เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานการชี้แจงของ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับภาพรวมการบริหารสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน โดย นิรัตน์ ได้ชี้แจงว่าตนได้นำเรียนนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์ของ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา สองเดือนแรกที่เน้นไปที่ในพื้นที่เกษตร ทำได้เกือบ 100% ที่ไม่ให้เกิดการเผาเลย
ส่วนในเดือนมีนาคม ได้รายงานนายกรัฐมนตรีไปว่าพื้นที่ท้าทายจะถูกเปลี่ยนเป็นป่า ซึ่ง จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ป่า ทุกประเภทอยู่ถึง 90% เกือบ 12 ล้านไร่ มากที่สุดในประเทศไทย ทำให้เกิดจุดความร้อนในป่ามากขึ้น จึงใช้วิธีดับให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดควันสะสม โดย นิรัตน์ ชี้แจงว่าสามารถทำให้พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ลดลงถึง 70% ทำให้ไม่เกิดการสะสมของกลุ่มควันภายในประเทศ ซ้ำเติมกับฝุ่นที่มาจากเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ นิรัตน์ ยังได้ชี้แจงกำหนดการในช่วงกลางเดือนมีนาคม โดยจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในระหว่างการเสนอขอรับงบกลางจากรัฐบาล โดยอยู่ในชั้นตอนสำนักงบประมาณ เพื่อการจ้างผู้ดูแลช่องทางการเข้าถึงป่า รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกดับไฟป่า ช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของประเด็นความโปร่งใส นิรัตน์ ชี้แจงว่าเนื่องจากงบประมาณยังมาไม่ถึงจังหวัด ยังไม่มีเงินให้ใช้ การทุจริตจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่นอน โดยแนะว่าอย่าเพิ่งถามหาความโปร่งใสหรือทุรจิตใด ๆ
งบกลางของรัฐบาลในการสนับสนุนการดูแลผืนป่าดังกล่าว รัฐบาลเคยอนุมัติงบแก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อจัดสรรให้กรมต่างๆ เช่น กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ฯ จ้างคนที่มีอาชีพหาของป่าที่มีความชำนาญเข้ามาเป็นพนักงานรักษาป่ากว่า 2,000 คน โดยที่ นิรัตน์ กล่าวว่าตนกำลังปรึกษากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติในการของบกลางดังกล่าว คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้
ส่วนเรื่องการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติจากสถานการณ์ฝุ่น และข้อเรียกร้องงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิง นิรัตน์ ระบุว่า หากใครคุ้นเคยจากสถานการณ์น้ำท่วมขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องประกาศภัยพิบัติ คือสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นสถานการณ์ขนาดใหญ่ และระเบียบเงินทดลองราชการ ของกระทรวงการคลัง ก็เขียนไว้ชัดว่ามีรายการที่ระบุว่าจ่ายค่าอะไรได้บ้าง แต่สำหรับภัยที่เป็นฝุ่น PM 2.5 ในระเบียบเงินทดรองราชการ กระทรวงการคลัง ไม่มีเขียนไว้ว่าจ่ายค่าอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากค่าน้ำมันรถเจ้าหน้าที่ ระเบียบเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการประกาศภัยพิบัติเพื่อสู้ฝุ่น ไม่เกิดประโยชน์ในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยราชการ จึงไม่มีความจำเป็นหรือมีน้ำหนักมากเพียงพอ หรือเป็นสิ่งจูงใจว่าเราต้องประกาศ เพื่อให้นำเงินมาใช้เพราะไม่เกิดประโยชน์อยู่แล้ว
“ภัยพิบัติสู้ฝุ่น ไม่มีบริษัทไหนมาขายของเพื่อการภัยพิบัติ วัตถุประสงค์คือตนไม่ได้ขอมาซื้อหน้ากากอนามัยใดทั้งสิ้น เรื่องเงินทอนต่างๆ ตัดไปได้เลย ตนระวังตัวและไม่อยากยุ่งกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ตั้งใจที่จะดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและอาสาสมัครที่อยู่กับเราเป็น 10,000 คน ให้เป็นกองทัพที่เดินด้วยท้อง มีอาหารให้เขากิน มีน้ำให้เขาแบกขึ้นไป มีเสบียง มีอุปกรณ์ มีไม้ดับไฟ มีรองเท้าที่กันไฟ จึงเป็นค่าใช้จ่ายประเภทนี้เท่านั้น เพื่อให้เขามีกำลังใจ ให้รู้ว่าเราได้ดูแลเขาที่ไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไปสำลักควัน ไปเป็นลมแทนเรา” นิรัตน์ กล่าว
ส่วนข้อเรียกร้องว่าไม่อยากให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น นิรัตน์ ชี้ว่าเป็นหนึ่งในมติของคณะกรรมการควบคุมไฟป่าจังหวัด ซึ่งเป็นมติของที่ประชุม ส่วนตัวตนย้ำตลอดว่าไม่ได้เห็นด้วยกับการจุดไฟเผาแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อเป็นมติที่ประชุม และมีหลักวิชาการป่าไม้เข้ามาอธิบาย ถ้าไม่ชิงจัดการเชื้อเพลิงไว้ก่อน และเกิดไฟลุกไหม้ ที่มีคนมาแอบจุดนอกเหนือแผน จะลุกไหม้ที่ไร้การควบคุมและจะเกิดไฟแบบแปลงใหญ่ 1,000 ไร่ 10,000 ไร่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตนต้องยอมรับความจริงว่าการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการป่าไม้ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องยอมรับ แต่การอนุมัติให้มีการชิงเผาเป็นอำนาจแต่ละอำเภอ แต่ละท้องถิ่น อบต. ไม่เคยมาถึงผู้ว่าฯ แต่ถ้าสถานการณ์อยู่ในช่วงอากาศปิด การระบายอากาศเป็นไปได้น้อย แน่นอนตนจะให้คำแนะนำว่าช่วงนี้ควรงดเว้นก่อน และตนได้ทำหน้าที่นี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดตกบกพร่อง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...