พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น(1): อีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่กำลังอยู่ในสภาวะขาดแคลน  

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

ในปี 2566 ประเทศจีนได้เกิดกระแสการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ ชายคนหนึ่งในเมืองเสิงหุ่ยเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า การไปเยือนพิพิธภัณฑ์ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจมากและเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2,200 ปีของบ้านเกิดตนเอง ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ในจีนเองก็ได้ปรับตัว พยายามเฟ้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดแสดงผลงาน เพื่อทำให้การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวาและถูกใจกลุ่มคนหนุ่มสาวมากขึ้น

เกี่ยวกับการที่พิพิธภัณฑ์ในจีนปรับปรุงตนเองเพื่อตอบรับความนิยมของการเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้ มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลกลางของจีนได้ส่งเสริมรัฐบาลท้องถิ่นโดยการให้เงินสนับสนุน (งบประมาณท้องถิ่น) เพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ด้วยถือว่าเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ท้องถิ่น

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ตามความหมายสากล หมายถึง องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เปิดเป็นสถานที่สาธารณะ และเป็นสถาบันถาวรที่ใช้บริการแก่สังคมและมีส่วนในการพัฒนาสังคม โดยมีหน้าที่หลักๆ 5 ประการ คือ รวบรวม, สงวนรักษา, ค้นคว้าวิจัย, เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงความรู้ ขณะที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หมายถึง พิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นและบริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (เมือง, จังหวัด, เทศบาล, ตำบล, ฯลฯ) เพื่อการประชาสัมพันธ์เรื่องราวของท้องถิ่นและ/หรือเรื่องราวที่ท้องถิ่นนั้นๆ สนใจ

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์ที่เปิดดำเนินการอยู่ 1,536 แห่ง ปิดปรับปรุงอยู่ 20 แห่ง กำลังดำเนินการสร้าง 9 แห่ง และปิดถาวรไปแล้ว 32 แห่ง และแบ่งจำนวนตามประเภทของพิพิธภัณฑ์ ดังนี้

ที่มา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่บริหารจัดการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเพียง 145 แห่ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนพิพิธภัณฑ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ 7,852 แห่งทั่วประเทศ ก็จะยิ่งเห็นได้ว่าจำนวนพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทยนั้นมีอยู่น้อยมาก 

ที่มา KPI Corner

นอกจากจำนวนอันน้อยนิดแล้ว ในอีกทางหนึ่งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเท่าที่มีอยู่ก็ไม่สามารถดึงดูดให้ประชาชนคนรุ่นใหม่เข้าไปเยี่ยมชมได้ ด้วยเพราะรากฐานกิจการงานพิพิธภัณฑ์มีที่มาจากรัฐบาลและหน่วยงานในส่วนกลางเป็นหลัก ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ระยะที่ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ยุคศิวิไลซ์” ราว ๆ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ซึ่งรากฐานดังกล่าวเน้นเพียงการนำเสนอเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองของชาติและเชื้อชาติไทย โดยเล่าผ่านศาสนาและเรื่องราววิถีชีวิตชนชั้นนำเป็นสำคัญ 

แม้ในบางพิพิธภัณฑ์จะผนวกเอาความหลากหลายของท้องถิ่นเข้ามานำเสนอไว้บ้าง ก็มักจะนำเสนอภายใต้กรอบคิดประวัติศาสตร์แบบอำนาจรวมศูนย์ ไม่ค่อยมีการนำเสนอความเป็นของสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ แต่อย่างใด กระทั่งเคยมีนักวิชาการเสนอให้ “ปลดล็อก” พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของท้องถิ่นที่ “แหกคอก” นอกกรอบคิดประวัติศาสตร์แห่งชาติ เพราะความจำเจของเนื้อหาที่ถูกนำเสนอเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นพื้นที่ที่หลายคนตัดสินใจไม่เข้าไปเยือน 

จากข้อมูลสถิตเกี่ยวกับจำนวนพิพิธภัณฑ์และหน่วยงานที่บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบประเด็นเนื้อหาความชาติ – ความเป็นท้องถิ่นในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ตามที่ได้สังเขปมาไว้ข้างต้น จึงเป็นที่มางานเขียนชุด “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เนื่องจากมองว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะซึ่งกำลังอยู่ในสภาวะขาดแคลน 

พัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยภาครัฐ

ไม่มีข้อมูลปรากฏอย่างชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อใด แต่หากเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในความหมายที่ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่นอกกรุงเทพฯ นั้น สามารถย้อนประวัติไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่หลายคนมองว่าเป็นอรุณรุ่งแห่งความศิวิไลซ์ โดยแนวคิดเริ่มต้นของการสะสมศิลปวัตถุเพื่อการอนุรักษ์นั้นมีที่มาจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ และได้รับการตอบสนองโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ผู้เก็บรวบรวมศิลปวัตถุในพื้นที่ไว้เป็นจำนวนมาก แล้วตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาในปี 2445 ที่พระราชวังจันทรเกษม

ในระยะเริ่มแรก การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นได้จำเป็นต้องมี “ของ” หรือศิลปวัตถุต่างๆ อันเป็นสิ่งแปลกและมีค่า เพื่อการจัดแสดงก่อน และในระยะนั้นนอกจากบ้านของบรรดาเจ้าขุนมูลนายแล้ว วัดคืออีกสถานที่หนึ่งที่มีการเก็บรวบรวมศิลปวัตถุหรือโบราณวัตถุในท้องถิ่นเอาไว้มาก ดังนั้นเมื่อส่วนกลางได้ส่งต่อแนวคิดเรื่องพิพิธภัณฑ์และวิธีการจัดการพิพิธภัณฑ์ (ภายใต้กรอบคิดอย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) ผ่านผู้ปกครองในท้องถิ่นเข้ามา ประกอบกับบริบทเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและการเมืองก่อให้เกิดนโยบายพัฒนาของหน่วยงานรัฐอันเกี่ยวเนื่องกับพิพิธภัณฑ์หลายนโยบาย 

นโยบายที่สำคัญอันหนึ่งคือ นโยบายของกรมศาสนา (ประกาศครั้งแรกในปี 2504 และปรับปรุงใหม่ในปี 2531) ที่กำหนดความหมายของการพัฒนาวัดไว้ว่า คือการปรับปรุงสภาพวัดและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด เพื่อสนับสนุนให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน และกำหนดให้การพัฒนาด้านศาสนวัตถุเป็นหนึ่งในเกณฑ์การจัดวัดเข้าสู่ทำเนียบวัดพัฒนาตัวอย่าง โดยมีพันธกิจหนึ่งคือ การพัฒนาเขตสาธารณะสงเคราะห์แก่ประชาชน กล่าวคือ กันพื้นที่บริเวณภายในวัดไว้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งทางวัดอาจจะสร้างเป็นห้องสมุด หอพระปริยัติธรรม โดยที่พิพิธภัณฑ์ก็อยู่ขอบข่ายนี้

กล่าวได้ว่านับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2440 เป็นต้นมา วัดที่ได้มีการเก็บรวบรวมศิลปวัตถุไว้ก็ได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา โดยที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบัน เช่น พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย, พิพิธภัณฑ์วัดพระลำปางหลวง, พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุดอยสุเทพ หรือพิพิธภัณฑ์ในวัดขนาดเล็กลงมา เช่น พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเกตุการาม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

การจัดแสดงภายวัตถุในพิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม

ที่มา เชียงใหม่นิวส์

พัฒนาการต่อมาของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราวต้นทศวรรษที่ 2520 โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ที่กำหนดให้มีการตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม” ขึ้นในสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยพิจารณาเลิอกสถานศึกษาจากความพร้อมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาวัฒนธรรมของชาติดำเนินไปได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมนี้ก็ได้มีพัฒนาตัวเองอยู่หลายครั้ง เป็นต้นว่า เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศูนย์วัฒนธรรม” แล้วตามด้วยสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้ง เช่น จังหวัด อำเภอ หรือชื่อสถานศึกษา เพื่อให้เป็นที่รับรู้ว่าศูนย์ฯ นั้น ๆ ตั้งอยู่ที่ใด 

ตัวอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบันเช่น ศูนย์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พิษณุโลก, สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้าง หรือพิพิธเรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

ภาพการจัดแสดงเรือนโบราณล้านภายในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณพื้นบ้านล้านนา มช.

ที่มา MRG Online

การเปลี่ยนแปลงนี้สืบเนื่องมาจากการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2531 อันเป็นความพยายามของ สวช. ที่จะนิยามความหมายและหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมให้แตกต่างจากความหมายพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของประชาชนและไม่มุ่งเน้นรับใช้นักวิชาการมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้ง กระนั้น ศูนย์วัฒนธรรมก็ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ตามเป้าประสงค์ ด้วยเงื่อนไขหลายประการหากแต่ที่สำคัญคือ ศูนย์วัฒนธรรมกลายเป็น “งานฝาก” ของสถาบันการศึกษา โดยไม่มีบุคลากรรับผิดชอบโดยตรงอีกทั้งยังมีงบประมาณสนับสนุนน้อยมาก

ด้วยแนวคิดเริ่มต้น วิธีการวางรากฐานงานพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในระยะแรกทำให้กิจการงานพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่อิงแอบอยู่กับรัฐและระบบข้าราชการเป็นหลัก แต่ถึงแม้จะอิงแอบอยู่ภาคส่วนที่มั่นคง มีอำนาจสั่งการ มีบุคลากร และที่สำคัญคือ มีงบประมาณมากพอที่จะจัดสรรมาสนับสนุนได้ แต่กิจการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยภาครัฐก็ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองเท่าใด อย่างที่เห็นได้ว่าในปัจจุบันก็มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจำนวนที่ไม่มาก ในส่วนที่มีอยู่ก็ขาดการจัดการดูแลอย่างเหมาะสม กระทั่งพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งกลายสภาพเป็นเพียงสถานที่เก็บวัตถุสิ่งของที่เต็มไปด้วยคราบฝุ่น หรือไม่ก็เป็นสถานที่ตั้งโชว์เพื่อสะท้อนภาพความเจริญรุ่งเรืองของชาติผ่านเรื่องราวศาสนา วิถีชีวิตของชนชั้นนำ และอื่น ๆ

การเคลื่อนไหวงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนอกภาครัฐ

ราวต้นทศวรรษ 2530 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยังคงเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ก็ได้เริ่มมีการเสวนากันถึงเรื่องการรวบอำนาจในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และการผูกขาดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติเอาไว้ฝ่าย ซึ่งการจัดการความรู้ในอดีตแบบที่รัฐผูกขาดไว้ก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากคนทำงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีจำนวนหนึ่ง

เป็นต้นว่าศรีศักร วัลลิโภดม และมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งทำงานเผยแพร่แนวคิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามสถาบันการศึกษาและตามท้องถิ่นที่มีการจัดโดยองค์กรของชาวบ้าน มีการจัดสัมมนา และซ่อมสร้างพิพิธภัณฑ์ในหลายพื้นที่

ต่อมาในทศวรรษ 2540 เริ่มมีการตื่นตัวเรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น และกระแสการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็ได้ไหลไปตามจังหวะและบริบทของสังคม พิพิธภัณฑ์กลายเป็นพื้นที่ความรู้ที่ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยรัฐส่วนกลางอีกต่อไปแล้ว เพราะแนวคิดและการสร้างพิพิธภัณฑ์ได้ขยายออกไปสู่ภาคส่วนอื่น ๆ มากขึ้น อาทิ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนมีการเกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจเชิงวิชาการในรูปแบบบริษัทรับเหมาก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ อะควาเรี่ยม (พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ)  ฯลฯ  อีกมากมาย 

ทั้งนี้ ไม่ว่าภาคส่วนดังกล่าวเหล่านั้นจะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ด้วยเพราะอิทธิพลจากการจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในระยะแรกหรือกระแสนิยมต่างก็ถือเป็นคุณูปการทั้งสิ้น แต่ถึงอย่างนั้น การสร้างพิพิธภัณฑ์โดยปราศจากความมีส่วนร่วมของภาครัฐยังถือเป็นเรื่องยากลำบาก โดยเฉพาะสำหรับชุมชนหรือท้องถิ่นขนาดเล็ก เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล ในบางพื้นที่ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถดึงงบประมาณจำนวนมากมาใช้เพื่อการสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัด หรือประจำเมืองได้ หากแต่ก็มีปัญหาตามมาอีกประการหนึ่งว่า การสร้างพิพิธภัณฑ์ด้วยงบประมาณจากภาครัฐทำให้เนื้อหาของพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ มักจะย้อนกลับไปสู่การนำเสนอประวัติศาสตร์แบบรวมศูนย์อำนาจ เรื่องราวของท้องถิ่นหล่นหายไปภายใต้จุดประสงค์ของการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองต่องบประมาณ

อย่างไรก็ตาม การกระจายงบประมาณมายังองกรค์ปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนกิจการด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ๆ ก็ยังถือเป็นสิ่งที่เหมาะที่ควร ดังนั้นในบทความถัดไปจะได้มากางกันข้อปฏิบัติ กฎหมาย หรือระเบียบต่าง ๆ ดูกันว่าการกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นได้จัดการงานในด้านพิพิธภัณฑ์มีความเป็นไปได้ในทางกฎหมายหรือไม่

อ้างอิง

  • ปณิตา สระวาสี. การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย ในบริบทของนโยบายรัฐ. ออนไลน์; ที่มา https://db.sac.or.th/museum/article/17 
  • มูลนิธิ เล็ก-ปะไพ วิริยะพันธุ์. จับกระแสพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นควรสร้างเพื่อใคร?. ออนไลน์; ที่มา https://lek-prapai.org/home/view.php?id=1006

อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนัก (ลอง) เขียน อนาคตไม่แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง