วันนี้ 18 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ นัดส่งตัว 2 อาจารย์ – 1 นศ. ผู้ต้องหาในคดีตัดโซ่ หอศิลป์ มช. ได้แก่ ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มช. และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มช. พร้อมทั้งส่งสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาต่อ
โดยทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเล่าถึงกระบวนการต่อไปที่จะเกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ นัดส่งตัวและส่งสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาต่อคือรอให้อัยการพิจารณาในเรื่องของหลักฐานว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป
ทัศนัย เศรษฐเสรี กล่าวว่า ตนรู้สึกแปลกใจ เพราะคดีนี้เป็นการฟ้องโดยการมอบอำนาจโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการสั่งฟ้อง แล้วเป็นคดีที่เราเข้าไปใช้สิทธิในการใช้สถานที่การจัดแสดงงานของนักศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของคณะวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นในภาพกว้างและทางวิชาการ แต่ที่แปลกใจเพราะว่ามันไม่ควรเป็นการฟ้องคดีโดยการมอบอำนาจโดยมหาวิทยาลัย ซึ่งเราก็เคยสอบถามไปทางมหาวิทยาลัยแล้ว มีการส่งหนังสือไปยังอดีตอธิการบดี เกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ ซึ่งก็ไม่มีการตอบกลับ เพราะโดยปกติแล้วการที่จะฟ้องคดีที่เป็นคดีที่มีการมอบอำนาจโดยมหาวิทยาลัยต้องมีการตั้งคณะกรรมการในการสืบค้นข้อมูลในการฟ้องคดี คำถามของเราก็คือ มหาวิทยาลัยได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบหาข้อมูลแล้วหรือยัง?
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อธิบายว่าสำหรับตนคดีนี้ถือเป็นคดีที่ไร้สาระที่สุด “ผมคิดว่ามันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับคดีการเมืองของคนอื่น ๆ แต่ว่าในระดับมหาวิทยาลัยการใช้วิธีการฟ้องแบบนี้มันคือการฟ้องปิดปากกับกลุ่มคนที่เป็นอาจารย์หรือนักศึกษา วิธีการแบบนี้แหละมันทำให้ชีวิตมันดูยุ่งยากขึ้น ก็มีบ้างที่ทำให้รู้สึกสั่นคลอนถึงชีวิตการทำงาน ผมก็ยังคงทำงานวิชาการต่อไป ผมก็อยากให้สังคมช่วยกันจับตาคดีนี้ที่ยังไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด โดยเฉพาะผมกับอาจารย์ทัศนัย ที่ยังต้องทำการเรียนการสอนและสร้างสรรค์ผลงานกันต่อไป ซึ่งหลาย ๆ อย่างต้องได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ก็อยากให้ทุกคนช่วยจับตา ซึ่งการกลั่นแกล้งกันในระบบ คนในแวดวงการศึกษาย่อมรู้กันดี หรือนักศึกษาที่ใกล้จะจบจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้างถ้าสังคมไม่ช่วยกันจับตาดูมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในกระบวนการตรงนี้”
ศรยุทธยังกล่าวต่อว่าจะยังยืนยันหลักการเสรีภาพในการแสดงออกต่อไป และย้ำว่าทางมหาวิทยาลัยต้องเชื่อมั่นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วย
“ผมเชื่อว่าหลักการนี้มันสำคัญที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถที่จะเติบโตได้ อย่างมีจิตวิญญาณ เราสามคนไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นคู่กรณีกับมหาวิทยาลัยเลย และพวกเราก็มีความรักและความผูกพันกับมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ ในทางกลับกันการทำงานของพวกเรากลับมีส่วนเสริมให้มหาวิทยาลัยมีพื้นที่ทางการเมืองและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น”
“คดีบุกรุกสถานที่ ตัดโซ่ ไม่ใช่กรณีแรกในประเทศไทย กรณีนี้เคยเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รั้วพังเสียด้วยซ้ำ แต่ถามว่าผู้บริหารทำอย่างไร ผู้บริหารไม่ได้จัดการอะไรเลย และก็ให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และก็ไม่ได้เอาผิดลงโทษคนดำเนินการแต่อย่างใด ตัวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ควรคิดทบทวนเกี่ยวกับกระบวนการนี้ให้อย่างถี่ถ้วน เพราะอย่างที่อาจารย์ทัศนัยกล่าวไปว่า มันแทบไม่มีกระบวนการการทบทวนข้อมูลอะไรเลยเสียด้วยซ้ำ”
ด้านยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ยังกล่าวอีกว่า มันช่วยย้ำเตือนการกระทำของผู้บริหาร เพราะ เรื่องนี้มันก็เริ่มจากผู้บริหารเองที่ไม่ยอมให้แสดงผลงานของนักศึกษา เราเป็นนักศึกษาที่จ่ายค่าเทอมมาเรียน มีสิ่งที่อยากจะพูด การที่เราต้องตัดโซ่เพราะ มันอยู่ในพื้นที่อาคารเรียนของเรา คดีนี้เราคิดว่ามันเป็นการแจ้งเพื่อกลั่นแกล้งเราอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำคือการต่อต้านอำนาจในระบบของสถานศึกษานี้ด้วย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...