‘การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ เป็นปัญหาหลักที่ถูกหลายคนมองว่าเป็น ‘ต้นตอของฝุ่น PM 2.5’ รัฐบาลไทยมีคำสั่งห้ามเกษตรกรเผาพื้นที่เกษตร แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้มีมาตรการใดเพื่อรองรับการทำเกษตรของพวกเขา ชนกนันทน์ นันตะวัน นักวิชาการที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ ตัวแทนภาคประชาชน ชวนเปิดมุมมองเรื่องผลกระทบของมลพิษในภาคเหนือและมลพิษข้ามพรมแดน เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่แถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยกล่าวว่านโยบายที่ดำเนินการมากว่า 5 ปีสามารถควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศได้และทำให้การท่องเที่ยวยังคงดำเนินไปตามปกติ จากประเด็นนี้ ทำให้ชนกนันทน์ตั้งคำถามว่า เชียงใหม่สามารถควบคุมปัญหามลพิษได้แล้วจริงหรือ? เพราะจากการศึกษาข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าคุณภาพอากาศในเชียงใหม่ช่วงมกราคม-เมษายน ยังถือว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะในช่วงมีนาคม-เมษายน ที่ค่า PM 2.5 พุ่งสูงถึงระดับสีแดงและม่วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง
ชนกนันทน์เล่าว่า จากที่ได้ศึกษาปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยการเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง ตั้งแต่ช่วงเก็บเกี่ยว การเตรียมแปลงเพาะปลูก และช่วงเผาพืชไร่ พบว่าหนึ่งในปัจจัยที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นคือ ‘การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ ซึ่งในความเป็นจริงการเผาไร่ข้าวโพดเป็นเพียงหนึ่งในหลายสาเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศเท่านั้น
การเพิ่มขึ้นของไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน
ข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยกรีนพีซศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในรายงาน ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563 ระบุว่า ในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือของสปป.ลาว
ผลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในรายงานดังกล่าวข้างต้น ยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่า จุดความร้อน (Hot Spot) ที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือกล่าวได้ว่าการขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแถบภาคเหนือของ สปป.ลาว และรัฐฉาน มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM2.5
ชนกนันท์มองว่า แม้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในไทยจะไม่ขยายตัวไปมากกว่านี้ แต่เกษตรกรยังคงพยายามขยายพื้นที่เพาะปลูก เพราะข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งด้านสินเชื่อ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมี นอกจากนี้ เกษตรกรบางส่วนยังเปลี่ยนจากการปลูกพืชชนิดอื่นมาปลูกข้าวโพดแทน เนื่องจากพืชบางชนิดให้ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวตามสถานการณ์ของเกษตรกร
ประกาศห้ามเผา แต่ไร้มาตรการรองรับ ช่องโหว่การแก้ปัญหาของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เครือเจริญโภคภัณฑ์เดินหน้าปฏิบัติการ ตัดต้นตอ PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยประกาศ ‘ไม่รับซื้อ-ไม่นำเข้า’ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่เผาและรุกป่า พร้อมผลักดันระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Corn Traceability) สกัดข้าวโพดที่มาจากพื้นที่บุกรุกป่าและแปลงเผาทั่วประเทศ รวมถึงในประเทศเมียนมาตั้งเป้า ‘หยุดไฟ หยุดฝุ่น’ ที่ต้นเหตุ พร้อมจับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือแนวทางกำจัดปัญหาหมอกควันไฟป่าในภาคเหนือ
จากกรณีดังกล่าวชนกนันทน์ได้อธิบายว่า ในความเป็นจริง การตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพดนั้นยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ไม่ได้ลงทะเบียน อีกทั้งในกระบวนการปลูกก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าแต่ละแปลงใช้เมล็ดจากที่ไหน สุดท้ายแล้วข้าวโพดจากหลายแปลงก็จะถูกนำมารวมกันที่ล้งก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตอยู่ดี ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าข้าวโพดเหล่านั้นมาจากแหล่งที่มีการเผาหรือไม่
“สุดท้ายแล้วก็ยังคงเห็นการเก็บเกี่ยวรวมกัน เห็นพื้นที่เศษซากของการเผาในพื้นที่แปลงข้าวโพด เราพยายามหาพื้นที่ที่ไม่มีการเผา แต่มันก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะในการปรับหน้าดินหรือการกำจัดเศษซากชีวมวลจากอุตสาหกรรมที่ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้มีรายได้เยอะ มันคือการเผา”
ชนกนันทน์เล่าว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีต้นทุนจำกัด ทำให้การเผาเป็นทางเลือกไม่กี่ทางที่พวกเขาสามารถใช้ได้ในการจัดการพื้นที่เกษตร เมื่อภาครัฐสั่งห้ามเผา แต่ไม่มีมาตรการรองรับอื่นๆ เกษตรกรจึงไม่รู้ว่าควรใช้วิธีไหนแทน ส่งผลให้มาตรการนี้ไม่สามารถยุติการเผาได้จริง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเองก็ไม่ได้ปฏิเสธการใช้วิธีการที่ดีขึ้น แต่พวกเขาต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น
“เกษตรกรเองก็ไม่ได้ปฎิเสธวิธีการรูปแบบอื่น เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้มีมาตรการใดมารองรับหรือช่วยเหลือพวกเขานอกจากการห้ามเผาเลย ไม่ได้มีวิธีการปฎิบัติ หรือแนวทางการดำเนินงานต่อ นอกจากคำสั่งห้ามเผาเท่านั้น”
ความท้าทายของเกษตรกรรมภาคเหนือ
ชนกนันทน์ลงพื้นที่สัมภาษณ์กลุ่มเกษตรภาคเหนือและได้พบว่า นอกจากปัญหาการเผาพื้นที่เกษตรแล้ว เกษตรกรไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการทำเกษตรกรรมอีก 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม: การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น ฝนตกไม่ตรงฤดูกาลและอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้การทำเกษตรเป็นเรื่องยากขึ้น เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิต แต่การใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ นอกจากนี้ ปัญหาไมโครพลาสติกในดินยังอาจส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตและสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว
2.ผลกระทบต่อสุขภาพ: สารเคมีที่ใช้ในแปลงเกษตรส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรโดยตรง หลายคนเผชิญกับอาการแพ้เรื้อรัง และเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เนื่องจากการสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานาน ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดแค่ตัวเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังอาจกระทบไปถึงผู้บริโภคที่รับสารตกค้างผ่านอาหารที่ผลิตจากพื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้
3.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: แม้ว่าภาคเกษตรกรรมจะเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับความยากจนและหนี้สิน ต้นทุนการผลิตที่สูงและราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นจากภาระหนี้สินและยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ แม้จะมีมาตรการประกันราคาพืชผล แต่เกษตรกรยังคงได้รับราคาที่ต่ำกว่าที่ประกาศ ทำให้พวกเขาไม่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม
4.ผลกระทบทางสังคม: การเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมส่งผลให้เกษตรกรเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับเพาะปลูก นอกจากนี้ การสูญเสียพื้นที่ป่ายังทำให้ดินเสื่อมโทรมและเพิ่มความเสี่ยงต่อดินถล่มและดินสไลด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของชุมชนและผลผลิตทางการเกษตร
อีกหนึ่งปัญหาคือแรงงานภาคเกษตร คนรุ่นใหม่เริ่มหันไปทำงานในเมืองมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานในภาคเกษตรลดลง และต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติแทน อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านการจัดการที่ดินก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญ เกษตรกรหลายรายไม่มีสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง ทำให้ไม่สามารถวางแผนและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ชนกนันทน์มองว่า ปัญหาฝุ่นไม่ได้เกิดจากเกษตรกรเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นผลจากโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรทั้งหมด บริษัทผู้รับซื้อผลผลิตควรมีมาตรการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพดให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ รัฐบาลควรมีนโยบายแก้ปัญหาที่มุ่งสนับสนุนเกษตรกรให้มีทางเลือกอื่น ในการจัดการเศษพืชหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดการเผาได้อย่างแท้จริง และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ใช่เพียงแค่การออกกฎหมายหรือคำสั่ง แต่ต้องมีกลยุทธ์ที่ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และชุมชน เพื่อหาวิธีการแก้ไขที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น
“ปัญหาที่เกษตรกรภาคเหนือต้องเผชิญเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย การแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และตัวเกษตรกรเอง หากมีมาตรการที่เหมาะสมและยั่งยืน ก็จะสามารถช่วยให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพของตนเองได้ พร้อมทั้งสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว”
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เรียบเรียงจาก วงเสวนา PM2.5 จากท้องถิ่นถึงประเทศไทย โดย ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ, วิชชากร นวลฝั้น, ชนกนันทน์ นันตะวัน, ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์, กรกนก วัฒนภูมิ, วัชลาวลี คำบุญเรือง และรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุม 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...