รถยนต์ก็ยังไม่มี รถเมล์ก็มาไม่ถึง เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4×4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย โดยบริบทของเพลงคือ ผู้คนบนพื้นที่สูงหรือที่วงคาราบาวระบุว่าเป็นชาวดอย
อย่างไรก็ตาม ความห่างไกลไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงดอย หากสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยความห่างไกลดังกล่าวไม่ใช่ความห่างไกลในแง่ของระยะทาง แต่กลับเป็นความห่างไกลในแง่ของความรู้สึกและวิถีชีวิต ผมในฐานะผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุทัยธานีเข้าใจถึงความห่างไกลในแง่นี้เป็นอย่างดี เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่รักการชมภาพยนตร์อย่างมาก แต่ภาพยนตร์กับตัวผมกลับไกลเสียเหลือเกินในตอนที่ผมเป็นเด็ก
ผมขอย้อนความก่อนว่า ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กนั้น ยังไม่มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งให้ได้รับชมภาพยนตร์ได้ง่ายอย่างในทุกวันนี้ หากอยากชมภาพยนตร์เรื่องไหนที่อยากดู ผมต้องรอให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นหยุดฉายที่โรงหนัง และรออีก 3-4 เดือนเพื่อให้ภาพยนตร์ออกจำหน่ายในรูปแบบแผ่น VCD หรือ DVD เสียก่อน จึงจะไปหาซื้อหรือเช่ามาดูได้
ฉะนั้น หากมีภาพยนตร์เรื่องไหนที่ผมอยากดูมาก ๆ ผมต้องขอให้พ่อ (ซึ่งจะกลับบ้านอาทิตย์ละครั้งหรือนานกว่า) ขับรถพาไปจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อไปดูภาพยนตร์เรื่องนั้นในโรงหนัง หรือเมื่อเติบโตขึ้นมาหน่อยก็สามารถนั่งรถเมล์แดงซึ่งเก่ามากในเวลานั้นไปที่จังหวัดนครสวรรค์เองเพื่อดูภาพยนตร์ แต่รถเมล์เก่า ๆ ที่ว่าก็จะวิ่งรอบสุดท้ายตอน 17.00 น. หากจะดูภาพยนตร์ที่มีรอบฉายหลังจากเวลาดังกล่าวหรือจบไม่ทันเวลาดังกล่าวก็ไม่สามารถชมได้ ณ เวลานั้นผมรู้สึกถึงความลำบากอย่างมากในการจะดูภาพยนตร์สักเรื่อง แต่แล้วมันก็ค่อย ๆ กลายเป็นความชินชาจนกลายเป็นความปกติ
เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้งานติ๊กต๊อกชื่อ somporn.pitak ได้เผยแพร่วิดีโอการเดินทางไปดูภาพยนตร์ของเธอ โดยเธอต้องนั่งรถบัสเพื่อเข้าไปดูหนังในตัวเมืองของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งวิดีโอดังกล่าวมีผู้แสดงความคิดเห็นมากมาย ที่กล่าวถึงความยากลำบากของการจะไปดูหนังสักเรื่อง รวมถึงแสดงความคิดเห็นเชื่อมโยงไปจนถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้ออำนวยให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวก บางคนย้อนความว่าตนเองก็ต้องนั่งรถไฟข้ามจังหวัดเพื่อไปดูภาพยนตร์เช่นกัน ซึ่งจากในวิดีโอดังกล่าวเราก็จะเห็นว่าเธอเดินทางภายในตัวเมืองขอนแก่นด้วยรถส่วนบุคคลที่น่าจะเป็นการเรียกผ่านบริการ Grab Car ยิ่งตกย้ำถึงขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุมการเดินจากท่ารถไปสู่พื้นที่อื่น แต่สำหรับผมนอกจากประเด็นเรื่องขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุมแล้ว ผมยังถูกฉุดให้นึกย้อนไปถึงคำถามแรกที่ผมเคยตั้งคำถามไว้เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก คือ “ทำไมผมต้องข้ามจังหวัดเพื่อไปดูหนัง”
การพัฒนาพื้นที่อย่างไม่เท่าเทียม
ผมคิดว่าคำตอบแรก ๆ ที่จะได้จากหลายคนหากเราไปถามว่าทำไมเราหรือผมต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปดูหนัง คือ “แต่ละพื้นที่มันเจริญไม่เท่ากัน เขาก็ต้องไปสร้างโรงหนังในที่ที่เขาจะขายได้” นี่เป็นคำพูดจากเพื่อนของผมเมื่อผมถามคำถามดังกล่าว และเพื่อนผมอีกหลายคนก็ตอบคำถามนี้ไปในทิศทางเดียวกันในประเด็นเรื่องพื้นที่ที่ไม่พัฒนาไม่สามารถมีโรงหนังได้
ประเด็นเรื่องจากพัฒนาพื้นที่อย่างไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาพื้นที่นับว่าไม่ใช่ประเด็นใหม่ในสังคม มีการศึกษาในหัวข้อนี้อยู่มากที่เราสามารถหาอ่านได้ไม่ยาก รวมไปถึงเป็นวาระในการพูดคุยกันมากมายในชีวิตประจำวัน หรือกระทั่งปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งแผนพัฒนาฉบับดังกล่าวได้กล่าวถึงการพัฒนาอย่างสมดุล “มุ่งกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาค” เป็นประโยคที่ปรากฎในแผนพัฒนาฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาประเทศที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว จนละเว้นการแนวคิดการพัฒนาพื้นที่และละเว้นการสร้างแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นระบบ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ที่เจริญอยู่แล้ว
ต่อมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ได้กำหนดให้พื้นที่เมืองในจังหวัด 24 จังหวัดเป็นจังหวัดศูนย์กลางการพัฒนาในภูมิภาค ประกอบด้วยจังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ชลบุรี พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี ราชบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ลำปาง เชียงราย อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ สกลนคร ระยอง ฉะเชิงเทรา สระบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ปัตตานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งเมื่อสำรวจดูแล้วจังหวัดเหล่านี้ล้วนมีโรงหนังในจังหวัดทั้งสิ้น ในส่วนจังหวัดอุทัยธานีบ้านเกิดของผมที่อยู่นอกรายชื่อจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาคเหล่านี้ก็ยังไม่มีโรงหนังตั้งแต่ผมเกิดมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามการพัฒนาจังหวัดศูนย์กลางการพัฒนาที่กล่าวไปข้างต้นก็ยังสร้างความเหลื่อมล้ำภายในจังหวัดของตนเองอยู่เช่นกัน เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 6 ได้กำหนดเขตพื้นที่การพัฒนาเพียงในพื้นที่เทศบาลเมืองของ 23 จังหวัดศูนย์กลางการพัฒนา (มีเพียงจังหวัดสงขลาที่กำหนด 2 พื้นที่คือเมืองสงขลาและหาดใหญ่) เท่านั้น การเลือกเมืองศูนย์กลางเหล่านี้พิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่ จำนวนประชากร และการจ้างงาน ซึ่งอนุมานได้ว่าตกหลุมปัญหาการพัฒนาเดิม ๆ คือเลือกพัฒนาในจังหวัดที่มีความเจริญอยู่แล้ว โดยการพัฒนาพื้นที่เมืองเหล่านี้คือการเชื่อมต่อถนนทางหลวงเข้าสู่พื้นที่เมือง ควบคู่กับการจัดวางผังเมืองและการใช้ที่ดิน นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจในพื้นที่เมือง เหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งระหว่างจังหวัด และระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเองเช่นกัน
การพัฒนาเมืองที่ไม่เท่าเทียมทั้งระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย จากการศึกษาในหัวข้อความเป็นเมืองและความเหลื่อมล้าทางรายได้ในบริบทของไทย ศึกษาโดยศุภสิน อิทธิพัทธ์วงศ์ พบว่า การพัฒนาเมืองในประเทศไทยที่ดำเนินมาในประเทศไทยส่งผลโดยตรงกับความเหลื่อมล้ำของรายได้ โดยการพัฒนาเมืองในประเทศไทยดำเนินไปอย่างไม่สะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทั้งด้านงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลส่วนกลาง ระดับการศึกษาของผู้คนในเมือง ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว และปัจจัยอื่น ๆ จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาพื้นที่อย่างไม่เท่าเทียม และตรอกย้ำให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายที่เหมือนจะเดินมาผิดทาง ท้ายที่สุดจึงนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำในแต่ล่ะพื้นที่
โรงหนังเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องพึ่งพิงเมืองหรือจังหวัดที่มีรายได้สูงประมาณหนึ่ง การพัฒนาพื้นที่อย่างเหลือมล้ำจึงเป็นเสมือนการสกัดโรงหนังไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่รายได้ต่ำได้ อย่างไรก็ตามมิใช่เพียงเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาพื้นที่เพียงอย่างเดียวที่สกัดการเกิดโรงหนัง หากแต่ยังมีปัจจัยอื่นอีก นั่นคือ “การไม่มีโรงหนังอิสระในประเทศ”
โรงหนังอิสระที่หายไป
สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของโรงหนังในประเทศไทย มีเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้นที่ครองส่วนแบ่งการตลาด คือ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเพียงโรงหนังในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ก็ครองส่วนแบ่งการตลาดของโรงหนังไปแล้วร้อยละ 70 ซึ่งนับได้ว่าเป็นตลาดกึ่งผูกขาด เป็นผลให้โรงหนังอิสระเกิดขึ้นได้ยาก
หากย้อนกลับไปในอดีตประเทศไทยเคยมีโรงหนังอิสระอยู่จำนวนมากและกระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2500-2520 ที่มีโรงหนังอิสระเกิดขึ้นใหม่มากมาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นยุคทองของโรงหนังอิสระและยุคทองของภาพยนตร์ไทยเลยก็ว่าได้
การหายไปของโรงหนังอิสระได้ถูกศึกษาโดย รศ.ดร.อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในงานวิจัยเรื่องธุรกิจการฉายภาพยนตร์และสังคมไทย พ.ศ. 2440-2561 ได้ฉายภาพให้เห็นว่าโรงหนังในประเทศไทยนอกจากมีลักษณะการผูกขาดแล้ว ยังรวมถึงปัญหาอันเกิดจากสายหนังหรือพ่อค้าคนกลางในการซื้อภาพยนตร์มาฉาย และการพัฒนาศิลปินในวงการภาพยนตร์ไทย
สายหนังนับได้ว่าเป็นหัวใจของการนำหนังมาฉายในโรงหนังต่างจังหวัด เนื่องจากการฉายภาพยนตร์ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลางที่ติดต่อกับผู้นำเข้าภาพยนตร์หรือผู้ผลิตภาพยนตร์ จากนั้นสายหนังจะนำภาพยนตร์ไปขายให้กับโรงหนังในแต่ละพื้นที่ สำหรับประเทศไทยในแต่ล่ะภูมิภาคจะมีสายหนังของตัวเองในลักษณะกึ่งผูกขาด กล่าวคือสายหนังจะไม่นำภาพยนตร์มาขายเพื่อฉายในโรงหนังข้ามภูมิภาคที่ตนเองผูกขาดอยู่ ในภาคเหนือสายหนังที่ผูกขาดตลาดคือ บริษัท ธนาเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (บริษัทเจ้าของธนาซีนีเพล็กซ์) ซึ่งการผูกขาดของสายหนังในการนำภาพยนตร์ไปฉายนำไปสู่ความสามารถในการควบคุมทิศทางของตลาดการฉายภาพยนตร์ในประเทศไทย การควบคุมทิศทางให้ภาพยนตร์จากประเทศไหนเป็นที่นิยมคงไม่อาจทำได้อย่างเต็มที่ แต่หากจะกำหนดให้ประเทศไทยฉายแต่ภาพยนตร์ต่างประเทศและภาพยนตร์ไทยประเภทผี/ตลกคงทำได้มิยากนัก
แม้ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดจะเป็นรสนิยมหลักของผู้ชม และอาจเป็นแหล่งรายได้หลักของโรงหนังในประเทศไทย โรงหนังที่จะเข้าถึงการฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้ก็คงต้องเป็นเครือโรงหนังใหญ่ แต่สำหรับภาพยนตร์ไทยเป็นภาพยนตร์ที่โรงหนังอิสระสามารถเข้าถึงได้ แต่กลับมิได้รับการสนับสนุมากนักจากทั้งภาครัฐ กลุ่มทุนสร้างภาพยนตร์ รวมถึงถึงสายหนังที่ผูกขาดการเร่ขายภาพยนตร์แก่โรงหนัง ฉะนั้นพื้นที่ทางรสนิยมของภาพยนตร์ไทยคงเกิดขึ้นได้ยาก เชื่อมโยงไปจนถึงการเกิดขึ้นของโรงหนังอิสระได้ยากเช่นกัน
ผมอยากให้เรามองไปที่โรงหนังอิสระอย่าง Doc Club & Pub. ที่นำเข้าภาพยนตร์ประเภทที่ไม่ใช่รสนิยมหลักของคนไทยก็แล้วกัน โรงหนังดังกล่าวสร้างตัวแบบของการอยู่รอดในธุรกิจโรงหนังผ่านเจาะกลุ่มผู้ชมที่มีความต้องการเฉพาะ รวมไปถึงการสร้างพื้นที่ถกเถียงผ่านการมีร้านค้าที่บริการให้ผู้ชมสามารถนั่งพูดคุยกันหลังชมภาพยนตร์ นับเป็นรูปแบบของโรงหนังอิสระที่น่าดึงดูดใจ และชวนให้ผมจินตนาการว่าจะดีเพียงใดหากมีโรงหนังแบบนี้กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยนอกเหนือไปจากกรุงเทพฯ
สำหรับธุรกิจโรงหนังไม่อาจแยกขาดจากวงการภาพยนตร์ไทยไปได้ ซึ่งโรงหนังอิสระต้องพึ่งพาสายหนังและค่ายภาพยนตร์ไทย รวมถึงศิลปินผู้ผลิตภายนตร์ไทยอิสระที่จะกลายเป็นเงื่อนไขของการอุ้มชูวงการภาพยนตร์และธุรกิจโรงหนัง เริ่มต้นเราอาจต้องมองภาพยนตร์มิใช่แค่ไหนฐานะของสินค้าบริโภคที่ตอบสนองเพียงรสนิยมการบริโภค แต่ภาพยนตร์ยังเป็นพื้นที่ทางปัญญาที่ทำหน้าที่ในการสร้างการถกเถียงขึ้นในกลุ่มผู้ชมไปจนถึงสร้างข้อถกเถียงทางสังคม เราอาจเห็นได้ว่าการชมภาพยนตร์ในประเทศยังไม่ก้าวเข้าสู่พื้นที่ทางปัญญาของภาพยนตร์ ปรากฎการณ์ทัวร์ลงนักวิจารณ์ภาพยนตร์คือภาพสะท้อนหนึ่งของการมองภาพยนตร์เป็นเพียงสินค้าบริโภคมิใช่พื้นที่ทางปัญญา บทบาทของสายหนังคือการกำกับ/ควบคุมรสนิยมและจำกัดพื้นที่ทางปัญญา ผ่านการเลือกขายหรือไม่ขายภาพยนตร์เรื่องใดแก่โรงหนัง
ศิลปินไทยผู้สร้างภาพยนตร์คืออีกหนึ่งเงื่อนไขของการเกิดโรงหนังอิสระ และเป็นกลุ่มคนที่ถูกปล่อยให้อยู่บนความไม่แน่นอนที่ไม่สิ้นสุด ทั้งขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ การถูกลดรอบฉายในโรงหนังเครือดังเนื่องจากขาดกฎหมายคุ้มครองภาพยนตร์ไทย กระทั่งขาดโรงหนังที่จะฉายภาพยนตร์ของพวกเขาอย่างจริงจัง ฉะนั้นอาจเป็นวาระที่ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทย ที่จะครอบคลุมผลประโยชน์ของศิลปินไทยและโรงหนังอิสระของไทยด้วย ซึ่งข้อเรียกร้องภาครัฐให้เข้ามาสนับสนุนศิลปินผู้ผลิตภาพยนตร์ผมแนะนำให้เราอ่านข้อเรียกร้องเร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤติการณ์โดยกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ที่จัดขึ้นตั้งแต่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560 พร้อมกันนี้สายหนังเองก็มีบทบาทสำคัญที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศิลปินผู้ผลิตภาพยนตร์และโรงหนังอิสระ ผมยกตัวอย่างบทบาทของสายหนังอย่างง่ายคือ ภาพยนตร์ตระกูลไทบ้านเดอะซีรี่ย์ก็ได้รับการสนับสนุนจากสายหนังของภาคอีสาน ที่นำไปสู่การเติบโตของภาพยนตร์ในตระกูลไทบ้านจนสร้างปรากฎการณ์กวาดกว่า 500 ล้านเมื่อปีที่ผ่านมา
โรงหนังจะเป็นแค่เรื่องธุรกิจล้วน ๆ หรือจะเดินไปอย่างภาคภูมิบนนโยบาย Soft Power
สำหรับผมประเด็นโรงหนังเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ที่ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาพื้นที่ ธุรกิจ รสนิยม ไปจนถึงการพัฒนาศิลปินไทย หากการกล่าวว่าภาพยนตร์ไปเรื่องของรสนิยมและโรงหนังเป็นเรื่องของธุรกิจล้วน ๆ สภาพของโรงหนังก็คงจะต้องดำเนินไปแบบที่เคยเป็นมาและเป็นเช่นนั้นต่อไป
แต่หากเราปรับมุมมองเสียใหม่ว่าโรงหนังไปใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนาศิลปินไทยผู้สร้างภาพยนตร์ และภาพยนตร์ไม่ใช่แค่รสนิยมแต่เป็นพื้นที่ทางปัญญา เราอาจแก้ปัญหาความตีบตันของแนวทางการสร้างภาพยนตร์ไทยได้ รวมไปถึงสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างโรงหนังอิสระในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ผมคิดว่าการเรียกร้องการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งที่เราพึ่งกระทำได้ วงการภาพยนตร์เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจนภาพยนตร์เกาหลีก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะภาพยนตร์รางวัลออสก้า และเกาหลีใต้ยังกลายมาเป็นต้นแบบของ Soft Power ที่รัฐบาลยกเป็นตัวอย่างในการพัฒนา Soft Power ของไทยภายที่กำหนดออกมาเป็นนโยบายและมีการตั้งคณะทำงานพัฒนา Soft Power อย่างเป็นทางการแล้ว ฉะนั้นการเรียกร้องการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยจึงมิใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดเลย
สำหรับการเรียกร้องต่อสายหนังให้นำภาพยนตร์อิสระไทยหรือภาพยนตร์อิสระจากต่างชาติอาจเรียกร้องต่อพวกเขาได้ยาก แต่การเพิ่มผู้เล่นในธุรกิจสายหนังอาจทำได้ ซึ่งเราอาจต้องย้อนกลับไปเรียกร้องต่อภาครัฐให้กำกับการแข่งขันของธุรกิจฉายภาพยนตร์ ไปจนถึงอุดหนุนกลุ่มผู้ฉายภาพยนตร์อิสระในประเทศไทย ที่มิใช่ว่าเราจะหาตัวพวกเขามิได้ ผมคิดว่าตามจริงเรามีกลุ่มฉายภาพยนตร์อิสระอยู่มาก แต่พวกเขาเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากขาดการสนับสนุน ในภาคเหนือเราลองมองขึ้นไปที่จังหวัดเชียงใหม่ผมคิดว่าคงหากลุ่มฉายหนังอิสระได้ไม่ยาก และยังคาดหวังให้เกิดกลุ่มฉายภาพยนตร์อิสระเหล่านี้กระจายตัวเพิ่มขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ
โรงหนังอิสระคือรูปแบบหนึ่งของกลุ่มฉายภาพยนตร์อิสระที่ปรากฏตัวในรูปของโรงหนัง หากการดำเนินกิจการเป็นไปแบบธุรกิจล้วน ๆ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ผมเองก็ยังยืนยันว่าเราคงม่สามารถเห็นโรงหนังเหล่านี้ปรากฏขึ้นได้ง่าย ๆ หรือหากปรากฏขึ้นพวกเขาก็อาจหายวับไปอย่างรวดเร็ว การสนับสนุนศิลปินผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยและเพิ่มความหลากหลายของสายหนังอาจเป็นวิธีหนึ่งในการเอื้อให้เกิดโรงหนังอิสระในแต่ละจังหวัด และเมื่อพวกเขาสะสมทุนจนสามารถยืนอย่างองอาจได้ การซื้อภาพยนตร์กระแสหลักก็คงไม่ใช่เรื่องยากเกิดไปสำหรับพวกเขา แต่ในช่วงแรกผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเรียกการสนับสนุนจากภาครัฐในการอุดหนุนการผลิตภาพยนตร์ไทยและเพิ่มความหลากหลายของสายหนังเสียก่อน
นอกจากนี้ใช่ว่าผมจะหลงลืมประเด็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำลง ผมยังยืนยันว่าประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเอ้อให้เกิดการเติบโตของโรงหนัง และจำเป็นอย่างยิ่งต้องดำเนินควบคูไปกับการพัฒนาวงการผลิตภาพยนตร์ไทยและเพิ่มความหลากหลายของสายหนัง มิเช่นนั้นนอกจากเหลื่อมล้ำแล้ว soft power ไทยอาจกลายเป็นเพียงนโยบายที่จัดแต่งานมหรสพไปอย่างที่ถูกวิจารณ์ ผมหวังว่าโรงหนังจะไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจล้วน ๆ แต่มันจะเดินไปบนเส้นทางของการพัฒนา soft power ไทยอย่างภาคภูมิ
รายการอ้างอิง
- The MATTER culture. (11 มกราคม 2560). คนทำหนังไทยต้องการอะไร – สรุปการ “ยื่นข้อเรียกร้อง เร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤติการณ์”. The Matter. https://thematter.co/entertainment/moviethai/16166#google_vignette
- ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์. (2566). ธุรกิจโรงภาพยนตร์. ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์. https://www.lhbank.co.th/getattachment/6eebe2a7-89fe-4cb4-8c7a-a8494c5ac845/economic-analysis-Industry-Outlook-2023-Thai-Cinema-Business
- มติชนออนไลน์. (24 มีนาคม 2567). ชาวเน็ตแห่สะท้อน หลังติ๊กต็อกเกอร์ นั่งรถทัวร์ข้ามจว.ไปดูหนัง ทวงสิทธิความเจริญอย่างเท่าเทียม. มติชนออนไลน์. https://www.matichon.co.th/social/news_4489923#google_vignette
- ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา. (7 กุมภาพันธ์ 2566). โรงหนัง-สายหนัง และชะตากรรมหนังไทยปัจจุบัน กับ อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล. The101World. https://www.the101.world/unaloam-chanrungmaneekul-interviews/
- ศุภสิน อิทธิพัทธ์วงศ์. (2566). ความเป็นเมืองและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในบริบทของไทย. Procedia of Multidisciplinary Research, 1(5), 1-13
- สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2525). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ห้า พ.ศ.2525 – พ.ศ.2529.
- สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2530). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่หก พ.ศ.2530 – พ.ศ.2534.
- อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล. (2564). ระบบธุรกิจการจัดจำหน่ายและฉายภาพยนตร์: ผลกระทบต่อผู้ผลิตภาพยนตร์ ผู้ชม และสังคมไทย. วารสารนิเทศศาสตร์, 40(1), 37-64
เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ