“สมาชิกวุฒิสภา” อาชีพ Passive Income ยุคใหม่

สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญในสนามการเมืองไทยในปัจจุบัน เนื่องมาจากอำนาจและสิทธิพิเศษต่างๆ กับหน้าที่หลักที่เหมือนจะเป็นหลักประกันอำนาจของรัฐบาลชุดคสช. ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มิหนำซ้ำ สืบเนื่องจากการลงคะแนนโหวตผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าเสียงของประชาชนกว่า 14 ล้านเสียงจะเทคะแนนให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนนี้ แต่เหล่าส.ว.กลับไม่เคารพเสียงประชาชน ลงเสียง “ไม่เห็นด้วย” และ “งดออกเสียง” ไปถึง 193 เสียง อีกทั้งยังมีส.ว.อีกถึง 43 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมการลงคะแนน ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าประชาชนอย่างเราๆ ต้องเสียอะไรไปบ้างกับคนกลุ่มนี้ ?

อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ “สิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ” โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในแต่ละปี ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับส.ว. 1 คนไปถึง 4,512,720 บาทต่อปี โดยแบ่งเป็นรายการต่างๆ ดังนี้

-เงินเดือน 113,560 บาท 

-ค่าผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 129,000 บาทต่อเดือน

-ค่าเดินทาง 1,500,000 บาทต่อปี

-ค่ารักษาพยาบาล 97,000 บาทต่อปี + อุบัติเหตุฉุกเฉิน 20,000 บาทต่อครั้ง

-ค่าร่วมประชุม 3,500 บาทต่อครั้ง

ยึดจากรายจ่ายต่อปีตามตัวเลขดังกล่าว หมายความว่าแต่ละปี ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับส.ว.ทั้ง 250 คนไปถึง 1,128 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวที่มากมายขนาดที่พอจะทำให้คน 1 คนอยู่ได้อย่างสุขสบายไปแทบจะทั้งชีวิตนี้ไม่ใช่แค่สิ่งเดียวที่คนอาชีพสมาชิกวุฒิสภา จะได้ตอบแทน แต่ยังมีอำนาจพิเศษต่างๆ พ่วงมากับตำแหน่งดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมีอำนาจในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา อำนาจในการลงเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงอำนาจทั่วไปอย่างการพิจารณากฎหมาย หรือการพิจารณาเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ขาดเพียงแค่อำนาจในการถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ออกจากตําแหน่ง ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีจำนวนมากอะไรเมื่อเทียบกับงบประมาณประจำปี 2566 หรือปีสุดท้ายของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งอยู่ที่ 3,185,000 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้มีค่าเท่าไหร่บ้างในงบประมาณเพื่อพัฒนาบ้านเมือง?

1,128 ล้านบาท กับการดูแลคน 250 คน?

ยกข้อมูลส่วนหนึ่งจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ทำการจัดสรรงบประมาณแก่กระทรวงต่างๆ ดังนี้

-กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 325,900.2 ล้านบาท ร้อยละ 10.2 ของวงเงินงบประมาณ

-กระทรวงคมนาคม จำนวน 180,502.0 ล้านบาท ร้อยละ 5.7 ของวงเงินงบประมาณ

-กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 156,408.7 ล้านบาท ร้อยละ 4.9 ของวงเงินงบประมาณ

-กระทรวงแรงงานจำนวน 54,338.5 ล้านบาท ร้อยละ 1.7 ของวงเงินงบประมาณ

-กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 24,626.9 ล้านบาท ร้อยละ 0.8 ของวงเงินงบประมาณ

เมื่อเทียบกันแล้ว จำนวนเงินที่ต้องจ่ายสำหรับสมาชิกวุฒิสภาก็อาจจะยังไม่มากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ต้องแจกจ่ายออกไปในแต่ละกระทรวงเพื่อพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่างๆ แต่จุดที่สำคัญที่สุดก็คือ จำนวนเงิน 1,128 ล้านบาทต่อปีนั้น ถูกใช้ไปเพื่อตอบแทนคนจำนวนเพียง 250 คนเท่านั้น ต่างจากงบประมาณของกระทรวงที่มีไว้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน มิหนำซ้ำการทำงานของคนกลุ่มดังกล่าวยังถูกตั้งคำถามจากประชาชน ผู้เป็นเจ้าของภาษีที่ถูกแจกจ่ายไปเป็นเงินเดือนของพวกเขา ว่ามีประสิทธิภาพ หรือซื่อตรงตามหน้าที่ที่ควรจะเป็นหรือไม่ อาจจะได้แต่สงสัยว่าประชาชนและตัวสมาชิกวุฒิสภาเองอาจจะจำกัดความคำว่า “หน้าที่” ของสมาชิกวุฒิสภาแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

นอกเหนือจากการประกอบอาชีพสมาชิกวุฒิสภาที่มีค่าตอบแทนสูงทะลุโลกแล้ว เหล่าสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนก็ยังขยันหมั่นเพียร ดำรงตำแหน่งอื่นควบคู่ไปด้วยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยหนึ่งในช่องทางของการเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา คือการเข้าดำรงตำแหน่งโดยผู้ตำแหน่งอื่น 6 คน ได้แก่ พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม,  พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก, พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ,พลอากาศเอก นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเรียกขำๆ ว่านี่เป็นเพียงอาชีพเสริมของพวกเขาเท่านั้นก็ไม่ผิดมากนัก

ส.ว. อาชีพ Passive Income ยุคใหม่ ทำอะไรบ้าง ทำยังไงถึงจะได้เป็น

หน้าที่หลักๆ ของส.ว. คือการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินผ่านการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ แต่ถึงอย่างนั้น ส.ว.ก็ยังมีอำนาจหน้าที่เฉพาะอื่นๆ ตามที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

โดยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติให้ส.ว.มีอำนาจในการสรรหาและการเลือกประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง, ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, การสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง, เลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ, ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุด, ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

อำนาจและหน้าที่ของส.ว.ในการกำหนดทิศทางของสภาผู้แทนราษฎรเหล่านี้ เมื่อดูแล้วก็น่าจะเหมาะสมกับจำนวนเงินเดือนที่ได้รับ แต่การที่คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการปกครองประเทศขนาดนี้ ประชาชนมีส่วนร่วมใดๆบ้างหรือไม่ ?

ภาพ: WorkpointTODAY

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กําหนดให้จํานวนและที่มาของวุฒิสภาไว้สองวิธี

วิธีแรก คือการให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคําแนะนํา โดยมาจากการดําเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาของคณะกรรมการการเลือกตั้งจํานวน 50 คน และจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจํานวน 194 คน รวมกับผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการ ทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติอีก 6 คน

วิธีที่สอง คือเมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งดังกล่าวแล้ว ให้วุฒิสภามีจํานวน 200 คนซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทําให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

ข้อบัญญัติในการหาที่มาของส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตีความได้ง่ายๆ ว่าประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมใดๆในการกำหนดที่มาของคนกลุ่มนี้ ไม่มีการเลือกตั้ง มีเพียงการแต่งตั้งใน 5 ปีแรก และการ “เลือกกันเอง” ของกลุ่มคนในแวดวงต่างๆ หลังจากนั้นเท่านั้น เมื่อเทียบกับอำนาจที่ได้รับแล้ว คงกล่าวได้ว่านี้เป็นอาชีพที่ถูกจ้างกันได้ง่ายดายมากที่สุดอาชีพหนึ่ง

เด็กจบใหม่ทำงานกี่ปีถึงจะมีเงินเดือนเท่าสว.

ถ้าเราคิดกันเล่นๆ บัณฑิตวุฒิปริญาตรีที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาท อาจต้องก้มหน้าก้มตาทำงานไปร่วม 25 ปี เพื่อจะได้มีรายได้เท่ากับที่สมาชิกวุฒิสภาได้รับใน 1 ปี

หากเทียบให้ใกล้เข้ามาอีกสักหน่อย เด็กจบใหม่เงินเดือน 15,000 บาทก็ต้องทำงานเป็นเวลา 7 เดือน เพื่อจะได้มีรายได้เท่ากับเงินเดือนส.ว.

นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพส.ว.ยังมีกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา รองรับอยู่ โดยถูกบังคับใช้ไปเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นการ “ตอบแทนคุณงามความดี” ของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ที่เคยทำประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศไว้สมัยยังดำรงตำแหน่ง

โดยกองทุนดังกล่าวเป็นการใช้เงินจากงบประมาณกลาง กลายเป็นทุนหมุนเวียนครอบคลุมการใช้จ่ายต่างๆ ของผู้ที่อยู่ในกองทุน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ 9,000 – 35,600 บาทต่อเดือน, การจ่ายเงินช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล 50,000 บาทต่อปี, การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีทุพพลภาพ 5,000 บาทต่อเดือน, การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีถึงแก่กรรม 100,000 บาท, การจ่ายเงินช่วยเหลือในกรณีการให้การศึกษาบุตรที่สามารถเบิกได้ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงปริญญาตรี และสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด 

ซึ่งในงบประมาณปี 2566 ได้มีการอัดฉีดเงินให้กับกองทุนดังกล่าวไปถึง 300,000 ล้านบาท ทำให้นอกจากจะมีรายได้สูงเสียดฟ้าแล้ว อาชีพส.ว.ยังเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงหลังเกษียณจากตำแหน่งสูงมาก ในขณะที่ผู้สูงอายุทั่วไปได้รับเพียงเบี้ยเลี้ยงจำนวน 600 บาทต่อเดือนเท่านั้น

เมื่อประชาชนขอตั้งคำถามกับสมาชิกวุฒิสภา

หลังจากผ่านพ้นการลงคะแนนเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ผลลัพธ์ของการออกเสียงจากฝั่งส.ว.กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้ประชาชนร่วมกันตอบโต้การกระทำของส.ว.ที่ไม่เคารพเสียงของพวกเขา ผ่าน #ธุรกิจสว ที่ถูกติดแฮชแท็กไปกว่า 1.36 ล้านครั้งเพียง 1 วันให้หลังการโหวต โดยประชาชนร่วมกันแบ่งปันข้อมูลธุรกิจของส.ว. หรือที่มีส.ว.เป็นหุ้นส่วน เพื่อร่วมกันคว่ำบาตรธุรกิจเหล่านี้เสีย 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกตั้งคำถามจากทั้งฝั่งประชาธิปไตยและฝั่งพลเอกประยุทธ์ ว่าถือเป็นการล่าแม่มดหรือเป็นการทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่วงกว้างหรือไม่ เนื่องจากหลายธุรกิจก็ไม่ได้มีส.ว.เป็นเจ้าของโดยตรง อาจเป็นเพียงธุรกิจของลูกหลานหรือเครือญาติเท่านั้น อีกทั้งการแบนธุรกิจต่างๆ ของส.ว.ก็จะทำให้เกิดผลเสียแก่ลูกจ้างที่เป็นประชาชนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางด้านนักวิชาการอิสระอย่าง สฤณี อาชวานันทกุล มองว่านี่เป็นเพียงการลงโทษทางสังคม (Social sanction) ที่มีจุดประสงค์เป็นการทำให้ผู้ถูกลงโทษเกิดความอับอาย จนต้องปรับเปลี่ยนตัวเองและทัศนคติเพื่ออยู่ร่วมในสังคมให้ได้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การล่าแม่มดแต่อย่างใด อีกทั้งฝั่งประชาชนยังมองว่าพวกตนก็เป็นประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ที่ถูกกระทำโดยการกระทำของเหล่าส.ว.ที่ไม่เคารพเสียงของพวกเขาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นที่นิ่งนอนใจของเหล่าส.ว. โดย สมชาย แสวงการ ได้นำทีมส.ว.ยื่นฟ้อง เดชา กิตติวิทยานันท์ และ ภัทรพงศ์ ศุภักษร และยังกล่าวว่าจะทำการดำเนินคดีกับคนที่กล่าวให้ร้ายส.ว. ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ต่อไป

อ้างอิง

ประชาไท, เช็คชื่อ ‘ส.ว.ผู้นำเหล่าทัพ’ โดดประชุม เสี่ยงพ้นจากตำแหน่ง รับเงินเดือนสองทาง

Spring, ที่มา ส.ว. 250 คน มาจากไหน ทำหน้าที่อะไร มีผลกับการเลือกตั้ง 2566 อย่างไรบ้าง

-สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สิทธิประโยชน์ของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ

-สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒๕๕๖

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง