เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 เพจเฟชบุ๊คไทยเล็ดออนไลน์เพจล้อการเมืองชื่อดังโพสข้อความว่า “จังหวัดอุทัยธานีมีห้างไหมครับ” เพื่อล้อเลียนและตั้งคำถามกับนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.เขต 2 จังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคภูมิใจไทย หลังการอภิปรายอันดุเดือดของนายชาดาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถ้อยคำของนายชาดาในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ไทยเล็ดออนไลน์ตั้งคำถามต่อจังหวัดอุทัยธานีที่มีนายเป็น สส. เขต แต่กลับมิได้สร้างสิ่งใดให้จังหวัดอุทัยธานีเลยหรือ?
ต่อมาไม่นานหลังโพสของไทยเล็ดออนไลน์ นางสาวปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ ได้โพสเฟชบุ๊คตอบโต้โพสของไทยเล็ดออนไลน์ ด้วยข้อความว่า “อุทัยธานีมีดีกว่าห้าง!! อุทัยธานีคือเมืองที่มีมรดกโลก!! เมืองอุทัยธานีได้รับให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์เขตเมืองเก่า!!…. การวัดความเจริญของเมืองไม่ได้อยู่ที่ห้างแต่น่าจะอยู่ที่ดัชนีของความสุขของคนในจังหวัดที่อาศัยอยู่ในจังหวัดมากกว่า….”
จังหวัดอุทัยธานีมักได้รับการพูดถึงว่าเป็นจังหวัดที่ไม่มีห้าง แม้ปัจจุบันจังหวัดอุทัยธานีจะมีเทสโก้ โลตัสตั้งอยู่ 1 สาขาในเขตอำเภอหนองฉาง แต่ก็มิอาจลบภาพจำของการเป็นจังหวัดที่ไม่มีห้างลงไปได้ อาจด้วยสาเหตุที่ว่า เทสโก้ โลตัส สาขาดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองอุทัยธานี พร้อมกับภาพรวมทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดอุทัยธานียังไม่รองรับการมีอยู่ของห้างขนาดใหญ่ได้ ทั้งกำลังซื้อภายในจังหวัดเหมือนจะไม่เพียงพอและมีประชากรที่เบาบาง ประกอบกับภาพลักษณ์ของเมืองที่ดูเป็นเมืองเก่า และเมืองมีขนาดเล็ก
น่าสนใจว่า เราจะสามารถทำความเข้าใจบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดอุทัยธานี ผ่านการเป็นจังหวัดที่ไม่มีห้างได้อย่างไรบ้าง?
เกิด-อยู่ในเมืองการเกษตร
รายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดอุทัยธานีเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2566 ฉบับที่ 2 ชี้ให้เห็นว่าผู้คนในจังหวัดอุทัยธานีมีศักยภาพในการสร้างรายได้ต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 110,998 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดรอบข้าง อาทิ ผู้คนในจังหวัดนครสวรรค์มีศักยภาพการสร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 147,098 บาท หรือผู้คนในจังหวัดชัยนาทเฉลี่ยอยู่ที่ 174,355 บาท เมื่อเปรียบศักยภาพในการสร้างรายได้ต่อปีของผู้คนจังหวัดอุทัยธานีกับผู้คนในจังหวัดรอบข้างทั้งสองจังหวัด จะพบว่าจังหวัดอุทัยธานีมีศักยภาพในการสร้างได้ต่อหัวน้อยกว่ามาก
“อุทัยนี่ไม่ใครเขามาเปิดห้างหรอก มันไม่คุ้ม คนก็มีกันอยู่เท่านี้เอง ถ้าคนเขาจะซื้อของเขาก็ไปซื้อที่นครสวรรค์นู่น” [ยายเจี้ยบ (นามสมมติ)]
ยายเจี้ยบ (นามสมมติ) เล่าว่า ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นคนอุทัยธานีประกอบอาชีพทำการเกษตรมาตลอด อาจมีกลุ่มคนจีนหรือไทยเชื้อสายจีนที่ประกอบอาชีพค้าปลีกอยู่บ้าง แต่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้คนที่ประกอบเกษตรกร
เมื่อประกอบคำบอกเล่าของยายเจี้ยบเข้ากับรายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดอุทัยธานี เราจะเห็นได้ว่าการมีผลิตผลด้านการเกษตรเป็นผลิตผลหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีความไม่แน่นอนทั้งด้านปริมาณและราคาผลผลิต จากรายงานยังพบอีกว่าการจ้างงานส่วนใหญ่ในจังหวัดอุทัยธานีอยู่ในภาคการเกษตรเช่นกัน และในส่วนการผลิตภาคนอกเกษตรยังไม่ค่อยกระจายตัวมายังพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลให้จังหวัดอุทัยธานีมีศักยภาพในการสร้างได้ต่อหัวต่ำ ศักยภาพของภาคเอกชนขาดความเข้มแข็ง และขนาดเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ
หากเปรียบเทียบกับจังหวัดนครสวรรค์ที่มีการกระจายตัวของเงื่อนไขที่หลากหลายในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่มีสูงกว่าจังหวัดอุทัยธานีมาก และการลงทุนโดยภาคเอกชนและภาครัฐก็มีสูงกว่า พร้อมกับมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในทุกด้าน
หากเปรียบเทียบเฉพาะส่วนของการบริโภคภาคเอกชน เราจะเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างกันสูงมากระหว่างจังหวัดอุทัยธานีกับนครสวรรค์ การคาดการโดยสำนักงานคลังจังหวัดนครสวรรค์ในปี 2566 การเติบโตของการบริโภคส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการอัดฉีดผ่านมาตรการส่งเสริมการบริโภคของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ในปี 2566 จังหวัดอุทัยธานีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจมีเพียงการคาดการณ์จากจำนวนรถส่วนบุคคลที่มีการจดทะเบียนมากขึ้น มิได้เติบโตทางเศรษฐกิจจากนโยบายกระตุ้นการบริโภคโดยภาครัฐแต่อย่างใด อาจเป็นผลมาจากจำนวนของประชากรในจังหวัดที่แตกต่างกันมาก โดยจังหวัดนครสวรรค์มีประชากรอยู่ที่ 898,002 คน ขณะที่จังหวัดอุทัยธานีมีประชากรอยู่เพียง 271,681 คน เมื่อจำนวนประชากรน้อยมาตราการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐจึงมิอาจนำมาสู่พลังการบริโภคภายในจังหวัดที่สูงเพียงพอ
ยังไม่นับการลงทุนในภาคเอกชนที่ได้ผลประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ ทำให้รายได้มีการกระจายตัวมากกว่าจังหวัดอุทัยธานี ที่หวังพึ่งการลงทุนในภาคเอกชนจากการอนุญาตการก่อสร้างและการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น การกระจายรายได้ภายในจังหวัดจึงห่างกันมากหากเปรียบเทียบกัน
การใช้จ่ายภาครัฐเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จะเห็นได้ว่าจังหวัดอุทัยธานีมีแนวโน้มที่การใช้จ่ายโดยภาครัฐจะลดลง แต่จังหวัดนครสวรรค์กลับมีแนวโน้มที่ค่าใช้จ่ายภาครัฐจะสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำชองค่าใช้จ่ายภาครัฐเริ่มปรากฎตั้งแต่ปี 2530 หลังการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 6 ที่กำหนดให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดหนึ่งในหลักในการพัฒนาภูมิภาคในภาคเหนือตอนล่าง ผ่านการใช้จ่ายเพื่อลงทุนโดยภาครัฐ ทั้งการก่อสร้างสถานีขนส่งทางน้ำจังหวัดนครสวรรค์ การสร้างโรงเรียนพัฒนาฝีมือแรงงาน และการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ โดยภาครัฐเพื่อจูงใจการลงทุนของภาคเอกชน เหล่านี้สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับทั้งสองจังหวัดในแง่การลงทุนเพื่อพัฒนาจังหวัดโดยภาครัฐ
ความเหลื่อมล้ำในการลงทุนเพื่อพัฒนาจังหวัดโดยภาครัฐ อาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำมาสู่ความแตกต่างของเงื่อนไขในการเติบโตทางเศรษฐกิจเงื่อนไขอื่นๆ ตามมา ทั้งจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการไปจนถึงความเบาบางของประชากร จนเป็นผลให้เกิดความแตกต่างในศักยภาพการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของทั้งสองจังหวัดที่ปรากฎในปัจจุบัน
ศักยภาพการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจจึงอาจเป็นผลของการ “เลือก” โดยภาครัฐ ให้จังหวัดหนึ่งเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการเริ่มต้นลงทุนโดยภาครัฐ และปล่อยให้อีกจังหวัดหวังพึ่งพาเพียงแต่ภาคการเกษตรเท่านั้น
เราอาจตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ามิใช่เพียงภาคเอกชนเท่านั้นที่เลือกไม่เปิดห้างในจังหวัดอุทัยธานี แต่ภาครัฐเองก็เลือกไม่ให้จังหวัดอุทัยธานีสามารถมีห้างเช่นกัน ?
อยู่เมืองเล็กๆ เก่าๆ อย่างอุทัยธานี
“อุทัยมันเมืองเล็ก” เป็นคำพูดของน้าแก้ม (นามสมมติ) แม่ค้าในตลาดเทศบาลเมืองอุทัยธานี น้าแก้มเกิดและเติบโตในจังหวัดอุทัยธานี เมื่อมีโอกาสได้เดินทางไปจังหวัดอื่นๆ ก็รับรู้ได้ว่าเมืองอุทัยธานีนั้นเล็กเพียงใด หากเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ แล้ว อุทัยธานีถือว่าเล็กมาก
จังหวัดอุทัยธานีถือว่ามีประชากรบางเบาจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย และการกระจายตัวของประชากรต่อพื้นที่มีสูง จึงเป็นผลให้จังหวัดอุทัยธานีไม่มีเทศบาลนคร ซึ่งต้องมีประชากรในเขตรับผิดชอบมากกว่า 5 หมื่นคนขึ้นไปและต้องมีการจัดเก็บรายได้ที่มากเพียงพอต่อพันธกิจของเทศบาลนคร จังหวัดอุทัยธานีมีเพียงเทศบาลเมือง 1 แห่ง ในส่วนที่เหลือเป็นเทศบาลตำบล 13 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 49 แห่ง ความเป็นเมืองที่หมายรวมถึงความหนาแน่นของประชากรและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงมีไม่สูงนัก
เหตุที่การไม่มีเทศบาลนครส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองนั้น เนื่องด้วยพันธกิจของเทศบาลนครจะถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เลยว่า ต้องมีหน้าที่ควบคุมผังเมือง จัดให้มีตลาด และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหน้าที่อันจะช่วยส่งเสริมศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง แต่สำหรับเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลมิได้พันธกิจด้านเศรษฐกิจ มีเพียงพันธกิจด้านการดูแล/ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้คนและสาธารณูปโภคภายในพื้นที่รับผิดชอบเท่านั้น ดังนั้นการไม่ระบุพันธกิจให้เทศบาลรูปแบบอื่นที่มิใช่เทศบาลนครมีพันธกิจให้ต้องส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่รับผิด เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่เหมือนกับแช่แข็งศักยภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่เอาไว้
น้าแก้มเอ่ยถึงการเป็นเมืองเก่า เช่นเดียวกับนางปนัดฌา ไทยเศรษฐ์ที่โพสเชิดชูว่าพื้นที่เมืองอุทัยธานีเป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่า จึงเป็นที่น่าสนใจว่าความเป็น “เมืองเก่า” ของอุทัยธานีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เกรียงไกร เกิดศิริ และอิสรชัย บูรณะอรรจน์ เสนอว่าตั้งแต่ปี 2500 เป็นมา หลังมีการตัดถนนจากกรุงเทพขึ้นไปยังภาคเหนือของประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดที่ถนนตัดผ่าน แต่สำหรับเมืองอุทัยธานีซึ่งอยู่ห่างจากถนนสายหลัก จังส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นช้าและการใช้ประโยชน์จากที่ดินก็มีไม่สูงนัก เมืองอุทัยธานีจึงยังมีภาพลักษณ์ของความเป็นเมืองเก่า อันเกิดจากการไม่สามารถเกาะเกี่ยวไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมการตัดถนนได้
เมื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมาที่ภาคส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ให้กลายเป็นจังหวัดหลักในการพัฒนาภูมิภาคเหนือตอนล่าง ยิ่งส่งผลให้การพัฒนาศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจถูกดึงไปอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งแต่เดิมได้รับประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากการตัดถนนอยู่แล้ว การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเมืองอุทัยธานีจึงช้าและมีศักยภาพน้อยลงไปอีก
ดังนั้นการเป็นเมืองเก่าที่ไม่มีห้างของเมืองอุทัยธานีจึงมิใช่ดอกผลของการอนุรักษ์ แต่เป็นผลผลิตของความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา หากไม่เกิดกระแสการอนุรักษ์เมืองเก่า เมืองอุทัยธานีก็คงถูกทิ้งเอาไว้เป็นชื่อหนึ่งของเมืองที่ไม่พัฒนา
ชาวอุทัยไม่เอาโลตัส ชาวอุทัยไม่เอาห้าง (?)
ครั้งหนึ่งจังหวัดอุทัยธานีเคยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการสร้างห้างค้าปลีกอย่างเทสโก้ โลตัส แต่เกิดการต่อต้านจากผู้คนในจังหวัดอุทัยธานี โดยเฉพาะจากกลุ่มร้านค้าปลีกในจังหวัดอุทัยธานี
โทน (นามสมมติ) เยาวชนจากจังหวัดอุทัยธานีเล่าให้ฟังว่า ประมาณ 10 กว่าปีก่อนมีข่าวว่าจะมีการสร้างห้างปลีกอย่างเทสโก้ โลตัสในพื้นที่เมืองอุทัยธานี แต่มีกระแสต่อต้านจากผู้คนในตัวเมือง โดยเฉพาะจากกลุ่มร้านค้าปลีกในจังอุทัยธานีเอง อาทยังคงจำประโยคที่ว่า “ชาวอุทัยไม่เอาโลตัส” ได้อย่างดี
“จำได้ว่าตอนเด็กๆ มีการประท้วงไม่เอาโลตัสในจังหวัด มีการตั้งป้ายคัดค้านการสร้างโลตัส มีทั้งแห่รถกระบะชูป้ายประกาศว่า “ชาวอุทัยไม่เอาโลตัส” ทุกวันนี้ยังจำคำนี้ได้อยู่เลย” (โทน)
น้าแก้ม เล่าว่า ตอนนั้นคนที่ไม่เอาโลตัสส่วนใหญ่ก็พ่อค้าแม่ค้าตลาดนี่แหละ เขากลัวมาแย่งลูกค้า เดี๋ยวจะขายของไม่ได้ การต่อต้านการก่อสร้างห้างเทสโก้ โลตัส ไม่ได้เกิดขึ้นที่จังหวัดอุทัยธานีเพียงที่เดียว แต่เป็นปรากฎที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดในช่วงเวลาใกล้เคียง อาทิ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่กลุ่มประชาชนและผู้ค้าปลีกมีการรวมตัวคัดค้านและชูป้าย “ชาว อ.ปักธงชัย ไม่เอาโลตัส” หรือที่อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ประชาชนและกลุ่มผู้ค้าปลีกรวมตัวกันภายใต้ข้อเรียกร้อง “ชาวพ่อค้าอำเภอกุดจับไม่เอาโลตัส” จนอาจกล่าวได้ว่าเกิดเป็น “ไม่เอาโลตัสโมเดล” ขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัด ซึ่งนำโดยกลุ่มผู้ค้าปลีกในพื้นที่ เนื่องด้วยกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่
อย่างไรก็ตามหากพินิจดูแล้ว ร้านค้าปลีกรายย่อยไม่ได้ตายเพราะห้าง แต่อาจตายเพราะการผูกขาดการแข่งขันต่างหาก จากรายงานการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดย พรเทพ เบญญาอภิกุล ชี้ให้เห็นว่าอุปสรรคสำคัญของร้านค้าปลีกรายย่อยหรือร้านค้าปลีกขนาดเล็ก คือการต้องแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ที่ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเงื่อนไขอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายการซื้อขายที่กว้างขวางกว่าร้านค้ารายย่อยในพื้นที่ มีจำนวนสาขามากกว่า และอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตที่สูงร้านรายย่อยในพื้นที่อยู่มาก เป็นผลให้เกิดการประหยัดอันเนื่องจากขนาด (economic of scale) กล่าวคือร้านค้าปลีกรายใหญ่ที่มีจำนวนสาขาอยู่มากจะมีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่า กำไรต่อหน่วยจึงสูงกว่าร้านค้าปลีกรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ
มาตราการควบคุมการแข่งขันของภาครัฐละเลยการผูกขาดการแข่งขันทางการค้าในกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากภาครัฐมองว่าร้านค้าปลีกขนาดเล็กเป็นร้านค้าปลีกที่ลงทุนต่ำ จึงมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่ต่ำ แต่กลับละเลยมิติด้านความได้เปรียบของผู้เล่นรายใหญ่ที่สามารถขยายสาขาได้เร็วกกว่าผู้เล่นรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ เป็นผลให้ในปัจจุบันบริษัทซีพีออล จำกัด (มหาชน) เจ้าของกิจการ 7-11 มีส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็กอยู่สูงกว่าร้อยละ 73 จนเรียกได้ว่าผูกขาดการค้าในกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็กไปแล้ว
ความน่ากังวลเรื่องการผูกขาดการแข่งขันยิ่งสูงขึ้นไปอีก หลังจากที่บริษัทซีพีออล จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส เมื่อปี 2563 ซึ่งทำให้บริษัทซีออละครองการตลาดทั้งร้านค้าปลีกขนาดย่อยอย่าง 7-11 และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัส ยังไม่นับรวมร้านปลีกขนาดเล็กและขนาดกลางที่อยู่ภายใต้เครือของเทสโก้โลตัส
การสำรวจส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของร้านปลีกขนาดใหญ่ (one-stop shopping) เมื่อปี 2561 พบว่าเทสโก้ โลตัสครองส่วนแบ่งทางการตลาดกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในจังหวัดอุทัยธานีมากกว่าร้อยละ 94.5 ซึ่งหลังการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสของบริษัทซีพีออล เป็นผลให้บริษัทซีพีออลครองส่วนแบ่งทางการตลาดกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในจังหวัดอุทัยธานี เหลือส่วนแบ่งทางการตลาดให้ร้านค้าในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีไม่เกินร้อยละ 5 นี่ยังไม่หมายรวมถึงร้านค้าปลีกกขนาดเล็กและขนาดกลางภายในจังหวัดที่บริษัทซีพีออลก็คงครองส่วนแบ่งการตลาดในสัดส่วนที่ไม่น้อย
ดังนั้นแล้ว การล้มหายไปของร้านค้าปลีกรายย่อยภายในจังหวัดอุทัยธานีเป็นไปได้ว่ามิได้เกิดจากการสร้างห้างค้าปลีก แต่เป็นผลจากการที่ภาครัฐขาดมาตรการควบคุมการขยายกิจการโดยผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด รวมไปถึงการขาดมาตรการป้องกันการผูกขาดการแข่งขันด้วยเช่นกัน
อุทัยในจินตนาการ จำเป็นต้องมีห้างหรือไม่?
เมื่อถามน้าแก้ม (นามสมมติ) ว่าคิดว่าอยากให้อุทัยธานีมีห้างมาตั้งหรือไม่ น้าแก้มให้คำตอบแบบกึ่งรับกึ่งต้านว่า ไม่ได้คิดว่าอยากให้มี แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านนะ ด้วยความที่บ้านเรามันเมืองเล็กใช่ว่าอยากให้มีห้างแล้วเขาจะมาตั้งให้ ยังไงปกติคนอุทัยก็ขับรถไปเที่ยวห้างที่นครสวรรค์อยู่แล้ว
โทน (นามสมมติ) ไม่ปฏิเสธการสร้างห้างในจังหวัดอุทัยธานี เนื่องด้วยโทนเชื่อว่าห้างกับร้านค้าปลีกแตกต่างกัน หากเลือกจะซื้อสินค้าในจำนวนน้อยและต้องการราคาถูก ก็จะเลือกซื้อในร้านค้าปลีกใกล้บ้านมากกว่าจะซื้อที่ห้าง แต่ถ้าจะเลือกซื้อสินค้าในห้างก็ต่อเมื่อต้องการซื้อสินค้าในปริมาณที่มาก และต้องการเปรียบเทียบสินค้าในกลุ่มเดียวกัน นอกจากนั้นโทนยังกล่าวเสริมว่า หากจะไปห้างไม่ใช่แค่ไปซื้อของแต่คือเราต้องการไปเดินตากแอร์หรือกินอาหารในมื้อพิเศษด้วย โทนชี้ให้เห็นว่าเงื่อนไขของทั้งการซื้อสินค้าในห้างและร้านค้าปลีกนั้นเป็นคนล่ะเงื่อนไขกัน ห้างไม่ใช่เป็นแต่เพียงสถานที่ซื้อสินค้า แต่คือความสะดวกสบายและความครอบคลุมในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากการซื้อสินค้า
ส่วนตูน (นามสมมติ) ออกความเห็นว่า สำหรับตนเองแล้วก็ตอบไม่ได้ว่าอยากให้อุทัยธานีมีห้างไหม เพราะห้างสำหรับตนเองไม่ใช่โลตัสหรือบิ๊กซี แต่ต้องเป็นศูนย์การค้าที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตในหลายๆ มิติ ทั้งการเดินดูสินค้า ไปดูภาพยนตร์ กินอาหารมื้อพิเศษ หรือไปงานอีเว้นท์ต่างๆ ห้างสำหรับตูนจึงไม่ใช่เพียงสถานที่ขายสินค้า แต่คือพื้นที่กิจกรรมที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติในชีวิต
ห้างสำหรับทั้งโทนและตูน คือพื้นที่ที่รองรับรูปแบบชีวิตแบบเมือง ซึ่งต้องการพื้นที่กิจกรรมที่หลากหลาย อันเป็นกิจกรรมที่พื้นที่เดิมอย่างบ้านหรือชุมชนไม่อาจรองรับได้
เมื่อสอบถามทั้งโทนและตูนว่า หากภายในจังหวัดอุทัยธานีมีพื้นกิจกรรมที่มากกว่านี้ คิดว่าห้างยังจำเป็นอยู่หรือไม่?
ทั้งคู่ใช้เวลาคิดอยู่ครู่หนึ่ง โทนตอบว่าไม่แน่ใจนะ ถ้ามีก็คงจะดีแน่นอน อย่างแบบถ้ามีตลาดนัดที่มันดูใหม่ดูสะอาดกว่านี้ จัดระเบียบดีๆ มีสินค้าที่หลากหลาย ห้างอาจดูจะไม่จำเป็น
ส่วนตูนตอบว่า มันก็ต้องดูก่อนว่าพื้นที่ที่ว่ามา จะเป็นยังไง อย่างถ้าพื้นที่เหล่านี้มันอยู่ในระแวกเดียวกัน เดินทางไปได้ง่าย ก็คงจะดีแน่นอน ปกติตนตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นคนชอบไปเที่ยวตลาดนัดเสื้อผ้ากับพวกคอนเสิร์ตที่ ถ้ามันมีพื้นที่จำพวกนี้คงดีแน่นอน
ดังนั้นจากคำตอบของโทนและตูน พวกเขาก็มิได้ปฏิเสธการที่จังหวัดอุทัยธานีจะมีห้าง แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ “พื้นที่กิจกรรม” ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดรูปแบบใหม่ พื้นที่ที่รองรับการจัดงานอีเว้นท์ เป็นพื้นที่ที่รองวิธีชีวิตแบบเมือง โดยอาจไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นห้าง
แล้วอุทัยธานีในจินตนาการจะเป็นอย่างไร? คงเป็นคำถามที่คงต้องทิ้งไว้ให้ถามกันต่อไป ยิ่งในบริบทปัจจุบันที่ประเทศไทยฝากความหวังทางเศรษฐกิจไว้กับการท่องเที่ยว จังหวัดอุทัยธานีจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในอนาคตอย่างไร ยิ่งเป็นจังหวัดที่ไม่มีห้าง ไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูงมากนัก อนาคตเมืองเก่าแห่งนี้จะเป็นเช่นไร?
อ้างอิง
- ถนัดกิจ จันกิเสน. (3 กันยายน 2564). ท์ชนะการประมูล ‘เทสโก้ โลตัส’ มูลค่า 338,000 ล้านบาท. เข้าถึงได้จาก The Standard: https://thestandard.co/breaking-tesco-return-to-cp/
- ผู้จัดการออนไลน์. (28 สิ่งหาคม 2549). ‘ปักธงชัย’ เดือด บุกตะโกนไล่ “ไม่เอาโลตัส” ลั่นระดมทุกอำเภอชุมนุมใหญ่ต้าน 7 ก.ย. เข้าถึงได้จาก ผู้จัดการออนไลน์: https://mgronline.com/local/detail/9490000109356
- ผู้จัดการออนไลน์. (7 กรกฎาคม 2554). “ชาวกุดจับ” กว่า 200 คน รวมตัวต้าน “ไม่เอาห้างโลตัส”. เข้าถึงได้จาก ผู้จัดการออนไลน์: https://mgronline.com/local/detail/9540000083488
- พรเทพ เบญญาอภิกุล. (2566). การปฏิบัติงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า: ศึกษาผ่านเอกสารผลคำวินิจฉัย.
- สำนักงานคลังจังหวัดชัยนาท. (2566). รายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดชัยนาท ไตรมาส 2/2566 เดือน มิถุนายน 2566.
- สำนักงานคลังจังหวัดนครสวรรค์. (2566). รายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดนครสวรรค์ ปี 2566 ฉบับที่ 2/2566 เดือนมิถุนายน 2566.
- สำนักงานคลังจังหวัดอุทัยธานี. (2566). รายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดอุทัยธานี ฉบับที่ 2/2566 ณ 30 มิถุนายน 2566.
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...