หมาเก้าหางในตำนานล้านนา (และไท-ลาว)

ภาพ: เดลินิวส์

เมื่อเร็ว ๆ มานี้ ได้มีการติดตั้งรูปปั้น นางพญาจิ้งจอกเก้าหาง ไว้ที่บริเวณสี่แยกฟอร์จูน ถนนพระรามเก้า ใจกลางกรุงเทพมหานคร ใกล้กับที่ตั้งของรูปเคารพต่าง ๆ โดยเฉพาะ ครูกายแก้ว ซึ่งเคยเป็นประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้ผู้คน (เข้าใจว่าโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน) ได้เข้ามากราบไหว้บูชา โดยอธิบายกันว่านางพญาจิ้งจอกเก้าหางตนนี้ มีความศักดิ์สิทธิ์ทางด้านมหาเสน่ห์และมหานิยม ดึงดูดความรัก ความเมตตา และโชคลาภเงินทอง

ผู้เขียนได้พินิจรูปปั้นนางพญาจิ้งจอกดังกล่าวผ่านภาพถ่าย เห็นว่าน่าจะเป็นจิ้งจอกเก้าหางตามคติจีน ซึ่งจิ้งจอกเก้าหางนั้นเป็นสัตว์ในตำนานที่เล่าขานกันตั้งแต่อดีต สมัยรณรัฐ (战国时代) หรือเมื่อกว่าสองพันปีก่อน โดยทั่วไปกล่าวกันว่าเป็นปีศาจสุนัขจิ้งจอกที่มีอิทธิฤทธิ์ กินมนุษย์เป็นอาหาร และสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ จึงมักแปลงกายเป็นสาวงามมาหลอกล่อบุรุษให้หลงใหล เพื่อกลั่นแกล้งหรือล่าบุรุษเป็นอาหาร 

จิ้งจอกเก้าหางปรากฏในตำนานจีนหลายเรื่อง ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นจิ้งจอกเก้าหางในเรื่อง “ห้องสิน” ซึ่งวางบทให้จิ้งจอกเก้าหางเป็นข้ารับใช้ของพระแม่ซีเทียนหวังหมู่ หรือพระแม่บรรพกาลแห่งทิศประจิม ในนิยายเรื่องนี้ จิ้งจอกเก้าหางรับบัญชาจากพระแม่ มาลงโทษทรราชย์โจ้วหวังแห่งราชวงศ์ซาง โดยการแปลงตัวเป็นสนมคนงามหลอกล่อโจ้วหวังให้ลุ่มหลงในกาม จนละเลยราชกิจ นำพาแผ่นดินซางให้ถึงแก่ความพินาศ ดังนั้นคงจะไม่ผิดหากจะสรุปว่า จิ้งจอกเก้าหางนั้นเป็นสัตว์ปีศาจประเภทหนึ่งของจีน มักจะให้โทษกับมนุษย์ คล้าย ๆ กับ เสือสมิง ตามความเชื่อของไทยสยามในภาคกลาง เพียงแต่เปลี่ยนเป็นจิ้งจอกสมิงเท่านั้นเอง

ตำนานจิ้งจอกเก้าหางทำนองนี้ ยังพบได้ทั่วเอเชียตะวันออกทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยของโลกมาก เรื่องของจิ้งจอกเก้าหางจึงเป็นที่รู้จักอยู่บ้างในสังคมไทยผ่านสื่อต่าง ๆ จนมาเกิดเป็นรูปเคารพดังที่เป็นข่าว ทำให้ผู้เขียนพานนึกขึ้นมาได้ว่า ในจักรวาลตำนานของคนไท-ลาวในลุ่มน้ำโขง ก็ปรากฏสิ่งมีชีวิตที่มีรูปพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกันอยู่ด้วย นั่นคือ หมาเก้าหาง ซึ่งต้องเน้นย้ำว่ามีหน้าตาเป็นหมาทั่ว ๆ ไปที่มีเก้าหาง มิใช่จิ้งจอกเหมือนอย่างในเอเชียตะวันออกแต่อย่างใด

ภาพ: ถ้ำขาม ภูซำผักหนาม บ้านวังน้ำอุ่น ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

หมาเก้าหางที่ปรากฏในตำนานของคนไท-ลาวนั้น ไม่ได้เป็นปีศาจที่ทำร้ายให้โทษมนุษย์เหมือนอย่างในตำนานทางจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่เป็นสัตว์วิเศษชนิดหนึ่งที่ออกจะให้คุณกับมนุษย์มากกว่า มักถูกวางบทให้มีนิสัยจงรักภักดี กล้าหาญ เฉลียวฉลาด และช่วยเหลือมนุษย์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามอย่างภาพจำเกี่ยวกับนิสัยและคุณสมบัติของหมาในความคิดของคนไท-ลาวโดยทั่วไป และยังเชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของหมาหางเดียวที่พบได้ในชีวิตจริงอีกด้วย

ในตำนานการก่อกำเนิดโลกของชาวจ้วงในมณฑลกวางซี กล่าวถึงหมาเก้าหางไว้ว่า แต่ไหนแต่ไรมา คนยังไม่รู้จักวิธีการเพาะปลูกข้าว จึงได้แต่ยังชีพด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ โดยมีหมาเป็นเพื่อน ซึ่งในสมัยนั้นหมายังมีหางถึงเก้าหาง เมื่อสัตว์ที่จะล่าเป็นอาหารนั้นร่อยหรอลงไปทุกที คนจึงได้สั่งให้หมาขึ้นไปขโมยเอาพันธุ์ข้าวจากเมืองฟ้าของ “ตัวฟ้า” หรือที่คนลาวล้านช้างเรียกว่า “แถน” มาให้คนได้เพาะปลูก เมื่อหมาเดินทางขึ้นไปถึงเมืองฟ้า แล้วจึงได้ตวัดหางลงไปในกองข้าวเปลือกให้เมล็ดข้าวติดหางทั้งเก้าของตน แล้วรีบลงมายังเมืองมนุษย์ 

ตัวฟ้าได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็บันดาลโทสะ ขว้างขวานไปเพื่อจะสังหารหมาเก้าหาง แต่ขวานที่ตัวฟ้าขว้างไปนั้นไม่โดนตัวหมาเก้าหาง แต่หางขาดไปเท่านั้น ตัวฟ้าขว้างขวานไปแปดครั้ง ถูกหางหมาขาดไปแปดหาง หมาเก้าหางจึงเหลือเพียงหางเดียวแต่นั้นมา หมาเก้าหางสามารถเอาชีวิตรอดจากเมืองฟ้ากลับมาถึงเมืองคนได้ คนจึงนำเมล็ดข้าวที่ติดอยู่กับหางของหมานั้นมาเพาะปลูกทำกินแต่นั้นมา 

ตำนานนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์ตามศาสนาดั้งเดิม ของคนไท-ลาว (หรือที่เรียกว่าศาสนาผี) และเป็นเรื่องที่ใช้ขับอ่านในพิธีกรรมตามศาสนาดังกล่าว เรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ ยังเป็นที่เล่าขานกันในกลุ่มคนไท-ลาวทางตะวันออกของลุ่มน้ำโขง เช่น คนลาวล้านช้าง คนไทดำ ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าในความทรงจำของคนไท-ลาว หมาเป็นสัตว์เลี้ยงของคนมายาวนาน และการรู้จักเลี้ยงหมา (Canine domestication) ยังเป็นก้าวสำคัญในพัฒนาการเทคโนโลยียุคแรกเริ่มของคนไท-ลาว ซึ่งจะเกี่ยวกันกับการรู้จักทำการเกษตรและเพาะปลูกข้าวในเวลาต่อมา

ในส่วนของคนไท-ลาวในทางตะวันตกของลุ่มน้ำโขง เช่น คนไทยวนล้านนา คนไทลื้อสิบสองปันนา คนไทเขินเชียงตุง มาจนถึงคนไทยสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น แต่เดิมก็คงนับถือศาสนาดั้งเดิมเหมือนคนไท-ลาวทางตะวันออก และน่าจะมีตำนาน มหากาพย์ และนิทานต่าง ๆ เหมือนกัน แต่เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับรัฐแบบอินเดีย (Indianized states) ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางทิศใต้และทิศตะวันตก เช่น ละโว้ พุกาม หงสาวดี หริภุญชัย ฯลฯ จึงได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธมากกว่า ตำนาน มหากาพย์ และนิทานแบบดั้งเดิมจึงมักถูกเรียบเรียงใหม่ให้สอดคล้องกับแนวเรื่องเล่าแบบพุทธโดยการ “จับบวช” หรือแปลงเรื่องให้เป็นนิทานชาดกหรือที่เรียกว่าชาดกนอกนิบาต สำหรับตำนานหมาเก้าหาง ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นนิทานเรื่อง สุพรหมโมกขา ซึ่งเป็นธรรมตำนานหรือนิทานธรรมเรื่องหนึ่งที่ยังคงได้รับความนิยมในล้านนาปัจจุบัน

เรื่องของ สุพรหมโมกขา มีอยู่ว่าครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นคนยากจน ชื่อว่า สุพรหมโมกขา อาศัยอยู่ในเมืองตุตระนครกับพ่อซึ่งเป็นขอทาน มีหมาเก้าหางตัวหนึ่งเป็นเพื่อนสนิท ต่อมาพ่อของสุพรหมโมกขาได้ล้มป่วยและตายลง ก่อนตายได้สั่งเสียให้สุพรหมโมกขาให้ฝังร่างไว้ที่ปลายนา  พระอินทร์เห็นแก่บุญกุศลของสุพรหมโมกขาจึงได้สั่งให้นางฟ้ารูปงามนางหนึ่งชื่อ นางไข่ฟ้า ลงมาแอบอาศัยในกะโหลกของพ่อที่ฝังไว้ 

เมื่อลับตาคน นางไข่ฟ้าจะออกมาทำไร่ไถนาและดูแลบ้านเรือนตลอดจนหุงหาอาหารไว้ให้สุพรหมโมกขาโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ พืชผลในไร่นาของสุพรหมโมกขาจึงงอกงามดีเป็นพิเศษ ต่อมาสุพรหมโมกขาจับได้ว่านางไข่ฟ้าคอยปรนนิบัติช่วยเหลือตนอยู่ จึงได้อยู่กินกันเป็นสามีภรรยา ต่อมาความงามของนางไข่ฟ้าเป็นที่เลื่องลือไปถึงหูของราชาผู้ครองเมือง เป็นเหตุให้ราชาผู้นั้นบังเกิดกิเลสตัณหาอยากได้ตัวนางไข่ฟ้ามาเป็นสนม จึงออกอุบายท้าสุพรหมโมกขาให้มาชนไก่ ชนวัว และชนช้าง ตลอดจนสั่งให้สุพรหมโมกขาทำภารกิจพิสดารให้สำเร็จ เช่น กินแกงหมื่นหม้อให้หมดภายในหนึ่งคืน แต่ก็สุพรหมโมกขาก็เป็นฝ่ายชนะการท้าทายและสามารถทำภารกิจต่าง ๆ ให้ลุล่วงได้ตลอด 

พระราชายังไม่ลดละความอยากได้นางไข่ฟ้า จึงสั่งให้สุพรหมโมกขาไปเก็บดอกบัวจากเมืองบาดาลของพญานาค แต่ด้วยคำแนะนำของนางไข่ฟ้า สุพรหมโมกขาก็สามารถผขญภัยออกไปเก็บดอกบัวดังกล่าวมาได้สำเร็จ ซ้ำยังได้ลูกสาวของพญานาค พญายักษ์ และพญามดง่ามที่ได้พบระหว่างการผจญภัยมาเป็นเมียเพิ่มด้วย ชาวเมืองตุตตระนครจึงมีความนิยมชมชอบในตัวสุพรหมโมกขามาก

ราชาแห่งตุตระนครแค้นใจสุพรหมโมกขา มอบกลองหนึ่งลูกเป็นของขวัญแก่สุพรหมโมกขานำกลับบ้าน แต่ให้เสนาผู้หนึ่งซ่อนอยู่ในกลองนั้นเพื่อแอบฟังความลับของสุพรหมโมกขา พบว่าสุพรหมโมกขามีจุดอ่อนคือ ห้ามกินอาหารสี่อย่าง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเมียทั้งสี่ คือ ไข่ (นางไข่ฟ้า) ไข่มด (นางมดง่าม) เนื้องู (นางนาค) และเนื้อหัวใจยักษ์ (นางยักษ์) ราชาจึงแสร้งเชิญสุพรหมโมกขามากินเลี้ยงโดยนำนำอาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบเหล่านั้นมาให้สุพรหมโมกขากิน เมื่อสุพรหมโมกขาเผลอกินไป เมียทั้งสี่ที่อยู่บ้านก็เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างหนัก เพราะผัวได้กินสิ่งที่เป็นเหมือนเลือดเนื้อของเมียเข้าไป จึงได้หลบลี้หลีกหนีจากตุตระนครกลับไปยังบ้านเดิมของตน ก่อนที่นางไข่ฟ้าจะออกจากบ้านไปนั้น ได้สั่งความไว้กับหมาเก้าหางพร้อมทั้งทิ้งแหวนไว้ดูต่างหน้าวงหนึ่ง 

เมื่อสุพรหมโมกขารู้เรื่องจากหมาเก้าหาง จึงได้ออกไปตามหานางไข่ฟ้าพร้อมกับหมาเก้าหาง เมื่อดั้นด้นไปถึงแม่น้ำสายหนึ่ง หมาเก้าหางได้ว่ายน้ำพาสุพรหมโมกขาข้ามแม่น้ำ โดยให้สุพรหมโมกขาจับหางไว้ แต่มีเงื่อนไขว่าหากหมาเก้าหางตด ห้ามหัวเราะ แต่เมื่อหมาเก้าหางตดออกมา สุพรหมโมกขาเผลอหัวเราะ หางของหมาเก้าหางจึงค่อย ๆ ขาดไปเหลือหางเดียว เมื่อถึงอีกฝั่งแม่น้ำแล้ว หมาเก้าหางก็ขาดใจตาย สุพรหมโมกขาจึงต้องเดินทางต่อเพียงลำพังจนพบกับนางไข่ฟ้าที่เมืองอุททุมมัททุวดี และก็ได้อยู่กินกับนางไข่ฟ้าที่นั่นเรื่อยมา 

กระทั่งวันหนึ่ง สุพรหมโมกขากับนางไข่ฟ้าตัดสินใจเดินทางกลับมายังเมืองตุตระนครพร้อมกับเสนาอำมาตย์ที่ราชาเมืองอุททุมมัททุวะดีแต่งตั้งให้ ราชาแห่งเมืองตุตระนครรู้ข่าว จึงนำกองทัพออกมาปราบ หมายจะฆ่าสุพรหมโมกขาให้ตาย แต่เมื่อเกิดการสู้รบกันนั้น กลับกลายเป็นว่าราชาแห่งเมืองตุตระนครถูกสังหาร ชาวเมืองจึงได้ยกเอาสุพรหมโมกขาเป็นราชาแห่งเมืองตุตระนครองค์ใหม่ ต่อมายังได้ปลอมเป็นพราหมณ์ไปสั่งสอนศีลธรรมให้กับราชาและชาวเมืองเกตุมวดี (ตองอู) หงสาวดี (รามัญ) วิเทหราช (ยูนนาน) ทันตนคร และคันทิยารัฐ และกลับมาครองเมืองตุตระนครอย่างสงบสุขจนสิ้นอายุขัย

จะเห็นได้ว่านิทานเรื่องหมาเก้าหางที่ถูกแปลงเป็นชาดกแล้วนั้น สูญสิ้นความหมายในเชิงตำนานที่กล่าวถึงพัฒนาการของมนุษยชาติตามคติศาสนาดั้งเดิมไปมาก และกลายเป็นเพียง “เพื่อนพระเอก” หรือตัวประกอบตัวหนึ่งในการผจญภัยของสุพรหมโมกขา แต่ก็ยังคงเค้าเดิมของเรื่องราวไว้บ้าง เช่นเรื่องที่หมาเก้าหางยังคงเป็นมิตรผู้ช่วยเหลือของมนุษย์ และเรื่องการสูญเสียหางแปดหางของหมาเก้าหาง จนเป็นเหตุให้หมาในปัจจุบันมีหางเพียงหางเดียว เป็นต้น เนื้อเรื่องของ สุพรหมโมกขา นับว่าอยู่ในกรอบของวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่จะต้องสรุปว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” โดยแท้ และน่าคิดว่า การผจญภัยตามภารกิจพิสดารที่ได้รับมอบหมายจากราชาผู้มักมากในกามและไม่ตั้งมั่นในธรรมของสุพรหมโมกขานั้น ชวนให้นึกถึงตำนานการผจญภัยของเฮอร์คิวลิสหรือเฮราคลีส (Heracles) วีรบุรุษในตำนานกรีกที่ต้องทำภารกิจสิบสองประการ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกษัตริย์ยูริสเธอุส (Eurystheus) ผู้ชั่วช้า คงจะเป็นเพราะว่าโครงเรื่องทำนองนี้ เป็นโครงเรื่องที่น่าติดตามและถูกใจผู้คนในโลกยุคเก่าโดยไม่จำกัดวัฒนธรรม

การแปลงหมาเก้าหางในตำนานมหากาพย์ไท-ลาว ให้เป็นหมาเก้าหางในชาดกดังกล่าว เป็นตัวอย่างของการดัดแปลงตัวละครหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อแบบดั้งเดิม ที่นิยมนับถือธรรมชาติและผีสางนางไม้ ให้เข้ากับศาสนาแบบใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนขึ้น อันที่จริงแล้ว กล่าวกันว่าจิ้งจอกเก้าหางของทางจีนนั้น แต่เดิมก็คงเป็นเทพหรือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่บูชาของบางเผ่าบางตระกูลในจีนโบราณด้วยเหมือนกัน ในกรณีของคนไท-ลาว ตำแหน่งแห่งที่ของหมาเก้าหางซึ่งมาจากศาสนาดั้งเดิมในชาดกพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาใหม่นั้นนับว่าไม่ตกต่ำลงมาก กล่าวคือยังคงเป็นตัวละครฝ่ายธรรมะที่คอยช่วยเหลือตัวเอกในเรื่อง ผิดกับกรณีของจิ้งจอกเก้าหางจีนที่กลายเป็นปีศาจที่ทำร้ายมนุษย์ อาจสะท้อนให้เห็นว่าศาสนาเก่าและศาสนาใหม่ของคนไท-ลาวนั้นมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกว่า จึงไม่ต้องมีการทำให้ตัวละครในศาสนาเก่าเป็นตัวร้ายเหมือนดังที่เกิดในกรณีของจีนแต่อย่างใด

ภาพ: ซีรีส์จีนทาสปีศาจ The Blue Whisper (MONO MAX)

ในส่วนของรูปเคารพนางพญาจิ้งจอกเก้าหาง ที่กล่าวถึงต้นบทความนั้น ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นเสรีภาพทางความเชื่อที่ทุกคนจะนับถือสิ่งใดก็ได้ และกล่าวให้ถึงที่สุด ความเชื่อก็เป็นเพียงเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่มนุษย์เลือกจะเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ก็เป็นเพียงตัวละครในจักรวาลเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเราจะสามารถเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หากเราทำความเข้าใจจักรวาลเรื่องเล่าที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นดำรงอยู่ด้วย และก็คงจะสนุกขึ้นไปอีกหากได้ทราบว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อถือกันอยู่นั้น มีที่มาอย่างไหน และรอบข้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงเหล่านั้น มีจักรวาลเรื่องเล่าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นตั้งอยู่เคียงข้างอย่างไร ในเมื่อคนไทยเลือกจะนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แปลก ๆ กันมากจนถึงขั้นนับถือปีศาจจิ้งจอกของจีนแล้ว เผื่อวันหน้าวันหนึ่ง จะลองหันมานับถือหมาเก้าหางแบบไท-ลาวดั้งเดิมดูบ้างก็ได้

ท้ายที่สุด ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นชาวพุทธ คงต้องขอลงท้ายบทความนี้ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า

“มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า อารามและรุกขเจดีย์ว่าเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแล ไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแล เป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้” (คาถาธรรมบท พุทธวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๒๔/๒๘)

รายการอ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง