30 ปี พฤษภา’35 ในเชียงใหม่: คุยกับ นิวัตร สุวรรณพัฒนา NGOs รุ่นไล่สุจินดาที่ท่าแพ สู่การร่วมยืนหยุดทรราช

เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม, ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย


เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2535 มักจะถูกอธิบายว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ผนวกรวมประชาชนหลายกลุ่ม หลายอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ร่วมกันลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมและการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ก่อนจะจบด้วยการประกาศลาออกของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 พฤษภาคม ปีเดียวกัน เหตุการณ์ดังกล่าวปูทางไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 การกลับเข้ากรมกองของกองทัพ และความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2540 ​

แต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไม่ได้เกิดขึ้นแต่บนถนนราชดำเนินในกรุงเทพมหานคร แต่มีความเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาคที่ดูเหมือนไม่ค่อยถูกบันทึกไว้ หรือไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควรจะเป็นในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงนี้​

ในโอกาสครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 Lanner พูดคุยกับ นิวัตร สุวรรณพัฒนา อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยพายัพ และเป็นนักพัฒนาเอกชนอิสระด้านเพศและสุขภาพ ถึงการเคลื่อนไหวช่วงก่อนและหลัง พฤษภา’35 ในจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังจากนั้น ซึ่งวนมาสู่การรัฐประหารซ้ำอีก แต่ก็ติดตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของขบวนการของคนรุ่นใหม่ ซึ่งนิวัตรประกาศตนว่าสนับสนุน และไปร่วมยืนหยุดทรราชในจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง​

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

ช่วงก่อนปี 2535 ทำอะไรอยู่ที่เชียงใหม่

“ตอนนั้นผมเป็นอาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชน ผมเรียนหนังสือ ตามหลักก็ต้องจบปี 31 แต่ผมเรียนไม่จบ เข้ามหาวิทยาลัยก็ทำแต่กิจกรรม พอปี 31 ก็มีโอกาสมาทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นผมเป็นนายกสโมสรนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยพายัพ เลยมีโอกาสมาพูดคุยกับพรรคยุวธิปัตย์ (พรรคนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ตอนนั้นเราทำเรื่องป่าไม้ที่ดิน ก็เลยเริ่มรู้จักกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างปี 31 มาจนถึง 32 ก็มีการรวมตัวและทำงานช่วยเหลือผู้หญิงบริการ กลุ่มที่ทำงานบริการทางเพศ สมัยนั้นเป็นการช่วยเหลือแบบศาสนา เพราะพวกเขาเป็นคริสเตียน เป็นมุสลิม เป็นพุทธที่รวมกัน ก็เป็นโอกาสที่ทำให้ผมเข้ามารู้จักกลุ่มเครือข่าย NGOs ที่เข้ามาทำงานในเชียงใหม่ ก็เริ่มขยับมาเจอ NGOs ด้านอื่น ๆ ทำให้เริ่มสนใจประเด็นทางสังคม ผมเรียนคณิตศาสตร์ แต่ก็ทำกิจกรรม พอสนใจก็เลยสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

ภาพ:กนกพร จันทร์พลอย

เมื่อก่อนเวลาที่นักศึกษา นักกิจกรรมจะมารวมตัวกัน ต้องไปเจอกันที่ไหน

“ถ้าเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยพายัพ ก็จะมีอยู่ตามสโมสร แต่สโมสรมหาวิทยาลัยพายัพก็จะไม่มีของชมรม เราพยายามผลักดันให้มีการทำงานของกลุ่มชมรม แต่ถ้าในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะมีองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะมีชมรม เราก็จะไปเจอชมรมต่างๆ ที่อยู่ตรงนั้น ผมก็จะเห็นบรรยากาศที่กลุ่มนักศึกษามารวมตัวกัน ชมรมวรรณศิลป์ก็นั่งอ่านหนังสือกัน ชมรมพัฒนาชนบท พัฒนาชุมชน ผมไม่แน่ใจว่าชื่ออะไร ก็มารวมตัวกันของกลุ่มเคลื่อนไหว

ฝั่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่น่าจะทำกิจกรรมทางสังคมมากกว่า รวมทั้งเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าฝั่งพายัพ ที่ผมอยู่ไม่ค่อยเห็น ในรุ่นผมเป็นนายกสโมสร เราทำกิจกรรมกีฬาเชื่อมสถาบัน 3 สถาบัน ก็จะเชื่อมระหว่างแม่โจ้ พายัพ และมช. ส่วนกิจกรรมทางการเมืองไม่มี มีเฉพาะกลุ่มผมที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคยุวธิปัตย์ มช. ซึ่งตอนนั้นเป็นสโมสรนักศึกษาเหมือนกัน ในรุ่นนั้นก็จะมี ‘เต็ก’ (วิเชียร อันประเสริฐ) ‘เฮง’ (ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ) ที่ตอนนี้กลายเป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยกันแล้ว ทำให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเคลื่อนไหวทำกิจกรรม

ผมคิดว่ากิจกรรมแรกที่เราทำร่วมกันของสโมสรมหาวิทยาลัยพายัพ ช่วงนั้นมีการแจ้งว่ามีการลักลอบตัดไม้ในป่าที่จังหวัดน่าน เพราะฉะนั้นเราก็ลงไป ก็จะมีองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสร็จแล้วก็จะเป็นพรรคยุวธิปัตย์ ก็นั่งรถไปลงพื้นที่ ต่อกับ NGOs ชมรมเพื่อชีวิตและธรรมชาติ ถ้าจำไม่ผิด ก็จะมีอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อยู่ด้วย ที่ทำงาน NGOs ในช่วงนั้น ส่วนนักศึกษาก็ลงไปที่จังหวัดน่าน

นี่เป็นบรรยากาศเวลาทำกิจกรรมทางสังคมในช่วงนั้น บรรยากาศทางการเมืองไม่ค่อยมี เพราะว่าตั้งแต่หลังล้อมปราบปี 2519 ก็ไม่เห็นจะมีอะไร เหมือนหลาย ๆ อย่างถูกปิดตายตั้งแต่ตอนนั้น บรรยากาศมันเป็นทั่ว ๆ ไป ก็จะมีพวกทําค่ายพัฒนาชนบท ประมาณนี้

ถ้าในมหาวิทยาลัยที่ผมอยู่ก็ไม่ได้สนใจอะไร กิจกรรมก็จะเป็นงานสโมสร งานปาร์ตี้ จัดประกวด ประกวดดาวเดือน อะไรทํานองนี้ แต่กิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ค่อยมี แล้วก็อาจจะมีกิจกรรมบําเพ็ญประโยชน์บ้าง สัดส่วนฝั่งของ มช. อาจจะพอมีอะไรที่ต่างไปจากพายัพ เราจะเห็นบรรยากาศของการอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสังคม อ่านวรรณกรรม

ถ้าเป็นรุ่นผมโดยส่วนตัวก็อ่านวรรณกรรมรัสเซีย อ่านงานแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ อ่านพวกเอกสารจากการเคลื่อนไหวนักศึกษารุ่น 14 ตุลา 6 ตุลา เริ่มสะสม เริ่มอ่านไปพร้อม ๆ กับเริ่มทํากิจกรรม เรียกว่าตอนทํากิจกรรมนักศึกษา ไม่เรียนหนังสือ ใส่ชุดนักศึกษาไป แต่ว่าไม่ได้เรียนหนังสือ ไปขลุกอยู่ในสโมสร แล้วบังเอิญมีเพื่อนที่เรียนตกรุ่นมา เขาก็เคลื่อนไหวอยู่สมัยหลังเดือนตุลา ก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยน ก็คงจะเป็นบรรยากาศตอนนั้น เป็นกลุ่มเล็ก ๆ

มีอยู่ช่วงหนึ่งตอนนั้นถ้าผมจําไม่ผิด คิดว่าปี 2532 มีเพื่อนที่เรียนจบไปแล้ว ไปเป็นพยาบาลอยู่ที่สังขละบุรี เขาก็ติดต่อมาว่าตอนนั้น มีการปฏิวัติที่พม่าเป็นการเคลื่อนไหว ปี 1988 และมีกลุ่มนักศึกษาพม่าหนีออกมาหลังจากถูกปราบปราม ออกมาตั้งค่ายอยู่ใกล้ ๆ สังขละบุรี เลยเป็นเหตุผลให้อยากลงไปพูดคุยกับพวกเขา ผมลงไปกับเพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่ง พอลงไป เขาก็พาเข้าไปค่ายนักศึกษาพม่าที่อพยพ ความบังเอิญคือโรงพยาบาลจะไปรับนักศึกษาพม่าที่ป่วย เลยมีโอกาสได้ตามเข้าไป

ปรากฏว่าในเขตฝั่งพม่า สิ่งที่เราเห็นก็คือค่ายทหาร นักศึกษาก็แตกกระจัดกระจายรวมกันอยู่ภายใต้ค่ายทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของของทหารมอญ เป็นกองกําลังที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับทางฝั่งพม่า เราเห็นความยากลําบากต่าง ๆ ที่นักศึกษาพม่าต้องเผชิญ บรรยากาศตอนนั้นชวนเราตั้งคําถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทําไมมันถึงมีความแตกต่างกันอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องชีวิตในอนาคตในสังคมที่เป็นแบบนี้”

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

อย่างช่วงปี 34 เข้าปี 35 มีฉนวนเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างที่กรุงเทพฯ เริ่มมีเริ่มมีการเคลื่อนไหวการเชื่อมขบวนการนักศึกษา ชนชั้นกลาง NGOs นํามาสู่เรื่องการเคลื่อนไหวใหญ่ แต่ที่เชียงใหม่หรือว่าตามจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ เป็นอย่างไร

“ช่วงนั้นผมเข้าไปเป็นอาสาสมัครขององค์กรพัฒนาเอกชนแล้ว ถูกเรียกว่าเป็นรุ่นใหม่ เขาจะแบ่งรุ่นกันอยู่ เรียกเป็นรุ่นตามรุ่นอายุ รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก ผมก็เป็นรุ่นใหม่ เข้ามาแล้วก็พอมีบรรยากาศของการเคลื่อนไหว ผมคิดว่าโลกทัศน์ของเราก็คือไม่ชอบรัฐประหาร ไม่ชอบเผด็จการ แต่ในแวดวงทั้งหมดตอนนั้นไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทหารที่ยึดอํานาจ แปลว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องสําคัญ สมัยก่อนมันจะสู้กันสองแบบ ศัตรูในความคิดก็คือเผด็จการทหารกับทุนนิยม

โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกพี่ ๆ เคลื่อนไหวที่เป็น NGOs ติดตามข่าวสถานการณ์กันตลอด ตั้งแต่มีเหตุการณ์การประท้วง การอดข้าวของคุณฉลาด วรฉัตร จนกระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวเมื่อปี 35 เมื่อสุจินดา คราประยูร บอกว่าจะรับเป็นนายกฯ แล้วก็ขึ้นเป็นนายกฯ ก็เป็นจังหวะพีคที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่

ทางภาคเหนือก็ออกมารวมตัวกันจัดชุมนุมที่ประตูท่าแพ คู่ขนานไปกับที่กรุงเทพ ช่วงนั้นที่เห็นชัด ๆ เลยก็คือกลุ่มอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ออกมากันเยอะมากๆ ถือป้ายไปเดินขบวนกัน ประกาศ kick off ที่จวนผู้ว่าฯ เชิงสะพานนวรัฐ แล้วก็เดินมาที่ประตูท่าแพ ประกาศว่าเราจะชุมนุมจัดเวทีประชาชนที่ท่าแพ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว ตอนนั้นมีคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการพัฒนาชนบท หรือ กป.อพช. เป็นแกนหลักรวมตัวกัน

เริ่มเคลื่อนไหวประมาณกลาง ๆ เดือนพฤษภา ไม่แน่ใจจะเป็น 17-19 หรือเปล่า แต่เริ่มจากตรงนั้นก่อน แล้วมีอาจารย์และมีเอ็นจีโอ ที่เหลือก็เป็นประชาชน ไม่รู้ว่ามีนักศึกษามากน้อยแค่ไหน ในความทรงจํามันเหมือนกับมี แต่ไม่ค่อยเห็นคนหนุ่มสาว นักศึกษาแบบเรามีไม่เยอะเท่าไหร่”

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

แสดงว่าในภาคเหนือ พอมีประชาชนกลุ่มที่สนใจการเมืองกันด้วยอยู่แล้ว

“พอเกิดการเคลื่อนไหว มันก็มีภาพของการเซ็นเซอร์ หนังสือพิมพ์ดําหมดทุก ๆ หน้าเลย หน้าข่าวไม่มีการเสนอข่าวเรื่องแบบนี้เลย ทีวีก็ไม่เสนอข่าว เพราะฉะนั้น คนสนใจก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พอเราจัดชุมนุมกัน มันมีหน้าที่หนึ่งที่ผมทำคือเป็นทีมเขียนข่าว ทำกําแพงข่าว ก็คือให้เพื่อนส่งแฟกซ์ ส่งข่าวจากกรุงเทพฯ มา แล้วเราก็มาเขียนลงในกระดาษ แล้วก็ไปติดตามกําแพงที่ท่าแพ มันทำให้ประชาชนที่มาชุมนุมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะที่ผ่านมามันไม่เห็นเลย เหมือนปิดหูปิดตา ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการปะทะกันเกิดขึ้น กำแพงข่าวมีความสำคัญมากในฐานะข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์

ผมยังจําได้ว่าที่ ๆ เราใช้เป็นฐานในการทำงานอยู่ด้านหลังประตูท่าแพ จําชื่อไม่ได้ว่าชื่อมูลนิธิอะไร แต่ว่าอยู่ด้านหลังกําแพง เมื่อก่อนเป็นที่ทํางานของจําลอง ศรีเมือง ซึ่งเขาเคลื่อนไหวอยู่ปี 35 เป็นมูลนิธิที่ทําเกี่ยวกับเรื่องมังสวิรัติ แล้วก็ทําเรื่องเด็ก แล้วก็มันใกล้ที่สุดเราก็ไปใช้ จําได้ว่าไปนั่งๆ นอนๆ อยู่ที่นี่สองสามคืน สลับกันบ้าง ใช้ที่นั่นนั่งเขียนข่าวกัน

สมัยนั้นไม่มีมือถือ สิ่งที่เราอยากจะรู้คือ พอเกิดการปะทะกัน มันเป็นอย่างไร เราจําได้อยู่ว่า เราไปนั่งออกันอยู่ที่ตู้โทรศัพท์ จําไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่เป็นผู้หญิง เขาคุยแล้วเขาก็บอกว่าเพื่อน (ในกรุงเทพฯ) อยู่ตรงที่ถูกล้อมอยู่ วิ่งหนีกันเข้าไปในโรงแรมรัตนโกสินทร์ ถูกทหารเตะ ถูกถีบ ถูกยิง เขาร้องไห้ เราที่ฟังก็รู้สึกเครียด มีเพื่อนบางคนที่ตัดสินใจลงไปกรุงเทพเลยทันที ผมไม่ได้ลงไปด้วย แต่รู้ว่ามันมีความรุนแรงเกิดขึ้น

ที่เชียงใหม่เอง พอคนเริ่มรู้ข่าวก็ออกมาชุมนุมกันอย่างต่อเนื่อง ลานท่าแพคนเยอะมาก ช่วงวันที่ 17 – 19 พฤษภาคม นี่เรียกได้ว่ามอเตอร์ไซค์เต็มลานเลย คนก็สนใจมาฟังว่าเกิดอะไรขึ้นที่กรุงเทพฯ แล้วก็มีการย้ายจากท่าแพเข้าไปชุมนุมในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย้ายกันไปที่สนามรักบี้ เขาเรียกสนามรักบี้ หน้า มช. มีการตั้งเวที จำได้ว่าบอกกันว่าอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยน่าจะปลอดภัยกว่า

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

หลังจากที่สุจินดาลาออก สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย บรรยากาศทางการเมืองเป็นยังไงบ้าง เพราะว่าถ้าพูดกันตามตรงหลายคนจะบอกว่ามันเป็นชัยชนะของประชาชน เราได้รัฐธรรมนูญมาในอีกห้าปีต่อมา

“มันคล้ายกับหลังช่วง 14 ตุลาคม ปี 16 กระแสความคิดเรื่องประชาธิปไตยมันกลับมา แต่ว่ามันมีการเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่งที่พยายามจะจัดการอํานาจหรือว่าเปลี่ยนขั้วอํานาจกลับไปเหมือนเดิม แต่โดยรวม ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวที่คึกคัก NGOs ก็เดินสายขยับทํางานกลุ่มต่าง ๆ แล้วก็มีข้อเสนอนํามาสู่การรณรงค์รัฐธรรมนูญธงเขียว

รัฐธรรมนูญปี 40 ได้มาจากการร่วมออกแบบของประชาชน ฝ่ายรัฐบาลเองนายกฯ ที่มาก็คือคุณอานันท์ ปันยารชุน ก็ดูเหมือนมีท่าทีที่จะรับฟัง มีความพยายามจะแก้ไขอะไรหลายอย่าง ฉะนั้นบรรยากาศตรงนี้มันก็เกื้อหนุนกันจนนํามาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่านั่นคือบรรยากาศภาพที่นําไปสู่เรื่องของขบวนการทางประชาธิปไตย

พวกเราก็ฟันธงกันตอนนั้นว่าไม่น่าจะมีการรัฐประหารอีกแล้ว ทหารกลับกรมกองได้รับการเสียหายมากภาพลักษณ์ของทหารเสียหาย ดูเหมือนเราก็นิ่งนอนใจ หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 40 ผมก็ไปเรียนหนังสือหมกมุ่นอยู่กับการเรียน บรรยากาศตอนนั้น การเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็น การเติบโตของขบวนการนักศึกษาก็เปลี่ยนไป ผมก็ไม่ได้เข้าทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาแล้ว พี่ ๆ หลาย ๆ คนเองก็ต่างเติบโต ไปทำงานพรรคการเมือง ไปเป็นนักวิชาการ เป็น NGOs ก็มี”

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

การเกิดขึ้นของรัฐประหารปี 49 ไล่มาถึงปี 57 วิกฤตการณ์ทางการเมืองก็เกิดขึ้นมากมาย จนมาถึงตอนนี้เลยคิดว่ามันเหมือนกับไปเป็นเหมือนช่วงก่อนพฤษภา 35 หรือต่างออกไปยังไง

“ผมว่ามันซับซ้อนกว่านั้น โลกทัศน์ตัวผมเองก็เปลี่ยน รุ่นก่อนก็จะมองปัญหาเป็นเรื่องทุนนิยม เรื่องไล่เผด็จการทหาร แต่ว่าตอนนี้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีมุมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น มันเห็นว่ามันมีความซับซ้อนในเรื่องอํานาจมากกว่านั้น

ตอนรัฐประหาร 19 กันยา 49 หลายคนก็ยังมึนงง คือสู้กับทักษิณ ชินวัตร ช่วงนั้นมีการนัดคุยกันของ NGOs มีวาระในการคุยว่าระบอบทักษิณกําลังจะกินรวบประเทศไทย เราต้องสู้กับทักษิณ ทักษิณก็ชนะการเลือกตั้งมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งนํามาสู่การเรียกร้องเรื่องนายกพระราชทาน มาตรา 7 เริ่มมีการคุยกันว่ามันแปลก ๆ บางกลุ่มก็ถอนตัวออก และก็เกิดรัฐประหาร ปี 49 หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) ออกมาเคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร แต่พวกเราหลายคนนั่งกันเฉยๆ เพราะคิดว่า ทักษิณกำลังถูกกําจัด

ก่อนปี 57 มันจะมีเหตุการณ์ที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามจะออกพระราชกําหนดนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เราก็ไม่เห็นด้วยก็ออกมาเคลื่อนไหว ข้อสังเกตของผมคือการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยที่ผมเข้ามาร่วมในช่วงนั้น ก็จะเห็นว่ามีอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่เดินขบวนกันกับ กปปส. มีอาจารย์แพทย์สายสุขภาพ สายวิทยาศาสตร์ ซึ่งต่างไปจากภาพที่ผมเคยเห็น คืออาจารย์ฝั่งสังคมศาสตร์

ผมก็พยายามจะมองทําความเข้าใจย้อนกลับไป ผมคิดว่าอะไรที่ทําให้มันแตกต่าง ผมเข้าใจว่าถ้ามองเชิงบวก เข้าใจว่าทุกคนไม่ชอบความไม่เป็นธรรม แต่วิธีการมองความไม่เป็นธรรม มองตามความเป็นคนดี เพราะฉะนั้น ถ้าวิพากษ์วิจารณ์อาจารย์ทางการแพทย์ สายวิทยาศาสตร์ กปปส. คือมองความเป็นคนดี คือฐานเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรม ความเป็นคนดีต้องเป็นดีแบบหล่อหลอมในแบบหนึ่ง คือรับไม่ได้กับความเป็นมนุษย์ที่เป็นเทา ๆ ขาว ๆ ดํา ๆ

แต่ในขบวนการเคลื่อนไหวคนเสื้อแดง ผมจําได้ว่าผมถกเถียงกับเพื่อน ๆ NGOs ทําให้ผมเปลี่ยนความคิดมาก พอเราเจอท่าทีเถื่อน ๆ ของคนเสื้อแดง เรารับไม่ได้ แล้วรู้สึกว่าพวกนี้ไม่ดี ตัดสินจากข้างนอก เพราะว่าวิธีคิดถูกหล่อหลอมเรื่องความเป็นคนดีเป็นแบบนี้ ซึ่งสําหรับผมมันอ่อนไป ถ้าวิจารณ์ก็คือว่า ติด กรอบการมองเกินไป ในขณะที่ไม่เข้าใจความสลับซับซ้อนของสังคม บางคนที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าคนดีต้องเป็นแบบนี้ เดินตรงเป๊ะของตัวเองมา ความดีทางศาสนา ทางคุณค่า ความเชื่อ ความรัก ยกย่องเทิดทูนสถาบันต่าง ๆ แตะห้าม แตะไม่ได้อะไรทํานองนี้ ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็จะเห็นว่าทั้งหมดคือมนุษย์มีทั้งดีและชั่ว เพราะฉะนั้นสายแบบนี้มันแบ่งแยกกัน แล้วทําให้การเคลื่อนไหวแตกต่างกัน

ช่วง 49 เริ่มเห็นขบวนการที่มันแตกออกไป ถ้าในสาย NGOs ด้วยกัน ผมคิดว่าคนจะรู้สึกว่าทําแบบเดิมก็คงไม่ค่อยได้อะไร บางคนก็ขยับไปอีกอันหนึ่งซึ่งเห็น scale ที่ใหญ่กว่า แก้ไขปัญหาได้เยอะกว่า แล้วต้องใช้การเมืองเข้าไปช่วย เพราะฉะนั้นพอมันปะทะกันระหว่างขั้วหนึ่งกับอีกขั้วหนึ่ง แตกต่างกัน

แต่พอปี 57 เกิดรัฐประหารอีกครั้ง ผมจําได้ว่าพวกเราเคลื่อนไหว น่าจะ 22 พฤษภา เพราะตอนนั้นเราประชุมเครือข่าย NGOs ด้านเอดส์ ประชุมกันอยู่ พอประกาศรัฐประหารจะประกาศเคอร์ฟิวก็ต้องรีบกลับกัน ไม่อย่างนั้นจะกลับไม่ได้ ก็มีการเคลื่อนไหวกัน หลายคนก็แสดงชัดเจนว่าไม่เอาด้วยรัฐประหาร บางคนก็บอกไม่เอารัฐประหาร

แต่ก่อนหน้านั้นมีขบวนการนกหวีด ของ กปปส. เคลื่อนไหวกันใหญ่เลย ผมคิดว่ามีคนที่เข้าไปลึกร่วมด้วย กับเอ็นจีโอที่เข้าไปร่วมเป่านกหวีดกัน เราก็บอกว่า เป่านกหวีดเรียกร้องไม่เป็นไร แต่นําไปสู่การขัดขวางการเลือกตั้ง ก็มีทั้งอาจารย์ ทั้ง NGOs รุ่นพี่ ๆ ที่ออกมาเตือนว่าการขัดขวางการเลือกตั้งคือการทําลายประชาธิปไตย ไม่ถูก หลายคนก็บอกไม่เชื่อ เขาอยากจะทำจนกว่าจะมีการปฏิรูปความคิดโฆษณาว่าจะต้องปฏิรูปประเทศก่อน

แต่สุดท้ายก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพอรัฐประหารเสร็จแล้ว การปฏิรูปก็ไม่ได้ไปไหน เพื่อนในเครือข่าย NGOs จํานวนหนึ่งก็เข้าไปร่วมกับกระบวนการปฏิรูป ไปเป็นสภาปฏิรูปประเทศ ก็ถูกตั้งคําถามเยอะมากว่าทําไมเข้าไปร่วมแบบนั้น ในทุกแวดวง ทั้งสุขภาพ ทั้งป่าไม้ที่ดิน เรียกว่าความน่าเชื่อถือของเอ็นจีโอมันก็เริ่มหายไป แล้วก็มีขบวนการของรุ่นใหม่ ๆ ที่เกิดมา มีขบวนการของเอ็นจีโอ หรือเรียกใหม่ว่าเป็นนักกิจกรรมทางสังคมภาษาแบบนี้ เริ่มเป็นภาษาที่ขึ้นมาแทน

เอ็นจีโอเริ่มกลายไปเป็นเหมือนกลุ่มเหมือนสถาบัน แล้วก็กลายเป็นแข็งตัว ในขณะที่นักกิจกรรมหลากหลายเยอะมากกว่า และน่าสนใจ ในขบวนการหลังสุดมา จะเห็นตั้งแต่รุ่นของเพนกวิน วิธีคิดของคนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคําถาม เริ่มเห็นความสัมพันธ์เชิงซ้อนของอํานาจการจัดการ ซึ่งต้องไปสู่เรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกตั้งคําถามว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ต้องมีการจํากัดอำนาจ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนไปหลายอย่างมากกว่าเมื่อก่อน

สําหรับผม ผมก็เปลี่ยน คิดว่าตัวเองก็เปลี่ยนไป ผมเมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้แล้วก็เริ่มตาม คือความเข้าใจจากเดิม ไม่ชอบนายทุน ไม่ชอบพวกเผด็จการทหาร ผมไม่เอาการรัฐประหารโดยจุดยืน

ความเป็นเหลืองเป็นแดงมีอยู่ไหม เราก็เห็นตัวเอง เป็นสลิ่มใช่ไหม เขาเรียกสลิ่ม ความเป็นสลิ่มสําหรับผมก็คือว่า ความเชื่อว่า คนดีต้องเป็นแบบนี้ เราเอาบรรทัดฐานตัวเองไปตัดสินคนอื่น แต่ไม่เคยย้อนมองตัวเอง ว่าตัวเองก็มีความเล่ห์เหลี่ยม มีผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่คิดแบบนั้น แล้วก็ไปโทษคนอื่น

แต่ผมเปลี่ยน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้คือความเปลี่ยนแปลงในด้านความคิดที่เปลี่ยน การเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย ผมสนับสนุน ผมก็ยืนอยู่ตรงนี้ฝั่งประชาธิปไตย ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อจะปฏิรูป ปรับให้ประชาธิปไตย ให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ทุกสถาบันก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจริง ๆ

การเคลื่อนไหวของเยาวชน นักศึกษา ก็เป็นส่วนที่ผมคิดว่า ผมก็อยู่ในการเคลื่อนไหวของพวกเขา ตามเขา สนับสนุน อย่างน้อยเท่าที่พอทําได้ตอนนี้ก็คือยืนประท้วง ยืนหยุดทรราช มีส่วนที่เราต้องเรียนรู้กันต่อ เพื่อพยายามทําความเข้าใจ เช่น ทะลุแก๊ส เรามองว่าพวกเขามีความรุนแรงใช่ไหม แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดู Background ผมก็จะเชื่อเหมือนเวลาทํางานก็มองไปได้ว่าทําไมคนถึงทําแบบนั้น ย้อนไปดู Background เขาเติบโตมาในยุคของบริบทของความรุนแรง ที่เขาต้องต่อสู้ดิ้นรนมาตลอดกับการกดขี่ เขาก็ใช้วิธีแบบเดียวกัน ถ้ามองแบบนี้ๆ คนตั้งคําถามว่าชอบธรรมไหม ผมก็รู้สึกว่ามันก็อาจจะชอบธรรม

ตอนแอมมี่เผารูป ตอนแรกผมก็ตกใจ อีกวันหนึ่งผมก็นึกออกว่ามันก็คือเผาพริกเผาเกลือสามแช่ง เป็นวิธีการที่เราใช้กันมาตลอด ต่างกันตรงไหน แต่ว่าทะลุแก๊สก็เป็นการพยายามเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้าใจสิ่งเหล่านั้น ทะลุวัง เวลาทําโพล ผมก็รู้สึกว่ามันชัดเจนดีอยู่แล้ว ตั้งคําถามกับสังคมซึ่งคนซุบซิบไม่กล้าพูด เขากําลังพูดถึงสถาบันทางสังคมทั้งหมดที่จะอยู่ร่วมกัน ต้องอยู่แบบไหนยังไงในกติกาเดียวกัน ผมคิดว่าอันนี้คือการเปลี่ยนรากฐานของสังคมซึ่งก็ยังหนุน สนับสนุนให้มีการฟังเสียงเขา”

ภาพ: กนกพร จันทร์พลอย

มาถึงวันนี้ ในฐานะคนรุ่นพฤษภา 35 เราสามารถทําอะไรเพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ได้บ้าง

“ผมย้อนกลับไปดูตัวเอง ตัวเองก็เป็นภาพตัวแทนคนหนึ่ง ทําไมผมยังสนใจเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าผมสนใจเรื่องนี้แล้วทําไมคนอื่นไม่สนใจ เกิดความรู้สึกว่า เด็ก ๆ น้อง ๆ ถูกจับด้วยความไม่ยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ทําไมไม่ออกมาเคลื่อนไหว ทําไมยังใช้ชีวิตอยู่ทั่ว ๆ ไป แต่พอมองย้อนกลับไปก็อาจจะเป็นเพราะว่าบางช่วงเราก็สนใจบางเรื่อง บางเรื่องไม่สนใจ อะไรคือฐานของความรู้สึกไม่อยุติธรรมต่อสังคมด้วยกัน ผมคิดว่าน่าจะต้องหาให้เจอ ผมยังคิดว่าแต่ละคนมีนะ เพียงแต่ว่าเขาตีความว่า ความอยุติธรรมแล้วต้องมา คือคนที่ต้องแก้ไขปัญหาคือคนดี เขาไม่คิดว่าคนไม่สุภาพ คนก้าวร้าวจะแก้ไขได้ มองไม่เห็นส่วนนั้น เป็นกระบวนการที่กีดกันออกไปถ้าเชื่อแบบนี้

อยากจะให้ผู้ใหญ่รุ่นเก่า ๆ ที่เห็นว่าเด็ก ๆ เนี่ยก้าวร้าว ลองตั้งใจ เปิดใจกว้างในการมอง มองราษฎร มองทะลุแก๊ส ทะลุวัง เหล่านั้นแล้วมองเห็นสิ่งที่เขาเสนอ ผมคิดว่าแบบนั้น แล้วก็ยืนอยู่ข้างเขาเมื่อเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมคิดว่าอันนั้นเป็นเรื่องสําคัญ

ถ้าเทียบกับตัวเอง ช่วงก่อนก็อึดอัดมาก ปีที่แล้วไปยืนหยุดทรราชด้วยความรู้สึกคับแค้นจริง ๆ อยากจะทําอะไร แต่ทําอะไรไม่ได้ เพราะว่าเพื่อนฝูงที่เคยอยู่ด้วยกันตอนรัฐประหาร 57 ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพื่อนฝูงที่ผมเคยเห็นปี 35 มันไม่มี มันหายไป ไปอยู่ในอีกฝั่งหนึ่งที่เหมือนกับไปสนับสนุนอํานาจนอกเหนือประชาธิปไตยเสียต่างหาก ผมใช้เฟซบุ๊กเขียนไปตั้งคําถามว่าทําไมมันไม่มีแบบสมัยก่อน ก็คงมองเรื่องความไม่ยุติธรรมอยู่ แต่เลือกวิธีการของตัวเอง

อยากจะให้เพื่อน ๆ เปิดใจ แล้วก็อย่างน้อยเวลาที่เราเห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมจากอํานาจที่เหนือกว่า ก็น่าจะออกมาแสดงจุดยืนไม่ว่าวิธีใดก็ได้วิธีการหนึ่ง คิดว่ายังหวังว่าอยากจะเห็นสิ่งเหล่านั้น”

บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง