศรี สมาชิกสหพันธ์ฯ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 (หมายเหตุ – ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2518 ระบุว่าเป็นการถูกยิงครั้งที่ 2 โดยนายนวลเมื่อเดินทางกลับมาจากการชี้ตัวผู้ต้องหา ก็ถูกยิงที่หน้าบ้านและเพื่อนบ้านได้นำส่งโรงพยาบาล “อาการเป็นตายเท่ากัน” แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเสียชีวิตหรือไม่)

28. นายพุฒ ทรายคำ ผู้นำชาวนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 

29. นายช้วน เนียมวีระ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2518 

30. นายแสวง จันทาพูน รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2518 

31. นายนวล กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกระเบิดและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518 

32. นายมี กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518 

33. นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2518 

34. นายจันเติม แก้วดวงดี ประธานสหพันธ์ฯ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2518 

35. นายลา สุภาจันทร์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่  12 ธันวาคม 2518 

36. นายปั๋น สูญใส๋ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2519 

37. นายคำ ต๊ะมูล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2519 

38. นายวงศ์ มูลอ้าย ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 มีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 

39. นายพุฒ บัววงศ์ ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 

40. นายทรง กาวิโล ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 

41. นายดวงคำ พรหมแดง ผู้แทนชาวนา อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2519 

42. นายนวล ดาวตาด ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2519 

43. นายศรีธน ยอดกันทา ประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2519 

44. นายชิต คงเพชร ผู้นำชาวนา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2519 

45. นายทรอด ธานี ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2521 

46. นายจำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออก และประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.บ้านด่าน จ.ระยอง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท

โดยระหว่างที่มีการอ่านรายชื่อ ได้มีการลากหุ่นศพฟางมาวางกองรวมกันด้านหน้าเวที หลังจากนั้นตัวแทนจากกลุ่มสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ และคณะก่อการล้านนาใหม่ ได้มีการสาปแช่งเผาพริกเผาเกลือกลุ่มคนที่กระทำการดังกล่าว หว่างนั้นมีการบกธงและอ่านคำประกาศสดุดีเนื่องในวันครบรอบสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยครบ 48 ปี โดยมีใจความดังต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวนาไทยในอดีตมีมาหลายยุคหลายสมัย นับตั้งแต่ กบฏผู้มีบุญ กบฏคูซอด การเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไท ขบวนการสันติภาพ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนกระทั่ง มีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 การลุกขึ้นสู้ของ “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ภายใต้คำขวัญว่า “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” และ “กฎหมายต้องเป็นธรรม” นับเป็นคุณูปการครั้งสำคัญที่สามารถปลุกจิตสำนึกการต่อสู้ และรวบรวมพลังชาวนาชาวไร่ผู้ทุกข์ยากได้อย่างมีเอกภาพ

การลุกขึ้นสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่มีความเชื่อมโยงกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นักศึกษาเสรี พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้สร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐและทุน เนื่องจากสหพันธ์ชาวนาได้ก่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ขูดรีดชาวนาชาวไร่ และการรวมศูนย์อำนาจในที่ดิน จากการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ ๒๕๑๗ และพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ อันเป็นชนวนแห่งการเผชิญหน้ากับกลุ่มเจ้าที่ดินรายใหญ่ กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและนายทุนท้องถิ่น


บรรพบุรุษเรา ประชาชน ชาวนา ชาวไร่ กลุ่มก้อนของการรวมตัวกัน เป็นผลผลิตที่เกิดจากความไม่ยุติธรรมในการจัดการที่ดิน ทรัพยากร และปัจจัยการผลิต จนมาถึงคุณภาพในชีวิตของชาวนาประชาชน ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมอยู่เสมอมา เพียงเพราะเราจน เราจนอำนาจในการต่อรอง เราจนในทรัพยากรที่เรามี หากแต่เรายังมีหัวใจและสองมือ ที่ไม่ได้ใช้แค่ในการหว่านไถ  ใช้แรงงานในการเพาะปลูกบนผืนดิน  แต่เรายังมีไว้เพื่อแผ้วถาง แผ้วถางทางต่อสู้แก่ชาวนาประชาชน

เราบุกรุกเขาไปในพื้นที่ของความแห้งแล้งในหัวใจของผู้กดขี่  เราหว่านไถ่สร้างความชุ่มชื่นในรอยแตกอันแห้งผากในหัวใจด้วยความเป็นธรรมที่มองเห็นเรา เราที่เป็นมนุษย์ ที่มีลมหายใจ มีหยาดเหงื่อและมีประวัติศาสตร์ เราขยับเข้าไปสู่ใจกลางของการกดขี่เอาเปรียบ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ ในการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ดูถูก เหยียดหยาม ในนามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกชาวนากว่า 1 ล้าน 5 แสนคน จากประชากรไทย 30 ล้านคน  เมื่อ45 ปีที่แล้ว และก่อนหน้านั้น จน ณ ตอนนี้

ตอนนี้ ที่ปัจจัยการผลิต ที่ดิน ทรัพย์สิน และอำนาจ ถูกกระจุกอยู่ที่ชนชั้นนำส่วนเล็กของสังคม มีประชากรราว 22 เปอร์เซ็นท์เท่านั้นที่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ส่วนที่เหลืออีก 53 ล้านคน เข้าไม่ถึงและไม่มีความมั่นคงในที่ดินนั้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลจากงานวิจัย ของอาจารย์ดวงมณี ที่เป็น การจุดเทียน ภายใต้ความมืดมิดของข้อมูลกรรมสิททิ์ในที่ดิน ที่แสดงถึงขนาดของช่องว่างข้อมูล ที่ไม่เท่ากัน ไร้ทิศทางในการกำกับดูแลทำให้ความมั่งคั่ง ถูกถ่างออกอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน  การรุกคืบของความเหลื่อมล้ำกระจายตัวกัดกินคนตัวเล็กตัวน้อย ริดรอนสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย  ผลักภาระในการดูแลคุณภาพชีวิตสู่การแบกรับของผู้ตกหล่นทางการพัฒนา ที่ต้องมีค่าครองชีพ ทรัพย์สิน กรรมสิทธ์ที่ดิน และคุณภาพชีวิต ในสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่เป็นธรรม ความเป็นธรรมที่เป็นของประชาชน ความเป็นธรรม ที่ทุกคนมีสิทธิและมีส่วนร่วม ที่จะกำหนดอนาคต และชีวิตของตนเอง ความเป็นธรรมที่จะมีที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัย และเพาะปลูกตามแต่วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่ปราถนา ความเป็นธรรมที่จะกำหนดเจตจำนง ทางนโยบายของรัฐสู่การปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับการอยู่ร่วมกัน อย่างปลอดภัยและยั่งยืน รวมถึงการออกกฏหมาย ที่จะต้องมาจากประชาชนและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ ในรูปแบบของความเจริญ สวยงามของตัวเลข ที่กดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของเรา   

ภาพ: วรรณพร หุตะโกวิท

จากความตายของสหพันธ์ชาวนาจนถึงชาวนาร่วมสมัย แม้จะต่างบริบทต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เราไม่อาจหลงลืมความทรงจำ ความตาย และการสูญเสีย เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในอดีต แต่เราสามารถเก็บรับบทเรียนมุ่งสู่อนาคต ดังวาทะจากผู้นำสหพันธ์ชาวนาฯ ๓ ท่าน ที่เสียสละชีวิต ได้ให้คำชี้แนะอันเป็นประโยชน์ไว้แก่พวกเรา กล่าวคือ ใช่ วังตะกู ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คนแรก กล่าวไว้ว่า “เราจะชนะศัตรูได้ ก็ต้องอาศัยมวลชนพี่น้องชาวนาชาวไร่ที่ถูกกดขี่ และเพื่อนมนุษย์ที่รักความเป็นธรรมเท่านั้น”

อินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ กล่าวว่า “คุณเชื่อเถอะว่า ตราบใดที่รัฐบาลชุดทุนนิยมยังอยู่ เราไม่มีทางจะได้อยู่ดีกินดี ถ้าอำนาจรัฐไม่ได้อยู่ในมือเรา ก็ยังจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้” 


ในช่วงสุดท้าย จำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ได้เขียนคำประกาศในหนังสือทางเดินของชาวนาไทย เอาไว้ว่า “การจัดตั้งและการพัฒนาสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ท่ามกลางพายุแห่งการปราบปราม เป็นเครื่องแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า บัดนี้ ชาวนาไทยได้ตัดสินใจลุกขึ้นสู้แล้ว ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ไทยใหม่ขึ้นมา นี่คือการเริ่มต้นครั้งใหญ่ของชาวนาไทย

ระหว่างนั้นมีการตีกลองสะบัดชัยซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านของภูมิภาคภาคเหนือ ที่แสดงถึงชัยชนะ พร้อมกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ

1.โค่นล้มเผด็จการทุกรูปแบบ

2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ

3.สร้างประชาธิปไตย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง