18 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย วัย 30 ปี ผู้ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์
ย้อนไปวันที่ 26 มกราคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษา เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดในจำนวน 14 ข้อความ และยกฟ้องอีก 13 ข้อความ ในกรณีข้อความที่เกี่ยวกับอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 หรือข้อความที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ว่าโพสต์หมายถึงบุคคลใด และบางโพสต์แม้จะมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่ศาลก็เห็นว่าไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112
ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี ทั้งหมด 14 กระทง รวมโทษจำคุก 28 ปี โดยจำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์คดี และอัยการโจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์เช่นกัน โดยขอให้ลงโทษในกระทงที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องทั้งหมด โดยทราบในภายหลังว่าศาลได้ส่งหมายแจ้งการยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านซึ่งจำเลยไม่ได้อาศัยอยู่ ทำให้ไม่เห็นหมายแจ้งอุทธรณ์ของโจทก์
วันนี้ บัสบาส พร้อมเพื่อนและครอบครัว เดินทางมาฟังคำพิพากษา ปรากฏว่าลิฟท์ของศาลจังหวัดเชียงรายเสีย ทำให้พ่อและแม่ของมงคล ซึ่งอายุมากแล้ว ไม่สามารถเดินขึ้นบันไดไปฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาในชั้น 4 ได้ ต้องรออยู่ด้านล่าง
ศาลจังหวัดเชียงรายเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยสรุปศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยในประเด็นอุทธรณ์ของจำเลย โดยเห็นว่าศาลไม่อาจยึดถือตามคำยืนยันของจำเลย หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการทางกฎหมายที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยนำเข้าสืบเป็นหลักในการวินิจฉัย แต่ต้องรับฟังและพิจารณาความคิดเห็นนั้นประกอบการวินิจฉัยชี้ขาด
การกระทำของจำเลยในส่วนของการโพสต์ 14 ข้อความ ดังกล่าว ศาลเห็นว่าสามารถใช้ความรู้สึกและเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปก็เข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาอย่างไร จำเลยย่อมทราบดีว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ประชาชนไทยให้ความเคารพสักการะทรงเป็นประมุขของประเทศ บุคคลผู้ให้ความเคารพสักการะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่กระทำการอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์
การที่จำเลยใช้ถ้อยคำที่จำเลยเองก็ยอมรับว่าหยาบคายลงในเฟซบุ๊ก ลงภาพการทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เสียหาย หรือภาพล้อเลียนรูปพระพักตร์ หรือภาพที่แสดงถึงความไม่เคารพ วิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความเกลียดชังต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อเกียรติยศ ไม่อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ หรือเป็นการล้อเลียนเชิงวิพากษ์ และไม่อาจเข้าใจว่าจะไม่ได้ทำให้พระมหากษัตริย์เสียหาย ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าโพสต์ทั้ง 14 ข้อความ เป็นความผิดตามฟ้องของโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนในประเด็นอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าความผิดตามมาตรา 112 นั้นต้องเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินีในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น โดยข้อความ 9 โพสต์ของจำเลย เป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 จึงขาดองค์ประกอบความผิด
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 6374/2556 วางหลักของความผิดตามมาตรา 112 พระมหากษัตริย์มิได้หมายความเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว หรือมิได้ทรงครองราชย์ต่อไปแล้วด้วย ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 9 โพสต์ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ด้วย
ส่วนโพสต์ข้อความอีก 2 โพสต์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อเข้าใจโดยชัดแจ้งว่าจำเลยได้กล่าวว่าองค์พระมหากษัตริย์ให้เสียหาย จึงเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง
แต่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโพสต์อีก 2 ข้อความ ที่เห็นว่ามิได้สื่อความหมายให้ผู้อ่านมีความรู้สึกดูหมิ่น หรือเกลียดชังพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดในอีก 11 กระทง ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลงหนึ่งในสาม เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 28 ปี ในอีก 14 กระทงก่อนหน้านี้ รวมเป็นโทษจำคุกรวม 50 ปี
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงนามโดย มโน เทอดจิตธรรม, ศรชัย วรานิชสกุล และ นพคุณ ไชยเทพ
หลังฟังคำพิพากษา มงคลได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล และทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างฎีกา
ต่อมา เวลาประมาณ 11.50 น. ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ ทำให้ในวันนี้ มงคลจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายเพื่อรอฟังคำสั่งประกันตัวต่อไป
ทั้งนี้ โทษจำคุกของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีนี้ นับได้ว่าเป็นคดีมาตรา 112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเท่าที่ทราบข้อมูลก่อนหน้านี้ คดีที่ถูกลงโทษจำคุกสูงที่สุด คือ คดีของ “อัญชัญ” ศาลอาญาลงโทษจำคุกรวม 87 ปี จากการเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน จำนวน 29 กรรม โดยเธอให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน (คิดเป็นประมาณ 43 ปี 6 เดือน) โทษจำคุกที่ถูกลดหย่อนแล้วในกรณีของบัสบาส จึงสูงกว่าคดีของอัญชัญ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...