ประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ ยกเลิกผันน้ำยวมหลัง EIA ร้านลาบมีปัญหา 

“ถ้าสร้างเขื่อนจริงได้อพยพแน่นอน ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เขาไม่ให้ความยุติธรรมกับชาวบ้าน” น้ำเสียงหนึ่งของชาวบ้าน

18 ตุลาคม 2566 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กว่า 70 คนจากหลายหมู่บ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) ยื่นฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ ขอให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวที่จะพาดผ่านพื้นที่ป่ารอยต่อทั้งหมด 3 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำสำคัญ และผ่านป่าอนุรักษ์ทั้งหมด 5 แห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่เงา ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวม

การยื่นฟ้องคดีครั้งนี้มีตัวแทนประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน รวม 66 คนโดยมีผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ได้แก่ ส.รัตนมณี พลกล้า, ธรธรร การมั่งมี, เฉลิมศรี ประเสริฐศรี, ทนายความเครือข่าย และนักกฎหมายของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีแทนผู้ฟ้องคดี

ส.รัตนมณี พลกล้า เล่าว่าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลมีการทำ EIA มาตั้งแต่ ปี 2559-2563 และมีการพิจารณาผ่าน EIA โดย คชก. หรือ คณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในปี 2564 ส.รัตนมณี เล่าว่า ที่ผ่านมาพี่น้องในพื้นที่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมและขอข้อมูล EIA แต่ได้รับการปฏิเสธมาอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่งจะได้ในปี 2564 ที่เป็นฉบับถมดำที่มีข้อมูลไม่ครบและมีการปกปิดข้อมูลทำให้ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ จนในที่สุดในปี 2566 ก็ได้เอกสารที่ไม่ปกปิดข้อมูลจากกรมชลประทาน ซึ่ง EIA ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี

ส.รัตนมณี เล่าต่อว่าหลังจากได้รับ EIA และทำการตรวจสอบพบว่ายังมีปัญหาอยู่หลายส่วนโดยเฉพาะประเด็นการรับฟังความคิดเห็นที่อ้างว่ามีการไปพบประชาชนที่เป็นที่มาของ EIA ร้านลาบ ที่เป็นแค่การนัดกันทานข้าวกันปกติแต่ไม่ได้บอกว่าจะเป็นการนัดทำ EIA ซึ่งอีกหนึ่งกรณีที่น่ากังวลคือการไปรับทราบข้อมูลว่ามีการพูดคุยเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวินโดยจัดเสวนาเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน แต่ในภาพกลับเป็นภาพของเสวนาเกี่ยวกับเขื่อนในแม่น้ำโขง ที่เป็นคนละเรื่อง คนละวัน คนละปี ซึ่งเป็นปัญหาในการอย่างมากในการจัดทำ EIA จึงเป็นสาเหตุที่เกิดการยื่นฟ้องในครั้งนี้ 

การยื่นฟ้องในครั้งนี้มีผู้ถูกฟ้องคดี 5 ราย ได้แก่ กรมชลประทาน, คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี 

โดยการยื่นฟ้องในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีมีการขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษาทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้

1.ขอให้พิพากษาว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการดำเนินการต่างๆของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าเกี่ยวกับโครงการเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอน/ยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย

2.ขอให้พิพากษาว่า การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนรายงานและการให้ความเห็นชอบดังกล่าวเสีย 

3.ขอให้พิพากษาว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวเสีย

4.ขอให้พิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสมและจริงจัง จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะดำเนินการและระหว่างดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการดูแล ปกป้อง รักษาแม่น้ำยวม แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน

5.ขอให้พิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ดำเนินการออกกฎหมาย หรือกฎ หรือระเบียบ เพื่อดำเนินการการคุ้มครอง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในลุ่มแม่น้ำแม่น้ำยวม แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน 

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในชื่อ EIA ร้านลาบ มีองค์ประกอบของโครงการ 7 องค์ประกอบ ได้แก่ เขื่อนผันน้ำยวม ,ถนนเข้าเขื่อน ,อ่างเก็บน้ำยวม ,สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ,ระบบอุโมงค์ส่งน้ำ (62 กม.) ,พื้นที่เก็บกองวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์และถนนเข้าหัวงานต่างๆ ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำและการปรับปรุงลำห้วยงูด มีพื้นที่โครงการรวมกว่า 3,641 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (โซน ซี(C)) มีพื้นที่ซ้อนทับกับพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 โดยหมู่บ้านและรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการตามที่อ้างใน EIA ครอบคลุมพื้นที่ 36 หมู่บ้าน โดยมีครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ 29 ราย 

หลังจากการยื่นฟ้องคดีทนายความระบุว่า การยื่นฟ้องเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมในปี 2566 เป็นคดีที่ 4  ศาลปกครองเชียงใหม่ได้รับเรื่องการฟ้องแล้ว ซึ่งระหว่างนี้ศาลปกครองจะนำเอกสารที่ยื่นฟ้องไปพิจารณาต่อไป ซึ่งศาลปกครองจะมีการรับฟ้องอีกครั้งหลังจากนี้

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง